xs
xsm
sm
md
lg

เซเลบเจ้าของร้านอาหาร เบนเข็มลุยธุรกิจลุยฟูดดีลิเวอรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้คนให้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในเรื่องของอาหารการกินนั้น หลายคนหันมาใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ มากขึ้น เพื่อลดการเดินทางออกนอกบ้าน อันเป็นการเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค

งานนี้เข้าทางเซเลบนักธุรกิจร้านอาหารที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หันมาลุยธุรกิจฟูดดีลิเวอรีอย่างเต็มตัว จากที่เบนเข็มมาขายอาหารทางออนไลน์ตั้งแต่ช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด และต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ นอกจากจะเพิ่มยอดขายได้แล้วยังเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เปิดใจลองชิมเมนูอาหารที่พวกเขาไม่เคยคิดว่าจะสัมผัสได้มาก่อน


เริ่มที่เจ้าแม่ร้านอาหาร “ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์” ที่มีร้านอาหารถึง 6 แบรนด์ ประกอบด้วย ไอเบอร์รี่, กับข้าวกับปลา, รสนิยม, ทองสมิทธิ์, โรงสีโภชนา และน้องใหม่อย่างเจริญแกง ที่เพิ่งเปิดในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย โดยปลาเปิดใจว่าช่วงที่ต้องล็อกดาวน์ประเทศ อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ส่งผลให้ร้านอาหารของเธอกว่า 50 สาขาที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัวลงชั่วคราว เป็นช่วงที่สาหัสที่สุดในชีวิต เพราะต้องประคองธุรกิจและพนักงานให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

“ร้านอาหารของปลาส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้า 80% พอมีคำสั่งให้ปิดห้างสรรพสินค้า ธุรกิจของเราก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ ตอนนั้นต้องพยายามดูแลพนักงานให้ดีที่สุด ต้องไม่เอากำไรจากการขายของในช่วงนั้น แต่ต้องเลี้ยงพนักงานทุกคนให้อยู่รอด ในช่วงที่ห้างปิดก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเช่าอยู่ จึงต้องไปต่อรองขอลดค่าเช่าลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเขาก็เห็นใจและลดให้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลพนักงานร่วมพันคน”

แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ด้วยความที่เป็นหญิงแกร่งและตั้งธงไว้ว่า พนักงานต้องรอด เธอจึงผุดไอเดียการทำธุรกิจแบบฟูดดีลิเวอรี บริการส่งอาหารให้ถึงหน้าบ้าน และเป็นที่มาของการเปิดแบรนด์ “เจริญแกง” เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องหยุดอยู่ที่บ้าน และอยากรับประทานอาหารอร่อยราคาย่อมเยา


“ร้านอาหารของเราส่วนใหญ่อยู่บนชั้นสูงๆ ของห้างสรรพสินค้า ไรเดอร์จะไม่สะดวกในการรับสินค้า เราจึงคิดหาวิธีด้วยการตั้งครัวกลางขึ้นมา พร้อมๆ กับทำแบรนด์ข้าวแกงราคาถูกอย่างเจริญแกง เพื่อให้ไรเดอร์จากแอปฯ ต่างๆ เดินทางมารับอาหารไปส่งให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งเจริญแกงจะขายแบบดีลิเวอรีอย่างเดียว เป็นข้าวแกงแบบไทยๆ กว่า 30 เมนู โดยเมนูขนมจีนหน้าต่างๆ นั้นได้รับความนิยมสูงสุด”

ปลาบอกว่าแม้ช่องทางฟูดดีลิเวอรีอาจได้ยอดขายไม่ปังเท่ากับการขายหน้าร้าน แต่ก็ทำให้เธอเลี้ยงดูพนักงานให้ผ่านวิกฤตช่วงนั้นมาได้ และจากนี้ไปเธอต้องโฟกัสการขายแบบดีลิเวอรีให้มากขึ้น เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นจากมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม

“เมื่อก่อนที่ร้านรับลูกค้าได้ 100 คน แต่พอมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้รับลูกค้าได้เพียง 30 คน เท่ากับรายได้หายไปถึง 70% ดังนั้น เมื่อเราหันมาขายแบบฟูดดีลิเวอรีทำให้เพิ่มยอดขายได้มากขึ้น และนำรายได้มาเฉลี่ยกันซึ่งก็จะประคับประคองกันไปได้ พนักงานอยู่รอด กิจการก็อยู่ได้ ตอนนี้เราก็หันมาขายแบบดีลิเวอรีจริงจัง เรียนรู้การขายผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่รอด”


ขณะที่ สองสามีภรรยา “กอล์ฟ-ณชนก รัตนทารส และ ปอ-ศีกัญญา ศักดิเดช ภาณุพันธ์” ที่มีร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าถึง 8 สาขา และนอกห้างอีก 2 สาขา และในช่วงที่เจอพิษโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารต้องปิดชั่วคราว ปอผู้ที่เข้าใจลึกซึ้งถึงการทำธุรกิจออนไลน์ จึงผุดไอเดียเปิดร้านอาหารแบบดีลิเวอรี ในชื่อ Pirate Delivery พร้อมสรรหาเมนูรสเด็ดของแต่ละร้านของสามีมาลงขายแบบออนไลน์ให้ลูกค้าได้ชิมความอร่อยกันถึงหน้าประตูบ้าน

“ปอมองว่าทุกวันนี้เราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันได้ทุกคนผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น การขายสินค้าออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้เราอยู่รอดในยุคนี้ เพราะวิถีชีวิตของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ก่อนยุคที่โควิด-19 จะเข้ามาแพร่ระบาดในเมืองไทยแล้ว ทุกคนอยากได้อะไรก็กดสั่งได้ทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือ และพอมาช่วงที่โควิด-19 ระบาด การขายสินค้าออนไลน์ก็ยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ปอจึงมองว่าการขายอาหารแบบดีลิเวอรีจะทำให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงอาหารของเรามากขึ้น แม้นั่งอยู่ที่บ้าน”


ปอยอมรับว่ากว่า Pirate Delivery จะเข้าไปครองใจนักชิมได้นั้น ค่อนข้างเหนื่อย ทั้งเรื่องการเฟ้นหาเมนู และการทำการตลาดทางออนไลน์ รวมถึงการรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน

“Pirate Delivery เป็นการคัดสรรเมนูเด็ดแต่ละร้านที่อยู่ในเครือของเราทั้ง 10 สาขา มาบริการแบบดีลิเวอรี ซึ่งเราต้องเป็นคนคัดสรรทุกเมนูด้วยตัวเอง ทุกเมนูจะต้องเต็มไปด้วยคุณภาพ รสชาติที่ดี ราคาไม่แพงมาก และด้วยความที่พนักงานของเราช่วงแรกไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการขายอาหารแบบดีลิเวอรี เราต้องเข้ามาสอนวิธีการกดรับออเดอร์ รวมไปถึงการตอบรับเวลาที่มีคนสั่งสินค้า ช่วงแรกปอจะเป็นแอดมินเอง คอยตอบรับออเดอร์จากลูกค้าโดยตรง และพอทุกอย่างเข้าที่เข้าทางก็จะฝึกให้พนักงานเป็นคนกดรับออเดอร์สินค้าเอง ซึ่งตอนนี้การขายอาหารแบบดีลิเวอรีของร้านเรา กำลังดำเนินไปอย่างดีควบคู่กับการเปิดขายภายในร้านค่ะ” ปออธิบาย


ส่วนเซเลบนักธุรกิจสาวไซส์มินิ “จุ๋ย-จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา” เจ้าของร้านอาหารโซลจู ปูดอง (Seoul Ju Pu Deong) และ “ปูดองอันยอง” ที่ตอนนี้นอกจากจะกลับมาขายปูดองที่หน้าร้านได้ตามปกติแล้วก็ยังเปิดขายผ่านทางออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่กำลังปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตวิถีใหม่กันอยู่ในขณะนี้

“จุ๋ยคิดว่าการขายอาหารแบบออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ในยุคนิวนอร์มัลเช่นนี้ เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์ให้คนสามารถรับประทานอาหารภายในร้านได้แล้วก็ตาม แต่คนทั่วไปก็ยังมีความกังวลอยู่ ในเรื่องการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำสอง ดังนั้น หลายคนจึงเลือกที่จะกดสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านหรือที่ทำงาน”


จุ๋ยบอกว่าช่วงแรกของการขายอาหารผ่านออนไลน์ ในช่วงที่ต้องปิดหน้าร้านไปยอดขายอาจไม่ค่อยดีนัก แต่ผ่านไปได้สักระยะ มีลูกค้าเริ่มติดใจในรสชาติอาหารสไตล์ลูกครึ่งไทย-เกาหลีบ้างแล้ว จึงทำให้เธอมียอดขายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และต่อยอดมาทำฟู้ดเดลิเวอรีเพิ่มอีกช่องทางหนึ่งจนถึงทุกวันนี้

“ตอนนี้เราหันมาขายเฉพาะดีลิเวอรีอย่างเดียว 2 วันแรกของการประกาศก็ยังไม่ค่อยมียอดสั่งซื้อเท่าไหร่ แต่มาช่วงหลังที่คนดังต่างรณรงค์ในการสั่งซื้ออาหารแบบออนไลน์ จึงทำให้เรามียอดขายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว สามารถประคองตัวเองและพนักงานไปได้ในสถานการณ์แบบนี้ โดยตอนนี้เรามีสาขาสำหรับดีลิเวอรีอยู่ถึง 6 สาขา ประกอบด้วย สยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ เซ็นทรัลพระราม 3 เซ็นทรัลพระราม 9 โชคชัย 4 และสายไหมค่ะ”


ปิดท้ายที่ “พิม-พิมพ์พยัพ ศรีกาญจนา” ลูกสาวคนรองของ จุลพยัพ กับ ยูกิ-นราวดี ซึ่งมีร้านอาหารในเครือ อย่าง ร้านอาหารนารา ร้านอภินารา และร้านเลดี้ นารา ที่ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในห้างสรรพสินค้าแทบทั้งหมด เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดทำให้ร้านอาหารของเธอส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงชั่วคราว ในขณะที่ยังมีพนักงานอีกหลายร้อยชีวิตที่ต้องดูแล เธอจึงหันมาลุยธุรกิจฟูดดีลิเวอรี เพื่อประคับประคองกิจการและพนักงานให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

“เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงาน ว่าเราไม่ทิ้งพวกเขาแน่นอน จึงหันมาเปิดขายอาหารในเครืออย่างนารา และโค ลิมิเต็ด ผ่านทางดีลิเวอรี เพราะเวลาที่มีคนกดสั่งอาหารออนไลน์มา พนักงานทุกคนก็จะดีใจและมีความสุขกับการทำอาหาร ซึ่งช่วงนั้นเราทำโปรโมชันการขายอาหารผ่านช่องทางดีลิเวอรีเยอะมาก แต่ก็สนุกกับการทำงาน และทำให้เรายังมีรายได้ในการหล่อเลี้ยงพนักงานในช่วงนั้นมาจนถึงทุกวันนี้”


แม้วันนี้ร้านอาหารทุกสาขาจะกลับมาเปิดบริการขายหน้าร้านเป็นปกติแล้วก็ตาม แต่พิมยังคงเดินหน้าลุยธุรกิจฟูดดีลิเวอรีต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้มีรายได้เพิ่มอีกหนึ่งช่องทางแล้ว เธอยังมีโอกาสได้เรียนรู้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มอีกด้วย

“เมื่อก่อนเราขายอาหารที่หน้าร้าน เราก็จะรู้จักเพียงลูกค้าที่เดินเข้ามาสั่งอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมๆ แต่พอเรามาทำดีลิเวอรี ทำให้เราได้รู้จักลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่ม เพราะก่อนหน้านี้หลายคนอาจไม่กล้าเดินเข้าร้านอาหารเรา เพราะคิดว่าราคาคงสูง แต่พอเราขายผ่านดีลิเวอรี ลูกค้ากลุ่มอื่นที่ได้เห็นราคาอาหารของร้านเรา และเห็นว่าราคาไม่สูงอย่างที่คิด เขาก็จะสั่งไปรับประทาน อันเป็นการเพิ่มช่องทางลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อีกทางหนึ่ง และเป็นโอกาสอันดีในการทำธุรกิจในยุคที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมแบบนี้” พิมอธิบายปิดท้าย

ภาพจาก IG : pimpayap, pausikanya, plaiberry, juizsvasti


กำลังโหลดความคิดเห็น