>>คนเราทุกคนล้วนมีพลังขับเคลื่อนในการทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อไปถึงเป้าหมายแตกต่างกัน สำหรับ “ดี้-กุลวดี ศิริภัทร์” ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโรงเรียนบางกอกพัฒนา เธอเลือกทำตามเสียงหัวใจ และ ใช้ความรักของการเป็น “คุณแม่” ที่อยากจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดในกับลูก เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการทำงานทุกวันให้ดีที่สุด และวันนี้ผลลัพธ์จากการทำงานด้วยความตั้งใจได้กลายเป็นขุมพลังแห่งความสุข ที่เติมเต็มชีวิตเธอให้เบิกบานได้อย่างน่าอิจฉา
กุลวดี คุณแม่ฟูลไทมส์ที่ผันตัวมาทำงานที่โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว พานั่งไทมส์แมชชีพน้อยไปถึงจุดเริ่มต้นของโรงเรียนบางกอกพัฒนาซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับลูกหลานท่านทูตจากสหราชอาณาจักรที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ใช้พื้นที่ในสถานทูตอังกฤษ ซึ่งเวลา 60 ปีผ่านไป โรงเรียนบางกอกพัฒนาเติบโตอย่างสง่างาม กลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย ดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิไม่แสวงหากำไร
“เราเริ่มจากเป็นคนที่มองหาโรงเรียนให้ลูกหลังจากเดินทางกลับมาจากอเมริกา โจทย์ในเวลานั้นต้องเป็นโรงเรียนนานาชาติ เพราะลูกคนโต ป.3 แล้ว ส่วนคนเล็ก ป.1 ถ้าเข้าโรงเรียนไทย เขาจะติดปัญหาเรื่องภาษาไทย เลยตัดสินใจให้ลูกมาเรียนที่นี่ ส่วนตัวเราเองในฐานะผู้ปกครองก็เข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัคร ส่งเสริมการทำกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน กระทั่งตอนมาได้รับเลือกเป็นตัวแทนผู้ปกครองไทยของโรงเรียนต่อเนื่องหลายปี จนสุดท้ายทางคณะกรรมการของโรงเรียนทาบทามให้มาร่วมงานกับโรงเรียน”
“จะเรียกว่าเห็นแววก็คงใช่นะ เพราะตอนที่คณะกรรมการฯเชิญมาคุย ก็ยังแปลกใจ เพราะเราเองก็ไม่ได้มีแบ็กกราวน์งานด้านการศึกษามาก่อนเลย” กุลวดี ย้อนวันวานอย่างอารมณ์ดี ก่อนเฉลยว่า เธอเรียนจบด้านไฟแนนซ์และบัญชีที่อังกฤษหลังจากเรียนจบได้ทำงานที่บริษัทการเงิน และตามครอบครัวไปอยู่ที่อเมริกาจึงย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยอีกครั้งในบทบาทคุณแม่ฟูลไทมส์ แต่สุดท้ายโชคชะตาก็นำพาโอกาสครั้งใหญ่เข้ามา
“ตอนนั้นประสบการณ์ด้านการศึกษาเดียวที่เรามี คือ เคยไปช่วยเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงเรียนทำโรงเรียนอยู่พักหนึ่ง เป็นโรงเรียนเล็กๆ เราแค่เข้าไปช่วยไม่ได้จริงจังอะไรนัก แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหารชุดก่อน ที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ตอนที่เชิญมาคุยเขาแค่พูดประโยคเดียวที่เรียบง่ายแต่มีนัย ว่า คุณแค่ใช้หัวใจของความแม่มาทำงานก็พอ คุณอยากให้โรงเรียนมอบการศึกษาที่มีคุณภาพให้ลูกคุณอย่างไร ห้องน้ำในโรงเรียนลูกควรเป็นแบบไหน คุณแค่คิดว่าจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกคุณ พอได้ยินแบบนี้ เรารู้สึกว่านี่คือ โรงเรียนที่ลูกเราเรียน ความภูมิใจมันอยู่ตรงนี้ เราเลยอยากทำงานให้ดีที่สุด ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจที่มี”
ทุกวันนี้แม้ลูกทั้งสองของเธอจะเรียนจบจากสถาบันแห่งนี้ไปแล้วแต่เธอยังคงมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาโรงเรียนแห่งนี้ให้มีคุณภาพต่อไป จากวันวานถึงวันนี้ กุลวดียอมรับว่าโรงเรียน ระบบการศึกษา และ นักเรียนเปลี่ยนแปลงไปมากจาก 12 ปีที่แล้ว วันนี้โรงเรียนเราโตขึ้นเยอะ ทุกวันนี้เรามีนักเรียน 2,270 คน จาก 67 สัญชาติ ความท้าทายในการทำงานของเราไม่ใช่ความกังวลแต่เป็นความหวังที่อยากจะรักษามาตรฐานที่เราดีอยู่แล้วไว้ไม่ให้ตกหล่น เพราะฉะนั้น การดำเนินงานของเราจะให้ความสำคัญกับทุกจุด ไม่มองข้ามสิ่งที่เล็กๆน้อยเพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี สามารถเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของโลกได้
ขณะเดียวกัน ในยุคที่ไอทีเข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบ ระบบการศึกษายิ่งต้องปรับตัวให้ทัน “ตอนนี้เป็นยุคดิจิตอล 4.0 ทางข้างหน้าเรายังไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมพร้อมทั้งบุคลากร และ นักเรียน ที่ผ่านมาโรงเรียนของเราค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเตรียมพร้อมให้เด็กของเราก้าวไปสู่โลกอนาคต ให้มีความรับผิดชอบ พร้อมเรียนด้วยตัวเอง รู้จักจัดตารางให้ตัวเอง เวลาต้องไปเรียนต่อต่างประเทศเขาจะไม่ต้องกังวลเรื่องการปรับตัวมากนัก ที่สำคัญ ถึงจะเป็นโรงเรียนนานาชาติ แต่โรงเรียนเรายังให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย เราเน้นให้เด็กนักเรียนทุกคน ซึ่งมีสัดส่วนนักเรียนไทย 20% ต้องมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกับประเพณีไทยต่างๆ”
กุลวดี ยังเปิดมุมมองที่น่าสนใจถึงการเรียนโรงเรียนนานาชาติอีกว่า สมัยก่อนผู้ปกครองอาจไม่มั่นใจที่จะให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็ก เพราะกลัวลูกจะไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อนชาวไทย แต่ในยุคที่โลกไร้พรมแดนได้พิสูจน์แล้วว่า การที่เด็กๆได้มีเพื่อนจาก 67 สัญชาตินั้น เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการสร้างคอนเนกชั่นที่กว้างขึ้น
“ที่นี่เป็น melting pot เด็กๆจะมองไม่เห็นสีผิวที่แตกต่างของกันและกันเพราะมองว่าทุกคนเป็นเพื่อนกัน นั่นหมายความว่าพอเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่เขาจะมีคอนเนกชั่นของเพื่อนอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าอนาคตจะลงทุนทำธุรกิจ หรือ ต่อยอดพัฒนาอะไร ก็ย่อมเป็นประโยชน์ ซึ่งนี่คือจุดแข็งที่เราเองในฐานะของแม่มองเห็นมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม นอกจากทุกวันนี้ ภารกิจสาวเก่งจะต้องร่วมประสานงานและเป็นตัวกลางในการดำเนินงานกิจการต่างๆของโรงเรียนให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ เธอยังทำงานด้านชุมชนสัมพันธ์ควบคู่ไปด้วย ในฐานะประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบคณะทำงานของตำรวจสน.บางนา และเป็นประธานจัดหาทุนทรัพย์เพื่อพัฒนาศักยภาพสามเณรที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม
“เรามาอยู่ในเขตพื้นที่บางนา ก็เหมือนเป็นพี่ใหญ่ เวลาในชุมชนมีอะไรที่เราช่วยเหลือได้ก็พยายามเข้าไปช่วยในรูปแบบต่างๆ นำทรัพย์สินต่างๆของโรงเรียนที่ครบอายุการใช้งาน เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ไปบริจาคให้หน่วยงานรัฐ โรงเรียนในกรุงเทพที่ขาดแคลนหรือ โรงเรียนในต่างจังหวัด การทำงานที่นี่สำหรับเราคือความสุขใจและอิ่มใจ ไม่เพียงได้เห็นเด็กๆเติบโตเป็นคนดี แต่เห็นว่าสิ่งที่เราทำยังเกิดประโยชน์กับชุมชนรอบข้าง ได้เป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นๆมาศึกษาดูงานเพราะเป้าหมายใหญ่ของเรา คือ การพัฒนาระบบการศึกษาไทย”
จากวันนี้ ถามว่าเป้าหมายชีวิตของเธอต่อไปคืออะไร กุลวดีหยุดคิดชั่วครู่ ก่อนตอบว่า เธออาจเกษียณก่อนอายุ 60 เพราะตอนนี้ลูกๆก็เป็นผู้ใหญ่ ตัวเธอเองตอนนี้มีความสุขกับการหันมาลองทำสิ่งใหม่ๆ
“แต่ก่อนเพราะอยากอยู่กับลูก เลิกงานก็จะไม่ทำอะไร ไม่ไปไหน แต่ตอนนี้เขาไปเรียนต่อที่อังกฤษ เรามีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น เลยตัดสินใจลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เพราะคิดว่าถึงเวลาแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ยังตัดสินใจไปเรียนปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิดา)เพราะอยากรู้ลึกไปถึงโครงสร้างระบบราชการ ซึ่งพอได้มาเรียนก็ไม่ผิดหวังจริงๆ”
ด้วยหัวใจของพลังแห่งการเป็นแม่ ผสานกับความรักที่จะทำงานเพื่อสังคมนี้เอง ทำให้วันนี้กุลวดีรู้สึกขอบคุณโอกาสที่ได้เข้ามาทำงานที่โรงเรียนบางกอกพัฒนาเหลือเกิน เพราะคงไม่มีงานไหนจะทำให้เธอได้ใช้ทั้งหัวใจและความรักในการทำงานอย่างแท้จริง
“เรามีบุญที่ได้มาทำงานตำแหน่งนี้ เขาเห็นในความเป็นแม่ในตัวเราจริงๆจำได้ว่าตอนที่ผู้บริหารท่านก่อน หม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล เกษียณท่านพูดกับเราว่า ไม่ต้องคิดอะไรมาก พี่เข้ามาทำงานด้วยหัวใจของคนเป็นแม่ คุณก็เหมือนกัน คำพูดนี้สำหรับเรามันสะท้อนว่าเราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กนักเรียนที่เรารักได้รับในสิ่งที่ดีที่สุดควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อสังคมที่เรามีความสุข
...เราปวารณาตัวเองแล้วว่าจะทำงานช่วยเหลือสังคม แม้กระทั่งเกษียณตัวเองแล้วก็จะทำทั้งทางโลกและทางธรรม ภาวนาให้มีแรงกาย แรงใจ แรงกำลังทรัพย์ และยังมีความตั้งแต่ว่าถ้าเป็นไปได้จะตั้งสมาคมหรือมูลนิธิดูแลเด็กด้อยโอกาสต่อไป” กุลวดีกล่าวทิ้งท้าย