xs
xsm
sm
md
lg

“เพนกวินอีท-ฟู้ดสตอรี่” สู้โควิด-19 JWD รุกโมเดลโคลด์เชนดีลิเวอรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ส่องเทรนด์ร้านอาหารและฟูดดีลิเวอรี ‘Penguin Eat Shabu’ ร้านชาบูชื่อดัง ชี้หลังคลายล็อกดาวน์ ยอดขายหน้าร้านทยอยเพิ่มขึ้น แต่ต้องลดเสี่ยงรุกดีลิเวอรีให้เป็นรายได้หลัก ส่วน ‘FoodStory’ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันจัดการร้านอาหาร ชี้ COVID-19 กระตุ้นต้องปรับตัวพึ่งพาแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการดีลิเวอรีและจัดซื้อวัตถุดิบ ขณะที่ JWD พัฒนาโมเดลศูนย์รวมวัตถุดิบและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนพิเศษ Cold Chain Express Delivery เพื่อรองรับธุรกิจร้านอาหาร

นายธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารร้าน Penguin Eat Shabu เปิดเผยว่า ร้าน Penguin Eat Shabu เปิดให้บริการแล้วกว่า 5 ปี หลังจากที่เกิด COVID-19 ปัจจุบันมีร้านที่กลับมาเปิดให้บริการรวมทั้งหมด 7 สาขา โดยในช่วงที่รัฐบาลและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศปิดศูนย์การค้าเพื่อควบคุมโรคระบาด ทางร้านต้องปรับตัวมาพัฒนาเมนูรองรับบริการดีลิเวอรี เช่น ข้าวราดกะเพราวากิว, ชุดชาบูพร้อมปรุง ฯลฯ และเข้าร่วมกับแอปพลิเคชันฟูดดีลิเวอรีต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยเลือกให้บริการดีลิเวอรีแบบ Pre-Order (สั่งซื้อล่วงหน้าและจัดส่งวันรุ่งขึ้น) ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกทางร้านทดลองจัดส่งอาหารเอง ปรากฏว่าเกิดความล่าช้าอยู่บ้าง จึงตัดสินใจเป็นบิสซิเนส พาร์ตเนอร์กับ FoodStory ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นบริหารจัดการร้านอาหาร และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อให้บริการจัดส่งอาหารแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อแบบ Pre-Order และจัดส่งโดยรถควบอุณหภูมิ

“หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ลูกค้านั่งกินอาหารที่ร้านได้ พบว่าสาขาที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้ามียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนสาขาในห้างสรรพสินค้ามียอดขายที่ดีขึ้นแต่ไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิด COVID-19 โดยสังเกตว่าลูกค้าปรับพฤติกรรมไม่มาเป็นกลุ่มใหญ่ เน้นความสะอาด อย่างไรก็ตาม ทางร้านยังคงมุ่งเน้นให้บริการดีลิเวอรีต่อไปเพื่อเป็นรายได้หลักอีกช่องทางหนึ่งที่จะกระจายความเสี่ยง โดยมีแผนพัฒนาเมนูใหม่ๆ เพิ่มเติมจากเมนูชาบูดีลิเวอรี่และร่วมมือกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น” นายธนพงศ์กล่าว


นายฐากูร ชาติสุทธิผล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันระบบบริหารจัดการร้านอาหารแบบครบวงจรภายใต้ชื่อ FoodStory กล่าวว่า ได้รุกให้บริการแอปพลิเคชัน FoodStory มาเป็นระยะเวลาเกือบ 8 ปี เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการที่ต้องการนำแอปพลิเคชันมาใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการร้าน โดยพบว่าผู้ประกอบการร้านอาหารให้ความสนใจและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีแอปพลิเคชันได้ดี ทั้งการใช้งานเพื่อบริหารจัดการร้านและบริการฟูดดีลิเวอรี ส่งผลให้ปัจจุบันมีร้านอาหารที่ใช้แอปพลิเคชันของบริษัทฯ แล้วกว่า 10,000 ร้าน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 25,000 ร้านภายในสิ้นปีนี้

แอปพลิเคชันดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ระบบการขายหน้าร้าน ซึ่งเหมาะกับธุรกิจร้านอาหาร ร้านบุฟเฟต์หรือร้านคาเฟ่ โดยถูกพัฒนาให้เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อโอกาสสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น อาทิ การแจ้งเมนูใหม่หรือโปรโมชันใหม่แบบเรียลไทม์, บริการจองคิว, บริการสั่งอาหารล่วงหน้า ฯลฯ และ 2. ระบบบริหารจัดการร้าน เช่น สั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าทางออนไลน์ (สั่งวันนี้ ส่งพรุ่งนี้) จากซัปพลายเออร์ที่รวบรวมไว้ใน FoodStory Market และเชื่อมต่อกับระบบบจัดการสต๊อกวัตถุดิบ (Inventory Management) โดยมี JWD เป็นพาร์ตเนอร์ด้านโลจิสติกส์ ให้บริการรวบรวมและจัดส่งวัตถุดิบต่างๆ จากซัปพลายเออร์ไปยังร้านอาหารตามที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า และจัดส่งโดยรถควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนพิเศษ

ทั้งนี้ ผลกระทบจาก COVID-19 ได้กระตุ้นให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ต้องปรับตัวใช้แอปพลิเคชันเพื่อให้บริการดีลิเวอรีและสั่งซื้อวัตถุดิบทางออนไลน์เพื่อประหยัดเวลา และปัจจุบันแม้ร้านอาหารกลับมาให้บริการกินในร้านได้ แต่ความต้องการใช้แอปพลิเคชันยังมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากผู้ประกอบการได้เห็นถึงประโยชน์ต่างๆ เช่น การเพิ่มยอดขายดีลิเวอรี, การสั่งอาหารและชำระเงิน Online, การจองคิว ฯลฯ


นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัปพลายเชนระดับอาเซียน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้ปรับตัวจากการขายหน้าร้านมาให้บริการแบบดีลิเวอรี่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะนำเสนอเซตเมนูอาหารสดแบบสั่งซื้อล่วงหน้า เช่น นำเสนอเซ็ตชาบูพร้อมปรุงแบบดีลิเวอรีถึงบ้าน เพื่อให้ลูกค้าสั่งซื้อล่วงหน้าไปปรุงรับประทานเองที่บ้าน และในขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบบริหารจัดการร้านด้วยเทคโนโลยีฟูดแอปพลิเคชัน เช่น การสั่งซื้อและบริหารสต๊อกวัตถุดิบ, จองคิว เป็นต้น

บริษัทฯ จึงร่วมมือกับพาร์ตเนอร์คือ ซีเจ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) รุกบริการใหม่ ‘JWD Cold Chain Express Delivery’ หรือการจัดส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนพิเศษ แบบแช่เย็น (Chilled) และแช่แข็ง (Frozen) ที่แตกต่างจากฟูดดีลิเวอรีทั่วไป โดยใช้รถที่ควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพอาหารและคงความสดใหม่ ซึ่งต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และการให้บริการธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็น

นอกจากนี้ JWD อยู่ระหว่างการพัฒนาโมเดลศูนย์รวมวัตถุดิบและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วน สำหรับซัพพลายเชนธุรกิจอาหารบนมาร์เกตเพลส เพื่อรองรับเครือข่ายร้านอาหารบนแอปพลิเคชั่น FoodStory ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ร้าน โดยทำหน้าที่ให้บริการตั้งแต่การจัดเตรียมและรวบรวมวัตถุดิบจากซัปพลายเออร์แหล่งต่างๆ มาไว้ที่คลังสินค้าห้องเย็นย่านบางนาเพื่อจัดหมวดหมู่ ก่อนดำเนินการส่งไปยังร้านอาหารสาขาต่างๆ ตามออเดอร์ที่ได้รับตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ร้านอาหารที่ใช้แพลตฟอร์ม FoodStory Market ได้รับสินค้าที่คงคุณภาพความสดใหม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ทั้งยังช่วยประหยัดต้นทุนด้านการขนส่งเนื่องจากเป็นการรวมศูนย์การจัดการวัตถุดิบไว้ในคลังสินค้าห้องเย็น JWD ที่เดียวและสามารถรวมทุกออเดอร์การจัดส่งสินค้าเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นของสดหรือของแห้ง

“เราเริ่มให้บริการ Cold Chain Hub & Express Delivery ตั้งแต่ต้นปีนี้ ถือว่ามีผลตอบรับที่น่าพอใจ มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 40-60% โดยปัจจุบันเรามีฐานลูกค้าที่ให้บริการจัดส่งวัตถุดิบและอาหารพร้อมปรุง ทั้งหมดกว่า 100 ร้าน ที่อยู่ในเครือข่ายแอปพลิเคชัน FoodStory และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ร้าน คาดว่าจะมียอดรายได้ส่วนนี้ประมาณ 70 ล้านบาทในปี 2563 นี้” นายชวนินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น