ไอเท็มเด็ดที่เหล่าแฟชั่นนิสต้ามองหาช่วงโควิดแบบนี้ คงหนีไม่พ้น “หน้ากากผ้าเก๋ๆ” ที่จะมาช่วยเพิ่มความอุ่นใจและเติมสีสันให้ซัมเมอร์นี้ไม่หดหู่จนเกินไป ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเหล่าดีไซเนอร์ไทยล้วนพร้อมใจกันหันมาออกแบบหน้ากากผ้าเก๋ๆ ให้คนรักแฟชั่นได้เลือกชอป แต่ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่ยืนหนึ่งในความไม่เหมือนใคร ต้องยกให้หน้ากากผ้าแฟนซี ผลงานสุดสร้างสรรค์ของ “โก้ - ชัยชน สวันตรัจฉ์” ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ Good Mixer และ Muse by Good Mixer ที่ใครเห็นเป็นต้องร้องว้าว...
สำหรับที่มาของไอเดียสุดเปรี้ยวที่เข้ากระแสอย่างพอดิบพอดีนี้ ดีไซเนอร์รุ่นเก๋าซึ่งคว่ำหวอดในวงการแฟชั่นไทยมากว่า 30 ปี บอกว่า เกิดจากความบังเอิญเป็นเหตุ
“อย่างที่รู้โควิด-19 ทำให้ทุกคนเดือดร้อนกันหมด หน้าร้านที่สยามเซ็นเตอร์ และพารากอนต้องปิด งานช่างก็ต้องพัก เราเองตอนแรกตั้งใจว่าจะเริ่มหยุดงานต้นเดือน เม.ย. แต่พอดีมีอยู่วันหนึ่งช่างเย็บหน้ากากมาให้ เราก็เลยนึกสนุกไปเอางานปักผีเสื้อที่เราสต๊อกไว้อยู่แล้ว เพราะเป็นซิกเนเจอร์ที่ใช้ในทุกคอลเลกชันของแบรนด์ Muse มาแมตช์กับหน้ากาก ตอนนั้นไม่ได้เย็บด้วยนะ แค่ใช้เข็มหมุดกลัดไว้ จากนั้นก็โพสต์ลงโซเชียลฯ ปรากฏว่ามีลูกค้าที่เห็นแล้วชอบ ออเดอร์เข้ามาจากชิ้นสองชิ้น กลายเป็นมีออเดอร์หลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ จนล่าสุดมีลูกค้าชาวฮ่องกงออเดอร์เข้ามาด้วย”
นอกจากลายผีเสื้อ โก้ยังนำลวดลายแบบแอฟริกัน ปลาทอง สัญลักษณ์สัตว์มงคล และลายเสือซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ Good Mixer มาแปลงร่างเป็นหน้ากากแฟนซีด้วย
“หลักๆ ตอนนี้วางแผนไว้ว่าจะผลิตแค่ 4 ลายนี้ เพราะเป็นลายที่ฐานลูกค้าของตัวเองอยู่แล้ว อย่างปลาทอง สาวจีนชอบมาก ส่วนลูกค้าแขกจะชอบลายผีเสื้อ ส่วนคนที่ชอบลายที่แสดงถึงความดุดันหน่อยก็จะชอบเสือ จากนี้ถ้าจะมีสินค้ารุ่นใหม่ออกมาเรื่อยก็อาจจะเป็นการลดทอนความรุ่มร่ามลง เพื่อให้หยิบมาใส่ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น หลังจากที่เริ่มทำมาตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ก็มีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย ถึงจะไม่มาก แต่ก็ทำไม่ทันเลยทีเดียว เพราะมีช่างอยู่ 2 คน เน้นความความประณีตในการเย็บที่ลงรายละเอียด ตั้งแต่การเย็บเพื่อไม่ให้แผ่นใยสังเคราะห์ด้านในที่เป็นชั้นกรองลื่นไหล ยังมีการกุ๊นด้านนอกเพื่อเก็บงาน ทำให้กำลังการผลิตในแต่ละวัน อยู่ที่หลักสิบเท่านั้น”
สำหรับกระแสตอบรับที่ดีอย่างไม่คาดคิด โก้บอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าประจำที่เป็นกลุ่มนักสะสม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือความแแปลกใหม่
“คนอื่นคงไม่ได้คิดอะไรบ้าๆ บอๆ แบบเรา (หัวเราะ) คือเราเป็นพวกไม่ค่อยทำอะไรบนพื้นฐานอยู่แล้ว เป็นพวกล้นๆ ยิ่งเยอะยิ่งใช่ ซึ่งเราเชื่อว่าก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เสพงานแบบนี้อยู่นอกจากงานเบสิกที่มีคนทำเยอะ แต่ในกลุ่มนิชก็ต้องยอมรับว่ากำไรไม่ได้สูงตาม และมีความเสี่ยงอาจจะขายไม่ได้ อย่างหน้ากากแฟนซีที่ทำอยู่ เราไม่ได้กำไรมากมาย แต่ก็คงทำไปก่อนในช่วงนี้ เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หลังจากนี้ตลาดแฟชั่นอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้ ตอนนี้ถ้ามีหนทางใหม่อะไรก็ต้องเปิดหูเปิดตา เตรียมตัวไว้ให้พร้อม”
ไหนๆ ก็เกริ่นมาถึงแลนด์สเคปของวงการแฟชั่นที่จะเปลี่ยนไปจากนี้ โก้ ถือโอกาสเสริมต่อว่า โควิด-19 จะพลิกโฉมวงการแฟชั่นไม่น้อย อย่างช่วงนี้จะเห็นเลยว่าการเสพแฟชั่นของลูกค้าเปลี่ยนไป หันมาจับต้องไอเท็มเล็กๆ มากกว่าเสื้อผ้าซึ่งเป็นงานใหญ่และยังสามารถใช้วนได้ แต่ไอเท็มเล็กๆ ที่เปลี่ยนได้บ่อย แต่สามารถให้ความชุ่มชื่นหัวใจในช่วงเวลาแบบนี้จะเป็นที่สนใจ แต่ในอนาคตหลังโควิด-19 จบ คิดว่าความจงรักภักดีกับแบรนด์จะยังมี แต่ตลาดใหม่อย่างออนไลน์มาแรงกว่าเดิมแน่นอน ส่วนรูปแบบเสื้อผ้าจะเน้นอะไรที่ง่ายและคลาสสิกขึ้น ที่สำคัญต้องเป็นชิ้นที่มีจุดเด่นโดนใจ
“ในฐานะที่อยู่ในวงการมา 30 กว่าปี ครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดของการเป็นดีไซเนอร์ก็ว่าได้ จะว่าไปเราก็เจอมาหลายยกนะ มองย้อนไปก็ไม่รู้ว่าทุกยกเอาตัวเองรอดมาได้ยังไง (หัวเราะ) แต่ครั้งนี้รู้สึกว่าเป็นมุมใหม่ในชีวิตที่เราต้องเปิดตัวเองให้พร้อมกับการปรับตัวครั้งใหญ่ ที่ผ่านมาเราไม่ใช่คนทำอะไรใหญ่โต มีลูกน้อง 50-100 คน แต่ถึงจะเก็บตัวเองให้เล็กอยู่แล้ว จากนี้ก็ต้องเก็บให้เล็กกว่าเดิม ที่สำคัญช่องทางออนไลน์ที่ไม่เคยทำ และทำไม่เป็น (หัวเราะ) คงต้องเริ่มหันมาจับบ้าง จากเดิมที่มองว่าตัวเองตกรุ่นไปแล้ว โทรศัพท์ยังใช้ไม่ค่อยทุกแอปฯ ซีรีส์เพิ่งมาดู ยูทูบเพิ่งมาใช้ ไม่ค่อยได้มาเสพอะไรตรงนี้ แต่พอมาถึงตรงนี้ คงมันถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับตัวอย่างแท้จริง หลังจากนี้ลูกค้า อาจจะมาเจอแบรนด์เราในออนไลน์มาก่อน แต่อาจจะไม่เต็มรูปแบบ เอาเป็นว่าอย่าด่ากันเยอะนะ ถ้าแอดมินตอบไม่ทัน”
โก้ยังทิ้งท้ายถึงการปรับตัวเพื่อยืดหยัดในฐานะดีไซเนอร์ ท่ามกลางแลนด์สเคปแฟชั่นที่จะเปลี่ยนไปและการแจ้งเกิดของดีไซเนอร์หน้าใหม่ “เราคงไม่ได้ไปสู้กับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เพราะถ้าในแง่ตลาดออนไลน์อยู่ในมือเขาอยู่แล้ว เราเป็นนิชมาร์เกต ที่ลูกค้าต้องค้นหาถึงจะเจอเรา แต่สิ่งที่ให้เราอยู่ได้ คือ ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเราต้องรักษาไว้ และพยายามหาลู่ทางเพื่อยืนหยัดในวงการแฟชั่นซึ่งเราและลูกน้องมีความถนัดนี้ต่อไป”