ผู้จัดการออนไลน์ – ครูและผู้ปกครองไต้หวันครวญทางการไต้หวันสร้างความสับสน หลังมีข่าวรายงานว่ากระทรวงศึกษาจะทำการปรับแก้คำเรียกชื่อภาษาและวัฒนธรรม เช่นกั๋วอี่ว์ จงหัวเหวินฮว่า ในขณะที่บางคนมองว่าเป็นความพยายามต่อเนื่องที่จะลบคำว่า “จีน” ออกไป เพื่อตีตัวออกห่างและแบ่งแยกตัวเองจากจีนใหญ่ คล้ายกับที่เคยทำกับไปรษณีย์ไต้หวัน
สื่อไต้หวันได้รายงานว่า การปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่ทำกันเป็นประจำทุกๆ 9 ปีครั้งของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ในปีนี้จะมีการปรับเปลี่ยนคำที่เกี่ยวข้องกับ "จีน" หลายคำในแบบเรียนของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
โครงสร้างแบบเรียนใหม่นี้ได้รับการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่เดือนม.ค. โดยเน้นว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้การใช้ภาษาที่ไม่เป็นระบบและสับสนนั้น มีเอกภาพ เช่นคำว่า จงเหวิน (中文) หรือแปลตรงตัวว่าภาษาจีน ก็เปลี่ยนเป็นฮั่นจื้อ (漢字) หรือตัวอักษรฮั่น คำว่า กั๋วอี่ว์ (國語) ที่แปลว่าภาษาประจำชาติ ก็ใช้คำว่าหัวอี่ว์ (華語) แทน ส่วนคำว่าจงหัวเหวินฮว่า (中華文化) ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมจีน ก็เปลี่ยนไปใช้ เปิ่นกั๋วเหวินฮว่า (本國文化) แต่แปลว่าวัฒนธรรมของประเทศเรา โดยหลายฝ่ายมองว่าการกระทำครั้งนี้ เป็นการสานต่อที่จะลบคำว่าจีนออกไปจากแบบเรียนหรือหน่วยงาน หลังจากที่ก่อนหน้าเฉินสุยเปี่ยน ผู้นำไต้หวันเคยเปลี่ยนชื่อไปรษณีย์ “จงหัวโพสต์” ที่แปลตรงตัวว่าไปรษณีย์จีน มาเป็นคำว่า “ไถวันโพสต์” หรือไปรษณีย์ไต้หวัน
หลังมีข่าวดังกล่าวปรากฏขึ้น ครูคนหนึ่งก็ได้แสดงความสงสัยว่า เหตุการณ์ดังกล่าว จะเป็นการสร้างกระแส “ไม่เอาจีน” ขึ้นอีกครั้ง โดยได้ระบุว่า “ตำราเรียนจำเป็นต้องเขียนตามโครงสร้างที่ออกมานี้ ซึ่งในอนาคตจะมีผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นการพิจารณาควรจะมีการเปิดให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพื่อกำหนดตามความเข้าใจร่วมของสังคม ไม่ใช่อาศัยคนกลุ่มเดียวมากำหนด”
ในขณะที่อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ในไทเปได้ระบุว่า “การที่คำว่า กั๋วอี่ว์ จะเปลี่ยนมาเรียกเป็นหัวอี่ว์ เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะคำว่า”หัวอี่ว์” นั้น หมายถึงภาษาจีนทั่วไปทุกสำเนียง ไม่ว่าภาษากวางตุ้ง หรือภาษาแคะ ก็เป็น “หัวอี่ว์” ทั้งสิ้น ระบบภาษาจีนที่มาเลเซียใช้ ฮ่องกงใช้ ก็เรียก "หัวอี่ว์" เหมือนกันหมด
นายหลีเสี่ยน อดีตเจ้าหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษามองว่า “เด็กๆเรียกว่า กั๋วอี่ว์ มาแต่ไหนแต่ไร จู่ๆมาจะเปลี่ยนเป็น หัวอี่ว์ จะทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้”
กำเนิด "กั๋วอี่ว์"
ในประวัติศาสตร์จีน ส่วนใหญ่ใช้ "ฮั่นอี่ว์" หรือภาษาของชนชาติฮั่น(จีน) เป็นภาษาประจำชาติ แต่ในบางยุคสมัยอย่างราชวงศ์หยวน(ค.ศ.1271-1368) ใช้ภาษามองโกล(蒙古语) เป็นภาษาประจำชาติ และต้นราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1644-1911) ก็ใช้ภาษาแมนจู (满语)เป็นภาษาประจำชาติ หลังจากสถาปนาสาธารณรัฐแห่งชาติจีน (1911-...) ผู้นำจีนได้สร้างมาตรฐานภาษาจีน หรือภาษาจีนกลาง เป็นภาษาประจำชาติ เรียกว่า"กั๋วอี่ว์" โดยใช้ภาษาถิ่นปักกิ่งเป็นพื้นฐาน เมื่อผู้นำคอมมิวนิสต์พิชิตอำนาจเหนือแผ่นดินใหญ่ สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน(1949-...) ก็ยังคงใช้ระบบมาตรฐานภาษาจีน "กั๋วอี่ว์"นี้ ต่อมา ในปี 1955 ผู้นำจีนพิจารณาถึงชนชาติหลากหลายชนชาติในประเทศ จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียก ภาษาจีนกลาง จาก"กั๋วอี่ว์" มาเป็น "ผู่ทงฮั่ว" แปลว่าภาษาสามัญ
สำหรับในไต้หวัน ซึ่งยังคงใช้สาธารณรัฐแห่งชาติจีนเป็นชื่อทางการ ที่จีนคณะชาติหรือกั๋วมินตั๋งได้ถอยร่นมาตั้งหลักหลังแพ้สงครามกลางเมือง ก็ยังใช้ภาษาจีนกลาง "กั๋วอี่ว์" เช่นกัน ไม่กี่ปีมานี้ คนรุ่นใหม่ไต้หวันใช้ "กั๋วอี่ว์" ต่างไปจากกั๋วอี่ว์รุ่นเก่า และมีความแตกต่างชัดเจนจาก "ผู่ทงฮั่ว" ของจีนใหญ่ ดังนั้น จึงมีการเรียกภาษาจีนกลางที่ชาวไต้หวันรุ่นใหม่ใช้กันว่า "ไต้หวันกั๋วอี่ว์" (台湾国语).