xs
xsm
sm
md
lg

เซินเจิ้น ชุมทางเงินใต้ดินแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปริมาณเงินหมุนเวียนในเซินเจิ้นเพียงเมืองเดียว แทบจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยที่ไม่ปกติมากมาย รวมถึงธนาคารใต้ดิน การนำเงินเข้า-ออกประเทศอย่างผิดกฎหมาย หากไม่เพิ่มความเข้มงวด จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการเงินของจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง”

ข้างต้นเป็นคำกล่าวของเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน ระหว่างการเดินทางเยือนสิงคโปร์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี 2007 แสดงให้เห็นว่าผู้นำมังกรกำลังให้ความสนใจอย่างมากต่อปัญหาการเงินในเมืองเซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษในมณฑลกว่างตง ทางตอนใต้ของจีน ประกอบกับข่าวที่ผ่านมาเรื่องการทลายธนาคารใต้ดินสกุลตู้ กลุ่มค้าเงินผิดกฎหมายระดับบิ๊กเบิ้มของเซินเจิ้น ทำให้ผู้คนยิ่งหันมาให้ความสนใจกับปริมาณเงินจำนวนมหาศาลที่สะพัดระหว่างเซินเจิ้นและฮ่องกงมากขึ้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2007 ประชาชนในเซินเจิ้นต้องเผชิญกับภาวะ “เงินสดขาดแคลน” เมื่อไม่สามารถเบิกเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติหรือตู้เอทีเอ็มได้ตามปกติ และหลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารทุกแห่งในเมืองประกาศจำกัดจำนวนเงินสดที่ลูกค้าสามารถเบิกถอนได้ สำหรับบัญชีบุคคลธรรมดาห้ามถอนเงินมากกว่า 30,000 หยวนต่อวัน ภายใน 1 สัปดาห์ห้ามเกิน 50,000 หยวน และภายใน 1 เดือนห้ามเกิน 200,000 หยวน

ส่วนบัญชีบริษัทแต่ละวันห้ามถอนเกิน 100,000 หยวน ใน 1สัปดาห์ห้ามเกิน 200,000 หยวน และใน 1 เดือนห้ามเกิน 500,000 หยวน นอกจากนี้ ธนาคารบางแห่งยังใช้วิธีเติมเงินเข้าตู้เอทีเอ็มอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละไม่เกิน 100,000 หยวน เพื่อจำกัดการถอนเงินสด และบางตู้เอทีเอ็มปิดให้บริการช่วงกลางคืน

ธนาคารประชาชนจีนหรือธนาคารกลางชาติจีนสาขาเซินเจิ้นอธิบายถึงสาเหตุของวิกฤตการณ์ดังกล่าวว่า เป็นเพราะมีเงินสดจำนวนมากหมุนเวียนอยู่ในเมือง “ส่วนใหญ่จะเบิกเงินจำนวนมากมาใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การพนัน ยาเสพติด ค้าประเวณี การลอบซื้อขายสินค้าหนีภาษี การฟอกเงิน เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วไปและความเป็นระเบียบของระบบเศรษฐกิจปกติของเมืองเซินเจิ้น”

เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งหนึ่งในเซินเจิ้นเปิดเผยว่า ภายในเมืองมีเงินหมุนเวียนเป็นปริมาณมากมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมาคิดเป็นปริมาณมากกว่า 40% ของทั้งประเทศ แต่ 3 ไตรมาสแรกของปี 2007 พบว่าปริมาณเงินสดหมุนเวียนสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เกือบจะเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารกลาง 2 คนต้องเดินทางมาตรวจสอบถึงเซินเจิ้นเมื่อเดือนตุลาคมปี 2007 ซึ่งกดดันธนาคารกลางสาขาเซินเจิ้นอย่างมากจนต้องเรียกธนาคารทุกแห่งในเมืองประชุมด่วนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน จนได้วิธีการแก้ปัญหาคือ “ข้อแนะนำ 10 ข้อการเบิกถอนเงินสดสกุลเงินเหรินหมินปี้” ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ และเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2007

แต่หลังจากที่เวินเจียเป่ากล่าวที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2007 ว่าไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการเบิกถอนเงินสด แต่ขอให้ใช้วิธีการทางกฎหมายแก้ปัญหาแทน วันรุ่งขึ้นธนาคารพาณิชย์ในเมืองต่างยกเลิกการจำกัดการเบิกถอนทางตู้เอทีเอ็ม แต่การเบิกเงินที่เคาน์เตอร์ยังคงจำกัดต่อไป หากต้องการเบิกเงินจำนวนมากกว่าที่จำกัดต้องยื่นเรื่องเพื่อขออนุมัติ

พอถึงช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนสื่อจีนต่างโหมประโคมข่าวการบุกทลายธนาคารใต้ดินสกุลตู้หรือแก๊งค้าเงินรายใหญ่สุดๆ ของเซินเจิ้น ที่เกิดขึ้นไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2007 ซึ่งในตอนนั้นสำนักปริวรรตเงินตราแห่งชาติจีนได้ประกาศข่าวนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2007 ซึ่งในขณะนั้นมีสื่อตามรายงานข่าวอยู่บ้าง แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่าทำไมพอถึงปลายปี สื่อต่างๆ กลับหยิบข่าวเก่านี้ขึ้นมาประโคมกันอีกรอบ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปคิดว่ารัฐบาลจีนกำลังเพิ่มกำลังปราบปรามการหมุนเงินที่ผิดกฎหมาย แต่ผลที่ตามมาคือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2007 ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลงมามากกว่า 1,100 จุด

นิตยสารเอเชียวีกลี่ระบุว่าการที่ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงดิ่งลงเช่นนี้ เป็นผลมาจากประกาศข้อมูลตัวเลขด้านการเงินประจำเดือนตุลาคม 2007 ของธนาคารกลางจีนเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2007 ข้อมูลของธนาคารกลางจีนแสดงให้เห็นว่า ปริมาณเงินฝากของประชาชนลดลงมากถึง 5,061,200 ล้านหยวน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าลดลง 5,051,200 ล้านหยวน ส่วนปริมาณเงินฝากของบริษัทห้างร้านลดลง194,700 ล้านหยวน เทียบกับปีก่อนหน้าที่ลดลง 143,600 ล้านหยวน

ขณะที่เงินฝากในธนาคารลดลง ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มซบเซาตามกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นจึงน่าจะมีเงินจำนวนมากไหลออกนอก และน่าจะเป็นตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงที่รองรับการไหลออกครั้งนี้ และช่องทางเข้าออกที่เร็วที่สุดและสะดวกที่สุดคือผ่านธนาคารใต้ดินระหว่างเซินเจิ้นและฮ่องกง ดังนั้นการที่ทางการสั่งให้เอาข่าวเก่ามาเล่นใหม่ น่าจะมีจุดประสงค์ใช้วิธีเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อเตือนบรรดาธนาคารใต้ดินที่ยังคงดำเนินกิจกรรมอย่างคึกคักให้ร้อนหนาวกันบ้าง

เนื่องจากรัฐบาลจีนควบคุมการซื้อขายเงินตรา ดังนั้นธนาคารใต้ดินจึงเกิดขึ้นและกระจายอยู่ในทุกเมืองทุกมณฑล โดยเฉพาะแถบชายฝั่งมีการพัฒนาไปมากที่สุด จนกลายเป็นระบบการเงินใต้ดินขนาดใหญ่ ซึ่งคุกคามความมั่นคงด้านการเงินของประเทศอย่างยิ่ง

ธนาคารใต้ดินในประเทศจีนจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันตามพื้นที่ เช่น ธนาคารใต้ดินแถบเจ้อเจียง และมณฑลในแผ่นดินเช่น หูหนัน เจียงซี จะดำเนินกิจการรับฝากเงินและปล่อยกู้เป็นหลัก ส่วนมณฑลอื่นๆ แถบชายฝั่งจะรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นกิจการหลัก เช่น เมืองเซินเจิ้นเน้นการซื้อขายเงินดอลลาร์ฮ่องกงและเงินดอลลาร์สหรัฐ เมืองจูไห่เน้นซื้อขายเงินดอลลาร์ฮ่องกงและเงินมาเก๊า ส่วนเมืองแถบทะเลป๋อไห่เน้นซื้อขายเงินวอนเกาหลี

เนื่องจากตลาดเงินใต้ดินในกว่างตง เซินเจิ้น ซึ่งอยู่ใกล้กับฮ่องกงและมาเก๊า มีขนาดใหญ่ที่สุดและคึกคักที่สุด ดังนั้นจึงกลายเป็นศูนย์กลางรับและกระจายเงินตราต่างประเทศจากธนาคารใต้ดินในหยุนหนัน ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และที่อื่นๆ ด้วย โดยผ่านช่องทางเซินเจิ้น-ฮ่องกง

ลูกค้าของธนาคารใต้ดินเหล่านี้มีบ้างที่เป็นประชาชนและบริษัทห้างร้านทั่วไป ที่ไม่อยากยุ่งยากไปแลกเงินกับธนาคารที่มีขั้นตอนซับซ้อน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะมีเอี่ยวกับการฟอกเงินจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้าประเวณี ยาเสพติด หนีภาษี เป็นต้น ทำให้ธนาคารใต้ดินมีช่องว่างขยายตัวอย่างมาก

สำหรับธนาคารใต้ดินสกุลตู้ ในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนเข้ามามากถึง 4,300 ล้านหยวน ดังนั้นแม้ทางการเซินเจิ้นจะเพิ่มกำลังปราบปราม แต่ก็ปราบไม่สิ้นซากเสียที มักผุดขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ

การบุกทลายธนาคารใต้ดินสกุลตู้ครั้งใหญ่ของทางการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2007 เอเชียวีกลี่ให้ความเห็นว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการเดินหน้าปฏิรูปเงินตรา และการที่ค่าเงินหยวนจะทะยานขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2007 โจวเสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางชาติจีนออกมากล่าวว่า กำลังพิจารณาขยายแถบขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน

ขณะเดียวกัน สื่อฮ่องกงบางฉบับเห็นว่า การที่ธนาคารในเซินเจิ้นจำกัดการเบิกถอนเงินสดและเอาจริงกับการปราบปรามธนาคารใต้ดิน เพราะต้องการป้องกันประชาชนในเมืองช้อนซื้อหุ้นในตลาดฮ่องกง แต่มีนักวิเคราะห์บางคนไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นเพียงมาตรการอย่างหนึ่งที่ใช้โจมตีและจำกัดเงินหมุนเวียนอย่างผิดกฎหมายในประเทศเท่านั้น นักลงทุนเซินเจิ้นที่ซื้อหุ้นฮ่องกงต่างก็เห็นด้วย เพราะในปัจจุบันการถือเงินสดไปซื้อหุ้นฮ่องกงแทบไม่มีแล้ว ท่าทีของทางการจึงน่าจะเป็นการสกัดการฟอกเงินมากกว่า แต่คนกลุ่มหลังนี้ไม่ค่อยเห็นดีกับผลลัพธ์ของการโจมตีธนาคารใต้ดินเท่าใดนัก เพราะเห็นว่าผู้ที่ต้องการนำเงินมากกว่า 10 ล้านหยวนเข้ามาในประเทศ ไม่จำเป็นต้องผ่านธนาคารใต้ดิน พวกเขาสามารถนำเข้ามาโดยอ้างการลงทุนหรือซื้อขายสมมติได้ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานควบคุมการปริวรรตเงินตราของรัฐ.

ร้านเค้กมีเงินหมุนปีละ2,000ล้านหยวน

ธนาคารใต้ดินมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับการฟอกเงิน และการบุกทลายธนาคารที่ผิดกฎหมายเหล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในประเทศจีนเกี่ยวโยงถึงกิจกรรมฟอกเงินมูลค่ามหาศาล สำหรับในเซินเจิ้นเมื่อมีอุปสงค์ก็มีอุปทาน และเงินผิดกฎหมายจากทุกแหล่งต่างไหลมาหาช่องทางออกที่เซินเจิ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินที่มาจากการยักยอก การค้ายาเสพติด การพนัน หรือการค้าประเวณี ล้วนเดินทางมาฟอกเงินอย่างสะดวกสบายที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้

ธนาคารแทบทุกแห่งในเซินเจิ้นจะมีบัญชีเงินฝากที่ผิดปกติ เช่น ร้านซักผ้าหรือร้านขายน้ำแกลลอน มีเงินสดหมุนเวียนปีละหลายร้อยล้านหยวน และมีร้านขายขนมเค้กแห่งหนึ่งมีเงินสดหมุนเวียนสูงถึงปีละ 2,000 ล้านหยวน แต่ก่อนธนาคารจะปิดตาข้างเปิดตาข้าง แต่ในปัจจุบันเริ่มกวดขันบัญชีประเภทนี้มากขึ้น

ตามปกติเซินเจิ้นเป็นเมืองที่มีปริมาณเงินสดสะพัดสูงมากและดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เซินเจิ้นหัวเฉียงเป่ย เป็นตลาดซื้อขายอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ซึ่งพ่อค้าส่วนใหญ่เดินทางมาซื้อขายกันด้วยเงินสดถึงที่ นอกจากนี้ยังมีบ่อนใต้ดิน การปลอมแปลงหลักฐานอพยพย้ายถิ่นฐาน การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรืออัญมณีแบบเลี่ยงภาษี ที่มีเงินสดจำนวนมหาศาลหมุนเวียนอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดอาชีพใหม่ในเซินเจิ้นนั่นคือ “นักถอนเงินสด” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าแถวรอถอนเงินหน้าตู้เอทีเอ็ม คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสวมแว่นตาดำ สะพายกระเป๋า และใช้บัตรเอทีเอ็มหลายใบเบิกเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม

ตามปกติในแต่ละวันธนาคารจะใส่เงินไว้ในเครื่องราว 2-300,000 หยวน ซึ่งจะถูกเบิกหมดไปแทบจะทันที ทำให้ลูกค้าทั่วไปของธนาคารพาณิชย์มักเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มไม่ได้และร้องเรียนกับธนาคารพาณิชย์เข้ามามาก โดยเฉพาะหลัง 3 ทุ่มนักถอนเงินเหล่านี้จะขี่มอเตอร์ไซค์ถือบัตรเอทีเอ็มหลายสิบใบมาไล่กดถอนเงินทีละตู้ทีละตู้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่นำเช็คมาแลกเงินสดจากเคาน์เตอร์ธนาคารโดยเฉพาะอีกด้วย

ธนาคารพาณิชย์เรียกกลุ่มนักถอนเงินเหล่านี้ตามพฤติกรรมว่า “ตั๊กแตน” และยังคงไม่มีบทลงโทษที่มีประสิทธิภาพมาจัดการกับฝูงตั๊กแตนเหล่านี้ ส่วนมาตรการจำกัดการเบิกเงินก็ไม่เป็นที่พอใจของลูกค้าทั่วไปนัก

อันที่จริง สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจแดนมังกรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความต้องการเงินสดทั่วประเทศจึงทวีขึ้น แต่ที่เซินเจิ้นมากเป็นพิเศษ ปัจจุบันเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่ปักกิ่งและที่หนันชั่งก็ทำงานวันละ 24 ชั่วโมงไม่ได้หยุด ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการธนบัตรของทั่วประเทศได้ ดังนั้นทางการจีนกำลังพิจารณาตั้งโรงงานกษาปณ์อีกแห่งทางภาคใต้.

เงินใต้ดินคิดเป็น20%ของมูลค่าผลผลิตรวมท้องถิ่น

เงินสดปริมาณมหาศาลหมุนเวียนอยู่ในเมืองเซินเจิ้น ทั้งที่ขนาดเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2007 มีเงินสดหมุนเวียนสะสมมากถึง 195,800 ล้านหยวน หรือครึ่งปีเกือบ 100,000 ล้านหยวน

นักวิเคราะห์เห็นว่าเงินจำนวนมากที่หมุนเวียนอยู่ในเมืองแทบไม่ให้ผลตอบแทนอะไรกลับมา เพราะส่วนใหญ่ถูกโยกย้ายออกนอกประเทศ อีกด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจเซินเจิ้นพึ่งพาอยู่กับเงินใต้ดินในระดับหนึ่ง เช่น ภาคการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ท้องถิ่นภาคภูมิใจ การซื้อขายอัญมณี ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ ล้วนมีเงินใต้ดินเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

จากตัวเลขที่ไม่เป็นทางการ เงินใต้ดินคิดเป็น 10% ของมูลค่าผลผลิตรวมของเมืองเซินเจิ้น แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงเป็น 2 เท่า จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเซินเจิ้นได้กลายเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายเงินใต้ดินแหล่งใหญ่ของประเทศจีน และกลายเป็นเมืองหลวงทางการเงินของธนาคารใต้ดินของแดนมังกร.




คดีปราบปรามธนาคารใต้ดินจีนรายใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้

มิถุนายน 2007 – ธนาคารใต้ดินสกุลตู้ เมืองเซินเจิ้น ซึ่งพัวพันกับ 31 เมืองและมณฑล
พฤษภาคม 2007
– ขบวนการแลกเงินตราต่างประเทศในมณฑลเจียงซูมูลค่าทรัพย์สิน 1,400 ล้านหยวน
ธันวาคม 2006 - ธนาคารใต้ดินรายใหญ่สุดของเซี่ยงไฮ้ มูลค่าทรัพย์สิน 5,300 ล้านหยวน
กันยายน 2006 – ธนาคารใต้ดินรายใหญ่ที่ถนนหยาเป่านครปักกิ่ง
มกราคม 2006 – ขบวนการฟอกเงินกว่าหมื่นล้านหยวนที่เขตปกครองตนเองซินเจียง
กันยายน 2005 – ทางการปักกิ่งประกาศทลายแก๊งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรายใหญ่
มีนาคม 2005 – ทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศทลายธนาคารใต้ดินรายใหญ่มาก ซึงเชื่อมโยงใน 8 เมืองและมณฑล
กุมภาพันธ์ 2005 – ธนาคารใต้ดินค้าเงินวอนเกาหลีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านหยวน ที่เมืองหนิงโป มณฑลซันตง
กำลังโหลดความคิดเห็น