มังกร หรือ 龙 เป็นหนึ่งในสัตว์เทพของจีน ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคล ความยิ่งใหญ่ คุณธรรมความดี อีกทั้งชาวจีนยังมีความเชื่อว่ามังกรสามารถขึ้นสวรรค์-ลงสมุทรได้ และยังสามารถบันดาลฝนให้ตก ดังนั้นเกษตรกรจีนจึงมีประเพณีสักการะเทพเจ้ามังกรเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ช่วยให้พืชผลที่เพาะปลูกเจริญงอกงาม เช่น ประเพณีมังกรเชิดเศียร เป็นต้น
ด้วยความหมายและความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของมังกรนี่เอง ทำให้ไม่ว่าเราย่างกรายไปแห่งหนตำบลไหนบนแผ่นดินที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ก็จะต้องเห็นภาพมังกรสถิตอยู่ ณ หนนั้นด้วย
มังกรนั้นมิใช่สัตว์ที่มีอยู่จริงบนโลกมนุษย์ บางคนเชื่อว่ามังกรเป็นจินตนาการที่รังสรรค์ขึ้นจากจระเข้ บ้างว่ามาจากงู บ้างว่ามาจากหมู หรือบางรายถึงขนาดเชื่อว่า มังกรในยุคแรกๆ นั้นก็คือ สายฟ้าที่ฟาดลงมาในระหว่างฝนฟ้าคะนองนั่นเอง แต่ตามความเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันนั้นเชื่อว่า มังกรเป็นสัตว์เทพที่ตกผลึกจากการผสมผสานของสัตว์หลายประเภทเข้าด้วยกันโดยมี “งู” เป็นส่วนประกอบหลัก กล่าวคือ ลำตัวของมังกรมาจากงู ศีรษะมาจากหมู เขามาจากกวาง หูได้จากวัว หนวดมาจากแพะ กรงเล็บของอินทรี และเกล็ดของปลา
ข้อสันนิษฐานของเหล่านักวิชาการข้างต้นนี้ เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่เติมรอยแหว่งของประวัติศาสตร์สังคมจีนยุคโบราณที่หายไปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเชื่อกันว่าในยุคโบราณนั้น ชนเผ่าหัวเซี่ย (ชื่อประเทศจีนในสมัยโบราณ) ซึ่งอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำเหลือง ถือว่า “งู” เป็นสัตว์ประจำเผ่า และหลังจากหัวเซี่ยได้ผนวกรวมเอาเผ่าอื่นๆ เข้ามาไว้ด้วยกันแล้ว ก็ยังรับเอาสัตว์ประจำเผ่าอื่นๆ เข้ามาผสมผสานกันจนอุบัติเป็น “มังกร” ขึ้นมา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี ค.ศ.1987 ได้มีการขุดพบสุสานใหญ่ที่มีอายุย้อนไปถึงยุควัฒนธรรมหย่างเสาเมื่อกว่า 6,000 ปีก่อน ที่เมืองผู่หยัง มณฑลเหอหนัน และข้างๆ ร่างไร้วิญญาณของชายผู้เป็นเจ้าของสุสานนั้น พบเปลือกหอยเรียงกันเป็นรูปมังกร ซึ่งนี่คือ “มังกรตัวแรก” ในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏสู่สายตาประชาชน
ต่อมาในปี 1971 ได้มีการขุดพบมังกรทำจากหยกรูปร่างโค้งเป็นรูปตัว C ส่วนหัวมังกรคล้ายหมู ที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของจีน โดยมังกรหยกอันนี้คาดว่ามีอายุราว 5,000 กว่าปี กระทั่งมาถึงสมัยราชวงศ์ซาง ซึ่งมีอายุนับจากปัจจุบันย้อนไป 3,000 ปี เริ่มปรากฎหลักฐานรูปมังกรมากขึ้น บ้างทำจากกระดูก บ้างทำจากทองสัมฤทธิ์ อีกทั้งยังพบว่าในสมัยซาง ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีอักษรจารึกบนกระดูกสัตว์ หรือที่เรียกว่า “เจี๋ยกู่เหวิน” นั้น มีการประดิษฐ์อักษรคำว่า “มังกร” แล้ว
ในยุคจั้นกั๋วได้เริ่มมีการวาดภาพมังกรที่มีชีวิตชีวามากขึ้น หลังจากผ่านการเสริมเติมแต่งในแต่ละยุคสมัย รูปลักษณ์ของมังกรเริ่มพัฒนาจนกลายเป็นมังกรที่ดูมีพลังและน่าเกรงขามมากขึ้น จนถึงราชวงศ์ฮั่นภาพมังกรก็คล้ายมังกรที่เราเห็นในปัจจุบันมากแล้ว
มังกรของฮ่องเต้-สามัญชน
นอกจากเป็นสัญลักษณ์แห่งสิริมงคลแล้ว มังกรยังเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิผู้ยิ่งยงอีกด้วย ในยุคสังคมศักดินา มังกรได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจกษัตริย์ด้วย เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่ ฮั่นเกาจู่ (หลิวปัง) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตกขึ้นครองราชย์นั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่บัลลังก์ของตน พระองค์ได้แต่งเรื่องว่า
"พระมารดาของพระองค์ทรงสุบินว่ามีความสัมพันธ์กับมังกร หลังจากนั้นก็ให้กำเนิดพระองค์ ต่อมาชาวบ้านล่ำลือกันว่า เมื่อหลิวปังดื่มสุราจนเมามาย เศียรของพระองค์จะกลายเป็นมังกร" นับแต่นั้นมาฮํนเกาจู่จึงมีภาพลักษณ์เป็นโอรสมังกร ดังนั้นฮ่องเต้องค์ต่อๆ มา รวมทั้งคนที่คิดการใหญ่อยากเป็นฮ่องเต้ จึงได้หยิบยืมอำนาจมังกรมายกสถานะของตัวเองโดยกล่าวว่าตนเองนั้นเป็นโอรสมังกร นับเป็นกุศโลบายที่แยบคายโดยแท้
ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา มังกรจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้ พระวรกายของฮ่องเต้ก็จะเรียก “กายมังกร” ฉลองพระองค์เรียก “ชุดมังกร” บัลลังก์ที่ฮ่องเต้ประทับเรียก “บัลลังก์มังกร” แม้แต่ลูกหลานของฮ่องเต้ก็เรียก “ลูกหลานมังกร”
พอมาถึงสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง ได้มีการกำหนดให้มังกรบนฉลองพระองค์และในพระราชสำนักจีนเป็นมังกร 5 กรงเล็บ และห้ามมิให้คนสามัญธรรมดาใช้ หากใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษประหารชีวิต ส่วนมังกรสำหรับสามัญชนนั้นจะมี 4 กรงเล็บ หรือ 3 กรงเล็บ เล่ากันว่าในสมัยราชวงศ์ชิง มีช่างปั้นดินเผารายหนึ่งได้วาดมังกรทอง 5 กรงเล็บบนเครื่องปั้น เมื่อทราบถึงเบื้องบนก็มีคำสั่งประหารชีวิตช่างคนนี้พร้อมทั้งครอบครัวเลยทีเดียว
เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์