ซีน่าเน็ต – ยักษ์อลูมิเนียมจีน จับมือกับบริษัทอลูมิเนียมอันดับ 3 เมืองลุงแซมชิงตัดหน้าเข้าซื้อหุ้นของบริษัทริโอ ตินโตจำนวน 12% แบบสายฟ้าแลบ ด้านนักวิเคราะห์ชี้เป็นการสกัดกั้นการที่บีเอชพีเข้ายึดครองริโอ และกลายมาเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดโลก
บริษัท ดิ อลูมินัม คอร์ป ออฟ ไชน่า (ไชนาลโค) จับมือกับ บริษัท อัลโค อิงค์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอลูมิเนียมอันดับ 3 ของโลก ทุ่มเงิน 14,050 ล้านเหรียญสหรัฐฯเข้าซื้อหุ้นสามัญในตลาดหุ้นอังกฤษของบริษัท ริโอ ตินโต จำกัด 12% ซึ่งการซื้อดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจกับคนในวงการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการซื้อที่รวดเร็วโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อน
การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ เป็นการซื้อผ่านบริษัท ไชนิ่ง พรอสเปค พีทีอี จำกัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของของไชนาลโคในสิงคโปร์ ในราคาหุ้นละ 60 ปอนด์ สูงกว่าราคา 49.56 ปอนด์ต่อหุ้นเมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา 21% โดยอัลโค อิงค์ ได้ออกเงินจำนวน 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนอีกกว่า 90% จะเป็นไชนาลโคเป็นผู้จ่าย
นายเซียวหย่าชิ่ง ผู้จัดการใหญ่ของไชนาลโคได้เปิดเผยที่ลอนดอนว่า “การเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ ทางไชนาลโคไม่ได้เรียกร้องการเข้าร่วมในที่ประชุมกรรมการบริษัท และจะไม่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของริโอ” นอกจากนั้นยังได้เน้นย้ำว่า การลงทุนครั้งนี้เป็นของการตัดสินใจของบริษัท โดยไม่ได้มีรัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซงในการซื้อดังกล่าว ส่วนการซื้อหุ้นเพิ่มเติมในอนาคตนั้นต้องประเมินตามกำลังและโอกาส ซึ่งการจะซื้อหุ้นของริโอเพิ่มยังมีความเป็นไปได้อยู่
ทางด้านพอล สกินเนอร์ ประธานของริโอ ตินโตได้เปิดเผยว่า “นี่เป็นการเข้าซื้อโดยที่ทางเราไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้า แต่ก็เท่ากับเป็นการยอมรับและเพิ่มมูลค่าให้กับหุ้นของริโอในอนาคต”
ขณะที่อแล็ง เบลดา ประธานกรรมการและซีอีโอของอัลโค ได้ระบุว่า ริโอ ตินโตเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ระดับโลก และมีความมั่นคงในด้านเหมืองแร่ การลงทุนร่วมกับไชนาลโคในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างประโยชน์และพัฒนาการต่างๆร่วมกัน
นายสีว์เซี่ยงชุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเหล็กในจีนระบุว่า “ไชนาลโคได้ใช้รูปแบบการร่วมทุนกับอัลโค กอปรกับประสบการณ์การเข้าซื้อกิจการหลายๆแห่งที่เคยมี เพื่อลดความเสี่ยงในตลาด และสามารถผ่านด่านของผู้ตรวจสอบตลาดหลักทรัพย์ไปได้ด้วยดี ถือได้ว่าเป็นการพลิกฟื้นการซื้อหุ้นในต่างแดนหลังจากที่หลายบริษัทจีนเคยได้รับบทเรียนมาก่อน”
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การที่ไชนาลโค ที่มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่เพียง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น แม้ว่าจะยากที่จะหยุดยั้งแผนการของบีเอชพี บิลิตัน ยักษ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่โลกที่จะเข้าซื้อริโอ ตินโต ทว่า การซื้อหุ้นในครั้งนี้ ก็จะทำสร้างอุปสรรคให้กับบีเอชพีได้ไม่น้อย
ในขณะที่นายเกรแฮม เบิรช์ ผู้จัดการกองทุนแบล๊กร๊อค ซึ่งถือหุ้นใหญ่อยู่ทั้งในริโอ และบีเอชพีได้ระบุว่า “การที่เข้าซื้อหุ้น 12% ของไชนาลโคนั้นมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ก็คือป้องกันไม่ให้มีใครสามารถถือหุ้นของริโอ 100% เพราะไม่สามารถขับไล่ผู้ถือหุ้นรายย่อยออกไปได้”
ด้านนักวิเคราะห์จากต่างชาติมองว่า การเข้าถือหุ้น 12% ของไชนาลโค เป็นการแสดงให้บีเอชพีได้เห็นว่า อย่างน้อยจีนเองก็มีกำลังพอที่จะเข้าเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของริโอ ซึ่งการซื้อหุ้นในครั้งนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยที่บีเอชพีจะเข้าซื้อริโอ ตินโต
อย่างไรก็ตาม นายเจิงเจี๋ยเซิ่ง นักวิจัยจากซูนย์วิจัยเรื่องเหล็กของจีนได้วิเคราะห์ว่า บีเอชพีจะไม่ยอมล้มเลิกแผนการซื้อริโอ ตินโตไปง่ายๆ ฉะนั้นในอนาคตการแย่งซื้อหุ้นของริโอคงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะการเข้าซื้อครั้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งผลเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงทรัพยากรอลูมิเนียมเท่านั้น ที่สำคัญคือยังพาดพิงถึงการได้มาและการควบคุมราคาของแร่เหล็กอีกด้วย เพราะหากปล่อยให้ 2 ยักษ์ใหญ่อย่างริโอ และบีเอชพีรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ จะทำให้มีศักยภาพในการที่จะกำหนดราคาแร่เหล็กของโลก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศจีนผู้ซึ่งอาศัยการนำเข้าแร่เหล็กมากถึง 50% อย่างจีนเป็นอย่างยิ่ง”