เอเอฟพี - จีนประสบความสำเร็จในการเติบโตเป็นประเทศแห่งการต่อเรือ ด้วยอานิสงค์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศและความรุ่งเรืองของธุรกิจเดินเรือทั่วโลก อีกทั้งการรักษาชื่อเสียงที่ดีของอู่ต่อเรือจีน หลังจากนี้จีนจะก้าวต่อไปสู่เป้าหมายการเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมต่อเรือของโลกภายในปี 2015
ภาพเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 300,000 ตันที่จอดรออยู่ในอู่แห้งของต้าเหลียนพร้อมที่จะส่งมอบให้แก่เมอส์ก บริษัทเดินเรือรายใหญ่จากสวีเดน และแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งที่ถูกสร้างตามสเปกของโนเบิลจากสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นประจักษ์พยานได้ดีว่าประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศแห่งการต่อเรือไปแล้ว
หลี่เฉิง ผู้ช่วยผู้จัดการ ต้าเหลียน ชิปบิวดิ้ง อินดัสทรี (ดีเอสไอซี) (http://www.dsic.cn/index1.htm) เปิดเผยว่า “จำนวนใบสั่งจองของจีนเมื่อปีที่แล้วมากแซงหน้าญี่ปุ่น และกลายเป็นอันดับสองรองจากเกาหลีใต้” สำหรับดีเอสไอซีเป็นอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก และปีที่แล้วได้ส่งมอบเรือ 32 ลำ รวมระวางบรรทุกทั้งสิ้น 3 ล้านเดทเวทตัน
จากข้อมูลของรัฐบาลปักกิ่งระบุว่า เฉพาะใบสั่งใหม่ในปีที่แล้ว จีนได้รับมากเป็นอันดับหนึ่ง รวมน้ำหนักบรรทุก 98.5 ล้านตัน หรือ 42% ของทั่วโลก
หลี่อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ธุรกิจต่อเรือของจีนรุ่งโรจน์ขึ้นเพราะได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงทำให้เรือคอนเทนเนอร์และเรือประเภทอื่นๆ เป็นที่ต้องการมากขึ้น หลี่เสริมด้วยว่า “หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เราจะแซงหน้าเกาหลีใต้ได้" ทั้งนี้ อู่ต่อเรือต้าเหลียนของดีเอสไอซี ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวป๋อไห่ มณฑลเหลียวหนิงมีใบสั่งจองเต็มจนถึงปี 2011
นอกจากปัจจัยภายในประเทศแล้ว ความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจเดินเรือทั่วโลก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะราว 80% ของเรือที่ต่อในจีนถูกส่งออกไปทั่วโลก ผลสำรวจจากสถาบันคลากสันระบุว่า จีนครองสัดส่วนในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจาก 18% เมื่อปี 2006 เป็น 23% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างครองสัดส่วนประเทศละราว 35%
แคโรลีน ฮิวต์ ผู้จัดการทั่วไปประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของโทเทล ลูบมารีน เครือข่ายการจัดจำหน่ายและการตลาดน้ำมันหล่อลื่นเรือเดินสมุทรระดับโลกของโทเทล เห็นด้วยกับความคิดของหลี่ กล่าวว่า “เป็นไปได้ที่จีนจะค่อยๆ (แซงหน้าเกาหลีใต้) ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำ” โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศอย่างแข็งขัน เช่น ลงทุนมหาศาลกับอู่ต่อเรือใหม่
สำหรับอุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนผูกขาดโดยวิสาหกิจของรัฐขนาดใหญ่ 2 ราย ได้แก่ ไชน่า สเตท ชิปบิวดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (ซีเอสเอสซี) (http://www.cssc.net.cn/enlish/index.php) และไชน่า ชิปบิวดิ้ง อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น (ซีเอสไอซี) (http://www.csic.com.cn/csic/en/default.htm) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของดีเอสไอซี
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้แข่งขันหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาจำนวนมาก ที่มีขนาดย่อมกว่าและดำเนินงานโดยรัฐบาลท้องถิ่น เอกชน หรือเป็นบริษัทร่วมทุน ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 3,000 ราย จาก 350 รายเมื่อ10 ปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน อู่ต่อเรือของจีนประสบความสำเร็จในการสร้างชื่อเสียงที่ดี ฮิวต์กล่าวว่า “บริษัทต่อเรือของจีนใส่ใจอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม พวกเขาเป็นบริษัทขนาดใหญ่และมืออาชีพมากๆ และพวกเขาดีเทียบเท่าคู่แข่งในสหรัฐอเมริกาหรือนอร์เวย์”
อย่างไรก็ตาม อู่ต่อเรือต้าเหลียนได้ทุ่มงบจำนวนมากไปกับการวิจัยและพัฒนาระบบพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน หลี่กล่าวว่า “ราคาของเรายังคงถูกกว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่น แต่เราต้องคิดถึงอนาคตและพัฒนาแรงแข่งขันของเราต่อไป” ทั้งนี้ อู่ต่อเรือแห่งนี้มีลูกค้าจากทั่วโลก ตั้งแต่ เกียร์ บัลก์ ซึ่งมีนอร์เวย์เป็นเจ้าของ 60% จนถึงสเทน่า เอบี จากสวีเดน หรือแม้แต่ลูกค้าจากกรีซและอิหร่าน