ด้วยสำนึกรักในท้องถิ่น ที่ทำมาหากินจนเป็นเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลกินรีมาเป็นเครื่องการันตีในปีนี้ “เมย์-นวพรรณ สังเวียนวงศ์” นักดีไซน์การเดินทาง ซีอีโอ Love Travel ผู้บริหารทัวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สาวเมืองแพร่ที่มาเติบโตด้านการงานในจังหวัดเชียงราย จากเด็กฝึกงานในบริษัททัวร์จนถึงนักบริหารธุรกิจทัวร์, อาจารย์พิเศษบรรยายตามหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้ซึ่งทุ่มเททำงานด้วยหนึ่งสมอง สองแขนและสองขา จนเป็นที่ยอมรับ
เวลานี้เธอจึงอยากตอบแทนท้องถิ่นที่เธอคุ้นเคย และเธอมองว่าเชียงรายเป็นเมืองที่ยังเติบโตได้อีกในแง่ของเศรษฐกิจ แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของจังหวัดสักเท่าไหร่ ด้วยการจัดทัวร์เส้นทางวัฒนธรรมแบบลงพื้นที่จริง ดูวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วยตัวเอง แบบไม่ต้องเป๊ะเวอร์เหมือนโปรแกรมทัวร์ เพราะเธออยากดีไซน์ตามใจคนเที่ยว ให้ได้กิน พัก ประหนึ่งไปเที่ยวกับเพื่อนกับครอบครัว เพราะธรรมชาติคือความสวยงามที่แท้จริง ทริป “เชียงราย...ในปรายฝน” จึงเกิดขึ้น เพราะเมย์เห็นว่า ช่วงหน้าฝนที่ถูกเรียกว่าโลว์ซีซันนั้น จริงๆ แล้วธรรมชาติกลับงดงามไม่แพ้หน้าไหนๆ แถมยังเที่ยวสนุกในราคาที่ย่อมเยา ไม่ต้องแย่งกินแย่งอยู่กับใคร
ตามสำนวนคนไทยที่ว่า “ไปลา มาไหว้” เมื่อเดินทางถึงเชียงราย สาวเมย์จึงนำทีมไปสักการะ “วัดพระธาตุจอมสัก” ที่เดิมชื่อว่า "พระธาตุดอยบ้านยาง" สร้างขึ้นในสมัยโยนกไชยบุรีศรีเชียงแสน จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชกษัตริย์แห่งราชวงค์โยนก องค์ที่ 24 ได้มีพระเถระองค์หนึ่งชาวโกศล เมืองสุธรรมมาวดี นามพระพุทธโฆษาจารย์ ได้นําพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศลังกามาถวาย 17 องค์ พระเจ้าพังคราชโปรดให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุดอยจอมทอง ส่วนที่สองอยู่ที่พระธาตุจอมกิตติ และส่วนที่สามอยู่ที่พระธาตุดอยบ้านยาง หรือ "วัดพระธาตุดอยจอมสัก" ในปัจจุบัน ที่ชาวเชียงรายเชื่อว่าเมื่อได้มากราบไหว้จะได้รับสิริมงคลสูงสุด และพานพบแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต
แต่ละที่ที่เธอเลือกสรรล้วนแล้วแต่เกิดมาจากสำนึกรักในบ้านเกิดของเจ้าของ ไม่เว้นแม้แต่ที่แรกที่เดินทางไปถึงยามเช้า กับอาหารมื้อสำคัญที่ ร้านซีเปียวคาเฟ่ ร้านขนมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ บ้านไม้โบราณอายุกว่า 100 ปีบนถนนธนาลัย ปัจจุบันรุ่นลูกได้ต่อยอดให้บริการอาหารเช้าสุดคูล ไข่กระทะแบบไทยและเทศ มีกาแฟโคลด์บรู ชาเครื่องเทศและอาหารเช้าหลากสไตล์อีกหลายเมนู
เพราะกระแสนิยมผ้าไทยยังคงมาแรง คณะเราจึงต้องไปเยี่ยมเยียนร้าน “ตึ่งโนงนาฏย” แหล่งรวมผ้าโบราณและงานร่วมสมัย อันเป็นอัตลักษณ์ของชาวเชียงแสนและเชียงราย บนถนนสันโค้ง ที่มี บาส-เอกราช ฉุยฉาย และเพื่อนๆ คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในลวดลายอันสวยงามของผ้าโบราณ อย่าง ผ้าซิ่นตีนบัว ผ้าลายน้ำไหล และอีกมากมาย สะสมไว้เพื่อต่อยอดให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความสวยงามอ่อนช้อยของลวดลาย พร้อมประวัติความเป็นมา ผ่านการแสดงและผ้าโบราณของเชียงแสน เชียงราย
มาถึงดินแดนแห่งล้านนาจะพลาดอาหารเหนือได้อย่างไร มื้อกลางวันจึงเดินทางสู่ หลงม่อนรีสอร์ต (Longmon Resort) ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ล้อมรอบของ มล-มลธิรา กาซ้อน เพื่อชิมอาหารพื้นบ้านเชียงรายที่ขึ้นชื่อของที่นี่ ไม่ว่าเป็น แกงโฮะ แกงฮังเล แกงหน่อ ขนมจีนน้ำยาไข่ น้ำพริกหนุ่มผักต้ม ฯลฯ ในบรรยากาศกลางเมืองอบอุ่นแบบเป็นกันเอง
อิ่มท้องแล้วก็ไปอิ่มตาอิ่มใจกับภาพเขียนสวยๆ ต่อที่ “ขัวศิลปะ” ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มศิลปินเชียงรายโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้มอบเงินทุนตั้งต้น 500,000 บาท สําหรับจัดตั้งกองทุนศิลปินเชียงราย เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการทํางานของศิลปิน และการศึกษาของนักศึกษาศิลปะในจังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นได้มีการระดมทุนในหมู่พี่น้องศิลปิน และผู้ที่รักศิลปะชาวเชียงรายเพิ่มเติมอีก แล้วนํามาลงทุนธุรกิจเล็กๆ เพื่อให้เป็นธุรกิจที่ทําให้กองทุนศิลปินเชียงรายมีความงอกงามและยั่งยืนต่อไป
จากนั้นเดินทางต่อไปยัง “พิพิธภัณฑ์อูบคำ” ซึ่ง อูบคํา เป็นชื่อที่มาจากอูบทองคําที่ อาจารย์จุลศักดิ์ สุริยะไชย ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ได้รับเป็นมรดกตกทอดจากบิดา ซึ่งสืบเชื้อสายจากพระยาสุลวฤาชัย (หนานทิพย์ช้าง) เจ้านครลําปาง (พ.ศ. 2275-2301) ได้พบเห็นชาวต่างชาติเข้ามาที่อําเภอแม่สายเพื่อกว้านซื้อของเก่า เช่น ผ้าเก่า เครื่องเขิน จํานวนมาก จึงได้คิดขึ้นมาว่า ถ้าไม่มีใครเก็บสะสมของพวกนี้ไว้ คงจะต้องตกไปเป็นสมบัติของชาวต่างชาติจนหมดสิ้น และอีกไม่นานคงจะหมดไปจากประเทศไทย อนุชนรุ่นหลังของเราจะศึกษาค้นคว้าถึงอดีตบรรพบุรุษ คงต้องตามไปศึกษาศิลปวัฒนธรรมของเราเองจากต่างประเทศ
ดังนั้น อาจารย์จึงได้เริ่มสะสมข้าวของเครื่องใช้ของชาวล้านนา โดยทุ่มเทเวลา แรงกายและแรงใจและทุนทรัพย์ เสาะแสวงหาข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยของเจ้าฟ้า เจ้านาง เครื่องเขิน เครื่องเงิน ของใช้ในราชสํานักล้านนา เครื่องใช้ในราชสำนักคุ้มเจ้าต่างๆ เช่น คุ้มเจ้าเมืองแพร่ คุ้มเจ้าเมืองเชียงใหม่ คุ้มเจ้าเมืองน่าน ฯลฯ ผ้าโบราณอายุ 200 ปี อันทรงคุณค่าและประเมินมิได้ ที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ ให้คืนกลับสู่แผ่นดินไทย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต
เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน จึงเดินทางสู่ที่พัก ณ Hok Kao Café Bed & Restaurant ร้านกาแฟที่กรุ่นกลิ่นอายของความเป็นกาแฟแท้ ของสองสามีภรรยา “บี๋&สุ” (ว่าที่ ร.ต.จีรศักดิ์ จูเปาะ กับ สุกัญญา บีซีทู) โดยฝ่ายชายหลังจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ก็นำความรู้ที่มีมาพัฒนาถิ่นที่เกิดที่ดอยวาวี ซึ่งสมัยนั้นนิยมปลูกชา ให้หันมาปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสตา ส่วนฝ่ายหญิงจบปริญญาตรีจาก Yunnan Normal University และสืบเชื้อสายมาจาก “กาแฟดอยช้าง” ซึ่งเป็นกาแฟของพ่อปลูกกันมาหลายชั่วอายุคนบนดอยช้าง จนขึ้นชื่อว่าเป็นกาแฟที่ดีที่สุด
กาแฟทุกเมล็ดจึงถูกส่งตรงจากดอยสู่โรงคั่ว 69 ของบี๋และสุ ทําการคัดเมล็ดคั่วบดตามสูตร ก่อนจะส่งต่อมาเป็นกาแฟหอมกรุ่นในแต่ละแก้ว ที่พร้อมเสิร์ฟแก่ผู้มาเยือน พร้อมที่พักผ่อนแบบง่ายๆ สบายๆ แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ที่สำคัญที่นี่มีอาหารเช้าที่บอกได้เลยว่าลืมไม่ลง อย่าง บักกุ๊ดเต๋ และเล้งต้มแซบที่สุดซี้ดและเปื่อยมากๆ ส่วนอาหารคํ่าก็อร่อยเด็ด แวะไปชิมกันได้เลย
เช้าขึ้นมาอากาศปลอดโปร่ง เหมาะกับการเดินทางสู่ดอยวาวี เพื่อตามรอยเส้นทางกาแฟ From Seed to Cup ของ Hok Kao Caféดอยวาวี คือจุดเริ่มต้นของการปลูกชาครั้งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันยังมี “ต้นชาพันปี” อยู่กลางป่าให้ได้ชม คนทั่วไปจะรู้จักแต่กาแฟดอยช้าง ทําให้คนในพื้นที่ไม่ค่อยนิยมปลูกกาแฟกันมากนัก และมักจะมีการเผาป่าอยู่บ่อยครั้งช่วงหน้าร้อน บี๋จึงมีความคิดที่จะนําพันธุ์กาแฟไปทดลองปลูกบนดอยวาวี เพราะต้องการส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีรายได้ ลดทอนการเผาป่า และส่งเสริมให้ดอยวาวีมีชื่อเสียงทางด้านกาแฟ ซึ่งปรากฏว่ากาแฟพันธุ์โรบัสตาได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จึงได้มีการเริ่มต้นเพาะปลูกกันอย่างจริงจัง
นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงามบนดอยช้าง กาแฟสดพันธุ์อะราบิกาแท้ๆ กลิ่นหอมนุ่มละมุนแล้ว ยังได้ลิ้มลองชาดอกกาแฟและชาใบกาแฟอีกต่างหาก แถมยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง คือ พุทธอุทยาน โดยมีสำนักสงฆ์อยู่ท่ามกลางความเป็นธรรมชาติของป่าไม้ที่สมบูรณ์ ทั้งป่าไผ่และไม้ยืนต้นอื่นๆ ซึ่งมีบึงน้ำขนาดใหญ่ที่น้ำใสจนเห็นเหล่าปลาคาร์ปแหวกว่ายไปมา และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 9 แห่งของน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาพุทธมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษาอีกด้วย
ก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองกรุง ก็ไม่ลืมแวะรับประทานอาหารกลางวัน ณ ร้านกาแฟ Pasang (ป่าซาง) ธุรกิจของครอบครัวภักดี โดยสองพี่น้อง “เบียร์-สาวิภา และ บูม-สานุกูล” ในหมู่บ้านป่าซางวิวัฒน์ ต.นางแล ไฮไลต์ของร้านจะเป็นเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากสับปะรดนางแลและภูแล ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย ที่มีทั้งกาแฟสับปะรดหอมหวานกลมกล่อม และพายสับปะรดเปรี้ยวหวานฉ่ำใจแล้ว ยังมีข้าวเกรียบสับปะรด ข้าวผัดสับปะรด ยำสับปะรด ซอสสับปะรด พุดดิ้งสับปะรด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสับปะรดที่อยากบอกต่อให้ทุกคนมาลิ้มลองกันยิ่งนัก