>>กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอนจัดโครงการThai Touch Season 3 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยแบบ 360 องศา อีกทั้งสร้างการเติบโตของธุรกิจแฟชั่นทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรม Thai Touch ปีที่ 3 นั้น มุ่งเน้นที่จะผลิตนักออกแบบไทยหน้าใหม่ที่มีคุณภาพ และพัฒนานักออกแบบไทยรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพและสร้างโอกาสในการนำเสนอผลงานในระดับสากล
และเพื่อให้นักออกแบบหน้าใหม่ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 24 คนได้พัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ การค้นหาแรงบันดาลใจ การสร้างแบรนด์ รวมถึงเรียนรู้และแก้ปัญหาเหตุการณ์เฉพาะหน้า ตลอดจนได้รับความรู้ในเชิงการตลาดเพิ่มมากขึ้นวิจักขณ์ รัตนสุวรรณผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจับมือกับชนิสา แก้วเรือน ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดกิจกรรมอบรมอย่างเข้มข้นตลอด 3 วัน 2 คืน โดยมีกลุ่มดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทยในนาม‘สมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพ’ หรือ Bangkok Fashion Society (BFS)เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในการอบรมทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติอาทิ ภาณุ อิงคะวัต Executives Creative Director Greyhound Group, จิตต์สิงห์ สมบุญ Creative Consultant, ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นอกจากนี้ยังมีดีไซเนอร์แถวหน้าที่แท็กทีมกันมาถ่ายทอดความรู้อย่างไม่หวงวิชา ไม่ว่าจะเป็น พลพัฒน์ อัศวะประภาผู้ก่อตั้งแบรนด์ Asavaและ ASV , ประภากาศ อังคุสิงห์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ HOOK’S , ภูวภวิศ กฤตพลนารา ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์Issue,ณัฏฐ์ มั่งคั่ง จากแบรนด์Kloset,มิลิน ยุวจรัสกุลผู้ก่อตั้งแบรนด์ MILIN , สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์และ ภูมิศักดิ์ เฑียรฆประสิทธิ์ผู้ก่อตั้งแบรนด์Painkiller ,นันธนุช วงศ์พัวพันธ์ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ TUTTI ,ธนาวุฒิ ธนสารวิมล ดีไซเนอร์ จากแบรนด์ T & T และ อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์ กรรมการบริหารแบรนด์ VICKTEERUT
ทั้งนี้ ภาณุ อิงคะวัต เผยถึง Key Success หรือสิ่งที่จะทำให้ดีไซเนอร์หน้าใหม่ก้าวสู่คำว่าประสบความสำเร็จนั้นประกอบด้วยปัจจัยหลักๆ ได้แก่ DNA หรือความสามารถของแต่ละคน นั่นหมายถึงความคิดในการสร้างสรรค์งานให้โดดเด่น มีความน่าสนใจ และสร้างความแตกต่างทั้งในแง่การออกแบบและคุณภาพ ถัดมาคือ ต้องมีความสมดุลระหว่างคำว่านักธุรกิจกับนักสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่นักออกแบบต้องเข้าใจการตลาด มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน สามารถออกแบบสินค้าให้สนองความต้องการของตลาดได้ และตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ วางโพซิชั่นนิ่งของแบรนด์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงเข้าใจการบริหารงาน บริหารองค์กรอย่างเป็นระบบ เป็นต้น
ด้าน พลพัฒน์ อัศวะประภา ในฐานะนกยกสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพ และ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Asavaและ ASV กล่าวว่า “นักออกแบบหลายคนยังอยู่ในโลกของความฝัน เรื่องของฝีมือหรือแนวคิดหลายคนมีสิ่งที่น่าสนใจมากแต่สุดท้ายแล้วนักออกแบบต้องทำงานเชิงพาณิชย์ ตรงนี้สำคัญมาก จุดเด่นของนักออกแบบหน้าใหม่ที่ผ่านเข้ารอบมาถึงตรงนี้ หลายคนเป็นผู้ประกอบการแล้วจริงๆ ตั้งต้นเป็นนักธุรกิจแล้ว เริ่มรู้จักแล้วว่าการเป็นนักออกแบบที่ดี หรือการเป็นเจ้าของแบรนด์มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่บางคนยังเป็นนักศึกษาหรือเพิ่งจบ การตั้งสมการในการออกแบบจึงมีข้อจำกัดในเชิงของความเป็นไปได้ หรือการต่อยอดในอนาคต ซึ่งการจะเป็นนักออกแบบที่จะประสบความสำเร็จได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีตัวตนของตัวเองที่ชัดเจนหลังจากนั้นจึงจะพัฒนาให้เป็นที่ต้องการของตลาด และเข้าใจตลาดก็ไม่ง่าย เพราะฉะนั้นการพัฒนาให้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างสม่ำเสมอ และต่อยอด การอบรมตรงนี้จะช่วยแนะแนววิธีคิดให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ได้นอกจากนี้คือความมีวินัย และความเพียรของนักออกแบบ รวมถึงความกระหายที่อยากจะประสบความสำเร็จ”
ทั้งนี้หลังจากนักออกแบบหน้าใหม่ผ่านการติวเข้มจากดีไซเนอร์ตัวจริงแล้ว คณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบเพียง 10 คน และหลังจากนี้ทุกคนจะเข้าสู่ขั้นตอนการเวิร์คช็อปแบบตัวต่อตัวกับเหล่าดีไซเนอร์แถวหน้าเพื่อผลิตชิ้นงานจริงและเฟ้นหาผู้เข้ารอบสุดท้าย โดยผู้ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้ายจะได้นำผลงานไปร่วมแสดงแฟชั่นโชว์ระดับโลกภายใต้ชื่อ อเมซอน แฟชั่น วีค โตเกียว (Amazon Fashion Week TOKYO) ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคมศกนี้ ซึ่งนับเป็นเวทีระดับสากลที่จะช่วยประกาศศักยภาพของดีไซเนอร์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่วงการแฟชั่นโลกและเป็นบันไดให้ก้าวสู่ความสำเร็จต่อไป