xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน5ปีนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่า จีนต้องการมือบริหารที่เด็ดขาดกว่านี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเดือนมีนาคม คาดว่าสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือ NPC จะลงมติรับรองให้เวินเจียเป่านั่งเป็นนายกรัฐมนตรีจีนอีกหนึ่งสมัย แต่คณะรัฐมนตรีชุดเดิมจะถูกโละเสียส่วนใหญ่

แม้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลงานรัฐบาลเข้าตาประชาชนหลายเรื่อง แต่ชาวจีนมากมายก็อดรู้สึกผิดหวังไม่ได้กับการกุมบังเหียนเศรษฐกิจอย่างเหยาะแหยะของเวิน ยิ่งเมื่อเทียบวิทยายุทธ์กับจูหรงจี นายกรัฐมนตรีก่อนหน้าด้วยแล้ว แต่ในเมื่อนายกรัฐมนตรีคนต่อไปคงไม่แคล้วเวิน ประชาชนจึงได้แต่หวังให้เขาสำแดงฝีมือด้านเศรษฐกิจให้ฉมังกว่าเดิม

เหลียวหลังประเมินผลงานที่ผ่านมา

เวินเพิ่งหย่อนก้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2546 ได้ชั่วจิบน้ำชาหนึ่งอึก โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน หรือ SARS ก็ออกอาละวาดแดนมังกรเหมือนแกล้ง จางเหวินคังรัฐมนตรีสาธารณสุขหมาด ๆ และบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จึงทำตามธรรมเนียม ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายทศวรรษภายในพรรคคอมมิวนิสต์ นั่นก็คือเมื่อเกิดโรคระบาด ต้องเก็บงำเป็น”ความลับของชาติ” จนส่งผลให้โรคลุกลามกระทั่งควบคุมได้ยาก

ทว่าเวินและประธานาธิบดีหูจิ่นเทาหันหลังให้ “จารีต” แห่งการปิดปากเงียบในเกือบทุกเรื่องอย่างเด็ดขาด คนทั้งสองสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคระบาดซาร์ส และจัดทำข้อมูลอย่างโปร่งใสมากขึ้น พอปลายเดือนเมษายน ( ตั้งคณะรัฐมนตรีได้แค่หนึ่งเดือน) จางก็มีอันระเห็จจากตำแหน่ง ความซี้ปึ้กกับคนใหญ่คนโตช่วยอะไรไม่ได้ แม้จางเป็นหมอที่ปรึกษาส่วนตัวของเจียงเจ๋อหมิน ผู้นำจีนก่อนหน้าหู และของเมิ่งเสี่ยว์หนง นายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งในขณะนั้นก็ตาม เมิ่งผู้นี้ยังเป็นเด็กของหูอีกด้วย

นอกจากนั้น เวินยังตระเวนเยี่ยมผู้ป่วยโรคซาร์สตามโรงพยาบาล และชาวบ้านร้านถิ่น แสดงให้เห็นถึงความเป็นห่วง และเพื่อบรรเทาความหวาดกลัว

ช่วงเวลานั้นคือยุคทองของเวิน ทั้งเขาและคณะรัฐมนตรีชื่นมื่น เพราะได้รับความนิยมจากประชาชน แถมต่างชาติยังชมเปาะ ชาวจีนเริ่มเรียกขานเวินกันว่า “ท่านนายกฯขวัญใจประชาชน”

มรดกจากจูหรงจี

แต่ไม่ช้าไม่นาน เวินก็ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรง มันเป็นมรดกตกทอดจากอดีตนายกฯจู

จูหรงจีเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2541 ทว่าเขาเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ดูแลงานพัฒนาเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2536 เมื่อวิกฤติการเงินในเอเชียระเบิดขึ้นกลางปี2540นั้นเอง จูจึงตัดสินใจเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล และผ่อนคลายสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไม่ชะลอตัว แม้ภาคส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติอาจหดตัวลงจากวิกฤติการณ์ก็ตาม

ในระดับหนึ่ง นโยบายการเงินการคลังแบบขยายกว้างของจู ได้พิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จ เพราะในขณะที่หลายประเทศเสียหายอย่างหนักจากวิกฤติการเงิน และเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของพญามังกรมิได้สะเทือน

ทว่าเมื่อเวินเข้ารับช่วงการบริหารประเทศต่อมานั้น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและสภาพคล่องในประเทศมีแนวโน้มว่าจะล้นเกิน

เวินเชือดไก่ให้ลิงดู

ทั้งนี้ เมื่อขอกู้เงินธนาคารได้ง่าย คณะผู้ปกครองท้องถิ่นจึงยังรักษาการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ไว้ได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น ในช่วงเวลานั้นเอง การส่งออกได้กลับมาเติบโตในอัตราที่รวดเร็วมาก และเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาอีกครั้ง ความแข็งแกร่งรวมกันของภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจจีนร้อนแรง และจำเป็นต้องเหยียบเบรกรถยนต์ ที่กำลังพุ่งแรง

ดังนั้น ต้นปี 2547 รัฐบาลจีนจึงออกหนังสือเวียนไปยังคณะผู้ปกครองท้องถิ่น สั่งการให้ควบคุมการลงทุนในโครงการก่อสร้าง และในอุตสาหกรรมบางประเภทที่กำลังร้อนแรง เช่น อุตสาหกรรมถลุงเหล็กกล้า เวินถึงขนาดงัดกลยุทธ์เชือดไก่ให้ลิงดูมากำราบ โดยในเดือนเมษายนปีนั้นเอง รัฐบาลได้สั่งปิดโรงงานถลุงเหล็กและเหล็กกล้าเถี่ยเปิ่น ของเอกชนในมณฑลเจียงซู ซึ่งคณะผู้ปกครองท้องถิ่นอนุมัติ แต่รัฐบาลในกรุงปักกิ่งไม่โอเค โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจำนวนหนึ่งถูกลงโทษ ส่วนเจ้าของโรงงานถูกจับ

เพราะไม่เด็ดขาดพอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างกะทันหัน การบริหารประเทศในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เวินจึงมักรีรอ ที่จะนำเครื่องมือนโยบายทางการเงิน ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้มาใช้ เพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อ เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นี่คือเหตุผลใหญ่ข้อหนึ่งว่า ทำไมจีนจึงปล่อยให้เกิดสภาพคล่องมากจนเกินไป

ผู้ที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ไว้หน้าก็คือ โจวเสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน เขาระบุว่า ถ้ารัฐบาลใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินที่ดีกว่านี้มาตั้งแต่ต้น “การควบคุมเศรษฐกิจมหภาคของเราก็คงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่”

แทบไม่เคยมีใครในรัฐบาลออกมาสับแหลกนโยบายรัฐบาลต่อหน้าสาธารณชนเยี่ยงนี้ แต่นั่นอาจเป็นเพราะโจวกำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลาง ซึ่งส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากถูกตำหนิ ที่ควบคุมเศรษฐกิจมหภาคไม่สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว การตัดสินใจนโยบายด้านการเงินทุกอย่างล้วนมาจากรัฐบาล ไม่ใช่ธนาคารกลาง

และในปัจจุบัน ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเกิดการชะลอตัวอย่างเป็นที่น่าสังเกต ราคาบ้านในเมืองใหญ่ ๆ กลับพุ่งกระฉูด เป็นปรากฏการณ์ที่ ยิ่งกระตุ้นให้ชาวบ้านก่นด่าความล้มเหลวด้านนโยบายของรัฐบาล

จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่ประชุมงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางจึงตัดสินใจ “คุมเข้มนโยบายการเงิน” และยกเลิกนโยบายการเงินการคลังแบบขยายกว้าง

แต่มันอาจจะสายไปสักหน่อย เนื่องจากการพุ่งสูงของเงินเฟ้อและราคาบ้านได้กลายเป็นต้นตอหลัก ที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ของจีนปรับขึ้นร้อยละ 6.9 ในเดือนพฤศจิกายน และร้อยละ6.5 ในเดือนธันวาคม ขณะเดียวกันคาดว่าตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคตลอดปีที่ผ่านมา คาดว่า จะสูงกว่าร้อยละ 4

นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่จีนบางรายชี้ว่า ปัญหาภาวะเงินเฟ้อได้ส่องสว่างให้เห็น “ความไม่เด็ดขาด” ของเวิน ในการนำมาตรการเศรษฐกิจ ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ตั้งแต่ต้น ขณะนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหันมาใช้วิธีเข้าแทรกแซงตลาด โดยเมื่อเดือนมกราคม ได้ประกาศควบคุมราคาสินค้าอาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันอื่น ๆ

“เห็นชัด ๆ ว่า เวินอยากลอกเลียนแบบโจวเอินไหล (นายกรัฐมนตรีจีนในสมัยเหมาเจ๋อตง) โจวเอินไหลชอบดูแลไปหมดทุกเรื่องตั้งแต่สากะเบือยันเรือรบ เวินต้องการรักษาภาพลักษณ์ “นายกฯขวัญใจประชาชน” เลยชอบไปเยี่ยมพวกรากหญ้า จับไม้จับมือชาวบ้าน ไม่ก็โอบกอดเด็ก ๆ ที่ป่วยโรคเอดส์ มันดูดีอยู่หรอก ” นักวิจัยด้านสังคมวิทยาในกรุงปักกิ่งคนหนึ่งให้ความเห็น แต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ

“แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว จีนไม่ใช่ประเทศเศรษฐกิจแบบควบคุมโดยรัฐเหมือนแต่ก่อน แต่ปัจจุบัน ประเทศมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ฉะนั้น ในฐานะนายกฯ ที่ดูแลบ้านเมือง เวินน่าจะพุ่งความสนใจไปที่เรื่องสำคัญ ๆ และเด็ดขาดกว่านี้”

ไร้การประสานงานนโยบาย

นักวิชาการและเจ้าหน้าที่จีนบางคนมองว่า คณะรัฐมนตรีของเวินมีจุดบกพร่องอีกข้อหนึ่ง ได้แก่นโยบายในหลายครั้งหลายคราของรัฐบาลปราศจากความต่อเนื่อง และไร้การประสานงาน

ยกตัวอย่าง เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2550 กระทรวงการคลังของจีนออกมาปฏิเสธกรณีข่าวลือแพร่สะพัดในตลาดว่า รัฐบาลจะขึ้นภาษีอากรแสตมป์หุ้น แต่พออีกไม่กี่วันฟ้าก็ผ่าเปรี้ยง กระทรวงการคลังประกาศขึ้นภาษีดังกล่าวจากเดิมร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 3 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม หลังคำประกาศ ตลาดดิ่งลงทันที นักลงทุนพากันโกรธแค้น ประณามกระทรวงการคลังว่า “หลอกลวง” และไม่เชื่อรัฐบาลอีกต่อไป

เมื่อปลายปีที่แล้ว สำนักงานสรรพากรของจีนยังได้ออกแบบฟอร์มใหม่สำหรับการคืนภาษีรายได้ส่วนบุคคล แบบฟอร์มใหม่นี้กำหนดให้บุคคล ซึ่งมีรายได้ตั้งแต่ 12,000 หยวนต่อปี (1,670 ดอลลาร์) ต้องแจ้งสัดส่วนรายได้จากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับบ้านและหุ้น แค่นี้ ก็กระตุกต่อมความกลัวของนักลงทุน จนพากันหวาดผวาไปว่า อีกไม่ช้าไม่นาน รัฐบาลต้องประกาศเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นเป็นแน่ แต่ทางการได้ออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการ

“ถ้าจะไม่ประกาศเก็บภาษีกำไรหุ้นแล้ว มาทำแบบนี้ให้เกิดปัญหาทำไม? แค่ให้คนเสียภาษีวุ่นวายใจเล่นเท่านั้นหรือ?” เจ้าหน้าที่รัฐบาลในกรุงปักกิ่งคนหนึ่งกังขา

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในสมัยนายกฯจู ได้มีการวางนโยบายขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาครั้งมโหฬาร และนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ โดยรัฐบาลไฟเขียวให้มหาวิทยาลัยกู้เงินจากธนาคารได้

ตัวเลขของทางการระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศได้ลงทุนในการก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นเงินสูงกว่า 500,000 ล้านหยวน และในร่างแผนการพัฒนาสังคมในปี 2549 ของสถาบันรัฐศาสตร์ของจีนระบุว่า เงินกู้ค้างชำระ ที่มหาวิทยาลัยของรัฐยืมมานั้น มีจำนวน 150,000 – 200,000 ล้านหยวนในปี 2548

การชำระคืนเงินกู้มีกำหนดในอีกไม่กี่ปีนี้ แต่สถาบันศึกษาหลายแห่งไม่มีปัญญาชดใช้ ในปีที่แล้วกระทรวงศึกษาธิการจึงอนุญาตให้สถาบันศึกษาเหล่านี้นำที่ดินหรือทรัพย์สินขายใช้หนี้ ทว่ากระทรวงที่ดินและทรัพยากรออกมาคัดค้านว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากไม่ได้รับอนุญาตจากทางกระทรวงก่อน จนบัดนี้กระทรวงทั้งสองยังตกลงกันไม่ได้

หันมาดูโครงการ ที่เรียกกันว่า “รถไฟสุดเส้นทาง” กันบ้าง โครงการดังกล่าวเปิดทางให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงได้โดยตรง สำนักงานปริวรรตเงินตราต่างประเทศของรัฐ (SAFE) ประกาศเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2550 ว่า เส้นทางของ”รถไฟสุดเส้นทาง” จะเริ่มขึ้นที่เมืองเทียนจิน ซึ่งจะทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงได้โดยตรงผ่านทางธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC) อย่างไม่มีการจำกัดการลงทุน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานอื่นของรัฐ เช่นธนาคารกลาง และคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของจีน ติงให้ศึกษาโครงการอย่างละเอียดเสียก่อน เห็นได้ชัดว่า การตัดสินใจเพื่อหาทางออกให้กับนโยบายทำนองนี้ อยู่นอกเหนืออำนาจของ SAFE

ในที่สุด เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เวินจึงออกปากว่า ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนปล่อยขบวนรถไฟแล่นออกไป และถึงตอนนี้ ดูเหมือนโครงการจะถูกเก็บเข้าลิ้นชักไปตลอดกาล

นอกจากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว คณะรัฐมนตรีของเวินบางคนยังพัวพันคดีทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น เถียนเฟิ่งซัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงที่ดินและทรัพยากร และชิวเสี่ยวหัวอดีตผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นปรากฎการณ์ ซึ่งตีความได้ว่า โรคคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ได้ลามเห่อไปถึงรัฐบาลกลางแล้ว หรืออาจตีความได้อีกว่า ไม่มีความระมัดระวังในการเลือกบุคคลเข้าร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของเวินก็สร้างผลงานไว้มากมายเช่นกัน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และภายในสิ้นปี 2550 จีดีพีของจีน เติบโตถึง 24.66 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้จีนเขยิบใกล้ครองตำแหน่งชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก แทนที่เยอรมนี โดยรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

แต่ยังมีปัญหาและข้อบกพร่องอีกหลายอย่างที่ต้องแก้ไข ในเดือนมีนาคมนี้ เวินจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทาย ที่ยืนรออยู่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ประชาชนจึงหวังกันว่า เวินจะเลือกสรรบุคคลอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อบริหารประเทศให้ดีกว่า 5 ปีที่ผ่านมา




แปลและเรียบเรียงจากเอเชียไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น