กำลังเป็นกระแสข่าวให้ชวนติดตามไม่แพ้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อเหล่าคนเลี้ยงม้าก็กำลังตื่นตัวกับเชื้อโรค "แอฟริกัน ฮอร์ส ซิกเนส" (African horse sickness) โรคระบาดม้า ซึ่งมีความรุนแรงมากสามารถทำให้ม้าที่ติดเชื้อเสียชีวิตลงภายใน 1-2 วันเท่านั้น!! ซึ่งไม่เฉพาะเพียงแค่กรมปศุสัตว์เท่านั้นที่กำลังหาหนทางหยุดโรคระบาดนี้ ทว่าเหล่าคนรักม้า คนเลี้ยงม้า เจ้าของฟาร์มม้า ต่างก็ตื่นตัวพร้อมจะหยุดเชื้อเพื่อม้าในประเทศไทยทุกตัวอีกด้วย
"นันทินี แทนเนอร์" นักกีฬาขี่ม้าโปโลหญิงคนแรกของเมืองไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอลบีจี จำกัด กล่าวว่า "...โดยส่วนตัวเมื่อทราบข่าวการระบาดแอฟริกัน ฮอร์ส ซิกเนส (African horse sickness) ในม้ารู้สึกตกใจมากเพราะที่ผ่านมาโรคระบาดในม้าไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยแต่จะมีเฉพาะในประเทศสเปน เมื่อได้ยินข่าวจึงรู้สึกตกใจเพราะเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก คิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง อย่างน้อยโรคนี้เกิดขึ้นในช่วงโคโรน่า ทว่าโรคระบาดในม้าร้ายแรงกว่ามาก เพราะม้าที่ติดเชื้อไม่มีทางรอด ตายเฉียบพลันภายใน 24 ชั่วโมงก็รู้สึกช็อค แต่เราก็สามารถดูแลม้าด้วยวิธีการ 1.กักกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย ข้อ 2. ป้องกันทำมุ้งลวดแบบละเอียดเพราะเรารู้ต้นตอจึงสามารถป้องกันได้ง่ายๆ แต่ขอความร่วมมือเราเป็นประเทศใหญ่มีม้าทุกประเภททุกแห่งทั้งม้าลาย ม้าธรรมดากว่าจะรู้ตัวระหว่างที่มันเกิดขึ้นก็ได้มีการเคลื่อนไหวเคลื่อนย้ายทำให้การดูแลยากระบาดไปในวงกว้าง
สำหรับไทยโปโลเองซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุเพียง 150 กิโลเมตรทางเราพร้อมให้ความร่วมมือตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ..สุดท้ายนี้ต้องขอทางสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงช่วยกระจายข่าวไปถึงเจ้าของม้าช่วยกันคุ้มกันม้าของตัวเองไม่ว่าจะเลี้ยง 1 ตัว เป็นฟาร์ม เราสามารถให้ความร่วมมือช่วยกันได้ ซึ่งจะส่งผลให้การควบคุมโรคจบในระยะเวลาสั้นๆ...แต่สำหรับเจ้าของม้าที่ไม่รู้ว่าจะดูแลม้าของตัวเองอย่างไรนั้นก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ทาง TEF ที่เบอร์ 085 043 6272"
ซึ่งทาง "คุณชะอม นารา เกตุสิงห์" เลขาธิการสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย เล่าว่าโรคระบาดในม้าที่เกิดขึ้นนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าโควิดที่เกิดกับคนมาก เพราะโอกาสในการเสียชีวิตของม้านั้นสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีแมลงเป็นพาหะนำโรค จึงเป็นการยากต่อการควบคุม เพราะแมลงในประเทศไทยมีมากมาย ส่วนแมลงที่มีเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ 40 วันถึงจะแสดงอาการจึงยิ่งยากต่อการคอนโทรล
แต่เราก็สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 วิธี คือ 1. ล็อคดาวน์ห้ามเคลื่อนย้ายม้าในพื้นที่ รวมไปถึงในทุกจังหวัด แม้กระทั่งพื้นที่ที่ยังไม่มีการเกิดโรคระบาด ข้อ 2. ต้องเอาม้าเข้ามุ้งกันแมลง 3. กำจัดแมลงในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และ 4.ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อซึ่งเป็นการเอาเชื้อไวรัสเข้ามาฉีดในตัวม้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เน้นฉีดเฉพาะในพื้นที่ถึง 50 กิโลเมตร"
ด้าน "พลอย ปิ่นแสง" ลูกสาว "กนกศักดิ์ ปิ่นแสง" นายกสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย ผู้หลงใหลกีฬาขี่ม้าโปโล และยังได้เข้าร่วมการแข่งขันขี่ม้าโปโลในรายการต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเป็นหนึ่งในนักกีฬาขี่ม้าโปโลทีมชาติไทย ที่คว้ารางวัลจากการแข่งขันต่างๆ มากมายและปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง กรรมการสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงความน่ากลัว และมาตรการดูแลป้องกันบรรดาม้าของเธอว่า
"...ได้ยินเรื่องการระบาดของเชื้อโรคแอฟริกัน ฮอร์ส ซิกเนส มาพร้อมๆ กับช่วงที่โควิด 19 เริ่มระบาดในบ้านเรา ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัวมาก รู้สึกว่าเป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่เราขี่ม้ามาเลย เพราะตัวพาหะที่ส่งต่อจากม้าสู่ม้าก็คือพวกแมลงตัวเล็กๆ ที่เราอาจจะมองไม่เห็น
โดยส่วนตัวก็มีความกังวลในระดับหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ยิ่งช่วงนี้เราเองก็ไม่ค่อยได้ไปดูแล เพราะปิดฤดูกาลการแข่งขันไปแล้ว ประกอบกับติดช่วงโควิด19 จึงฝากให้ทางฟาร์มดูแลไปก่อน โดยมาตรการที่สนามโปโลนั้น เขาก็มีการทำเน็ต กางมุ้งให้ม้าเพื่อไม่ให้แมลงเข้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากสำหรับม้า เพราะม้าควรจะต้องอยู่ในที่กว้างๆ มีการเดินออกกำลังกาย แต่พอกางมุ้งไว้ก็เดินได้แค่หน้าคอก
นอกจากนี้ทางฟาร์มเขาก็มีการให้ฉีดวัคซีน ฝังไมโครชิพไว้ที่ตัวม้า เพื่อที่จะได้เก็บประวัติ ทราบการเดินทาง เพื่อเช็คว่าไปไหนมาบ้างด้วย ซึ่งก็พยายามป้องกันทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อยับยั้งการระบาดของ แอฟริกา ฮอร์ส ซิกเนส"
ปิดท้ายที่ "ปั้น- พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์" นักกีฬามอเตอร์สปอร์ต, กอล์ฟ และขี่ม้ามาราธอนชาวไทย ผู้ซึ่งเคยชนะการแข่งขันกีฬาทั้ง 3 ชนิดมาแล้วทั้งสิ้น รวมถึงเป็นเจ้าของสนามโกคาร์ท มอเตอร์สปอร์ตแลนด์ ที่แดนเนรมิตเดิม ตลอดจนเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแอฟริกัน ฮอร์ส ซิกเนส แบบเต็มๆ เพราะมีม้าในความดูแลเสียชีวิตไป 27 ตัวเผยว่า
"...ช่วงเกิดโรคระบาดแรกๆ ช่วงนั้นไม่มีความรู้เรื่องโรคนี้เลย ทางฟาร์มก็ได้ทำการคัดแยกม้า มาที่ไม่แสดงอาการเราก็แยกไว้ แต่สุดท้ายก็เกิดการสูญเสีย หมอแนะนำให้ล้อมมุ้ง เราด้วยความไม่มีความรู้ก็ซื้อมุ้งสีเขียวสีฟ้ามาล้อม แต่ม้าตายอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับคำแนะนำจากหมอให้กางมุ้ง แต่สิ่งที่กลัวคือความร้อนทำให้เกิดฮีท สโตรก( heat stroke) ม้าเครียด เราก็ต้องหาเครื่องระบายอากาศ ลดอาการเครียด พามาอาบน้ำเพื่อลดความร้อน และรอวัคซีนว่าจะมาเมื่อไหร่ จนกระทั่งวัคซีนมาและได้ทำการฉีดแต่เนื่องจากวัคซีนเป็นเชื้อเป็น ทำให้กังวลอีกว่าม้าจะตายไหม แต่เราผู้ถูกผลกระทบไม่มีทางเลือกวันนี้เรามีวัคซีนช่วงสำคัญตลอด 28 วันที่ม้าอยู่ในคอกเสมือนเข้าห้องไอซียูต้องเฝ้าระวังดูแลเป็นพิเศษเพราะวัคซีนใช้เวลาทำงาน 7-14 วันระหว่างนี้ม้าอาจมีอาการซึมหรือบางตัวอาจมีไข้ขึ้นสูงก็จะให้กินยาลดไข้เพื่อลดอุณหภูมิม้าทำตัวให้เย็นลงควบคุมอุณหภูมิระหว่างนี้ห้ามพาม้าออกกำลังกาอาจทำได้แค่พาม้าเดินไปมาในคอก แต่ห้ามนำม้าออกไปขี่เพราะอาจทำให้ม้าเสียชีวิตได้
..ช่วงนี้ทางคุณหมอจึงขอส่งเลือดไปที่แอฟริกา เพื่อคอนเฟิร์มภูมิคุ้มกันขึ้นถึงระดับแล้วหรือยัง...สุดท้ายนี้ผมอยากฝากไปถึงคนรักม้านำม้าเข้ามุ้ง กำจัดแมลงอย่าคิดเองเออเองอยากให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพียงเท่านี้โรคก็จะหยุด"