“ทายาทอสูร” จะสืบต่อพลังอำนาจชั่วร้าย แต่ “ทายาทเผด็จการ” จะยึดอำนาจการปกครองต่อไปตราบจนสิ้นสูญ โลกใบนี้ยังคงมีอีกหลายประเทศที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ นอกเหนือจากประเทศสังคมนิยมแล้ว ยังมีประเทศที่ทหารหรือกลุ่มปฏิวัติเป็นฝ่ายยึดครองอำนาจ จากจุดนั้นก็จะมีผู้นำ “เผด็จการ” ปรากฏขึ้นมา และคงอยู่ตลอดไปจนกว่าจะมีการล้มล้างเกิดขึ้น
:: มอจตาบา คาเมนี (อิหร่าน)
“อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี” ขึ้นแท่นปกครองอิหร่านต่อจาก “รูฮุลเลาะห์ โคมัยนี” มาตั้งแต่ปี 1989 กว่าสามทศวรรษที่คาเมนีแสดงบทบาทผู้นำสูงสุดของอิหร่าน จนถึงตอนนี้ที่เขาอยู่ในช่วงวัยโรยรา อีกทั้งความไม่พอใจของชาวอิหร่านเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น การเตรียมผู้สืบทอดอำนาจจึงอยู่ในแผนการ และคนที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจมากที่สุดก็คือ “มอจตาบา คาเมนี” ลูกชายคนที่ 2 ของเขา ที่เคยร่วมทำสงครามอิหร่าน-อิรักเมื่อปี 1987-1988 หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพ มอจตาบาเดินตามรอยเท้าพ่อมาตลอด ไม่ว่าการเรียน การใช้ชีวิต หรืออุดมการณ์ทางการเมือง ผู้คนเชื่อกันว่ามอจตาบาเป็นผู้ควบคุมสินทรัพย์และการเงินคนสำคัญของอิหร่าน
:: เทอูโดริน โอเบียง (อิเควทอเรียล กินี)
ประเทศสาธารณรัฐในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก มีอาณาเขตติดกับแคเมอรูนทางทิศเหนือ และกาบองทางทิศใต้และตะวันตก ในอดีตเคยตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสนานถึง 190 ปี และได้รับเอกราชเมื่อปี 1968 จากนั้นก็เข้าสู่การปกครองแบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองพรรคเดียว จนเกิดความวุ่นวาย กระทั่งในปี 1979 ประธานาธิบดีตลอดกาล ก็ถูกโค่นล้มด้วยรัฐประหาร ภายใต้การนำของ “พันเอกเทอูโดรู โอเบียง” และครองอำนาจมาถึงปัจจุบัน ยามนี้เขาอายุ 79 ปีแล้ว และมีผู้สืบทอดตำแหน่งเป็นลูกชายคือ “เทอูโดริน โอเบียง” ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี สืบทอดความโหดเหี้ยมจากพ่อมาทั้งหมด ในขณะที่ ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนใช้ชีวิตแร้นแค้น แต่เทอูโดรินกลับใช้ชีวิตอู้ฟู่ ใช้เงินหมดไปกับรถหรูราคาแพง เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และเรือยอชต์มูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์
:: เซร์ดาร์ เบร์ดิมูฮาเมดอฟ (เติร์กเมนิสถาน)
อดีตเคยเป็นหนึ่งในสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต ก่อนเป็นเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 เติร์กเมนิสถานมีก๊าซธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก เคยอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของประธานาธิบดีตลอดกาล “ซาปาร์มิรัต นือยาซอฟ” กระทั่งเสียชีวิตในปี 2006 ปีถัดมา “กูร์บันกูลือ เบร์ดิมูฮาเมดอฟ” สืบทอดตำแหน่งจากการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้การปกครองของเขา เติร์กเมนิสถานมักถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาส่วนใหญ่คือการดูแลชนกลุ่มน้อย เสรีภาพของสื่อและเสรีภาพทางศาสนา หรือล่าสุด วิกฤตโควิด-19 ที่เติร์กเมนิสถานประกาศว่า เป็น “ประเทศที่ปลอดโควิดอย่างสิ้นเชิง” เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2022 เบร์ดิมูฮาเมดอฟยอมก้าวลงจากตำแหน่ง แต่ผลักดันให้ “เซร์ดาร์ เบร์ดิมูฮาเมดอฟ” ลูกชายขึ้นแทน จากการชนะเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม นับเป็นผู้นำเผด็จการอันดับ 3 ตั้งแต่เติร์กเมนิสถานเป็นเอกราช
:: วิกตอร์ ลูกาเชงโก (เบลารุส)
ประเทศสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่ประกาศอำนาจอธิปไตยในปี 1990 และระหว่างการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เบลารุสได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1991 โดยมี “อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก” เป็นประธานาธิบดีคนแรก และทำทุกวิถีทางเพื่อครองอำนาจอย่างยาวนาน ปี 2010 เขาสั่งให้จับกุมผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทั้ง 7 คน สั่งปราบปรามกลุ่มประท้วงอย่างรุนแรง และเมื่อไม่มีใครสามารถชนะเขาได้ ทำไมจะต้องมีการเลือกตั้งอีก อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของระบอบสังคมนิยมที่สุดขั้วที่สุดคนสุดท้ายของยุโรป ภายใต้การปกครองของเขา ทำให้เบลารุสถูกแช่แข็งทางการเมืองระดับโลก ปี 2021 เขาหนุนลูกชาย “วิกตอร์ ลูกาเชงโก” ขึ้นสืบทอดตำแหน่งแทน เนื่องจากก่อนหน้านั้นเบลารุสถูกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ตัดสิทธิ์จากการแข่งขันไอซ์ฮ็อกกี้ชิงแชมป์โลก การลงจากตำแหน่งของเผด็จการตัวพ่อ จึงน่าจะเป็นทางออก หลังจากประกาศผลเลือกตั้งว่า วิกตอร์ ลูกาเชงโก ได้รับคะแนนเสียง 80.1 เปอร์เซ็นต์ มีการประท้วงเกิดขึ้นยาวนานนับเดือน แต่ทุกอย่างจบลงด้วยการจับกุมและการทำร้ายของเจ้าหน้าที่ ทำให้สหภาพยุโรปประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นของเบลารุส