xs
xsm
sm
md
lg

หลากมุมมองปัญหาและความยุ่งยาก เมื่อต้อง Work From Home!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปลายเดือน มี.ค-ต้นเดือน เม.ย. หลายบริษัทพร้อมใจร่วมกันหยุดเชื้อช่วยชาติ ด้วยการให้พนักงานเปลี่ยนมานั่งทำงานที่บ้าน (Work From Home - WFH) แทน ซึ่งแม้จะดูเป็นการสานฝันของใครหลายๆ คนที่เคยแอบหวังมาตลอดว่าจะไม่ต้องฝ่าการจราจรไปทำงานแต่พอเจอสถานการณ์บังคับให้ต้อง WFH จริงๆ กลับไม่ฟินอย่างที่คิด หลายคนเริ่มบ่นอุบว่าคิดถึงออฟฟิศแล้ว บ้างก็รู้สึกว่าบ้านควรเป็นสถานที่พักผ่อนมากกว่าทำงานมาดูซิว่าแล้วในมุมมองของเหล่าเซเลบฯ ที่เคยชินกับการนั่งทำงานออฟฟิศ พอจู่ๆ ต้องมา WFH แบบนี้ พวกเขามีมุมมองสนุกๆ อะไรมาเล่าสู่กันฟัง



เริ่มจาก ณัฐ-ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ผู้ร่วมก่อตั้ง T2P ออกตัวก่อนเลยว่า การทำงานที่บ้านไม่ได้ชิลสมชื่อ แต่ก็มีข้อดีมากมายที่ทำให้ยิ้มได้


“พอเริ่ม WFH ผมถึงได้ตระหนักว่า ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงที่ทุกคนต่างทำงานที่บ้าน และต้องอาศัยการประชุมออนไลน์เยอะมาก โชคดีว่าผมทำงานในสายไอทีอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องความคล่องตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทีมแทบไม่มีปัญหา ช่วงแรกๆ อาจจะมีกังวลเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานของทีมบ้างว่าจะกระทบหรือเปล่า ปรากฏว่าไม่มีผลเลย แถมทุกคนยังทำงานได้ดีขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง”


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหารหนุ่มมองว่า ใครที่ต้องประชุมออนไลน์บ่อยๆ ไม่ควรละเลย คือ เรื่องความปลอดภัย “เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการปิดไมโครโฟนและกล้องทุกครั้งที่ต้องประชุมออนไลน์จากที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้มีภาพหรือเสียงที่ไม่เหมาะสมหลุดออกไป และถ้าเป็นไปได้หากเป็นการประชุมกลุ่มใหญ่ ควรตั้งรหัสผ่านในการเข้าประชุมซึ่งตอนนี้โปรแกรมหลักๆ ที่ใช้กันสามารถตั้งได้หมด ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ข้อดีคือ ไม่ต้องกังวลว่าประชุมอยู่แล้วจะมีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในการประชุม โดยเฉพาะถ้าเป็นการประชุมกลุ่มใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากโดยรหัสที่ตั้งอาจจะไม่ต้องตั้งให้ซับซ้อนเหมือนรหัสส่วนตัว แต่ให้เอื้อต่อการใช้งานร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในองค์กร”


ขณะที่ เปิ้ล-รวิวัลย์ ทานาก้า เอ็มดีสาวแห่งบริษัท อินฟินิทครีเอชั่น กล่าวว่า หลังจาก WFH มาได้เดือนกว่า ตอนนี้เริ่มออกอาการคิดถึงออฟฟิศ เพราะด้วยเนื้องานที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ พอต้องมานั่งทำงานอยู่แต่บ้านไม่ได้เจอใคร ก็ทำให้บางครั้งไอเดียไม่แล่นฉิ่ว

“จริงๆ มีประสบการณ์ WFH บ้าง แต่ยังไม่เคยฟูลสเกลทั้งออฟฟิศแบบนี้มาก่อน โชคดีที่องค์กรเราไม่ใหญ่นัก เลยไม่น่าห่วง จะมีกังวลช่วงแรกๆ ว่าทีมจะโอเคหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าทุกคนในทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราจะเซตไว้เลยว่าทุกเช้าประมาณ 10 โมง ทุกคนต้องเข้า Zoom มาประชุมออนไลน์อย่างพร้อมหน้าเพื่ออัปเดตความคืบหน้างานของแต่ละคน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำงาน ใครต้องมีประชุมย่อยก็ไปนัดแยกจะว่าไป ส่วนใหญ่ลูกน้องไม่ค่อยมีปัญหา เราเองซะมากกว่า บางทีเน็ตไม่เสถียร มีลูกเข้ามาแจมบ้าง เพราะช่วงนี้เขาก็เรียนออนไลน์” เปิ้ลเล่าไปขำไป ก่อนเสริมว่า



“อย่างที่บอกว่าเราทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง ดังนั้น ในภาวะแบบนี้บางทีเราก็ต้องหากิจกรรมมาชาลเลนจ์ไอเดียลูกน้องด้วยกิมมิกสนุกๆ เหมือนกัน อย่างเวลานัดประชุม เราจะมีธีมให้สมมติ “เครื่องหัว” ทุกคนก็จะไปหามาว่าจะใส่อะไร อย่างเราก็ไปหมวกเก๋ๆ มาใส่ แต่จะมีน้องๆ ในทีมบางคนครีเอทีฟมาก ไปเอาหมวกกันน็อก หมวกที่ใส่เวลาเล่นยูโดมาใส่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันการทำงานไปอีกแบบ”


อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องกอดคอสู้ไปด้วยกัน เปิ้ลบอกว่า ในวิกฤตทำให้เห็นว่าต่อให้เกิดปัญหาอะไรก็ตาม คนเราจะมีวิธีแก้ปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เสมอ ใครจะรู้ว่าในวันที่เกิดโรคระบาด ทุกคนจะสามารถ WFH เพื่อให้การทำงานไม่สะดุด ยังสามารถติดต่อกับลูกค้าได้ ถ้าไม่ว่างหรือไม่สะดวกเจอก็ใช้วิธีประชุมแบบออนไลน์ ซึ่งถ้าเป็นช่วงเวลาปกติเราคงไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้”


ด้านหนุ่ม “ไท้-วสุวัส คูหาเปรมกิจ” น้องชายไฮโซเซนต์-ธราภุช คูหาเปรมกิจ สามีนางเอกคนดัง มิว-นิษฐา ซึ่งตอนนี้ลาออกจากงานประจำมาสานต่อธุรกิจค้าทองของที่บ้านเต็มตัว ในฐานะกรรมการผู้จัดการร้านทองขายส่งจิ้นไถ่เฮง

“คุณพ่อคุณแม่อยากให้กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ตอนที่ท่านยังไม่เกษียณ กลับมาทำไม่ทันไรก็เจอช่วงโควิด-19 พอดี เลยต้องปรับตัวเยอะเป็นพิเศษ ที่จริงงานที่ผมรับผิดชอบก็ยังไม่ได้ WFH 100% ยังมีลงไปหน้างานบ้าง ส่วนตัวผมมองว่าข้อดีของการ WFH คือ ประหยัดเวลาเดินทาง และทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องวอกแวกกับสิ่งรอบตัว หรือมัวแต่เข้าประชุมจนไม่ได้ทำงาน



แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าในข้อดีก็มาพร้อมความยากในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ที่หากอยู่ออฟฟิศ แค่เดินไปคุยก็จบ 5 นาทีรู้เรื่อง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องอาศัยการโทร.หรือแชตไปหา กว่าจะคุยรู้เรื่องต้องใช้เวลาทำให้ประสิทธิภาพการทำงานบางอย่างต่ำลง


อย่างไรก็ตาม ในฐานะหนุ่มสุดเนี้ยบพอต้องมา WFH ทำให้อรรถรสในการแต่งตัวน้อยลงตามไปด้วยหรือเปล่า ไท้ยอมรับว่า “มีบ้างนะ ที่รู้สึกว่าไม่ได้แต่งตัวนานแล้ว เพราะพอ WFH แต่งตัวตามสบายขึ้นเยอะ จากแต่ก่อนต้องไปข้างนอก ก็ยังได้แต่งตัว บางวันจัดเต็มใส่สูท แต่พอนั่งทำงานอยู่บ้านก็ต้องเบาลง”


สอดคล้องกับมุมมองของ “คุณหญิงนุ่น - ม.ร.ว.สุทธิภาณี ยุคล” ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ที่มองข้อดีของการ WFH ไม่ต่างจากหลายๆ คน เพียงแต่เธอมีเทคนิคในการ WFH ให้ไม่น่าเบื่อว่า “นุ่นยังตื่นเวลาเดิมเหมือนต้องไปทำงาน ยังแต่งตัวแต่งหน้าเต็มเสมือนว่าต้องไปออฟฟิศ ขาดอย่างเดียวคือ ไม่สวมรองเท้าส้นสูง เพราะไม่ใส่รองเท้าในบ้าน

รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะเราบริหารจัดการเวลาได้คุ้มค่า ก่อนเริ่มงานมีเวลาทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า เล่นกับแมว เตรียมอาหารเช้าให้ตัวเองแล้วเข้าเริ่มงาน พอตอนเที่ยงก็ยังเตรียมอาหารให้ตัวเอง กลายเป็นว่าเราได้ดูแลตัวเองทำที บางวันนั่งทำงานเพลินๆ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะพอปิดคอมก็ได้พัก ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง”
ในแง่การทำงาน หญิงนุ่นยอมรับว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ทีมได้สื่อสารกันมากขึ้น เพราะทุกคนในแผนกต้องมาประชุมด้วยกันตอนเช้า จากแต่ก่อนด้วยความที่องค์กรเล็กอาจจะละเลยการประชุมทีม แต่พอตอนนี้ทุกคนต้องมาประชุมด้วยกัน เลยเป็นโอกาสให้ทุกคนได้คุยกัน แชร์ไอเดียกัน


“เพื่อให้ทุกคนได้รีเฟรชตัวเอง นุ่นมีกฎเหล็กกับทีมเลยว่า ต่อให้ WFH ก็ต้องแต่งตัว แต่งหน้า ที่อยากให้ทีมทำแบบนี้ เพราะนุ่นรู้สึกว่าการเราทำตัวเองให้ดูดีไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเอง เราคงไม่อยากส่องกระจกแล้วเห็นตัวเองเยินๆ หรือมีคนคอลมาด่วนๆ แล้วไม่กล้าเปิดกล้องอยู่คนเดียว อย่างนุ่นเองอาจจะมีบางวันที่พักเที่ยงทำอาหารแล้วรู้สึกว่าจะมีกลิ่นอาหารติด ก็เปลี่ยนชุดนะ หรือบางวันอากาศร้อนมากไม่ไหวก็อาจจะลดดีกรีความเต็มของชุดทำงานลงบ้าง แต่อย่างน้อยตอนเช้าเราได้รีเฟรชตัวเองให้พร้อมกับการทำงานไปแล้ว”

ส่วนปัญหาจากการ WFH เท่าที่นุ่นเจอ เรื่องงานไม่มี จะมีหนักใจและแก้ไม่ตก คือ การหามุมทำงานในบ้าน “เชื่อมั้ยนุ่นเปลี่ยนมา 4 ที่แล้วกว่าจะหามุมทำงานที่ถูกใจได้ คือ แสงสว่างต้องเหมาะ โต๊ะเก้าอี้อยู่ในระดับที่เหมาะเอื้อกับการทำงาน เพราะนุ่นมีอาการออฟฟิศซินโดรมอยู่แล้ว พอมาทำงานที่บ้านเลยต้องจัดโต๊ะที่นั่งให้เหมาะ หรืออย่างพร็อพในการทำงาน นุ่นซื้อหูฟังที่ใช้แคสต์เกมมาเลย เวลาวิดีโอคอล เสียงจะได้ชัด ทั้งตอนฟังและตอนพูด มีไมค์เหมือนคอลเซ็นเตอร์ชัดเจนแน่นอน” หญิงนุ่นทิ้งท้ายอย่างติดตลก



ปิดท้ายด้วย มู่ลี่ - อัญชิสา วัชรพล เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางน้องใหม่ของไทยอย่าง Everpink เริ่ม WFH มาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิว บอกว่าเพราะไม่อยากให้ทีมเสี่ยง บวกกับสมาชิกในทีมก็คุ้นเคยกับการทำงานบนโลกออนไลน์เป็นอย่างดี แม้จะมีอุปสรรคในด้านการสื่อสารที่อาจจะไม่คล่องตัว เหมือนการเจอหน้า แต่ประสิทธิภาพในการทำงานของทีมไม่ตก

“จริงๆ มู่ก็มีแผนอยู่แล้วว่าปีนี้จะให้พนักงาน WFH ทุกวันสิ้นเดือน จะได้ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ที่สาหัสมากช่วงสิ้นเดือน แต่ยังไม่ได้เริ่มก็มาเจอโควิด-19 เสียก่อน เลยกลายเป็นว่าตอนนี้ทุกคนได้ WFH ยาวๆ ไป ซึ่งมู่มองว่าข้อดีคือทำให้ทุกคนมีอิสระในการบริหารจัดการเวลาของตัวเองมากขึ้น อย่างเวลากินข้าวก็ไม่จำเป็นต้องรอพักเที่ยง อย่างมู่เองบางทีก็ทำงานยาวๆ อยากพักกินข้าวตอนบ่ายสามเราก็ทำได้ แถมยังได้พัฒนาทักษะการสื่อสารไปในในตัว เพราะในช่วงที่ต้องทำงานออนไลน์กันแบบนี้ ทักษะการสื่อสารสำคัญมาก



มู่ลี่บอกว่า เธอไม่ได้รู้สึกเบื่อ หรือแย่กับการ WFH “มู่ชอบอยู่บ้านอยู่แล้ว โชคดีที่เราไม่ได้อยู่คอนโดฯ ที่อาจจะเป็นห้องสี่เหลี่ยม แต่อยู่เป็นบ้านมีบริเวณให้ได้เดินเล่นผ่อนคลาย แต่ถึงจะทำงานที่บ้าน มู่ก็ยังแต่งตัว แต่งหน้าตามปกตินะ อาจเพราะเราชอบแฟชั่นและอยู่ในธุรกิจเครื่องสำอางเราก็ใช้เวลาช่วงนี้ทดลองโปรดักต์ ทำคอนเทนต์สนุกๆ แทน แถมวิกฤตโควิด-19 ยังทำให้มู่ชอปปิ้งน้อยลงด้วย (หัวเราะ) จริงๆ แล้วก็ชอปน้อยลงมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อาจเพราะเราโตขึ้น ความอยากก็น้อยลง คือยังชอบชอปอยู่ เพียงแต่อาจจะเลือกมากขึ้น ถ้าชอบจริงๆ ก็ยังซื้อ ช่วงนี้ก็เลยถือโอกาสเก็บเงินไปในตัว เพราะมู่มองว่านอกจากการทำธุรกิจต้องมี Cash Flow เราเองก็ควรมี Cash Flow ของตัวเองเหมือนกัน”


สำหรับเทคนิคที่อยากฝากถึงคนที่กำลังเบื่อๆ กับการทำงานที่บ้าน “มู่ไม่ได้มองว่าทุกคนต้องตามเทนรด์หันมาดูซีรีส์ในลิสต์ หรือหาทางพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนออนไลน์ เพราะส่วนตัวมู่ก็ไม่ได้ชอบดูซีรีส์ ความสุขของมู่คือการได้ทำงานอดิเรกที่ชอบอย่างการทักโครเชต์ หรือนิตติ้ง เพราะฉะนั้น มู่เลยคิดว่าอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้กลับมาทำอะไรที่ชอบซึ่งไม่มีโอกาสได้ทำในช่วงเวลาปกติค่ะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น