xs
xsm
sm
md
lg

เฉินซื่อหลิน ผู้สร้าง “ภาพเหมา” ให้ครองใจประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฉินซื่อหลินโชว์ภาพประธานเหมาที่ต่างกันกัน ซึ่งทั้งหมดได้นำมาใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ
ไชน่าเดลี่ –บางสิ่งที่เราพบเห็นทุกวี่วัน จนคุ้นชินเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ธรรมดาเลย ดั่งกรณี ภาพของผู้นำสูงสุดการปฏิวัติ ที่ต้องพิชิตใจผู้คนนับพันล้านอย่างท่านประธานเหมาเจ๋อตง การเสนอภาพที่จะต้องปรากฏต่อหน้าสาธารณชนอย่างน้อยก็ผู้คนในแผ่นดินจีนนับพันล้านคนนั้น จะต้องทรงพลังยึดกุมจิตใจผู้คนที่พบเห็นนั้น มิใช่เรื่องธรรมดาแน่

ไชน่า เดลี่ได้เผยเรื่องราวของผู้ปิดทองหลังพระในการตกแต่งภาพท่านประธานเหมาคือ เฉินซื่อหลิน ชื่อนี้อาจไม่โด่งดังเท่าใดนักในกลุ่มช่างภาพมืออาชีพ แต่ด้วยความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ จึงทำให้เขาได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในภาพอันเป็นประวัติศาสตร์ของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งให้กำเนิดสาธารณรัฐประชาชนจีน นาม “เหมาเจ๋อตง” อย่างภาพที่ตระหง่านที่หน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน ภาพที่ใช้ในพิธีอย่างเป็นทางการ ภาพพิมพ์ที่หน้าธนบัตรเงินจีน

“คุณรู้มั้ยว่า ภาพท่านประธานเหมาในเชิ้ตขาว สวมงอบยืนเพียงลำพังในทุ่งนา ความจริงแล้วในภาพเดิมนั้นมีผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่นรวมอยู่ด้วย” เฉินให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวจีนเมื่อวันอังคาร (8 ม.ค.) ที่ห้องพักของตนเองในกรุงปักกิ่ง เขายังได้เล่าว่าเขาได้ตัดภาพของหลิวซ่าวฉี (รองประธานาธิบดีในขณะนั้น) ซึ่งยืนข้างท่านประธานเหมาในภาพนั้นออกไป และวาดวิวของทุ่งนาลงไปแทน ซึ่งเฉินเผยว่าก่อนจะได้มาเป็นภาพที่สมบูรณ์นั้น มีภาพเป็นจำนวนมากที่ถูกทิ้งลงถังขยะ
ภาพของประธานเหมาขณะเยี่ยมชาวนา อันเกิดจากการตกแต่งและตัดต่อจากเฉินซื่อหลิน
ในยุคนั้นอุปกรณ์ที่ช่างภาพเฉินซื่อหลินใช้ในการตัดต่อภาพล้วนเป็นอุปกรณ์ที่เรียบง่ายและดั้งเดิม เนื่องจากสมัยนั้นเทคโนโลยีในจีนยังไม่พัฒนา เป็นต้นว่า ในการตัดภาพของเหมา เฉินนำเอาใบมีดผ่าตัดของหมอมากรีดภาพ และใช้สปริงนาฬิกาเป็นตัวเก็บรายละเอียดของภาพ อุปกรณ์อื่นๆได้แก่ สีน้ำ แปรง ปากกา และสารเคมีอื่นๆที่ใช้ในการตกแต่งภาพ

เฉินบอกต่อผู้สื่อข่าวว่า ในวันที่สถาปนาจีนใหม่( 1 ตุลาคม 1949) ท่านประธานเหมายุ่งมากด้วยภารกิจที่รัดตัว ครั้งที่เหมาต้องถ่ายรูปกับคณะกรรมการพรรคฯ เนื่องจากภาพที่ถ่ายออกมาไม่เหมาะที่จะใช้ในการขยายเป็นภาพใหญ่ได้ (ข้อจำกัดเทคโนโลยีสมัยนั้น) เฉินจึงได้ตัดต่อภาพของเหมาเจ๋อตงในครั้งนั้นด้วยตนเองและรูปนั้นก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการปลุกกระแส “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ปี 1966-76

“ แต่บางที ภาพของเหมาที่ฉันตัดต่อออกมา มันก็ดูเหมือนของปลอมมาก” เฉินพูดถึงผลงานของตนเองในอดีต
คนงานกำลังเปลี่ยนภาพของเหมาเจ๋อตง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน
หลังจากนั้นเฉินยังได้สร้างผลงานตัดต่อภาพของเหมาพร้อมกับคณะกรรมการพรรคฯ อีกถึง 3 ครั้งด้วยกันในปี 1959 และ ปี 1964 ซึ่งล้วนแล้วเป็นภาพที่ถูกนำมาใช้ในพิธีการต่างๆ โดยการตกแต่งครั้งที่ 4 หรือผลงานชิ้นเอกของเฉินในปี 1964 ได้นำไปใช้ในการประดับที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ปี 1998 เฉินซื่อหลินได้พบกับลีน่าหรือ หลี่เน่อ (ทายาทของเหมาเจ๋อตง) เธอกล่าวชมภาพทั้ง 4 ชุดที่เฉินได้ตัดต่อว่าฝีมือการตัดต่อของเขายอดเยี่ยมมาก เมื่อเธอมองไปยังภาพของบิดารู้สึกราวกับว่าท่านกำลังจ้องมองมายังตัวเธอ และบอกด้วยว่าบิดาของเธอพอใจในผลงานของเฉินมาก และท่านก็เลือกภาพทั้งหมดนั้นด้วยตัวเอง

ทุกครั้งที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมีการเปลี่ยนรูปของเหมาเจ๋อตง เฉินซื่อหลินมักจะแวะเวียนไปเยี่ยมชมและบันทึกภาพนั้นด้วยกล้องถ่ายภาพดิจิตอลอยู่เสมอ

ทั้งนี้เฉินซื่อหลินเริ่มต้นทำงานตกแต่งภาพครั้งแรกในปี 1944 ให้หลัง 2 ปีต่อจากนั้นชะตาพลิกผันให้เฉินต้องไปทำงานยังสตูดิโอรูปรายใหญ่ในหนันจิง(นานกิง)

ครั้งนั้นทำให้เฉินได้พบปะและรู้จักกับบุคคลดังหลายต่อหลายท่าน อาทิ จางต้าเชียน จิตรกรชื่อดังยุคสมัยนั้น และหยางเหยี่ยนซิ่ว หนึ่งในคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ระหว่างปี 1948 -49 เฉินมีโอกาสไปร่วมงานกับต้ากวางหมิง บริษัทผลิตภาพยนตร์ชื่อดังในฮ่องกงและไต้หวัน ช่วงเวลานี้เองที่เฉินได้รับการฝึกฝนเทคนิคการตัดต่อและตกแต่งภาพจนเชี่ยวชาญ และได้กลับสู่แผ่นดินแม่อีกครั้งเพื่อเข้าทำงานในแผนกศิลปกรรมของสำนักข่าวซินหัวในปี 1950 และกลายเป็นบุคคลสำคัญในแผนกเป็นเวลาต่อมา

ปัจจุบันเฉินวัย 78 ปี งานอดิเรกของเขาคือการสะสมเครื่องเคลือบลายครามโบราณของจีน โดยเขาให้เหตุผลว่าต้องการแสดงให้เพื่อนในฝั่งไต้หวันประจักษ์ว่าชีวิตในแผ่นดินใหญ่ของเขาไม่ได้ขัดสนอย่างที่คิด
กำลังโหลดความคิดเห็น