xs
xsm
sm
md
lg

“เดิมพัน อยู่วิทยา” อดีตเชียร์ลีดเดอร์ฟุตบอลประเพณี CU-TU ย้อนความทรงจำวัยหวาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้จะก้าวสู่หลัก 4 แล้ว แต่กาลเวลาก็ไม่อาจพรากความหล่อเหลาตามแบบฉบับพิมพ์นิยมชายไทยของ “ต้น-เดิมพัน อยู่วิทยา” นักธุรกิจไฟแรงไปได้เลย ฉะนั้น แทบไม่ต้องแปลกใจเมื่อเจ้าตัวฉายภาพสมัยมหา’ลัยว่า นอกจากจะเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ชนิดที่ว่าชีวิตในรั้วจามจุรี 4 ปีไม่เคยเหงา แถมครั้งหนึ่งเขายังมีดีกรีเป็นถึงลีดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์มาแล้ว



ก่อนจะพานั่งไทม์แมชชีนไปย้อนวัยหวานที่มีแต่ความสนุก หนุ่มต้นขอเรียกน้ำย่อยด้วยการอัปเดตสเตตัสหน้าที่การงานกันก่อน “หลักๆ นอกจากร่วมกับพาร์ตเนอร์บริหาร 3 รีสอร์ตบนเกาะเสม็ด ประกอบด้วย ลิม่า โคโค (Lima Coco), ลิม่า เบลล่า (Lima Bella) และ ลิม่า ดูว่า (Lima Duva) ผมยังมีธุรกิจใหม่ในเครือที่เริ่มมาเกือบ2ปี คือเรือนำเที่ยวในนาม ลิม่า ทัวร์ (Lima Tour) ที่ทำกับหุ้นส่วน โดยตอนนี้เรามีเรือเร็ว (Speed boat) ทั้งหมดอยู่ 9 ลำ พาทัวร์แถวเกาะเสม็ด”


อย่างไรก็ตาม ถึงธุรกิจจะอยู่เสม็ด แต่ด้วยมีหุ้นส่วนที่ดีและทีมงานคุณภาพ ทำให้ผู้บริหารหนุ่มไม่จำเป็นต้องย้ายไปประจำการที่เสม็ด แค่เดินทางไปดูความเรียบร้อยเดือนละ 1-2 ครั้งก็พอ “ไปทุกครั้งก็ได้ไปตรวจงาน ไปถามไถ่ทุกข์สุขของพนักงาน แก้ปัญหาหน้างาน ส่วนหลังบ้านที่เป็นทีมการตลาด ทีมขาย ทีมบัญชีและการเงิน จัดซื้อ อยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด จะว่าไปถ้าให้เปรียบเทียบ ผมว่ารีสอร์ตที่เสม็ดเปรียบเหมือนหัวใจของธุรกิจ เราต้องทำทุกอย่างให้หัวใจสูบฉีด ทำงานได้ดี ส่วนหลังบ้านที่กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนคลังสมอง ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ฉะนั้น หน้าที่ของผมคือบริหารให้ทั้งสองส่วนทำงานผสานกันด้วยดี”


นอกจากการบริหารธุรกิจ ต้นยังเป็นนักลงทุนตัวยง ไม่เพียงลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่หุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงรถคลาสสิก นาฬิกา ป้ายทะเบียนรถเลขสวย เป็นต้น ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ต้นสนใจการลงทุน เพราะมองว่า เมื่อทำธุรกิจแล้วสามารถสร้างรายได้ต้องรู้จักบริหารจัดการทรัพย์สินที่หามาได้ให้งอกเงย นอกจากจะอาศัยความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา ยังอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ ต่อยอดความรู้เพิ่มเติม และพิจารณาว่าการลงทุนรูปแบบไหนตอบโจทย์กับตัวเอง

หลังจากเปิดฉากอัปเดตถึงงานหลักพอหอมปากหอมคอ ก็ถึงเวลาที่รอคอย นั่นคือการพาย้อนวันวานไปสมัยวัยหวาน ให้ได้อมยิ้มตามไปกับเรื่องราวที่ไม่ค่อยได้เล่าให้ใครฟัง


“สมัยเด็กผมไม่ใช่เด็กเกเรนะ ไม่เคยโดดเรียน แต่แค่ไม่ตั้งใจเรียน” ต้นย้ำหนักแน่นก่อนเผยถึงจุดพลิกผันของชีวิต จากคำพูดของคุณแม่ที่ทำให้เขามุมานะจนฝ่าด่านหิน เป็นนิสิตจุฬาฯ ได้สมใจ “ที่ผ่านมา ท่านก็ทำใจนะ เพราะผมไม่ใช่เด็กเรียนดี แต่มีอยู่วันหนึ่ง ท่านพูดเตือนสติประมาณว่า “อนาคตจะเป็นอะไร อยู่ในกำมือของเราเอง” จะโตไปเป็นคนงาน คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือเป็นเจ้าของบริษัท มันอยู่ที่การกระทำของเรา” จากคำพูดนั้นทำให้ต้นลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง ใช้เวลา 1 ปีเต็มช่วง ม.6 อุทิศให้กับการอ่านหนังสือสอบแบบจริงจัง ยิงยาวตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนทุกวัน

“ตอนนั้นผมโชคดีได้เพื่อนที่สอบเทียบติดไปก่อนมาช่วยติวให้ เขาแนะนำถึงขั้นให้ผมจำลองบรรยากาศห้องสอบจริงเวลาฝึกทำข้อสอบย้อนหลัง จริงจังถึงขั้นใส่ชุดนักเรียนจริง นั่งสอบในอุณหภูมิห้องและแสงสว่างเสมือนห้องสอบจริง เพื่ออะไร? เพื่อลดความตื่นเต้น และปัจจัยต่างๆ ที่จะมากระทบกับการทำข้อสอบ ซึ่งผมว่ามันได้ผลนะ และสุดท้ายผมก็สอบติดเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ อย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ”


ไหนๆ ก็กัดฟันทุ่มเทเตรียมสอบมา 1 ปีเต็ม พอเข้าจุฬาฯ ได้สมใจ ชีวิตเฟรชชีของต้นเลยขอบันเทิงให้สุดตั้งแต่ปี 1 ก็ปวารณาตัวให้กับกิจกรรมน้อยใหญ่ ทั้งของคณะและมหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่ห้องเชียร์ จนถึงการเป็นลีดคณะ และลีดงานฟุตบอลประเพณี

“ช่วงที่เข้าห้องเชียร์ ก็จะมีรุ่นพี่มาคัดหาลีดคณะผมก็ได้รับเลือกด้วย ตอนแรกก็งงๆ บอกรุ่นพี่ว่าทำไม่ได้หรอก เขาก็บอกสั้นๆ ‘ต้องได้’ ให้ไปซ้อม ผมก็ไป ซ้อมไปซ้อมมา รุ่นพี่ที่สอนก็ส่งผมไปคัดตัวลีดงานบอล ผมก็งงๆ กลัวจะไม่ไหว เขาก็บอกสั้นๆ เช่นเคยว่า ‘ซ้อมไปก่อน’ ซึ่งต้องบอกเลยว่า แค่ซ้อมก็โหดมาก เพราะต้องซ้อมตั้งแต่ 4โมง- 6โมงเย็นอยู่เป็นเดือน ผมก็ทำไปตามหน้าที่ แต่ก็เป็นนิสัยของผมอยู่แล้วที่ทำอะไรทำจริง เราก็เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้หวังอะไร ถือว่าไม่ทำให้พี่คนที่แนะนำมาต้องเสียหน้าก็พอ

จนถึงวันคัดตัวจากประมาณ 60 คนให้เหลือ 11 คน ชาย 5 หญิง 6 ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้ตื่นเต้นหรือกดดัน เพราะไม่ได้คิดว่าจะได้ เราไม่ได้คาดหวัง จนพอประกาศรายชื่อ ถ้าจำไม่ผิด ผมถูกประกาศชื่อเป็นคนสุดท้ายเลย ตอนนั้นก็งงๆ นิดหน่อย แต่ก็ได้แค่คิดว่างานหนักแน่คราวนี้ (หัวเราะ) ซึ่งก็หนักจริง เพราะหลังจากนั้นคือ เราทั้ง 11 คนต้องซ้อมหนักขึ้นกว่าเดิมอีก ตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่มทุกวัน เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน”


ในฐานะคนนอก แค่ฟังจากตารางการซ้อม ไม่ต้องถามต่อก็พอนึกภาพตามออกว่าโหดขนาดไหน แต่เพื่อให้เห็นภาพชัด ต้นเลยถือโอกาสเสริมว่า “โหดมากครับ เรียกว่าซ้อมหนักกว่านักบอลอีก เพราะนักบอลซ้อมเสร็จเลิกแล้ว ลีดยังซ้อมอยู่ (หัวเราะ) เพราะใกล้ๆ วันงาน บางวันก็สี่ทุ่ม หรือเที่ยงคืน เอาจริงๆ ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจนะครับว่า ทำไมต้องซ้อมหนักขนาดนี้ มาถึงปุ๊บวิ่งรอบสนามฟุตบอลก่อนเลย ผู้ชาย 6 รอบ ผู้หญิง 5 รอบ เพิ่งมาเข้าใจทีหลังว่า ที่ต้องซ้อมให้หนักขนาดนี้ ไม่เช่นนั้นพอถึงวันจริง ไหนอากาศจะร้อน ไหนจะต้องทั้งเต้น ทั้งกระโดด ทั้งร้องเพลง ลีดไม่ไหวแน่นอน” ยิ่งครั้งนี้เป็นงานบอล ครั้งที่ 50 จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ พี่เก่าก็กลับมากันเยอะมาก เหมือนงาน Reunion ต้องจัดหนักกันหน่อย

อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางนี้จะเต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความสุขและความทรงจำที่ไม่จาง แม้จะผ่านมานับสิบปี “สิ่งที่ผมประทับใจและจดจำมาจนวันนี้คือ คำสอนของรุ่นพี่ที่บอกกับลีดงานบอลว่า “งานฟุตบอลประเพณีถ้าไม่มีนักฟุตบอล ไม่มีประธาน เริ่มงานไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีลีดเริ่มได้ เราเป็นแค่องค์ประกอบที่ทำให้งานดูดีขึ้น อย่าสำคัญตัวเองผิด” คำพูดนี้มันฝึกให้เราเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ ซึ่ง10 กว่าปีหลังจากนั้น ที่ผมยังกลับมาสอนน้องๆ ที่เป็นลีด ผมก็ยังย้ำประโยคนี้อยู่เสมอ


ส่วนที่หลายคนอาจมองว่า การเป็นลีดงานบอล คือเวทีของนักศึกษาสวย-หล่อ ในการแจ้งเกิดในวงการบันเทิง ต้นไม่ปฏิเสธ เพราะมีรุ่นพี่รุ่นน้องหลายคนที่ได้เฉิดฉายในวงการบันเทิง แต่ลึกลงไปกว่านั้น ต้นมองว่าสิ่งที่มีค่ามากกว่าคือ ประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้

“ตอนเป็นลีดเราไม่ใช่แค่ซ้อมแล้วไปเต้นในงาน แต่เราต้องดีลกับสปอนเซอร์ หน่วยงานต่างๆ ของจุฬาฯ ทำงานกับรุ่นพี่ เพื่อนต่างคณะเยอะมาก หลายครั้งยังต้องไปดีลกับคนนอก อย่าง ช่างแต่งหน้า ช่างผม ดีไซเนอร์ ระดับแถวหน้าของประเทศ ซึ่งผมมองว่าเป็นการฝึกทักษะการประสานงาน การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นไม่ว่ายุคไหน ผมว่ามันเป็นการเตรียมพร้อมอย่างดี ก่อนออกไปเผชิญโลกการทำงานจริง ที่สำคัญช่วยสร้างฐานคอนเนกชันโดยที่ไม่รู้ตัว (เชื่อมั้ยว่าหลายๆ ท่านผมก็ยังติดต่อมาจนทุกวันนี้ หรือบางท่านก็ได้มีโอกาสโคจรมาเจอกันตอนทำงาน) และยังเป็นการฝึกให้เราเป็นคนอดทนและมีวินัยอีกด้วย

หลังจากที่เป็นลีดตอนปี 1 แล้ว เรายังได้ทำหน้าที่พี่เลี้ยง คอยสอนลีดรุ่นต่อๆ ไปอีก เรียกได้ว่าผูกพันกับกลุ่มกิจกรรมนี้อยู่นับเป็น 10 ปีเลยครับ ขนาดเรียนจบแล้ว ช่วงแรกๆ ผมยังมีกลับไปช่วยดู ช่วยสอนน้อง เพราะเราเคยผ่านประสบการณ์ตรงนี้มา เรารู้ว่าในวันจริง เวลาลงไปอยู่ในสนามท่ามกลางคนเป็นพันเป็นหมื่น ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร คอยให้คำแนะนำให้เขาเตรียมพร้อมได้อย่างดีที่สุด”


นอกจากจะเป็นลีดคณะและมหาวิทยาลัยแล้ว เขายังเคยได้รับเลือกเป็นผู้เชิญกระทง และอัญเชิญป้ายนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวาระต่างๆ รวมถึงการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในการเดินทางไปญี่ปุ่น ในช่วงปิดเทอมใหญ่ปี 2 ฝึกงานกับโครงการบริษัทเอกชนชั้นนำช่วงปิดเทอมปี 3 และร่วมออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ได้มีโอกาสช่วยซ่อมโรงเรียน สอนหนังสือ ทำอาหาร สร้างถนน เรียนรู้วิถีดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่แตกต่างจากทุกๆ กิจกรรม


“ทุกโอกาสที่ได้มา ต้องบอกเลยว่าไม่คาดคิด อย่าง การไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น โอกาสที่จะได้รับเลือกยากมาก แต่ละปีคัดแค่ 15-20 คน โดยจะดูจากความประพฤติ ความเสียสละ ที่สำคัญ รุ่นพี่ต้องแนะนำ ผมเองถึงจะเป็นโฮสต์ของนักศึกษาญี่ปุ่นเวลาแลกเปลี่ยนมาเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้โอกาสนี้ ถ้าอาจารย์และรุ่นพี่ไม่สนับสนุน ซึ่งสำหรับผมถือเป็นไฮไลต์ของชีวิตวัยเรียน ที่จำไม่ลืมจนวันนี้ เพราะได้มีโอกาสไปออนทัวร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วญี่ปุ่น ไปเยี่ยมชมบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น และเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบถึงราก” ทั้ง โตเกียว เกียวโต นาโกย่า โอซาก้า และนารา ต้นเล่าอย่างออกรส ก่อนทิ้งท้ายด้วยเรื่องราวที่หยิบมาเล่าเมื่อไหร่ก็ยังต้องอมยิ้ม



“อย่างที่บอก ผมทำกิจกรรมมาตลอดจนปี 4 ช่วงที่เรียนจบผมยังไปซัมเมอร์ที่ไต้หวันก่อน โชคดีกลับมาก็มาได้งานที่ The Siam Cement Trading (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น SCG International) พอดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพื่อนๆ ในรุ่นมาสมัคร แต่เขาไม่เปิดรับ มาเปิดตอนผมกลับมาพอดี ตอนมาสัมภาษณ์ด้วยความที่เป็นธุรกิจเทรดดิ้ง เขาคงอยากได้คนที่พูดได้หลายภาษา จีนพอได้ อังกฤษพอได้ ผมเองจริงๆ พูดไม่ได้เลย แต่พอไปซัมเมอร์ที่ไต้หวันเลยได้ฝึกพอสื่อสารได้ เขาก็เลยตกลงรับ แต่มาแอบรู้ทีหลังว่า นอกจากเรื่องภาษา ในใบสมัครผม ผู้บริหารที่สัมภาษณ์ยังวงรอบตรงที่ผมเขียนว่า เคยเป็นลีดงานบอล ซึ่งเขาก็บอกให้ฟังว่า บริษัทเราไม่มีลีดมานานแล้ว ได้ยินแบบนั้นก็ทั้งดีใจทั้งแอบขำ และต้องถือว่าการทำกิจกรรมสมัยเรียนที่เราตั้งใจทำ ส่งผลให้ประโยชน์มาถึงอนาคตด้วยจริงๆ”

…. ทั้งหมดนี้ คือเศษเสี้ยวความทรงจำที่นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็มีความสุขเสมอ สำหรับผู้ชายคนนี้ที่ชื่อ “เดิมพัน อยู่วิทยา”


กำลังโหลดความคิดเห็น