xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ เสริมแกร่งแฟชั่นไทยสู่ยุค 4.0 ฝันดันยอดส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมรุกพัฒนาแฟชั่นไทยสู่ยุค 4.0 ดึงเทคโนโลยีพ่วงนวัตกรรมเสริมแกร่ง ตั้งเป้าเพิ่มยอดส่งออกจากปีละ 6 แสนล้านบาท ทะยานสู่ 1 ล้านล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า

นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการเปิดตัว “โครงการเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ยุค 4.0” ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2559 อุตสาหกรรมแฟชั่นสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้กว่า 6 แสนล้านบาท และสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยยังประสบปัญหาในเรื่องการส่งออกอย่างต่อเนื่อง จากภาวะคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว ภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุน การให้ความรู้ด้านการออกแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การลดต้นทุนการผลิต และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น เพื่อสนองนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และการก้าวสู่การเป็นฮับแฟชั่นของอาเซียน โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดส่งออกสินค้าแฟชั่นเป็น 1 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า

ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยไปสู่ Industry 4.0 นั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเน้นไปที่ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. การสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น 2. กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดตราสินค้าสู่อาเซียน หรือ D Space โดยเป็นความร่วมมือกับคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้พัฒนาแบรนด์สินค้าแฟชั่นไทย 3. กิจกรรม Modern Thai Silk เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย เน้นอิงวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับเทรนด์โลก และ 4. กิจกรรมพัฒนาผ้าผืนสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำสิ่งทออาเซียน ด้วยการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าผืนทั้งในและต่างประเทศ

“กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าพัฒนาผ้าผืน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาเพิ่มมูลค่า ซึ่งผ้าผืนไม่ได้จำกัดแค่นำไปทำเป็นเครื่องนุ่งห่มได้เท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ได้ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง สิ่งทอ เครื่องประดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยเน้นความต้องการของตลาดเป็นหลัก ซึ่งการนำนวัตกรรมมาใช้กับผ้าผืนก็จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีกทางหนึ่ง เช่น การนำผ้าขนสัตว์มาทอร่วมกับผ้าไหมไทย และต่อไปทางกระทรวงฯ มีแผนจะนำผ้าไหมไทยออกสู่อาเซียนผ่านเส้นทางสายไหม” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น