xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมรดกล้ำค่าประจำ 5 ราชสกุล ตกทอดมากว่า 5 แผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มรดกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ใช่เพียงทรัพย์สินทรงคุณค่า หากเป็นสิ่งที่จะอยู่ในความทรงจำอันงดงาม โดยเฉพาะได้รับมาจากบุพการีหรือบรรพบุรุษผู้สร้างคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง ฉะนั้น Celeb Online จะพาไปสัมผัสกับมรดกประจำตระกูลที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ของบางอย่างนั้นมีอายุนานกว่า 100 ปี หากแต่ผู้ได้รับตกทอดนั้นดูแลเป็นอย่างดีไม่ให้หายไปตามกาลเวลา ด้วยความคิดที่ว่า ของบางชิ้นอาจไม่ได้มีคุณค่าทางทรัพย์สิน หากแต่มีคุณค่าทางจิตใจ ที่ทำให้ผู้ได้รับหวนรำลึกถึงบรรพบุรุษเสมอมา
คุณหญิงนาว-ม.ร.ว. ดัจฉราพิมล รัชนี
คุณหญิงนาว-ม.ร.ว.ดัจฉราพิมล รัชนี ธิดาคนโตของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี โอรสในพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. องค์ต้นราชสกุลรัชนี ผู้สืบเชื้อสายมาจาก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวังหน้า กับ ท่านผู้หญิงดัชรีรัช (วรวรรณ) รัชนี พระธิดาใน ม.จ.นิตยากร วรวรรณ พระโอรสองค์ที่ 9 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้สืบเชื้อสายมาจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาเขียน เท่ากับว่าคุณหญิงนาวนั้นเป็นหลานปู่ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. และหลานตาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

คุณหญิงนาว ได้เริ่มไขประตูลิ้นชักแห่งความทรงจำ หวนรำลึกถึงบรรพบุรุษว่า ด้วยความที่ตัวเองอยู่กับท่านย่า (ม.จ.พรพิมลพรรณ) ชายาของพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือ น.ม.ส. องค์ต้นราชสกุล “รัชนี” มาตั้งแต่อายุได้เพียง 26 วัน เพราะหม่อมแม่ของคุณหญิงสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ดังนั้นคุณหญิงจึงได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของท่านย่าที่ใช้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังสาว และสิ่งหนึ่งที่คุณหญิงนาวเห็นมาตั้งแต่จำความได้คือ กรอบรูปเงินโบราณที่ใส่พระรูปของพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ อันเป็นกรอบรูปที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้า วางอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้งของท่านย่ามาตลอด และเป็นสมบัติล้ำค่าทางจิตใจที่คุณหญิงนาวยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดีจนถึงทุกวันนี้

“ตั้งแต่เด็กก็เห็นพระรูปนี้อยู่ที่โต๊ะเครื่องแป้งท่านย่ามาตลอด สมัยท่านย่าเรียกว่าม้าเครื่องแป้ง โดยกรอบรูปเป็นเงินแท้และตกแต่งด้วยของมงคลของจีนทุกกระเบียดนิ้ว ประกอบด้วย ผลทับทิม ด้านข้างล้อมด้วยดอกเบญจมาศ ด้านบนเป็นหางนกยูง และส้มโอมืออยู่ตรงกลางของกรอบรูปและลูกท้อ ซึ่งคิดว่าน่าจะตกทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพราะในยุคนั้นประเทศไทยได้มีการค้าขายกับเมืองจีนอย่างรุ่งเรืองมาก”
กรอบรูปเงินโบราณที่ใส่พระรูปของพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
ด้านหน้าเหรียญพระราชทาน
อีกหนึ่งความภูมิใจของคุณหญิงนาวในการเก็บรักษาสิ่งล้ำค่าขององค์ต้นราชสกุลรัชนีไว้คือ เหรียญพระราชทาน ที่พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทุกวันนี้คุณหญิงนาวก็นำเหรียญนี้มาใส่ติดตัวไว้ตลอดเวลา อันเป็นการหวนรำลึกถึงองต์ต้นราชสกุล
ด้านหลังของเหรียญ
“เหรียญนี้ท่านปู่ได้รับพระราชทานเมื่อครั้งทรงรับราชการในพระองค์ในหลวง ร.๖ เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งด้านหน้าเหรียญเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี และตราประจำพระองค์ของในหลวง ร.๖ ส่วนด้านหลังของเหรียญมีข้อความว่า “พระราชทาน สำหรับการในพระองค์ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส” แสดงว่าเหรียญอันนี้ท่านปู่ได้รับพระราชทานตั้งแต่ยังไม่ได้ทรงกรม คือเมื่อครั้งยังเป็นพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัสอยู่นั่นเอง”
ลายพระหัตถเลขา ในหลวง ร.4
นอกจากมรดกตกทอดอันล้ำค่าที่ได้รับมาจากราชสกุล “รัชนี” แล้ว คุณหญิงนาวในฐานะที่เป็นหลานตาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ องค์ต้นราชสกุล “วรวรรณ” ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บรักษามรดกอันมีค่าของท่านตาไว้อีกหลายชิ้นด้วยกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่คุณหญิงนาวยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะผ่านมาถึง 155 ปีแล้วก็ตาม ของล้ำค่าชิ้นนั้นก็คือ “ลายพระหัตถเลขา” หรือจดหมาย ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๔ ทรงเขียนมาถึง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี ค.ศ. 1861 อันเป็นสิ่งล้ำค่าที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาร่วมอุทร
ลายพระหัตถเลขา ในหลวง ร.4
“รายละเอียดในพระหัตถเลขานั้นมีข้อความสำคัญว่า ในหลวง ร.๔ ทรงส่งแหวนนิลกาฬ อันเป็นแหวนที่มีค่า มาให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี” คุณหญิงนาวเล่าถึงรายละเอียดบางส่วนในลายพระหัตถเลขา
คุณมุกกับเข็มขัดทองรัดเอวตั้งแต่สมัย ร.5
ขณะที่ราชนิกุลแห่งราชสกุล “เทวกุล” อย่าง มุก-ม.ล.รดีเทพ เทวกุล ลูกสาวของ ม.ร.ว. เทพกมล เทวกุล ที่ได้เก็บรักษาเข็มขัดทองรัดเอว ราคาประเมินมูลค่ามิได้ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของคุณทวดที่ได้รับมาจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.๕ โดยเข็มขัดทองโบราณเส้นนี้คุณมุกได้เก็บรักษาไว้อย่างดี ซึ่งในชีวิตนี้เธอได้นำเข็มขัดล้ำค่าเส้นนี้ออกมาใช้เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือวันแต่งงาน และในวันเปิดงานอุ่นไอรักคลายความหนาว ที่เจ้าตัวต้องแต่งชุดไทยย้อยยุคในสมัยรัชกาลที่ ๕ เธอจึงได้นำความงดงามเหนือกาลเวลาของเข็มขัดเส้นนี้มาใส่อีกครั้งหนึ่ง
พิพัฒพงศ์ นำกระดุมเสื้อพระราชทานมาติด
เช่นเดียวกับหนุ่มใหญ่ พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่สืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช องค์ต้นราชสกุล “อิศรเสนา” พระราชโอรสพระองค์ที่ 8 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลที่ ๒ กับเจ้าจอมมารดาสำลี ที่ได้เก็บรักษากระดุมเสื้อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งตรงกลางของกระดุมได้สลักอักษรพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. อันเป็นสิ่งมีค่าที่เจ้าคุณทวดได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณ และกระดุมชุดนี้ก็ได้ตกทอดมาอยู่ที่ตัวเองดังเช่นทุกวันนี้ ทุกวันสำคัญที่ต้องใส่เสื้อคอราชปะแตนก็จะนำกระดุมพระราชทานชุดนี้มาติดที่เสื้อเสมอ นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังทำให้ตนหวนรำลึกถึงคุณงามความดีและความภูมิใจที่คุณทวดเคยได้ทำไว้แล้วต่อแผ่นดินอีกด้วย
มะปราง สวยสง่าในชุดไทยศิวาลัย
ย้อนไป 33 ปีที่แล้ว ท่านผู้หญิงเพ็ญศรี วัชโรทัย คุณย่าของ มะปราง-กิติวิชญา วัชโรทัย ได้มอบชุดไทยศิวาลัยที่มีอายุร่วม 100 ปีให้กับคุณแม่ของเธอในพิธีพระราชทานน้ำสังข์จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2527 ที่วังสวนจิตรลดา และในวันนี้ชุดนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติอันล้ำค่าที่มีค่ามหาศาลแก่จิตใจหญิงสาว

มะปรางบอกว่า ความพิเศษของชุดไทย “ศิวาลัย” ที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นนั้นอยู่ที่ผ้านุ่ง เพราะทอขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ อายุร่วมร้อยปี เรียกว่าผ้าไหมลายยกพุมเรียง ถือกำเนิดจากตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะลวดลายจะต่างจากผ้าชนิดอื่นๆ เพราะยกดอกด้วยไหมและดิ้นต้องใช้ความประณีตและความชำนาญในการทอสูง ซึ่งชาวบ้านทอด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า หูก ปัจจุบันมีคนทอด้วยวิธีนี้น้อยมาก มีการสันนิษฐานว่าลายยกพุมเรียงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ โดยชาวมุสลิมเป็นผู้คิดค้น แล้วช่างไทยนำมาปรับแต่งลวดลายให้สอดคล้องกับผ้าพิมพ์และผ้ายกของไทย ส่วนตัวเสื้อเป็นผ้าไหมทอมือ ลวดลายโบราณ

วัตถุชิ้นเล็กๆ ที่อยู่บนโต๊ะเครื่องแป้ง หรืออยู่ในตู้เก็บของ กลับมีพลังมหาศาลต่อผู้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะมันเป็นสิ่งหนึ่งที่คอยย้ำเตือนให้ตัวเองไม่ลืมบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ


กำลังโหลดความคิดเห็น