xs
xsm
sm
md
lg

"ต้าซาน" ฝรั่งที่ดังที่สุดในโอลิมปิก ปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - ชายชาวแคนาดาที่ชื่อ นายมาร์ค โรวสเวลล์ ซึ่งอยู่ในทีมผู้ช่วยทูตวัฒนธรรมชาวแคนาดานั้นมิได้เป็นที่รู้จักนอกประเทศจีนแต่อย่างใด ทว่าความเชี่ยวชาญในการพูดภาษาจีนกลางทำให้เขากลายเป็นชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน และเป็นสมบัติที่มีค่าสำหรับประเทศแคนาดา

โรวสเวลล์ ผู้พกความสูง 186 เซนติเมตร มีชื่อภาษาจีนว่า “ต้าซาน (大山)” อันมีความหมายว่าภูเขาใหญ่ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกีฬาโอลิมปิก โดยเขาเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัว คำขวัญของปักกิ่งโอลิมปิกที่ว่า “โลกใบเดียวกัน ความฝันเดียวกัน (One World, One Dream)” การเปิดผ้าคลุมมาสคอต รวมไปถึงการวิ่งคบเพลิง ด้วย

“ต้าซัน” หรือมาร์ค โรวสเวลล์“ต้าซัน” ผู้เชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตก

ระหว่างพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ขณะกล้องบันทึกภาพของโทรทัศน์จีนแพนภาพผ่านบรรดานักกีฬาที่กำลังเดินพาเหรดเข้าสู่สนามปรากฏว่านักกีฬาจากแคนาดาได้รับเสียงโห่ร้องต้อนรับจากชาวจีนมากเป็นพิเศษ

โรวสเวลล์ เปรียบได้กับสะพานที่ช่วยเชื่อมโยงการเรียนภาษาจีนกับภาษาอังกฤษเข้าด้วยกัน โดยเขาเป็นผู้ดำเนินรายการ “ภาษาอังกฤษในโอลิมปิก (Olympics English)” ทางโทรทัศน์กลางแห่งชาติจีน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนขับแท็กซี่จีน และ “ภาษาจีนเกี่ยวกับกีฬา (Sports Chinese)” ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน และสนใจเรื่องกีฬา

“สำหรับผม นี่เป็นมหกรรมที่สุดยอดมากๆ ที่เชื่อมโลกตะวันออกเข้ากับโลกตะวันตกเป็นเวลายาวนานถึง 3 สัปดาห์” เขากล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์เอเอฟพี “แล้วก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ผมอยากที่จะอยู่ตรงกลางระหว่างโลกสองซีก”

ในประเทศที่ชาวต่างชาติไม่ได้รับการยอมรับอย่างจริงใจ แม้ว่าจะมีความสามารถ ทว่า ‘ต้าซาน’ กลับมีสถานะพิเศษในสังคมจีน ในฐานะที่มีความเป็นจีนมากกว่าคนจีนเอง และความโด่งดังของเขานั้นถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

ระหว่างการเดินเข้าสู่พื้นที่ของสนามกีฬาโอลิมปิก เพื่อมุ่งหน้าไปยังสนามกีฬารังนก โรวสเวลล์ ได้รับคำกล่าวทักทาย “สวัสดี ต้าซาน!” ไปตลอดทาง ทั้งยังถูกขอถ่ายรูปจากอาสาสมัคร บุรุษไปรษณีย์ และนักข่าวชาวจีนอีกด้วย

“ผู้คนเหล่านี้ ผมไม่เคยรู้จักพวกเขามาก่อนในชีวิต แต่เขาปฏิบัติกับผมเหมือนกับเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของพวกเขา” ต้าซาน หนุ่มแคนาดาอายุ 43 ปีผู้ซึ่งแต่งงานแล้วกับหญิงสาวชาวปักกิ่ง และเป็นพ่อของเด็ก 2 คนกล่าว

ทุกวันนี้โรวสเวลล์ ยังคงเดินทางโดยอาศัยรถไฟใต้ดินเมืองปักกิ่ง สถานที่ซึ่งในแต่ละปีครอบครัวของเขาอาศัยอยู่เป็นเวลา 6 เดือน ขณะที่เวลาอีกครึ่งหนึ่งของปีพวกเขาเลือกไปพักผ่อนในฟาร์มแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา
รายการโอลิมปิก เกมส์ ที่มักมีนาย ต้าซัน เป็นดาวเด่นในฐานะพิธีกรสื่อสารกับผู้ชมชาวต่างชาติ
จุดเริ่มต้นของฝรั่งผู้โด่งดังที่สุดในจีน

หนุ่มวัยกลางคนชาวแคนาดาผู้นี้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของจีนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาโดยตลอด นับตั้งแต่วันที่เขาปรากฏตัวครั้งแรกบนหน้าจอโทรทัศน์ของจีนไม่กี่เดือนก่อนเกิดเหตุโศกนาฎกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2532

เขากล่าวว่า ปัจจุบันจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้คนหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก มิฉะนั้นอาชีพในฐานะชาวต่างชาติที่พูดภาษาจีนได้ของเขาก็คงไม่กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ในปีพ.ศ. 2551 นี้ ทั้งนี้โอกาสในความโด่งดังของเขาเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเดินทางมาศึกษาต่อยัง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในปี พ.ศ. 2531 ได้เพียง 2 เดือน

ในเวลานั้นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์กำลังหาชาวต่างชาติที่สามารถพูดภาษาจีนได้ เพื่อมาดำเนินรายการร่วมในงานแสดงร้องเพลงจีนของนักร้องชาวยุโรปและชาวจีน โดยโรวสเวลล์ถือว่าได้เปรียบคนอื่นๆ อยู่เล็กน้อยเนื่องจากในเวลานั้น เขาเรียนภาษาจีนมา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ศึกษาอยู่ที่โตรอนโต อย่างไรก็ตามในงานครั้งนั้นเขาก็ยังพูดภาษาจีนในสำเนียงอังกฤษอยู่ แต่สำเนียงภาษาจีนแค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับชาวจีน และทำให้ในเวลาต่อมาเขาได้รับเชิญให้มาแสดงบท “ต้าซาน” ในงานแสดงละครตลกช่วงปีใหม่

ทั้งนี้รายการแสดงละครตลกช่วงคืนก่อนวันปีใหม่ครั้งนั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเนื่องจากมีผู้ชมชาวจีนรอชมทางโทรทัศน์มากกว่า 550 ล้านคนทั่วประเทศ และในปีต่อมาโรวสเวลล์กลับมาแสดงอีก โดยครั้งที่สองเขาได้รับเกียรติให้แสดง “เซี่ยงเซิง (相声)” (การโชว์ตลกแบบจีน ลักษณะคล้ายๆ โชว์ตลกคาเฟ่แบบบ้านเรา) ร่วมกับนักแสดงตลกมีชื่อของจีน

แม้การฝึกซ้อมก่อนการแสดงครั้งนั้นจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลังจากการฝึกฝนภายใต้คำแนะนำเขาก็สามารถทำได้ “นั่นให้ผู้คนตื่นตะลึงมาก เพราะ ผมคือคนที่ผู้คนต่างจำได้จากการแสดงในปีก่อนหน้า แต่มาปีนั้นสำเนียงฝรั่งของผมก็หายไป และผมกลับมาแสดงศิลปะอีกแบบหนึ่ง” หนุ่มแคนาดากล่าว

โรวสเวลล์รับงานแสดงเดิมๆ มากว่า 10 ปี ทว่าในช่วงแปดปีที่ผ่านมา เขาก็เริ่มออกไปจับงานด้านอื่นๆ ด้วย โดยในระหว่างโอลิมปิก เขาปรากฏตัวบ่อยครั้งบนจอโทรทัศน์ปักกิ่ง ในฐานะนักวิจารณ์กีฬา

ในฐานะผู้วิ่งคบเพลิงผ่านปักกิ่งคนหนึ่งก่อนที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น เขาถูกขอให้พูดระหว่างการถ่ายทอดสด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก ที่เขาไม่ต้องพูดตามบท ซึ่งเขาเชื่อว่าเกิดจากการที่ผู้ผลิตรายการไม่ได้มองว่าเขาเป็นแขกชาวต่างชาติ

ตอนนั้น เขากล่าวว่าเขาต้องใช้บทบาทที่สุภาพ และซื่อตรงอย่างมาก เนื่องจากเขาต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ประท้วงการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกในต่างประเทศ

"มันก็เหมือนกับความคุ้นเคยของชาวอเมริกัน ที่เมื่อชาวอเมริกันไปต่างประเทศ เขาจะพบว่าผู้คนในต่างประเทศมองเรื่องราวแตกต่างกับที่ชาวอเมริกันมอง มันคือสิ่งเดียวกันกับที่ชาวจีนเป็นในขณะนี้” โรวสเวลล์กล่าว

บทบาทของเขากับทีมแคนาดานั้นรวมไปถึงความพยายามที่จะเติมเต็มช่องว่างในความเข้าใจระหว่างชาวแคนาดาและเจ้าหน้าที่จีน

โรวสเวลล์บอกว่า สำหรับชาวต่างชาติการเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวจีนนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เขาเข้าใจคนต่างชาติที่พยายามจะพูดภาษาจีนกับคนท้องถิ่น แต่ก็มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบความสามารถทางภาษากับตัวเขาเอง

“เมื่อคุณขึ้นรถแท็กซี่และบอกจุดหมายปลายทางเป็นภาษาจีน โชเฟอร์จะทำการเปรียบเทียบทันทีว่าภาษาจีนของคุณนั้นดีกว่าหรือแย่กว่า ‘ต้าซาน’ ซึ่งแม้แต่ตัวผมเองก็เคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว” โรวสเวลล์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น