เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ในระหว่างที่คนไทยอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 กันอย่างใกล้ชิด แต่แล้วก็มีข่าวร้ายเรื่องการเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว ของดีไซเนอร์คนดัง “ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์” แห่ง “ดวงใจ บิส” มาคั่น สร้างความตกอกตกใจให้แก่คนในวงการแฟชั่นคนดัง และเพื่อนพ้องน้องพี่คนใกล้ชิดเป็นอย่างมาก วันนี้ลองมาฟังความประทับใจที่มีต่อตั้วจากเหล่าดีไซเนอร์กันบ้าง
เริ่มจาก “เจี๊ยบ-พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์” ดีไซเนอร์แบรนด์ “PICHITA” ไทยดีไซเนอร์รุ่นเดียวกัน ที่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ในช่วงไล่เลี่ยกัน กล่าวว่า รู้สึกตกใจและเสียใจมากหลังจากที่ทราบข่าวการเสียชีวิตของตั้ว “รู้จักกันมานาน ตั้วเป็นนักเรียนฝรั่งเศสรุ่นน้อง เป็นคนที่ทำให้วงการแฟชั่นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ในขณะนั้นเสื้อผ้าของตั้วทำให้ดวงใจบิสโดดเด่นมาก
ตั้วเป็นคนดี คุยสนุก อัธยาศัยดี คล่อง สมองไว ปากกับใจตรงกัน ทำให้หัวเราะได้ตลอดเวลา การที่ได้พูดคุยกับตั้ว เป็นการได้ลับสมองอย่างหนึ่ง ทำให้ชีวิตพี่แอ็กทีฟขึ้น เพราะตั้วเป็นคนเก่ง แอ็กทีฟ ตั้งแต่รู้จักกันมาไม่เคยโกรธกันเลย และก็ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงตั้วในแง่ลบ แถมตั้วยังจุดประกายให้ใครหลายๆ คนได้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมาอยู่เสมอๆ
ตั้วเป็นคนช่างแต่งตัว ทำเสื้อผ้าที่มีกลิ่นอายของฝรั่งเศส มีคอลเลกชันหนึ่งที่มีผ้าแบบมิลเลนเนียม แวววาว ทันสมัยมาก ที่ชอบจะเป็นเสื้อผ้าริ้วแขนพอง กระโปรงลายจุด ซึ่งเป็นเทรนด์ของแฟชั่นสมัยนั้น นับว่าพี่ตั้วเป็นดีไซเนอร์ที่เก่งมากคนหนึ่ง และยังสามารถทำเสื้อผ้าฉีกแนวคนอื่นในสมัยนั้นอีกด้วย รู้สึกเสียดายและเศร้าใจมาก”
เมื่อถามถึงความประทับใจที่มีต่อตั้ว พี่เจี๊ยบกล่าวอย่างชื่นชมว่า “รู้สึกประทับใจและภูมิใจมาก ในฐานะที่พี่เจี๊ยบก็เป็นดีไซเนอร์ แต่พี่ตั้วจะทำโชว์ชุดหนึ่งซึ่งเป็นงานครบรอบ แล้วมาขอให้พี่เจี๊ยบเดินฟินาเล่ให้ ในขณะที่สมัยนั้นนางแบบที่เดินฟินาเล่จะเป็น นก-สินจัย หรือไม่ก็ ลูกเกด-เมทินี แต่พี่ตั้วกลับให้เกียรติพี่ เพราะพี่ไม่ใช่นางแบบ เป็นเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน แต่ก็ส่งเสริมซึ่งกันและกัน”
มาฟังอีกแง่มุมหนึ่งจากปากคำของ “ทิม-พิศิษฐ์ ศิริเหมะรัตน์” ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ KLAR Lov ซึ่งเคยทำงานใกล้ชิดกับพี่ตั้วในสมัยที่พี่ทิมมีอายุเพียง 17 ปี ทำอยู่ 4 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994-1995 “พี่ตั้วเป็นคุณครูที่ดุแต่ใจดี ใจกว้าง บางทีกว้างมากจนลืมนึกถึงความบิดเบี้ยวของมนุษย์ไป ในบางจังหวะของชีวิต เรียกว่าทำดีกับทุกคนก็ว่าได้
พี่รู้จักกับพี่ตั้วในอีกมิติหนึ่ง เพราะเคยทำงานกับพี่ตั้วเกือบ 4 ปี ก่อนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อต่อยอดเรื่องแฟชั่น แฟชั่นโชว์แรกในชีวิตตอนนั้นอายุ 17-18 ปี วุฒิภาวะยังเด็ก แต่แบกความรับผิดชอบของแฟชั่นโชว์ใหญ่ซึ่งต้องตามเรื่องเสื้อผ้า และแอ็กเซสซอรีต่างๆ แต่พอโตขึ้นจึงรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการให้โอกาสเด็กคนหนึ่งที่เอนทรานซ์ไม่ติด เรียนรามฯ แต่อยากหางานทำ แถมยังได้สั่งสมประสบการณ์มาจนถึงทุกวันนี้
พี่ตั้วนับว่าเป็นครูแฟชั่นคนแรกที่เปิดโลกแฟชั่นให้กับพี่ เราเกิดในช่วง 3 ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงเรื่องแฟชั่นโลก ได้สัมผัสในยุคของกูตูร์ หรูหรา ฟู่ฟ่า ฟุ่มเฟือย ไหล่ใหญ่ ปักทั้งตัว มีความแม็กซิมัมลิซึม เพราะทั้งโลกเศรษฐกิจดี สงบสุข พอเข้าสู่ยุค 90’s เข้าสู่ยุคมินนิมอลลิซึม ก็เป็นช่วงขาลงของดวงใจบิส ที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปเข้ามามากขึ้น คนชอบแต่งตัวแบบความเยอะในชิ้นงานน้อยลง แบบปักทั้งตัวก็ลดทอนลงเรื่อยๆ
จากนั้นประมาณปี 1995 ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศที่เยอรมนี แฟชั่นตอนนั้นเป็นมินิมัลลิซึม ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษา จึงต้องทำงานออกแบบตามเทรนด์แฟชั่นในขณะนั้น ก็พยายามต่อต้านความเยอะวนเวียนอยู่กับความน้อย ลดทอนอะไรต่างๆ นานา มองว่าความเยอะมันเอาต์ไปแล้ว ในสายตาของคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น โดยที่ไม่รู้ตัวว่าความแม็กซิมัมลิซึมจากสิ่งที่เคยทำงานกับพี่ตั้ว ได้ฝังอยู่ในสายเลือดเราไปแล้ว จนมารู้ตัวทีหลังว่าจริงๆ แล้วเรานั้นชอบความกูตูร์ ชอบเสื้อผ้าสั่งตัดเฉพาะบุคคล ไม่ใช่เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตทีละเป็นร้อยตัว เพราะคือแพสชันของตัวเองอยู่แล้ว
ประทับใจกับการที่ได้ทำงานกับพี่ตั้วมาก เพราะในช่วงวัย 17-20 ปี ทำให้เราได้พบเจอกับคนดังๆ ระดับประเทศ ที่ไม่คิดว่าตัวเองจะได้เจอ อย่าง กีรติ ชลสิทธิ์, พี่นก-สินจัย, คุณหญิงประณีตศิลป์, คาร่า พลสิทธิ์, คุณหญิงต้น-ม.ล.ปิยาภัสร์ หรือแม้แต่กระทั่ง ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ซึ่งมาลองชุดที่ร้านดวงใจบิส เหมือนได้เปลี่ยนโลกที่เคยใช้ชีวิตประจำวันไป และสิ่งที่ได้จากการทำงานกับพี่ตั้วและนำมาปรับใช้ในการทำงานส่วนตัวก็คือ ความขยัน ความอดทน และพยายามทำตัวตามสมัยทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอๆ”
ส่วน “จ๋อม-ศิริชัย ทหรานนท์” ผู้ก่อตั้งแบรนด์เธียเตอร์ ดีไซเนอร์รุ่นน้องที่รู้จักกับตั้วมานานกว่า 40 ปี ได้เล่าถึงความประทับใจถึงผู้ล่วงลับว่า “รู้จักกับพี่ตั้วตอนที่พี่ตั้วกลับมาจากปารีสแล้ว เป็นกลุ่มเดียวกัน แฮงก์เอาต์กัน รสนิยมชอบอะไรเหมือนๆ กัน พี่ตั้วเรียนแฟชั่นมา เราสนใจแฟชั่นก็เลยจะเจอกันอยู่สม่ำเสมอ ประทับใจที่สุดตอนปี 1984 พี่ตั้วทำแฟชั่นโชว์ไปเดินที่แอลเอ สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นเราเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ได้ยินว่าพี่ตั้วจะไปทำแฟชั่นโชว์ที่แอลเอ ก็เลยขอไปด้วยแบบไม่เอาค่าจ้าง ด้วยความที่เราเด็กสุดในกลุ่ม พี่ตั้วก็เลยหาตั๋วเครื่องบินให้เราไปจนได้ เป็นทริปที่ประทับใจมาก ทั้งได้ช่วยพี่ตั้วทำงาน ได้กินเที่ยว เราไปกันหลายคนมาก ทั้งพี่ต่าย-เพ็ญพักตร์, พี่ม้า-อรนภา
ตอนนั้นเรายังไม่ได้ทำแบรนด์ แต่ดวงใจบิสเป็นไทยดีไซเนอร์รุ่นแรกๆ ที่ประทับใจลูกค้าทุกระดับประมาณปี 1987 ช่วงนั้นเราไปเปิดร้านเธียเตอร์ที่ตึกชาญอิสสระ แล้วก็ชวนแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พิจิตรา, ดวงใจบิส, เกรย์ฮาวนด์ มาเปิดร้านที่ตึกนี้ด้วยกัน ตึกชาญอิสสระจึงเป็นตึกที่รวมไทยดีไซเนอร์ในยุคแรกๆ ทุกคนมีอะไรก็ช่วยกัน ใครมีแฟชั่นโชว์ก็ไปช่วยกัน
พอทราบข่าวพี่ตั้วเสียชีวิตก็ตกใจมาก เพราะอยู่ซอยเดียวกัน แต่บ้านพี่ตั้วเลยบ้านเราไปประมาณ 500 เมตร แต่หลังๆ เราไม่ค่อยได้เจอกัน จะติดตามข่าวคราวกันทางเฟซบุ๊กมากกว่า ความที่เราเป็นเพื่อนกันรู้สึกเสียใจกับการจากไปของพี่ตั้วมาก คิดว่าจะต้องไปส่งเขาแน่นอน”
จ๋อมยังย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า “พี่ตั้วเรียกว่าเป็นไทยดีไซเนอร์คนหนึ่งที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ เป็นที่รู้จัก และมีผลงานเป็นที่ยอมรับของคนไทย และผลงานของพี่ตั้วก็จะยังอยู่ในใจลูกค้า เพื่อนฝูงและพี่น้องไทยดีไซเนอร์ทุกคน”
ด้านดีไซเนอร์แบรนด์ไทยรุ่นเก๋าอีกคน “สิทธิ์-ชนะชัย จรียะธนา” แห่ง Fri27Nov แบรนด์สุดเก๋ ที่ยกให้ “ตั้ว-กีรติ” เป็นไอดอล ผู้สร้างแรงบันดาลใจทำให้เขาเริ่มต้นเข้ามาทำงานแฟชั่นเสื้อผ้า
“สำหรับผมแล้ว พี่ตั้วคือรุ่นพี่ที่เราให้ความเคารพ ที่จริงไม่ได้รู้จักสนิทสนมกันมากนัก เพราะผมถือเป็นรุ่นหลังแล้ว เคยได้มีโอกาสพบปะพูดคุยตามงานแฟชั่นบ้าง เรามองเขาเป็นรุ่นพี่ เป็นแบบอย่าง เราโตมากับงานเขาเลย ได้เห็นผลงานการดีไซน์เสื้อผ้าของพี่ตั้วตามหน้านิตยสาร ทำให้เราสนใจในเรื่องแฟชั่นมากขึ้น เรียกได้ว่าเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำเสื้อผ้า เพราะงานพี่ตั้วจะแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร ถือได้ว่าเปรี้ยวซ่าที่สุดในยุคนั้น
ต้องเข้าใจก่อนกว่าสมัยก่อนมันไม่ได้มี Internet ไม่ได้มีนิตยสารแฟชั่นต่างประเทศให้เราเสพเหมือนอย่างทุกวันนี้ เราได้เห็นแฟชั่นเก๋ๆ ก็จากนิตยสารไทยอย่าง ลลนา หรือไม่ก็ดูในโทรทัศน์ พวก MV เราไม่ได้เห็นอะไรเยอะและง่ายอย่างทุกวันนี้ พี่เป็นเด็กยุคแอนะล็อก แฟชั่นตอนนั้นก็จะแบบเดิมๆ เหมือนๆ กัน ไม่มีอะไรแหวกแนว พอเราได้เห็นงานพี่ตั้วที่มันไม่เหมือนใคร แปลกใหม่ หวือหวา และกล้า มันทำให้เราตื่นเต้น เหมือนเปิดโลกแฟชั่นของเราให้กว้างขึ้น จุดไฟให้เราอยากเห็น อยากศึกษาต่อ จนพี่ได้ลงมือทำแบรนด์ของตัวเองอย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณพี่ตั้วที่เป็นคนจุดประกายให้พี่”
ดังนั้น เมื่อได้ยินข่าวเศร้าถึงการจากไปของดีไซเนอร์ในตำนาน สิทธิ์จึงเผยมุมมองส่วนตัวให้ฟังว่า “เสียใจและเสียดายครับ และที่สำคัญคือมันทำให้ผมกลับมามองว่าอาชีพนี้น่าสงสารนะครับ เมื่อถึงวันหนึ่ง ความนับถือ ความน่าสนใจของคนรุ่นเก่าๆ มันหายไป อย่างถ้าเรามองดีไซเนอร์ดังๆ ต่างประเทศ ยิ่งมีอายุยิ่งมีคนให้ค่า ให้การยอมรับในฝีมือ อย่าง คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ขยับตัวทำอะไรก็เป็นข่าว แต่พอมองดีไซเนอร์บ้านเรา อยู่ไปนานๆ ก็ค่อยๆ หายเงียบไป เอาง่ายๆ เลยอย่างทุกวันนี้เวลามีอีเวนต์แฟชั่นต่างๆ ทุกคนก็จะมุ่งไปหาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ไม่ค่อยมีใครสนใจพวกรุ่นใหญ่ๆ สักเท่าไหร่ แล้วคนส่วนใหญ่ก็ชอบมองรุ่นเก่าๆ ว่าแก่ ว่าเชย ไม่ได้ให้มูลค่า แทนที่จะมองเห็นถึงประสบการณ์ ความชำนาญ ผมว่าวงการแฟชั่นเราต้องหันกลับมามองตรงจุดนี้นะครับ”