โรค Covid-19 ตัวร้าย ไม่ได้โจมตีแค่สุขภาพทางกายของคนทั้งโลกเท่านั้น แต่ยังเกิดมาเพื่อหยุดยั้งแทบทุกสิ่งทุกอย่าง ขนาด แบรนด์แฟชั่นดัง และเก่าแก่เป็นร้อยๆ ปี ซึ่งเคยเป็นที่นิยมของเซเลบคนดัง นักแสดงฮอลลีวูด ไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่อาจพ้นภัย ไปไม่รอดต้องออกมายื่นขอล้มละลายกันเป็นแถว
บรูค บราเธอร์ส แบรนด์เสื้อผ้าสุภาพบุรุษซึ่งเป็นที่นิยมของเหล่านักแสดงฮอลลีวูด รวมทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น วิล สมิท แอนดี้ วอร์ฮอล บารัค โอบามา จอห์น เอฟ. เคนเนดี อับราฮัม ลินคอล์น ฯลฯ ออกมายื่นเรื่องของล้มละลายเป็นเจ้าแรกๆ ก่อนที่ นีแมน มาร์คัส กลุ่มรีเทลและออนไลน์ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ชื่อดัง รวมทั้ง ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของอเมริกา ลอร์ด แอนด์ เทย์เลอร์ ที่มีอายุนับร้อยปี ก็ทยอยตามมาติดๆ เพราะพิษโควิดแท้ๆ
แบรนด์เสื้อผ้าสุภาพบุรุษอเมริกัน อายุ 202 ปี บรูค บราเธอร์ส ที่รู้จักกันดีในชุดเท่ๆ จากซีรีส์เรื่อง Mad Men ออกมายื่นล้มละลายในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าของคือนักธุรกิจชาวอิตาเลียน คลาวดิโอ เดล เวคคิโอ ลูกชายของมหาเศรษฐีบริษัทแว่นตา ลักโซติกา เลโอนาร์โด เดล เวคคิโอ ที่พยายามจะขายบริษัทมาพักใหญ่ เนื่องจากยอดขายส่อแววไม่ดีมาตั้งแต่ก่อนโควิด เพราะคนเลิกแต่งตัวเนี้ยบๆ กันไปเยอะ หันมาสวมใส่อะไรสบายๆ มากกว่า จนมาถึงจุดแตกหักสุดๆ ในยุคล็อกดาวน์ และการทำงานผ่านแอปฯ ซูม
สำหรับ นีแมน มาร์คัส บริษัทรีเทลยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอายุ 113 ปี ที่เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกการชอปปิ้งออนไลน์ก่อนใคร ก็ยังต้องยื่นขอล้มละลายเพราะเต็มไปด้วยหนี้สินรุงรังถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดขายของแบรนด์ต่างๆ รวมกันแล้วมีกำไรต่อปีเพียง 300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ขณะที่เพื่อนร่วมวงการ ลอร์ด แอนด์ เทย์เลอร์ ห้างสรรพสินค้าที่เก่าแก่ที่สุดในอเมริกาซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1826 ก็ได้ยื่นคำร้องขอล้มละลายในเดือนสิงหาคมเช่นกัน
ในบรรดาธุรกิจแฟชั่นที่ต้องปิดกิจการ แบรนด์ใหม่ๆ หน่อยก็มี ซีส์ มาร์จาน แบรนด์โปรดของบียอนเซ่ และเจนนิเฟอร์ โลเปซ ประกาศปิดร้านไปเฉยๆ ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน หลังจากสร้างแบรนด์มาเพียง 5 ปีแบบสั่นสะเทือนโซเชียลมีเดีย ด้วยเสื้อผ้าสีสันสะดุดตา ผลงานของ แซนเดอร์ ลาค เจ้าของและนักออกแบบมือฉมัง อดีตผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ ดรีส์ ฟาน โนเต็น
บริษัท เซ็นทริก แบรนด์ ก็เป็นอีกแห่งที่ออกมายื่นล้มละลาย แต่เคราะห์ดีที่ตอนนี้มีนักธุรกิจรายใหม่ขี่ม้าขาวมาช่วยฟื้นฟูกิจการของบริษัทที่มีแบรนด์ดังมากมูลค่านับ 100 แบรนด์ ตั้งแต่ ทอมมี ฮิลฟีเกอร์ อันเดอร์ อาร์เมอร์ คาลวิน ไคลน์ นอติกา เคท สเปด ไมเคิล คอร์ส ฯลฯ
แม้กระทั่ง รีโนว์น กลุ่มแบรนด์แฟชั่นในโตเกียว ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซานตง หรูอี้ บริษัทรีเทลยักษ์ใหญ่ที่เปรียบได้ดังเป็น แอลวีเอ็มเอช ของจีน ผู้บริหารแบรนด์ดังอย่าง เดอร์บัน และ อาร์โนลด์ พาล์มเมอร์ ก็ออกมาประกาศว่ามีหนี้สินกว่า 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขอยื่นล้มละลายในที่สุด
ขณะที่บริษัทแม่ อย่าง ซานตง หรูอี้ ที่มีแบรนด์เครื่องหนัง บัลลี่ และยังเป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังต้องพยายามประคับประคองตัวเองอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการแข่งขันในโลกอี-คอมเมิร์ซที่ประสบการขาดทุนสะสมมาตั้งแต่เมื่อปีก่อนหน้านี้