>>โลกที่หมุนไวขึ้นด้วยเทคโนโลยีอาจทำให้หลายคนตกใจ ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง แมค-อธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่ง Media Mixer กลับไม่รู้สึกเช่นนั้น ในทางตรงกันข้ามสำหรับเขา THAILAND 4.0 คือ โลกใบใหม่ที่ทั้งสนุกและท้าท้าย
ภายใต้บทบาทที่ปรึกษาด้านการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรชั้นนำ แมคบอกว่าหน้าที่ของเขาไม่ใช่เป็นเพียงที่ปรึกษาที่มีหน้าที่จูงมือลูกค้าไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น แต่เขายังเลือกสร้างจุดต่างให้แบรนด์หรือองค์กรของลูกค้าด้วยการนำสื่อสมัยใหม่ (New Media) เข้ามาช่วยถ่ายทอดและสะท้อนตัวตนของแบรนด์ให้มีความร่วมสมัยและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
“ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างลูกค้าของเราที่เป็นรัฐวิสาหกิจ องค์กรของเขาอยู่มา 40-50 ปี จนสังคมติดภาพไปแล้วว่าเป็นองค์กรของคุณลุงคุณป้า เพราะฉะนั้นโจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรให้องค์กรลักษณะนี้มีความทันสมัยและเข้าถึงง่ายมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่า หนึ่งในวิธีที่น่าจะตอบโจทย์ คือ การนำนิวมีเดียเข้าไปจับ โดยให้นิวมีเดียเข้าไปช่วยสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้ที่พบเห็น”
งานนี้เพราะกลัวอธิบายไปจะเห็นภาพไม่ชัดพอ เขาเลยถือโอกาสโชว์หนึ่งในผลงานที่เขาภาคภูมิใจเพื่อขยายความในสิ่งที่เขาทำว่า “อย่างหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำขึ้นเนื่องในวันครบรอบการสถาปนา กฟผ. มองผิวเผินหนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ต่างจากพ็อกเกตบุ๊คทั่วไป แต่ความพิเศษคือ เราใส่ลูกเล่นอย่าง AR (Augmented Reality) เข้าไป ทำให้พอนำไปใช้คู่กับแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน จะพลิกโฉมให้หนังสือที่ดูธรรมดามีชีวิต สามารถปรากฎภาพเคลื่อนไหว เพิ่มความน่าสนใจในการนำเสนอข้อมูล ชวนให้ติดตามอ่านจนหน้าสุดท้ายมากขึ้น เพราะเราจะแฝงลูกเล่นนี้ไว้ในจุดต่าง ๆ ของหนังสือ”
หนุ่มหล่อยังบอกเล่าด้วยแววตาเป็นประกายต่อไปว่า “หรืออย่างปฏิทินตั้งโต๊ะของ กฟผ. แทนที่จะทำเป็นปฏิทินตั้งโต๊ะแบบเดิม ๆ เราเติมลูกเล่น AR เข้าไป เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้ใช้ เวลาที่เปิดแอพพลิเคชั่นแล้วสแกนไปที่ปฏิทินในแต่ละเดือน จะพบกับลูกเล่นมากมายที่ซ่อนอยู่ อย่างเดือน ก.พ. มีวันวาเลนไทน์ ก็จะมีแอนิเมชั่นหัวใจป็อปอัพออกมา เดือน ธ.ค. เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง ก็จะมีแอนิเมชั่นของขวัญป็อบอัพออกมา ซึ่งปฏิทินนี้ถือเป็นหนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซของเราก็ว่าได้ เพราะได้รับรางวัลปฏิทินดีเด่น “สุริยศศิธร” ประจำปี 2559 จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย”
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะนำนิวมีเดียมาประยุกต์ใช้กับเรื่องใกล้ตัวแล้ว แมคบอกว่า เขายังนำนิวมีเดียไปปรับใช้ในงานสเกลใหญ่ ๆ อย่างการสร้างพาวิลเลียนที่ใช้จัดแสดงในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้วย โดยเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา บริษัทของเขาเพิ่งสร้างสรรค์อีกหนึ่งมาสเตอร์พีซด้วยการคว้ารางวัล The Best Creative Design Award ในงาน Sustainable Energy & Technology Asia (SETA 2017) ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับเอเชียมาครองได้สำเร็จ ทำให้เขายิ่งมั่นใจว่า จากนี้นิวมีเดียจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในมิติใหม่
ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของแมคก่อนจะโลดแล่นในสายอาชีพนี้ แมคบอกว่า ความฝันวัยเด็กของเขาคือ การเป็นสถาปนิก แต่กาลเวลาทำให้ความฝันนี้ค่อย ๆ เลือนหายไป ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เขาตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเลือกวิชาเอกประชาสัมพันธ์ ทั้งที่ไม่รู้ว่าศาสตร์นี้จะนำทางชีวิตเขาไปทางไหน รู้ตัวอีกที ก็พบว่า ความรู้ที่มีได้กลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เขาเติบโตในสายงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ได้อย่างแข็งแรง
“พื้นฐานการเป็นนักประชาสัมพันธ์ ทำให้เรามีความเข้าใจในศาสตร์ของการสื่อสารอย่างดีเป็นทุนเดิม ช่วงที่เรียนจบใหม่ ๆ ผมยังไม่ตัดสินใจว่าจะเรียนต่อด้านไหน ทั้งที่มีคนถามเยอะมากทำไมไม่ไปต่อต่างประเทศ หรือเรียน MBA หรือต่อยอดในสายเดิม ตอนนั้นผมก็ได้แต่เออออไป ทั้งที่รู้ดีว่าสาขาเหล่านั้นไม่ใช่สำหรับผม ผมได้แต่ทำงานไปพร้อมกับค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่สนใจและอยากจะรู้ สุดท้ายผ่านไป 2 ปี คำว่า “นวัตกรรม” เริ่มมีการพูดถึงกันมาก ผมเลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Technology Management, College of Innovation มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ อยากรู้ว่านวัตกรรมที่พูดถึงกันคืออะไร โดยผมไม่สนว่า สาขานี้ส่วนใหญ่คนที่ไปเรียนจะเป็นเด็กสายวิทย์ หรือ คนทำงานด้านไอที”
แน่นอนว่า บททดสอบครั้งใหม่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการพาตัวเองไปเรียนรู้โลกใบใหม่ แต่แมคยังคิดบวก และสนุกที่ได้เพิ่มเติมทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนทำให้ตัวเขากลายเป็นส่วนผสมของทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ลงตัว สามารถต่อยอดไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างมีชั้นเชิง
“ทุกงานที่เราทำ ถึงเราจะพยายามเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ แต่เรายังทำบนพื้นฐานของการมี service mind ที่ดี โดยคิดเสมอว่า เราจะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องอะไรให้ลูกค้าได้อีกบ้าง เวลาทำงานเราไม่ได้เน้นแต่ตัวเนื้องาน แต่ยังมองในแง่กระบวนการทำงานที่ต้องง่าย รวดเร็ว บังเกิดผลได้จริง และต้องเกิด impact ด้วย”
ด้วยแพสชั่นที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญนี้เอง แมคยอมรับว่าทุกสายที่โทรเข้ามาหาเขา หรือ ทุกนัดที่เข้าไปพบ คือการเข้าไปรับรู้ปัญหาขององค์กรหรือแบรนด์เพื่อช่วยลูกค้าหาทางแก้ แต่เขากลับไม่รู้สึกเครียด หรือ รู้สึกพลังชีวิตหมดไป ในทางกลับกันยังรู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่มีคนนึกถึง และ ภูมิใจหากจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกปัญหาของคนอื่น
“ถึงจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหา รับความท้าทายใหม่ทุกวัน แต่ผมไม่เครียดนะ เพราะผมบอกตัวเองเสมอว่า ถึงเราจะอยากช่วยเขาแก้ปัญหา แต่เราต้องไม่แบกโลกเอาไว้ทั้งใบ เมื่อไหร่ที่เดินออกจากห้องประชุม ผมต้องพร้อมปิดสวิตซ์ ปรับโหมดตัวเองให้ได้”
ตลอดเวลาที่ได้ค่อย ๆ ทำความรู้จักกับชายหนุ่มตรงหน้า ถึงเขาจะดูขี้เล่นในบางมุม แต่แววตาของเขาก็ไม่อาจเก็บซ่อนพลังแห่งความมุ่งมั่นที่จะพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จให้ได้ จนพลอยทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า สำหรับผู้ชายที่ออกจะเป็นเพอร์ฟคชั่นนิสต์อย่างเขา มีวิธีรับมือกับความล้มเหลวหรือความผิดหวังอย่างไร คำถามนี้ทำเอาแมคครุ่นคิดสักครู่ ก่อนจะคลี่ยิ้มพร้อมเผยถึงคำตอบที่ทำเอาหลายคนฟังแล้วต้องขอคำอธิบายเพิ่มเติม
“ความรู้สึกนั้นมันเป็นยังไงนะ ? ผมแทบจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่ารู้สึกแบบนั้นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ (หัวเราะ) ที่พูดแบบนี้ ไม่ใช่เพราะผมเก่งกว่าคนทั่วไปหรอกนะครับ แต่เพราะตั้งมาตรฐานไว้สูง เวลาทำอะไรก็ตาม ผมไม่ได้แค่ตั้งเป้า 100% แต่ผมตั้งเป้าไว้ 140-150% เพราะฉะนั้นต่อให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง ผมว่าผลที่ออกมาก็ไม่น่าต่ำกว่า 100 อยู่ดี ซึ่งผมก็ยังแฮปปี้กับตรงนั้น แต่ทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาดขึ้น ผมจะเลือกมองว่าเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำและกลับมาทบทวนมากกว่า ว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไร เพื่อครั้งต่อไปจะได้ไม่ผิดซ้ำ ผมว่าคนเราทุกคนผิดได้ แต่ไม่ควรผิดมากเกินความคาดหมาย หรือ ถ้าจะพลาดบ้างก็น่าจะเกิดจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้”
สำหรับเป้าหมายในอนาคต แมคบอกว่า “เราเป็นบริษัทไม่ใหญ่นัก และไม่ได้ดูแลลูกค้าหลายราย แต่เราดูแลเขาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องขยายบริษัทให้ใหญ่โต แต่กลับคิดว่าท้ายที่สุดแล้วความใหญ่โตนั่นแหละอาจเป็นอุปสรรคสำหรับเราก็ได้ เพราะงานของเราเป็นงานขายไอเดีย ต้องเน้นคุณภาพในทุกชิ้นงาน ผมถึงบอกว่า ขนาดของบริษัทที่ใหญ่โตจึงไม่ใช่คำตอบของเรา”
ถามว่า ทุกวันนี้พอใจในจุดที่ยืนหรือยัง หนุ่มอนาคตไกลตอบด้วยแววตาเป็นประกายว่า พอใจแต่ยังไม่คิดจะหยุดกับสิ่งที่เป็นแค่วันนี้
“ผมคิดว่าคนเราควรมองตัวเองให้เห็นว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้าเรากำลังทำประโยชน์อะไรอยู่ หรือ มีโปรเจคอะไร ผมเชื่อว่าถ้าเราเห็นภาพในอนาคตชัดตั้งแต่วันนี้ เราก็สามารถเริ่มต้นลงมือทำ เพื่อให้อนาคตที่ฝันเกิดขึ้นได้ ผมคิดว่าบ้านเราทุกวันนี้ยังมีอีกหลายช่องทางที่สามารถหยิบมาต่อยอดได้ อย่าง THAILAND 4.0 นี่เป็นเทรนด์ที่ใคร ๆ ก็พูดถึง เป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม แต่ปัญหาใหญ่ทุกวันนี้คือ โลกหมุนเร็วไป ทำให้วงจรอายุของนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่นั้นสั้นเกินควร บางตัวเกิดมาแค่อยู่ในช่วง introduction ก็ล้มหายตายจาก ทั้งที่ยังไม่ได้ถูกใช้หรือพัฒนาไปสู่ช่วง growth และ maturity ด้วยซ้ำ”
เพราะฉะนั้น ในฐานะคนหนุ่มรุ่นใหม่ แมคมองว่า แทนที่จะตั้งเป้าไปที่การหาเงินทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เราอาจเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ด้วยการหาวิธียืดอายุของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นให้ยาวขึ้นกว่าเดิม โดยนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับทุนทางวัฒนธรรมและทุนมนุษย์ของคนไทย ต่อยอดนวัตกรรมที่ตอนนี้อาจจะยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ให้ขยายไปสู่กลุ่มใหญ่
ชวนคุยเรื่องงานมาพักใหญ่ ถึงเวลาพักเรื่องเครียด มาทำความรู้จักแมคในอีกมุม แต่ดูเหมือนว่า คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีพลังล้นเหลือจะปล่อยให้งานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแบบไม่เหลือช่องว่างอีกแล้ว
“ผมไม่ใช่คนที่ work hard play harder” แต่สำหรับผม งานสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่ไม่ใช่ว่าผมจะไม่มีเวลาส่วนตัวนะ เพราะถ้ามีเวลาผมจะออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา และหนึ่งในกิจกรรมโปรดที่ขาดไม่ได้ต้องทำทุกวันคือ การออกกำลังกาย ถ้าวันไหนผมไม่ได้เข้ายิม อย่างน้อยก็ต้องว่ายน้ำทุกวัน เพราะถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ผมได้อยู่กับตัวเองและได้ผ่อนคลายจริงๆ” หนุ่มหล่ออนาคตไกลกล่าวทิ้งท้าย