xs
xsm
sm
md
lg

ประเพณีขัดกันจึงได้เรื่อง! เทน้ำแกงราดหัวทูตพม่าไม่ยอมรับพระราชทานเลี้ยง! มอญกับไทยฟันกันเละเรื่องกินที่พื้นกับกินบนโต๊ะ!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

การแต่งกายของคณะทูตพม่าใน พ.ศ.๒๔๒๕
ประเพณี ก็คือความประพฤติที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน แต่ต่างสังคมประเพณีก็ต่างกันไป ถ้าคนที่ไปในต่างสังคมแล้วยังยึดประเพณีของตัวอย่างหัวชนฝา ไม่ยอมโอนอ่อนไปตามสถานการณ์ หรือไม่ยึดถือสุภาษิต “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ก็อาจจะพบกับเรื่องที่ไม่คาดคิดเข้าได้ อย่างเช่นเรื่องนี้
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ได้บันทึกเรื่องที่น่าตื่นเต้นของวงการทูตไว้เรื่องหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์พระองค์ที่ ๒๔ ของกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงกริ้วคณะราชทูตพม่าอย่างหนัก ถึงกับรับสั่งให้เอาน้ำแกงและกับข้าวทั้งหลายที่พระราชทานจัดมาเลี้ยง เทราดหัวราชทูตพม่าทั้งคณะ แล้วขับจากเมืองไป ในฐานที่มาเมืองไทยแล้วยังถือประเพณีพม่าอย่างเคร่งครัด

สืบเนื่องมาจากปี พ.ศ.๒๑๒๘ ซึ่งตรงกับศักราช ๑๐๐๐ ปีขาล บรรดาโหราพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตทั้งหลายได้ทำนายว่า จะเกิดกลียุคขึ้นในแผ่นดิน พระเจ้าปราสาททองจึงทรงคิดที่จะแก้เคล็ดในเรื่องนี้ ในที่สุดก็ค้นพบวิธีที่แยบยล โดยจะให้ลบศักราชเสียดื้อๆ

จาก “ปีขาล” จะให้เรียกเสียใหม่ว่า “ปีกุน”

ในเมื่อวันเดือนปีต่างก็เป็นเรื่องสมสติทั้งสิ้น เมื่อจะเกิดกลียุคในปีขาล ก็เรียกเสียใหม่ว่าปีกุน แค่นี้กลียุคก็วิ่งหาที่เกิดไม่เจอแล้ว

เมื่อมีพระราชดำริเช่นนี้ จึงทรงปรึกษาเสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตว่าจะเห็นเป็นประการใด ทุกคนต่างก็เห็นดีเห็นงาม กราบทูลว่า

“...ซึ่งทรงพระราชดำริดังนี้ เพราะทรงพระกรุณาแก่สัตว์โลก ได้ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะญาณ สัมปยุตอสังขาริก ประหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระทัยบำเพ็ญกุศล เป็นศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา อุปมาเหมือนเนื้อนาบริสุทธิ์อยู่แล้ว จึงจะหว่านพืชอย่างใดลงจะได้ผลเป็นแน่แท้ ซึ่งพระองค์ตั้งพระทัยจะลบศักราชให้ประชาราษฎร์เป็นสุขนั้น เห็นเทพเจ้าก็จะช่วยให้สมพระทัยปรารถนา”

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงฟังมุขมนตรีกราบทูลดังนั้น ก็มีพระทัยโสมนัสปราโมทย์ยิ่งนัก รับสั่งให้พฤฒาจารย์ผู้รู้ตำรับ ไปจัดตกแต่งพระราชพิธีลบศักราช
เมื่อไทยลบศักราชไปเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าปราสาททองทรงดำริให้พม่าลบเสียด้วย เพราะความจริงจุลศักราชนี้เป็นของพม่า เราเอาของเขามาใช้ จึงมีพระราชสาสน์ไปยังกรุงรัตนบุระอังวะ

“...เพื่อจะให้ทั่วประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวง เป็นบรมสุขสมบูรณ์ทั่วกัน ให้พระเจ้ากรุงอังวะและเมืองขอบขัณฑเสมาทั้งปวง ใช้ศักราชตามพระนครศรีอยุธยาลบนี้เถิด...”

ส่งพระราชสาสน์ไปแล้ว ๒ ปี ในศักราช ๑๐๐๒ ปีมะโรง พระเจ้ากรุงอังวะจึงส่งทูตนำพระราชสาสน์ตอบมา ในพระราชสาสน์นั้นว่า

“...ขอจำเริญทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงทวาราวดี ด้วยแจ้งกิตติศัพท์ไปว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นทิวงคตไปแล้ว พระองค์ขึ้นผ่านพิภพตามประเพณี มีพระเกียรติยศคุณยิ่งกว่ากษัตราธิราชแต่ก่อน ก็ประกอบด้วยปราสาททองแลเศวตกุญชรชาติตัวประเสริฐเป็นศรีเมืองนั้น ฝ่ายพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะมีความยินดีนัก บัดนี้ให้ทูตมาถวายข่าวพระศพตามประเพณี แลจำเริญทางพระราชไมตรีด้วย ประการหนึ่งซึ่งพระองค์จะให้ใช้ศักราชตามพระนครศรีอยุธยานั้น ฝ่ายกรุงพุกามประเทศและรามัญประเทศ ได้ใช้ศักราชเดิมหลายชั่วกษัตริย์มาแล้ว ครั้นจะใช้ตามมีพระราชสาสน์ไปนั้น เกรงจะฟั่นเฟือน ซึ่งพระเจ้ากรุงทวาราวดีลบได้ ก็ให้พระองค์ใช้เถิด...”

หมายความว่า พม่าไม่ยอมใช้ศักราชที่พระเจ้าปราสาททองลบด้วย ไทยอยากใช้ก็ใช้ไปเถอะ ที่ส่งทูตมานี้ก็เพื่อจะเคารพพระศพพระเจ้าทรงธรรมที่พม่าเพิ่งรู้ว่าสิ้นพระชนม์ ทั้งๆที่พระเจ้าทรงธรรมสวรรคตไป ๑๐ ปีแล้ว

พระเจ้าปราสาททองรับพระราชสาสน์แล้วก็ไม่พอพระทัย รับสั่งว่า

“อ้ายพม่ามันมิใช้ตามเราก็แล้วไป”

รับสั่งให้จัดการต้อนรับราชทูตพม่าตามประเพณี เมื่อเบิกคณะราชทูตเข้าถวายพระราชสาสน์ในท้องพระโรงแล้ว ฝ่ายไทยก็จัดสำรับคาวหวานเลี้ยงคณะราชทูตพม่าในท้องพระโรงนั้น แต่ฝ่ายพม่ากลับไม่ยอมแตะต้องอาหาร อ้างว่าตามธรรมเนียมประเพณีพม่า เมื่อไปเยี่ยมศพจะรับประทานอาหารไม่ได้ สมุหนายกได้นำความเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ ในตอนเย็นจึงรับสั่งให้จัดเลี้ยงคณะราชทูตพม่าอีกครั้ง ทั้งยังทรงให้ต่อว่าด้วยว่า ตามประเพณีไทยแล้ว เมื่อไปเยี่ยมศพเจ้าภาพจะจัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงให้อิ่มหนำ จึงได้ชื่อว่านับถือกัน ที่ไม่ยอมกินอาหารที่พระราชทานนี้ ไม่นับถือกรุงศรีอยุธยา หรือว่าสิ่งของที่พระราชทานนี้ไม่ดี สู้ของเมืองอังวะไม่ได้

แม้จะตั้งสำรับเป็นครั้งที่ ๒ และต่อว่าไปเช่นนี้ คณะราชทูตพม่าก็ยังถือประเพณีพม่าอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมแตะต้องอาหารพระราชทานอยู่ดี พระเจ้าปราสาททองที่ทรงขุ่นเคืองเรื่องไม่ยอมลบศักราชตามอยู่แล้ว จึงทรงกริ้วหนัก รับสั่งให้นำอาหารทั้งหมดเทราดหัวคณะราชทูตพม่า แล้วขับไล่ออกจากเมืองไป

พงศาวดารไม่ได้บันทึกเหตุการณ์หลังจากนี้ว่าพม่ามีปฏิกิริยาอย่างไร ก็คงเดินหัวโชกน้ำแกงไปอย่างไม่กล้าหือ เพราะในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองซึ่งครองราชย์อยู่นาน ๒๕ ปี ทรงมีอานุภาพที่เข้มแข็งเด็ดขาด เป็นที่ขยาดของสัตรูทั้งภายในและนอกประเทศ ไทยจึงอยู่อย่างสงบร่มเย็นและสร้างความเจริญก้าวหน้าได้ในยุคนั้น

อีกเรื่องหนึ่งเป็นประเพณีขัดกันระหว่างไทยกับมอญ เป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์เมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ มานี่เอง เมื่อนายมณี ศรมณี หนุ่มไทย เกิดไปพบรักกับนางสาวสมศรี ทองนิยม สาวมอญคนงามแห่งย่านถนนตก

อันที่จริงมอญกับไทยแม้จะเป็นคนละชาติคนละภาษา แต่ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมผูกพันกันมาแต่โบราณกาลเหมือนเป็นญาติพี่น้อง ความรักของหนุ่มไทยกับสาวมอญคู่นี้จึงไม่มีม่านประเพณีขวางกั้น ทำท่าว่าจะแฮปปี้เอนดิ้งด้วยดี มีกำหนดจัดงานวิวาห์ขึ้นในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๕ ซึ่งก็เป็นฤกษ์ดีที่ตรงกันทั้งไทยและมอญ
สถานที่จัดงานมงคลได้จัดขึ้นที่โรงเรียนประยงค์ ย่านถนนตก ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านเจ้าบ่าวและบ้านเจ้าสาว จนฤกษ์รดน้ำในเวลา ๑๖.๓๐ น.ผ่านไปก็ไม่มีอะไรขัดแย้งในด้านประเพณีมอญ-ไทย หลังจากนั้นก็ถึงรายการเลี้ยงฉลอง ฝ่ายญาติเจ้าสาวที่ยกขบวนกันมาจากพระประแดง ก็ยกขบวนออกจากสถานที่จัดงาน จะไปล้อมวงกันที่บ้านเจ้าสาว เจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวจึงเชื้อเชิญให้กินด้วยกันที่โรงเรียนสถานที่จัดงาน ซึ่งจัดโต๊ะอาหารไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ฝ่ายญาติเจ้าสาวบอกว่าประเพณีมอญต้องนั่งล้อมวงกิน จะนั่งโต๊ะแบบฝรั่งไม่ได้ ฝ่ายเจ้าบ่าวก็อ้างว่าบ้านเจ้าสาวคับแคบ ไม่สะดวกที่จะรับแขกจำนวนมาก ฝ่ายญาติเจ้าสาวก็ยังยืนยันว่าประเพณีมอญต้องนั่งล้อมวงกิน จะไม่ยอมนั่งโต๊ะแบบฝรั่ง ฝ่ายเจ้าบ่าวจึงว่าประเพณีเก็บเอาไว้ก่อนเถอะ เอาความสะดวกเหมาะสมดีกว่า ทันใดก็ได้ยินฝ่ายญาติเจ้าสาวร้องขึ้นว่า

“ถ้าประเพณีไม่สำคัญก็ฟันกันซีวะ”

ว่าแล้วยังรำดาบเข้าใส่ เรื่องอย่างนี้มีหรือพี่ไทยจะถอย ทั้งสองฝ่ายจึงตะลุมบอนกันท่ามกลางเสียงหวีดร้องของเจ้าสาวที่โผเข้ากอดเจ้าบ่าวไว้แน่น

เมื่อได้เลือดพอเป็นกระสายเซ่นประเพณีแล้ว นายเพิ่ม ทองนิยม พ่อของเจ้าสาว ก็กันญาติให้แปรขบวนออกจากงานไป ส่วนเจ้าสาวนั้นแกะเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหลุด เลยต้องปล่อยเลยตามเลย

เจ็บหนักที่สุดในงานนี้ เห็นจะเป็นนายสุดใจ คงอยู่ ฝ่ายเจ้าบ่าว เจ็บแค่ไหนก็ดูรูปประกอบเรื่องเอาเถอะ ถูกสับหน้าไปหลายฉึก ต้องวิ่งไปทำแผลที่โรงพยาบาลเลิดสิน แล้วกลับมาแจ้งความกับ ร.ต.ต.วิทย์ พิทักษ์สันติพันธ์ รองสารวัตร สน.วัดพระยาไกร ว่าประเพณีการกินของมอญกับไทย ขัดกันเป็นกากบาทแบบนี้แหละครับ ทั่นสารวัตร
นายสุดใจ คงอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น