xs
xsm
sm
md
lg

“กรองกาญจน์ ชมะนันทน์” อดีตดาวมหา'ลัย สมัยเป็นเฟรชชี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้จะล่วงเลยมานับสิบปี แต่ภาพความทรงจำของ “ก๊องส์-กรองกาญจน์ ชมะนันทน์” ภรรยาคนสวยของ พลตรี พงศ์พิพัฒน์ ชมะนันทน์ ที่ตอนนี้คงสถานะแม่บ้านฟูลไทม์ ควบคู่ไปกับการช่วยงานสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย บ้างตามโอกาส ค่อยๆ ผุดขึ้นมาในความคิดอีกครั้ง ยามเมื่อชวนเธอมาย้อนวัยวานไปสมัยวัยใส ที่เต็มไปด้วยความทรงจำที่สวยงาม ตามประสาเด็กเรียนดี แถมกิจกรรมยังเด่นเวอร์ เพราะเป็นสาวสวยใจดี ใครขอมาก็พร้อมตอบรับทุกกิจกรรม

“เริ่มทำกิจกรรมจริงๆ ตั้งแต่สมัยเรียนราชินี เวลาที่โรงเรียนมีงานให้นักเรียนมาเดินแบบ จากชุดที่นักเรียนออกแบบตัดกันเอง เราก็มาเดินแบบให้ พอเข้าเตรียมอุดมศึกษาก็เป็นทั้งเชียร์ลีดเดอร์ แล้วก็ดรัมเมเยอร์ จำได้ว่าปีที่เป็นดรัมเมเยอร์ อยู่ ม.5 ส่วน หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส อยู่ ม.4 ตอนนั้นหมิวกำลังดังมากจากละครเรื่อง ปริศนา จำได้เลยปีนั้นทีมดรัมเมเยอร์ของเตรียมอุดมฯ ที่มีหมิวเป็นเป็นดรัมเมเยอร์ไม้หนึ่ง ก็ยังได้รับเลือกให้ไปเดินพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ด้วย” ก๊องส์เปิดฉากย้อนวันวานอย่างออกรส



จวบจนเข้าสู่การเป็นเฟรชชีของรั้วจามจุรี ในฐานะนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ความสวยน่ารักแถมขี้เล่นของก๊องส์ ก็พาให้เจ้าตัวได้รับโอกาสมากมายจากรุ่นพี่ ในการทำกิจกรรมต่างๆ ประเดิมด้วยการเป็นลีดคณะ

“จริงๆ มันก็ผ่านมานาน จนตอนแรกพี่จำไม่ได้ด้วยว่า เป็นลีดคณะหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่พอนึกไปนึกมา จำได้แล้วว่าสมัยเป็นลีดคณะมีวีรกรรมคือ เราก็เต้นเชียร์ปกติ หันหน้าเข้าสแตน ปรากฏว่าลูกบอลลอยมาจากสนามโดนหัวเข้าเต็มเปา กองเชียร์ก็ฮากันสนั่น แต่เราก็ยังยิ้ม เต้นทั้งมึนๆ” ก๊องส์เล่าไปขำไป ก่อนเสริมว่า พอเป็นลีดคณะแล้วหลายคนอาจเดาว่า เธอคงต่อยอดสู่การเป็นลีดงานบอล แต่สำหรับก๊องส์ เธอย้ำหนักแน่นเลยว่า ขอบาย ต่อให้รุ่นพี่ยุเพื่อนชวนก็ต้องทำใจแข็งปฏิเสธ

“จริงๆ ก็มีรุ่นพี่มาชวนให้ไปซ้อมเพื่อคัดตัวลีดงานบอล เพื่อนๆ เราก็ไป แต่เราเลือกที่จะไม่ไปดีกว่า เพราะได้ยินมาว่าลีดงานบอลต้องซ้อมหนักมาก สุดท้ายรุ่นพี่เห็นว่าเราไม่เอาแน่ เลยชวนมาเป็นดรัมเมเยอร์แทน เราก็โอเค ซ้อมเบากว่าเยอะ แถมวันจริงก็ยังไม่ต้องคุมสแตนตลอดวัน มาแค่ช่วงเดินเปิด-ปิด แต่ถึงอย่างนั้น แม้หน้าที่ของดรัมเมเยอร์อาจจะสเกลเล็กกว่าลีด เพราะคุมแค่ขบวนพาเหรด แต่ก็ต้องเน้นความพร้อมเพรียง ท่วงท่าที่สง่างาม เพราะระยะการเดินก็ไม่ใช่ใกล้ๆ ต้องตั้งขบวนจากหน้าพระรูป เดินไปมาบุญครอง เลี้ยวเข้าสนามจุ๊บ โชคดีที่เรามีประสบการณ์มาก่อน มีพื้นฐาน เพราะจังหวะการเดิน ยืน การควงไม้ก็ใกล้เคียงกับที่เคยฝึก เพิ่มเติมคือระยะทางอย่างที่บอก ไม่ใช่เดินรอบสนามโรงเรียน ช่วงซ้อมก็เล่นเอาน่องปูดเหมือนกัน แต่นานๆ ไปก็อยู่ต่อ เหมือนออกกำลังกาย”


ก๊องส์บอกเล่าอย่างอารมณ์ดี ราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อวาน ดังนั้น ต่อให้วันนี้เธอจินตนาการว่าสามารถย้อนเวลากลับไปอีกครั้ง เธอก็ยังยืนยันเลือกที่จะเป็นดรัมเมเยอร์อยู่ดี

“เราเห็นเพื่อนที่เป็นลีด ช่วงซ้อมก็ผอม ตัวดำ บางทีเลิกตี 3 ตี 4 (หัวเราะ) แต่ดรัมเมเยอร์ ซ้อมเบากว่ามาก จะมาหนักช่วงใกล้ๆ งาน แต่ก็ไม่ได้เลิกดึกมาก เพราะกลางคืนจะไปเดินก็อันตราย”

นอกจากจะเฉิดฉายในฐานะดรัมเมเยอร์ในงานบอลแล้ว ช่วงปี 1 ยังเป็นช่วงที่กิจกรรมไหลมาเทมาจนรับแทบไม่ไหว “ช่วงปี 1 รุ่นพี่ชวนทำกิจกรรมเยอะมาก อาจจะเพราะพอขึ้นปี 2 เริ่มตามตัวกันยาก (หัวเราะ) เราก็เป็นพวกรับทุกอย่าง ใครชวนอะไรไม่เคยปฏิเสธ ตั้งแต่ไปเขี่ยฟุตบอลในการแข่งขันฟุตบอล “จามจุรีโรย-โดมชรา” ของพวกศิษย์เก่าก็ไป รุ่นพี่มาชวนไปเป็นลีดให้กับโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็ไป พอช่วงลอยกระทงก็สวมชุดไทยสไบสีม่วงไปงาน แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนั้นไปเป็นนางนพมาศนั่งบนเสลี่ยงหรือแค่ถือป้าย เพราะผ่านมานานมากจริงๆ รู้แต่ไปร่วมกิจกรรมแน่นอน”


ก๊องส์ค่อยๆ ลำดับความทรงจำที่เลือนรางไปบ้างตามกาลเวลา แต่มีหนึ่งในเหตุการณ์ที่ชัดเจนในความทรงจำ ต่อให้นานแค่ไหนก็ไม่เลือนคือ ตอนที่ได้รับเลือกให้ไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ

“จำได้ว่าก็นั่งเล่นอยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วรุ่นพี่ที่อยู่ในสโมสรนิสิต ก็มาเลือกให้ไปเป็นตัวแทนฝ่ายหญิง ซึ่งเขาคัดชาย 1 คน หญิง 1 คน โดยนิสิตหญิงจะได้เป็นผู้ถวายพวงมาลัยครอบพระกรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตอนนั้นเรารู้สึกว่าตัวเองมีบุญมากที่ได้รับโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้วในชีวิตนี้ โดยที่ไม่ต้องไปประกวดกับเขา อาจเพราะรุ่นพี่ที่อยู่ในสโมสรนิสิต เห็นเราบ่อย เป็นเด็กกิจกรรมเลยเลือกไป ความรู้สึกตอนนั้นบรรยายไม่ถูก เพราะเป็นการเข้าเฝ้าครั้งแรก ในใจคิดแต่ว่าชีวิตนี้โชคดีเหลือเกิน ตื้นตัน และเข้าใจความรู้สึกเลยว่า ทำไมคนที่โชคดีมีโอกาสรับเสด็จเหมือนเราถึงตื้นตัน น้ำตาคลอ” ก๊องส์เล่าด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้ม ก่อนเผยว่าหลังจากผ่านช่วงไฮไลต์ของการเป็นเฟรชชีช่วงปี 2-4 กิจกรรมก็เริ่มเบาลง หันมาอุทิศเวลาให้กับการเรียน และใช้เวลากับเพื่อนๆ แต่ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ ถ้ามีใครต้องการให้ช่วยกิจกรรมไหน ก็พร้อมช่วยแบบไม่อิดออด จะไประดมทุน เรี่ยไรก็ไปหมด”


ฟังเพลินมาถึงตรงนี้อดสงสัยไม่ได้ว่า คุณสมบัติสวยใจดีแบบนี้ พอจะเรียกว่าเป็นดาวคณะหรือดาวมหาลัยในสมัยนั้นได้หรือไม่ งานนี้ ก๊องส์ถ่อมตัวว่า ดาวคณะหรือดาวมหาลัยต้องสวย เรียบร้อย แต่เธอมองว่าตัวเองแค่หน้าตาพอใช้ เพราะสมัยก่อนเทรนด์เกาหลียังไม่มา แถมออกแนวตลก ซ่านิดๆ ฉะนั้น อาจไม่ตรงกับพิมพ์นิยมของดาวมหาลัยเท่าไหร่

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมทำกิจกรรมเยอะ คือเราตั้งใจ ที่บ้านก็สนับสนุน เขาย้ำเสมอว่าเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว อย่าก้มหน้าก้มตาเรียนอย่างเดียว ต้องไปร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อให้ได้สังคม ได้เน็ตเวิร์ก ซึ่งก็จริงนะ ทุกวันนี้ เรามีเพื่อนและคนรู้จักเยอะมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราเป็นคนหน้าตารับแขก ยิ้มแย้ม เขาไม่คุยก่อน เราก็ทักก่อน แต่ที่สำคัญคือ เราทำกิจกรรมทำให้เรามีเพื่อนหลากหลายมาก ทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อนจากต่างคณะ ซึ่งพอได้มีโอกาสมานั่งนึกถึงวันเก่าๆ ก็รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เคยเป็นทั้งลีดและดรัมเมเยอร์ บางทีไปไหนเพื่อนก็ยังมีภาพจำว่าเราทำกิจกรรมมา ไม่งงว่า ก๊องส์ไหน (หัวเราะ)”

จากนั้นคุณแม่ยังสวยก็ได้ทิ้งท้ายถึงลูกๆ ทั้งสามว่า มาสายกิจกรรมเหมือนกัน แต่อาจจะคนละแนวกับคุณแม่ “ด้วยความที่เขาเรียนนานาชาติ กิจกรรมก็จะอีกแบบ ส่วนใหญ่เขาเน้นกิจกรรมที่ฝึกการเป็นผู้นำ มีทำกิจกรรมการกุศลบ้าง อย่าง ไปบ้านเด็กกำพร้า บางทีก็ไปปฏิบัติธรรม จนพอลูกสาวฝาแฝดไปเรียนต่อที่อังกฤษ เขาก็ยังรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ทำกิจกรรมหลายอย่าง จนบางทีคุณแม่ต้องปรามๆ ไม่ให้ทำเยอะเกินไป แต่ก็อย่างที่บอก อย่างน้อยการทำกิจกรรมก็ได้ฝึกให้เขาเรียนรู้ถึงความอดทน การทำงานร่วมกับคนอื่นไปในตัว” ก๊องส์ทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น