xs
xsm
sm
md
lg

นักเต้นในโลกเงียบ สู่อลังการระบำ”กวนอิมพันกร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี่-ขณะที่ผู้ชมกำลังตะลึงกับระบำสุดอลังการชุด “พระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร” ของคณะศิลปการแสดงผู้พิการจีน ซึ่งเปิดการแสดงมาแล้วในหลายประเทศ และมีแผนจะเปิดการแสดงสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกในงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง2008 นี้ จะมีสักกี่คน ที่ตั้งคำถามเบื้องหลังศิลปการแสดงอันงดงามนี้บ้าง

ขณะที่ทีมนักเต้นกำลังซ้อมเต้นอย่างมีชีวิตชีวา หลัวเซียงจวิน ชายหนุ่มวัย 25 ปี จากเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง กว่างซี(กวางสี) หนึ่งในนักเต้นของคณะฯ หยุดเต้นเพื่อใช้เท้าหยิบท่อนไม้ขนาดเล็ก ก่อนนำมาวางบนศีรษะ ขณะที่ยืนทรงตัวด้วยขาเพียงข้างเดียว

ความยืดหยุ่นทางร่างกายของหลัวช่างน่าทึ่ง แต่ไม่ใช่เนื่องแปลกในประเทศจีน ที่ซึ่งศิลปะกายกรรรมต้านแรงโน้มถ่วงโลก เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบศิลปะมาหลายศตวรรษแล้ว แต่สิ่งที่พิเศษคือ หลัว”ไม่มีแขน”

หลัวสูญเสียแขนเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ เหตุเพราะความซน ไปสัมผัสกับสายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูงขณะเล่นกับเพื่อน

“ผู้พิการในประเทศจีน ก็เหมือนผู้พิการในอีกหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย พวกเรายังคงเป็นกลุ่มที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคม แต่ผมก็หวังว่า การทำงานอย่างหนักจะทำให้พวกเราสามารถเอาชนะความยากลำบากเหล่านี้ได้” หลัวกล่าวขณะฝึกซ้อมในโรงเรียนฝึกซ้อมแห่งหนึ่งของคณะฯในปักกิ่ง

หลัวเป็นหนึ่งในนักเต้นไม่กี่สิบคนที่ถูกคัดเลือกจากประชาชนจีนผู้พิการหลายพันคน ที่หวังเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมนักเต้นของคณะศิลปการแสดงผู้พิการจีน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกราว 88 คน ซึ่งรวมถึง นักเต้น,นักดนตรี และนักแสดง ผู้ซึ่งดึงเอาเคราะห์กรรมที่ตนเผชิญมาเป็นพลังการแสดงสุดอลังการบนเวที จนได้รับเสียงปรบมือโห่ร้องด้วยความชื่นชมไปทั่วโลก

ทั้งนี้ คณะศิลปการแสดงฯ เปิดการแสดงมากกว่า 40 ประเทศ/ดินแดน ในเอเชีย ,ยุโรป,อเมริกา รวมถึง จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ก และ Teatro alla Scala ในเวนิซ หนึ่งในโรงละครที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

และการแสดงที่ไม่มีที่ติทำให้คณะฯได้รับการขนานนามว่า”ทูตแห่งความงามและมิตรภาพ” สามารถระดมเงินให้แก่มูลนิธิสำหรับประชาชนผู้พิการหลายแห่งในจีนได้ราว 5 ล้านหยวน( ราว 22.5 ล้านบาท)

คณะเคยเปิดการแสดงระบำ “พระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร” ในพิธีปิดพาราลิมปิกส์ เกมส์ กรุงเอเธนส์ เมื่อปี 2004 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คณะฯเปิดการแสดงต่อหน้าสายตาผู้ชมจำนวนมหาศาล

“เราไม่เคยแสดงต่อหน้าคนมากมายขนาดนี้มาก่อน เลยค่อนข้างประหม่า แต่เราก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก และรู้สึกภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดความงดงามของประเทศจีนให้ผู้คนทั่วโลกได้ชมกัน และเราหวังว่าจะทำเช่นเดียวกันนี้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 ”ไท่ลี่หัว วัย 32 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของคณะฯ และเป็นนักแสดงมามากกว่า 15 ปีกล่าว ซึ่งเธอสูญเสียการได้ยินเมื่ออายุ 2 ขวบ หลังได้รับการฉีดยาที่มีการปนเปื้อน

สัมผัสจังหวะ เต้นตามลมหายใจ

“ความท้าท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราคือ เราไม่ได้ยินเสียงดนตรี ดังนั้นเราต้องเรียนรู้จังหวะดนตรีผ่านภาษามือ และการสัมผัสแรงสั่นสะเทือนของเสียงดนตรี”เว่ยยี๋ว์เจีย นักเต้นวัย 16 ปีในโรงเรียนของคณะฯกล่าว

ขณะที่นักเต้นยืนเรียงแถวเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างของเสียงเพลง ครูซึ่งเป็นคนทั่วไปจะออกคำสั่งโดยใช้ภาษามือ บางครั้ง นักเต้นแต่ละคนจะหายใจรดคอเพื่อนนักเต้นที่อยู่ข้างหน้า เพื่อให้จังหวะการเคลื่อนไหวแขนและมือให้ตรงกับจังหวะของดนตรี

“ก่อนที่จะฝึกซ้อม ครูจะเปิดเพลงเสียงดัง และให้นักเต้นทุกคนวางมือไว้บนลำโพงเพื่อรับรู้การสั่นสะเทือนของเสียงเพลง ขณะเดียวกัน ครูก็จะใช้ภาษามืออธิบายลักษณะเสียงเพลงให้นักเต้นเข้าใจ และจะทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งการฝึกซ้อมอย่างหนัก ทำให้การแสดงของพวกเขาแทบไม่มีที่ติ”ไท่อธิบาย

“พวกเราฝึกซ้อมแทบทุกวัน ปรกติจะได้กลับบ้านตอนช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน” เว่ยกล่าว

แม้การฝึกฝนจะหนักมาก แต่นักเต้นเหล่านี้ก็รู้สึกว่าพวกตนโชคดี และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมจีน เนื่องจากประชาชนผู้พิการจำนวนน้อยมากในจีนที่มีงานทำ หรือแม้แต่การเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ เช่น การเข้ารับการต่อแขนขาเทียมก็เป็นไปอย่างยากลำบาก

ด้านไท่ลี่หัวกล่าวว่า อุปสรรคเหล่านี้ไม่เคยทำให้เธอท้อถอย ซึ่งขณะนี้ เธอกำลังเตรียมนำทีมนักแสดงไปเปิดการแสดงที่สหรัฐฯเพื่อโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง “My Dream” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ฝีมือชาวจีนที่ตีแผ่เรื่องราวของคณะศิลปการแสดงผู้พิการจีนก่อนก้าวสู่เวทีโลก

สำหรับเรื่องคัดตัวนักแสดงนั้น ไท่กล่าวว่า คณะฯไม่เคยประสบปัญหาเรื่องนี้เลย ซึ่งปัจจุบัน จีนมีผู้พิการถึง 90 ล้านคน และคณะฯจะได้รับโทรศัพท์และอีเมล์จากผู้สมัครที่ต้องการเข้าร่วมคณะฯทุกวัน ส่วนผู้ที่ผ่านการคัดตัวจะได้พักในหอพักของคณะฯซึ่งตั้งอยู่ใน

ทั้งนี้ คณะศิลปการแสดงฯก่อตั้งในปี 1987 เป็นคณะนักแสดงมืออาชีพภายใต้การควบคุมของสมาพันธ์ผู้พิการจีน ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งผู้พิการและคนทั่วไปในหลายสาขาวิชาชีพ สำหรับผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในส่วนของเวที,แสง,เสียง,ออกแบบเครื่องแต่งกาย,เครื่องดนตรี และการเต้น ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินชั้นนำของจีน.









กำลังโหลดความคิดเห็น