xs
xsm
sm
md
lg

“ดร. อัครวัฒน์ ศรีณรงค์” จากนักดนตรีคลาสสิกระดับโลก สู่ธุรกิจที่นอนสุดไฮเอนด์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากเปรียบเทียบชีวิตคือการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด เส้นทางชีวิตของ “เป้ วีทรีโอ” (Vietrio) หรือ “ดร. อัครวัฒน์ ศรีณรงค์” นักดนตรีคลาสสิกฝีมือระดับโลกชาวไทย ก็ไม่ต่างกับบทเพลงชีวิต ที่ประกอบไปด้วยตัวโน๊ตมากมายที่สอดประสาน และสร้างสีสันใหม่ให้ทุกท่วงทำนองชวนฟังไม่เบา

หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อเสียงของชายหนุ่มลุคอบอุ่นในฐานะนักดนตรี เพราะนอกจากจะนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปิน เขายังเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนสอนดนตรีของครอบครัว และยังมุ่งมั่นช่วยสานต่อวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

“ผมมีความสุขกับการทำงานดนตรี และอยากให้ดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่เข้าถึงทุกคน เป็นไลฟ์สไตล์มากกว่าเป็นดนตรีที่เข้าถึงยาก ซึ่งผมก็พยายามทำงานร่วมกันหลายๆ ภาคส่วน เพื่อผลักดันตรงนี้”

นอกจากบทบาทด้านดนตรี อีกบทบาทที่เจ้าตัวสนุกไม่เบา และอาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เมื่อได้รู้ว่า เขาได้สวมบทบรรณาธิการนิตยสาร Robb Report Thailand ดูแลทั้งในส่วนสิ่งพิมพ์และออนไลน์ มา 3 ปีแล้ว สำหรับเป้นี่คืออีกงานที่เขารู้สึกมีแพสชั่น และเป็นประตูบานสำคัญที่ทำให้ได้ลองวางไวโอลินบ้างในบางเวลา เพื่อจับปากกาขีดๆ เขียนๆ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือ งานนี้จะนำพาให้เขาได้สวมบทนักธุรกิจเต็มตัวในวัยเฉียดหลัก 4

“ด้วยความที่ Robb Report เจาะกลุ่มไฮเอนด์ ทำให้ผมได้มีโอกาสดีลกับลักชัวรีแบรนด์อยู่เสมอ แต่อยู่ๆ กลับมีแบรนด์เครื่องนอน “ฮิลเกอร์” (HILKER) จากเยอรมนีติดต่อเข้ามา ตอนนั้นผมแปลกใจมาก เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าที่เข้ามาจะเป็นซูเปอร์คาร์ แบรนด์อสังหาฯ หรือไม่ก็นาฬิกา พอได้ศึกษาถึงได้รู้ว่าฮิลเกอร์เป็นแบรนด์เครื่องนอนที่เก่าแก่ถึง 130 ปี สืบทอดมาจนถึงรุ่นที่ 4 และค่อนข้างไฮเอนด์ มีจุดเด่นคือเป็นนวัตกรรมแบบเยอรมัน ที่คิดค้นมาเพื่อมอบประสบการณ์การนอนที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาเขาทำตลาดในประเทศและอีกหลายประเทศทั่วโลก จนประสบความสำเร็จแล้ว ยกตัวอย่างใกล้ๆ บ้านเราก็อย่างเช่น มาเลเซีย เวียดนาม และล่าสุดเขาอยากมาเปิดตลาดในไทยเลยติดต่อมาที่ Ropp Report ส่วนตัวผมมองว่า คอนเซ็ปต์การผลิตเตียงนอนที่ไม่ใช่แค่นอนแต่ดูแลสุขภาพไปด้วย เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก จึงตัดสินใจเดินทางไปดูถึงแหล่งผลิต”



ยิ่งศึกษาทำให้เป้ยิ่งค้นพบว่า การเลือกเตียงนอนเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และเฉพาะบุคคล “คนส่วนใหญ่เวลาซื้อเตียงนอน เราไม่ค่อยได้ทำความรู้จัก และเลือกเตียงที่เหมาะกับเราจริง ส่วนใหญ่อาศัยฟังคำแนะนำจากคนขาย หรือตัดสินใจเพียงชั่ววูบจากการลองกดๆ เตียง หรือนั่งบนเตียง ซึ่งไม่มีทางช่วยทำให้รู้ได้เลยว่า เตียงนั้นเหมาะกับคุณหรือเปล่า เพราะอย่างน้อยๆ ทุกครั้งที่ซื้อเตียงคุณต้องลองนอนจริงๆ หลับตาแล้วจินตนาการเพื่อสัมผัสถึงความรู้สึกตรงนั้น ถามว่าทำไม การเลือกเตียงจึงสำคัญกับชีวิตเรามาก คิดง่ายๆ ว่า เราใช้เวลาบนเตียงไม่ต่ำกว่า 8 เซ็นติเมตร ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 3 ของวัน และเวลาที่อยู่บนเตียงแทบจะเป็นช่วงเวลาเดียวที่เราไม่ได้สติ ซึ่งหมายความว่า ถ้าไปเจอเตียงที่ไม่ดี นอนไม่สบาย ไม่ถูกสรีระ ย่อมนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพมากมาย ซึ่งหลายครั้งเมื่อมีอาการปวดหลัง หรือคุณภาพการนอนย่ำแย่ คนส่วนใหญ่ก็เลือกแก้ปัญหาด้วยการไปหาหมอ แทนที่จะหันกลับมาใส่ใจตั้งแต่การเลือกเตียงนอน”

หลังจากศึกษาอย่างจริงจัง เป้ไม่เพียงตัดสินใจเป็นลูกค้าของแบรนด์ ลงทุนซื้อเตียงมาใช้เอง แต่พอเจอทางแบรนด์ถามต่อว่า จะทำตลาดในไทยอย่างไรดี ก็ตอบชัดเลยว่า “ไม่ต้องให้คำปรึกษาแล้ว มาเป็นหุ้นส่วนกันเลยดีกว่า (หัวเราะ) ผมและหุ้นส่วนอีก 3 คน ซึ่งรวมทั้งทางทายาทของแบรนด์ฮิลเกอร์ตัดสินใจเปิดบริษัท Luxury Living International นำเข้าแบรนด์ฮิลเกอร์มาทำตลาดในไทย พร้อมกับตั้งเป้านำเข้าอีก 6 แบรนด์ ซึ่งเจาะเซกเมนต์ต่างๆ กัน แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นนำเข้ามา 3 แบรนด์ก่อน”

งานนี้เพื่อให้เห็นภาพ เป้เล่าอย่างออกรสเพื่อเสริมถึงจุดเด่นของแบรนด์ฮิลเกอร์ว่า มีการออกแบบอย่างล้ำลึก โดยใช้สปริงขนาดเล็ก 10 มม. ถึง 8,000 ตัว วางในรูปแบบรังผึ้ง เพื่อให้รองรับสรีระผู้นอนได้ดี ต่อให้พลิกหรือขยับตัวก็ไม่รบกวนคนนอนข้างๆ ที่สำคัญแม้จะได้รับความชื้นก็ไม่เป็นสนิม เพราะทำจากไทเทเนียม


ถามว่าจากเส้นทางนักดนตรีสู่การเป็นนักธุรกิจ ที่ไม่น่ามาบรรจบกันได้ ทำให้ต้องปรับตัวขนาดไหน เป้ตอบอย่างน่าสนใจว่า “เหนือกว่าคำว่านักดนตรีหรือนักธุรกิจ คนเราไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ต้องมองแบบ Double Bottom Line คือคิดถึงประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายเสมอ อย่างผมทำโรงเรียนสอนดนตรี ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ผมไม่ได้มองแค่สอนแล้วได้เงิน แต่ผมกำลังสร้างนักดนตรีตัวน้อย ที่ต่อให้อนาคตเขาไม่เติบโตเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่ก็สามารถนำความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดในด้านต่างๆ หรืออย่างการที่มาทำธุรกิจนำเข้าแบรนด์เครื่องนอน ผมมองว่าเรากำลังส่งต่อความรู้ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับลูกค้า

แน่นอนว่า พอมาทำธุรกิจนี้ ทำให้ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ศึกษาอย่างจริงจัง ตั้งแต่เรื่องสรีระของมนุษย์และการนอน ลงลึกไปถึงขั้นว่า แต่ละคนมีพฤติกรรมการนอนแบบไหน แต่ละคืนเราต้องพลิกตัวกี่ครั้ง และแต่ละครั้งกระทบกับคนนอนข้างแค่ไหน ซึ่งผมมองว่า การเลือกเตียง ราคาถูกหรือแพง ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเสมอไป เตียงที่ดีที่สุดคือเตียงที่เหมาะกับสรีระผู้นอน ไม่มีสูตรตายตัวว่า ต้องนอนเตียงแข็งเตียงนุ่ม เตียงหนาหรือบาง แต่ต้องเป็นเตียงที่นอนแล้วถูกโฉลก

หลังจากปลายปีที่แล้ว ที่ลุกขึ้นมาทำธุรกิจเต็มตัว เป้พร้อมยิ้มรับกับโลกของการเรียนรู้ใบใหม่ “ข้อดีของการทำการตลาดยุคนี้ คือล้มเร็ว สำเร็จเร็ว ทุกอย่างคือการเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างสินค้าที่เรานำเข้ามาขาย แม้นวัตกรรมจะดี แต่เราก็ต้องปรับให้เข้ากับเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เพราะจากแบรนด์ที่ขายในเมืองหนาว ผ้าที่ใช้เน้นเพื่อสร้างความอบอุ่น แต่พอมาขายเมืองไทย อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นผ้าที่นอนแล้วเย็น ระบายอากาศได้ดี ซึ่งโชคดีที่ทางแบรนด์ค่อนข้างเข้าใจ เพราะเขาทำตลาดในเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้านเราอยู่แล้ว จะว่าไปก็เหมือนรถยนต์ รถยุโรปพอมาขายโซนเอเชีย หรือไทย ก็ต้องโลคัลไลซ์ให้เข้ากับท้องถิ่นนั้นๆ”


อย่างไรก็ตาม สำหรับการผันตัวเองมาทำธุรกิจเชิงสุขภาพ เป้ยอมรับว่า ทำเอาหลายคนงง แต่เขามองว่า ชีวิตคือการเดินทางไปเรื่อยๆ เมื่อโอกาสมาถ้าคิดว่าใช่สำหรับเราก็คว้าไว้ “ถามว่า ดนตรีกับการทำธุรกิจคล้ายกันอย่างไร ผมมองว่าเราคือนักขายเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ ผมว่าเราทุกคนมีความเป็นนักขายในตัว ไม่ใช่สิ่งของหรือบริการเท่านั้น แต่อาจเป็นไอเดีย เช่น ตอนเด็กๆ อยากให้คุณพ่อคุณแม่พาไปกินข้าวที่ไหน ก็ต้องขายไอเดียกับพ่อแม่ เช่นเดียวกับเวลาที่ผมเล่นดนตรี หรือสัมภาษณ์อยู่ตรงนี้ เพียงแต่การเป็นนักขายที่ดี คือไม่ได้มองแต่ว่าตัวเองขายอะไร แต่เราจะเติมเต็ม หรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมได้อย่างไร

หนึ่งในคำพูดของไอน์สไตน์ที่ผมจำขึ้นใจมาตลอดคือ ตอนที่เขาตอบคำถามว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร เขาตอบชัดว่าเราเกิดมาเพื่อบริการคนอื่น ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ และกลายเป็นสิ่งที่ผมบอกตัวเองมาตลอด ไม่ว่าเราทำอะไรก็ตามคือ ไม่ใช่เอาแต่รับ แต่ต้องบริการคนอื่นไปด้วย”

แนวคิดนี้ เป้ไม่ได้ใช้แค่ในการทำงาน แต่รวมถึงการใช้ชีวิต “ผมเป็นพวก Work hard Play hard แต่พอใกล้ๆ 40 ร่างกายก็เริ่มส่งสัญญาณว่าถ้าใช้เขาหนัก แบบไม่ดูแล เขาก็จะค่อยๆ เอาคืนผมเหมือนกัน ดังนั้น ผมจึงลุกขึ้นมาดูแลตัวเองอย่ามีวินัยมากขึ้น เข้ายิมสัปดาห์ละ 3 วัน นอกจากรูปร่าง สุขภาพจะดีขึ้น จิตใจก็เช่นกัน


ในวัย 40 ผมมองว่า เป็นวัยที่เราผ่านการเรียนรู้อะไรมาหลายอย่าง ทั้งดีและไม่ดี ได้เห็นโลกในมุมที่มั่งคั่งและขาดแคลน ด้านบวกและด้านลบ เป็นวัยที่ผมค้นพบความหมายของคำว่า Empathy หรือเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ได้ทบทวนตัวเองว่าควรเพิ่มหรือลดอะไร เพราะความสุขในชีวิตคนเรามีทั้งสิ่งที่เงินซื้อได้และซื้อไม่ได้ ต้องบาลานซ์ ทุกวันนี้ผมมองว่าตัวเองเป็นฟองน้ำ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน ผมพร้อมเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา

สำหรับเป้าหมายในชีวิตจากนี้ ผมหวังว่าธุรกิจที่ผมตั้งใจปลุกปั้น ไม่ใช่แค่เพื่อกำไร แต่เพื่อประโยชน์กับคนไทย จะได้รับโอกาสจากคนไทย เหมือนที่ผมเคยได้รับโอกาสจากคนไทยในฐานะศิลปิน ผมเชื่อว่าธุรกิจยุคนี้ ถ้ามองแต่กำไร ไม่ยั่งยืน ดังนั้น ไม่ว่าอยู่ในธุรกิจไหน แทนที่จะมองว่าจะทำเงินอย่างไร ต้องเริ่มจากการมองว่า จะช่วยแก้ปัญหาให้สังคมอย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น