วันนี้ Celeb Online มีสกู๊ปพิเศษมาฝาก ชวนเหล่าเซเลบมานั่งพูดคุยย้อนวัยกันไปสมัยยังละอ่อน ที่แต่ละคนก็ล้วนสวย-หล่อ โปรไฟล์เลิศ เรียกได้ว่ามีออร่าจับตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียน จึงทำให้เขาและเธอเหล่านั้นโดดเด่นเป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อนฝูง บางคนเป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นเชียร์ลีดเดอร์ เป็นดรัมเมเยอร์ เป็นกรรมการนักเรียน ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นเดือน ดาว ของรุ่น ผู้ช่วยสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับสถาบัน จะมีใครเป็นดาวเด่นของสถาบันไหนบ้างลองไปดูกัน...
เริ่มต้นด้วย MC ตัวแม่ของวงการอีเวนต์ “หนิง-ศรัยฉัตร (กุญชร ณ อยุธยา) จีระแพทย์” ที่ความสวยผสมกับความสามารถรอบทิศไปเข้าตารุ่นพี่ จึงทำให้เธอมีดีกรีเป็นถึงอดีตเชียร์ลีดเดอร์ สิงห์ดำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เจ้าตัวได้ย้อนอดีตเมื่อครั้งที่รับหน้าที่เป็นทั้งเชียร์ลีดเดอร์คณะ คนถือพานวันครู รวมถึงถือป้ายต่างๆ ของคณะเมื่อถึงเทศกาลสำคัญว่า สมัยนั้นเธอศึกษาอยู่ปี 1 แล้วรุ่นพี่คงเห็นถึงความสามารถ ที่เป็นคนกล้าแสดงออก รวมถึงมีผลการเรียนอยู่ในระดับดี ดังนั้น เธอจึงได้รับความไว้วางใจทั้งจากรุ่นพี่และจากคณะ ให้ทำภารกิจสำคัญอยู่หลายครั้ง
“ตอนเข้าปี 1 หนิงค่อนข้างเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดี ประกอบกับเป็นคนบุคลิกค่อนข้างดี เป็นผู้หญิงผมยาวหน้าไทย รุ่นพี่ที่คณะเลยชักชวนให้มาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเราก็จะทำหน้าที่คอยเชียร์เมื่อครั้งที่คณะมีการแข่งขันกีฬาภายในมหาวิทยาลัย หรือบางครั้งก็เป็นเชียร์ลีดเดอร์ที่มีการแข่งกีฬาระหว่างรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนคณะถือป้ายวันลอยกระทง และถือพานวันครูอีกด้วย”
หนิงบอกว่า กิจกรรมที่ทำมาทั้งหมดเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่จุฬาฯ การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะเป็นกิจกรรมที่เธอประทับใจที่สุด
“ความจริงก็ประทับใจกับทุกกิจกรรมที่ทำ แต่ถ้าให้ชอบที่สุดคือ การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ เพราะเราไม่ต้องเข้าห้องพี่ว้าก เพราะการเข้าห้องพี่ว้ากเราจะกลัวมาก ตกเย็นมาก็ซ้อมเชียร์อย่างเดียว แถมยังได้เจอกับเพื่อนๆ ที่คณะทุกวัน มันเป็นช่วงเวลาที่เราประทับใจที่สุดค่ะ” MC มือหนึ่งเผยความในใจ
ทางด้าน MC แนวหน้าฝ่ายชาย อย่าง “อั๋น-ดร. ภูวนาท คุนผลิน” ที่เมื่อครั้งเรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อั๋น เคยได้รับหน้าที่สำคัญให้เป็นประธานเชียร์ลีดเดอร์ฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มาแล้ว ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยที่สุดแต่ก็มีความสุขและสนุกมากเช่นกัน
ดร.อั๋น เริ่มเล่าถึงการมารับหน้าที่เป็นผู้นำเชียร์ลีดเดอร์ว่า เริ่มจากมีรุ่นพี่ที่คณะทาบทาม และประกอบกับตัวเองเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรมงานเชียร์ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ศึกษาชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ จึงตัดสินใจสมัครเข้าเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยในทันที
“เป็นคนชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว และพอเราเรียนอยู่ชั้นปี 2 มีรุ่นพี่มาทาบทามให้มาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ซึ่งตอนนั้นคนที่จะมาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยได้ ต้องผ่านการสมัครและคัดเลือกตัวแบบหนักหน่วง และสุดท้ายผมก็ผ่านการคัดเลือก และได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำเชียร์ลีดเดอร์ฟุตบอลประเพณี ในปี 2537 ด้วย”
ดร.อั๋น เล่าถึงการทำหน้าที่ผู้นำเชียร์ลีดเดอร์ฟุตบอลประเพณี ให้ฟังด้วยน้ำเสียงและภาพจำที่ยังชัดเจนว่า หน้าที่ของเขาต้องทำแทบทุกอย่าง ตั้งแต่การประสานงานกับสโมสรนิสิตภายในมหาวิทยาลัย คิดธีมเชียร์ในปีนั้นว่าต้องมีคอนเซ็ปต์อะไรบ้าง รวมทั้งต้องทำวารสารภายใน จึงต้องคิดวางเลย์เอาต์การจัดหน้า เนื้อหา รวมไปถึงการติดต่อหาโฆษณามาลงในวารสาร แถมตอนเย็นก็ยังต้องมาฝึกซ้อมเชียร์เป็นประจำทุกวัน เรียกว่าร่างกายช่วงนั้นแข็งแรงยิ่งกว่านักฟุตบอลเสียอีก
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมรู้สึกว่าเราแข็งแรงมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะต้องซ้อมเชียร์กลางแดดร้อนจัดเป็นประจำทุกวัน แถมช่วงเช้าก็ยังต้องประสานงาน เรื่องการทำวารสารฟุตบอลประเพณี เป็นช่วงที่โหดและหนัก แต่เราก็มีความสุขที่ได้รับมอบหมายหน้าที่อันสำคัญ และการทำกิจกรรมในครั้งนั้นก็ทำให้เราได้รับโอกาสดีๆ อีกมากมายเข้ามาในชีวิต และมีส่วนที่ทำให้คนรู้จักภูวนาถ เหมือนดังเช่นทุกวันนี้” ดร.อั๋น เล่าด้วยความประทับใจ
นอกจาก 2 หนุ่มสาวนี้ แล้วยังมีเซเลบอีกหลายคนที่มีบทบาทในงานฟุตบอลประเพณีของ 2 สถาบันยักษ์ใหญ่ของประเทศ ที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว อย่าง เซเลบสาวรุ่นใหญ่ที่แม้จะเลยวัยเกษียณไปหลายปีแล้ว แต่ก็ยังสดใสและฉายแววความงามของอดีตดาวมหาลัยไว้ได้แบบไม่มีเลือน เช่น “หญิง-วรวิมล ณ ระนอง” อดีตดรัมเมเยอร์ไม้หนึ่ง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2511 ตั้งแต่สมัยที่เธอยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนฝั่งสถาบันสีชมพู ในปี 2515 ก็มีตำนานแห่งนักเคลื่อนไหวหญิงและนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ อย่าง “จิระนันท์ พิตรปรีชา” ขึ้นนั่งเสลี่ยงเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว และมี “สัณหจุฑา จิราธิวัฒน์” เป็นดรัมเมเยอร์ไม้หนึ่ง และตระกูลจิราธิวัฒน์ไม่ได้มีสะใภ้คนนี้คนเดียวที่เป็นศิษย์เก่ารั้วจามจุรี แต่ยังมีลูกๆ หลานๆ และสะใภ้อีกหลายคนเดินตามรอย อย่าง 3 แม่ลูก “ชนัดดา-พิมพิศา-พชร” ที่จบจากสถาบันเดียวกันแต่ต่างคณะ โดยคุณแม่ส้มจบจากคณะรัฐศาสตร์ น้องแพรจากคณะสถาปัตย์ และน้องพีช จบจากคณะบัญชี ซึ่งแม้จะเรียนจบกันไปหลายปีแล้ว แต่ก็ยังกลับไปช่วยโปรโมตกิจกรรมของมหาวิทยาลัยมิได้ขาด
อีกหนึ่งครอบครัวที่นับได้ว่าเลือดจุฬาฯ เข้มข้นไม่แพ้กัน ต้องยกให้กับครอบครัวนี้ ที่ในรุ่นคุณแม่ “หม่อมราชวงศ์สิริมาดา วรวรรณ” ก็ได้เป็นดรัมเมเยอร์ และส่งต่อมาถึงรุ่นลูก อย่าง “แบม-จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์” ก็ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้เช่นกัน ส่วนน้องสาวอย่าง “โบ-ชญาดา” แม้จะไม่ได้เข้าเรียนสถาบันเดียวกัน เพราะไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปริญญาตรี แต่เธอก็ไม่น้อยหน้าเพราะสมัยเรียนมัธยมปลาย ก็ได้เป็นดรัมเมเยอร์ของโรงเรียนเซนต์โยเซฟเช่นกัน ส่วนน้องสาวร่วมมารดา อย่าง “บุ๊กกี้-ฐนุชดี เสรีวัฒโนภาส” ก็ได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของจุฬาฯ ในงานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 67 เมื่อปี 2554 นี่เอง