xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่าหนีตาย เจ้าหญิงฮายา บิน อัล-ฮุสเซน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชีวิตของเจ้าหญิงไม่ได้งดงามโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป บางครั้งก็มีหนามกุหลาบหลงร่วงมาระคายเคืองเบื้องพระบาทบ้าง

อย่างเรื่องราวของเจ้าหญิงนักขี่ม้า ผู้ทรงมีการศึกษาระดับออกซ์ฟอร์ด ฮายา บิน อัล-ฮุสเซน เจ้าหญิงผู้สิริโฉมแห่งจอร์แดน ที่ต้องทรงหลบหนีจากพระสวามีผู้ทรงอิทธิพล ชี้คโมฮัมเมด บิน ราชิด อัล-มัคตุม ผู้ปกครองดูไบ มายังอังกฤษ หลังจากถูกจับได้ว่ามีสัมพันธ์กับบอดี้การ์ดชาวอังกฤษ รัสเซล ฟลาวเวอร์ส

ณ วันที่ท้องฟ้าหม่นมัววันหนึ่งในเดือนเมษายนปีที่แล้ว เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวสุดหรูลำหนึ่ง ได้ร่อนลงจอดที่สนามบินฟาร์นเบอระห์ใกล้กับกรุงลอนดอน คนที่ลงมาจากเครื่องบินคือ เจ้าหญิงฮายา บิน อัล-ฮุสเซน แห่งจอร์แดน พระชายาที่อายุน้อยที่สุดของ ชี้คโมฮัมเมด บิน ราชิด อัล-มัคตุม แห่งดูไบ

ฮายา บิน อัล-ฮุสเซน คือเจ้าหญิงพระองค์ที่ 3 ที่พยายามหลบหนีออกจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และเป็นคนแรกที่ทำได้สำเร็จ!

เจ้าหญิงทรงสูดอากาศแสนสดชื่นของอังกฤษ ทรงจูงเจ้าชายและเจ้าหญิง 2 พระองค์เอาไว้ใกล้ๆ ก่อนจะทรงขึ้นรถเข้าไปยังใจกลางกรุงลอนดอน เป็นเวลาก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย ที่รถเลี้ยวเข้าไปในรั้วเหล็กสีดำของแมนชั่นราคา 85 ล้านปอนด์ ที่พระองค์ทรงแอบซื้อเอาไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018



เจ้าหญิงฮายา ทรงแตกต่างจากชายาอีก 5 องค์ของชี้คแห่งดูไบโดยสิ้นเชิง พระมารดาของพระองค์ ราชินีอาลียา แห่งจอร์แดน สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ตั้งแต่พระองค์ทรงอยู่ในวัย 2 ชันษา พระบิดา อดีตกษัตริย์แห่งจอร์แดนจึงทรงส่งพระองค์มายังโรงเรียนประจำ แบดมินตัน ไพรเวท สกูล ในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ที่ค่าเล่าเรียนปีละ 3 หมื่นปอนด์ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท)

พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ณ เซนต์ฮิลดา คอลเลจ ในออกซ์ฟอร์ด ที่ซึ่งมีแต่คนที่พร้อมจะเปิดใจ และถกเถียงกันได้ในทุกๆ เรื่อง

พระองค์ทรงสนพระทัยในกีฬาขี่ม้า และทรงเป็นตัวแทนประเทศจอร์แดนในการแข่งขันขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวาง ในโอลิมปิค ปี 2000 นอกจากนี้ ยังทรงเป็นทูตของสหประชาชาติในโครงการอาหารโลก

เจ้าหญิงแห่งจอร์แดนทรงชื่นชอบเรื่องสนุกสนาน ทรงเคยออกมายอมรับว่าชื่นชอบนิยายปลุกใจเสือป่าของ จิลลี คูเปอร์ ทรงนิยมเสื้อผ้าแบรนด์ชาแนลมากพอๆ กับเสื้อแนวสตรีท


ชี้คโมฮัมเมด บิน ราชิด อัล-มัคตุม ไม่ทรงทราบมาก่อนเลยว่า ชายาองค์สุดท้อง ทรงวางแผนจะหลบหนี ตอนนั้นพระองค์ทรงรอพระชายาและโอรส-ธิดาอยู่ที่คฤหาสน์หรู ในนิวมาร์เก็ต เมืองซัฟโฟล์ค

ชี้คอัล-มัคตุม และเจ้าหญิงฮายา ทรงเป็นคนคุ้นเคยในแวดวงไฮโซของอังกฤษมาเป็นเวลายาวนาน ทั้ง 2 พระองค์ต่างก็ทรงสนิทสนมกับสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

กว่า ชี้คอัล-มัคตุม จะทรงตระหนักว่า พระชายาผู้ได้ฉายาว่า “โฉมหน้าแห่งเสรีนิยม” ได้ทรงทิ้งพระองค์ไป ก็สายไปแล้ว

ชี้คแห่งดูไบคงจะไม่ทรงรู้สึกแย่มากขนาดนี้ หากเจ้าหญิงฮายา จะไม่ทรงพาเจ้าหญิงญาลีลา และเจ้าชายซายเอด ไปกับพระองค์ด้วย


เจ้าหญิงฮายา ซึ่งขณะนี้ทรงซ่อนตัวอยู่ในแมนชั่นที่มีผนังกันกระสุนกลางกรุงลอนดอน เล่า (ในศาล) ว่า ได้รับข้อความขู่จากฝ่ายของชี้คอัล-มัคตุม ประมาณ... “ภรรยาถูกฆ่าอย่างทารุณด้วยความโกรธ” และ “เธอกับลูกๆ ไม่มีทางที่จะปลอดภัยในอังกฤษ” -- นั่นคือส่วนหนึ่งของสงครามประสาทจากชี้คอัล-มัคตุม

ชี้คอัล-มัคตุม และเจ้าหญิงฮายา ทรงมีเรื่องระหองระแหงกันมาได้พักใหญ่แล้ว หลังจากที่พระชายาองค์สุดท้อง ทรงรู้ความจริงเรื่องที่พระสวามีทรงทำการ “ทรมาน” 2 พระธิดาของพระองค์เอง โดยพระองค์เคยตรัสว่า “ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นที่นี่ที่เราไม่รู้ หรือไม่ได้สั่ง” ซึ่งเจ้าหญิงแห่งจอร์แดนทรงบอกว่า เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหญิงทั้ง 2 พระองค์ ยังไม่น่าสยองเท่าตอนที่พระองค์พบว่ามีปืนอยู่ที่เตียงบรรทม ตอนนั้นจึงทรงรู้สึกว่า ชีวิตของพระองค์คงจะไม่ปลอดภัยแล้ว

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ปลายสายน้ำเสียงเนิบๆ แต่น่ากลัว “ซายเอด เป็น “เด็กทะเลทราย” เราจะชิงตัวเขามาจากเธอให้ได้ คอยดู”

เดือนต่อมา ชี้คบอกโอรสคนสุดท้องว่า “เราไม่ต้องการแม่ของลูกแล้วเนอะ” เจ้าชายซายเอดทรงตอบว่า “ต้องการฮะ” บันทึกของศาลยังเปิดเผยอีกว่า ชี้คทรงสรุปต่อ “ไม่หรอก เราไม่ต้องการเธอแล้ว”


วันที่ 11 มีนาคม 2019 เฮลิคอปเตอร์จอดที่สวนหน้าบ้านของเจ้าหญิงฮายา การ์ดคนหนึ่งบอกเจ้าชายพระองค์น้อยว่า “เด็จพ่อทรงโกรธเด็จแม่มาก ท่านจะส่งเด็จแม่เข้าคุก” เจ้าชายซายเอดทรงกอดพระเพลาของพระมารดาไว้แน่น จนกระทั่งวันที่ 15 เมษายน ปีเดียวกัน เจ้าหญิงฮายา จึงทรงพาพระโอรส-ธิดา หนีตายมายังอังกฤษ

ทุกวันนี้ ชีวิตของเจ้าหญิงฮายาและพระโอรส-ธิดา ต้องทรงแวดล้อมไปด้วยบอดี้การ์ด หากจะทรงก้าวพระบาทออกจากแมนชั่นที่พัก

ตอนนี้ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องการใช้อังกฤษเป็นที่ลี้ภัยของเจ้าหญิงฮายา จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ราชวงศ์ใหญ่ของโลก อย่างอังกฤษและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือไม่

หลังจากทรงหลบหนีมายังกรุงลอนดอนได้สำเร็จ เจ้าหญิงฮายาก็ทรงขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินี ณ ราชวังวินด์เซอร์ หนึ่งเดือนต่อมา ชี้คอัล-มัคตุมก็ทรงได้เข้าเฝ้าบ้าง ในงานแข่งม้าประจำปี รอยัล แอสคอต

เรื่องราวเบื้องหน้าเหมือนพายุสงบ ทว่า จริงๆ แล้ว ชี้คอัล-มัคตุม ได้ทรงว่าจ้างทนายที่ดีที่สุดในอังกฤษ ยื่นเรื่องฟ้องร้องขอโอรส-ธิดาคืน ประเด็นหลักก็คือ นำเรื่องที่เจ้าหญิงฮายาทรงนอกใจพระองค์ไปทรงมีสัมพันธ์กับ รัสเซลล์ ฟลาวเวอร์ส ขณะที่เจ้าหญิงฮายา ทรงโต้กลับด้วยการฟ้องร้องว่า ชี้คทรงทำทารุณกรรมพระองค์ และเรียกร้องขอ “ความคุ้มครอง” จากศาล

คดีฟ้องร้องของ ชี้คอัล-มัคตุม และเจ้าหญิงฮายา นับว่าเป็นคดีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ (5.2 ล้านปอนด์) ตั้งแต่ค่าตัวทนายที่ฝ่ายชี้คทรงว่าจ้าง เลดี้เฮเลน วาร์ด ผู้เคยว่าความคดีหย่าระหว่างกาย ริตชีและมาดอนน่า ขณะที่เจ้าหญิงแห่งจอร์แดน ทรงว่าจ้างบารอนเนสส์ แชคเกิลตัน แห่งเบลกราเวีย ที่เคยทรงทำคดีสมัยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงฟ้องหย่าเจ้าหญิงไดอะน่า




กำลังโหลดความคิดเห็น