xs
xsm
sm
md
lg

“ถ่ายภาพแนวสตรีท สนุกพอๆกับจับโปเกม่อน” เกรียงไกร ประทุมซ้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW--แม้จะยังไม่ทดลองเล่นเกมยอดนิยมที่กำลังอยู่ในกระแสอย่าง Pokémon Go อย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างไรก็ตามช่างภาพหนุ่มเจ้าของผลงานภาพถ่ายแนวสตรีท อ๋อม - เกรียงไกร ประทุมซ้าย คาดเดาว่าการถ่ายภาพของเขา น่าจะสนุกและต้องใช้พละกำลังพอๆกับจับโปเกม่อน เพราะการออกไปถ่ายภาพในแต่ละครั้ง นอกจากจะต้องอาศัยการเดินครั้งละหลายๆกิโลเมตร ตาก็ต้องคอยจับจ้องมองหาเป้าหมายอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน


อ๋อม เป็นชาว จ. บึงกาฬ เรียนจบศิลปะสาขาพิมพ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่หลายปีที่ผ่านมาความรู้ด้านศิลปะของเขาถูกระบายออกมาผ่านการถ่ายภาพมากกว่าการทำงานศิลปะเทคนิคภาพพิมพ์ ที่มีกระบวนการซับซ้อน

“ผมเริ่มถ่ายภาพจริงจังตอนที่ทำงานแล้ว สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้อยากถ่ายภาพคือตอนที่ทำงานในออฟฟิศที่ทำเกี่ยวกับการออกแบบโปสการ์ด และหนังสือ เจ้านายของผมเขาเป็นช่างภาพด้วย และผมมีหน้าที่นำภาพถ่ายของเขามาทำงานออกแบบ พอได้ดูผลงานของเขาบ่อยๆ ทำให้เราอยากถ่ายบ้าง และทำให้เราซื้อกล้องเป็นของตัวเอง เพื่อมาฝึกถ่ายภาพอย่างจริงจัง”

ในช่วงแรกที่ซื้อกล้องมา อ๋อมยังไม่รู้หรอกว่า จะเจาะจงถ่ายภาพอะไรเป็นพิเศษ นอกจากคว้ากล้องออกไปถ่ายในสิ่งที่ตัวเองสนใจทั่วไปๆ ได้แก่ ภาพพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ และภาพท่องเที่ยว จนความสนใจมีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ รวมถึงฝีมือในการถ่ายภาพก็พัฒนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งหันเหมาสนใจถ่ายภาพแนวสตรีท ดังที่กำลังสนใจอยู่ในปัจจุบัน

“จริงๆผมก็ไม่ได้มีความตั้งใจหรอกว่าจะต้องถ่ายภาพแนวสตรีท (street photography) แต่บังเอิญว่าเราถ่ายภาพแนวนี้มาตั้งแต่ที่ถ่ายภาพ โดยไม่ได้สนใจว่ามันเป็นแนวอะไร และยังไม่รู้จักกับภาพถ่ายแนวสตรีท จนมารู้ทีหลังว่าแนวที่เราถ่ายเขาเรียกว่าแนวสตรีทนะ ไปรื้อไปค้นไฟล์ภาพที่เราถ่ายเก็บไว้ เออ.. มันใช่”

สิ่งที่ดึงดูดใจให้อ๋อมอยากยกกล้อง หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือขึ้นมาบันทึกภาพในแต่ละครั้ง “ด้วยความที่เราเรียนจบศิลปะมา สิ่งที่เราสนใจถ่ายจะเป็นพวกเส้น สี แสง และเงา หรือว่าพวกเส้น จังหวะ และองค์ประกอบที่มันแปลกๆ มีคนอยู่ตรงนั้นตรงนี้ มีความเป็นกราฟิก พอนานวันเข้าภาพของเรามันก็เริ่มมีความหมายแทรกเข้ามา จากที่ถ่ายเพราะสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า เช่น เส้นสวยดี เงาสวยดี เราก็เริ่มมองเห็นว่าถ้าอันนั้นกับอันนี้มาอยู่คู่กันในภาพของเรา มันน่าจะทำให้คิดไปได้ หรือว่าเกิดเรื่องราวใหม่ขึ้นมา”


หลังจากเคยทำงานประจำมาระยะหนึ่ง ปัจจุบันอ๋อมมีอาชีพเป็น Freelance ทำงานด้านออกแบบ แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ทำงานประจำ หรือทำงานอิสระ เขาจะจัดสรรเวลาเพื่อให้ตัวเองได้ออกไปถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอ

“คือจะตั้งใจเลยว่าวันนี้ต้องไปถ่ายภาพนะ และไปโซนไหน เดินไปเจออะไรก็ไปคิดเฉพาะหน้าตรงนั้น บางเวลาเลือกมุมที่จะถ่ายได้แล้ว แต่ก็ต้องรอเวลา รอจังหวะ เพราะมันน่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น หรือไม่พอเดินไปเห็นก็ต้องรีบถ่ายตอนนั้นเลย”

อ๋อมบอกถึงเคล็ดลับในการได้มาซึ่งภาพถ่ายแนวสตรีทที่ตัวเองพอใจว่าขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยด้วยกัน

“1.เราต้องมีจินตนาการ 2.บางทีต้องอาศัยความไว เพราะบางเหตุการณ์มันเกิดขึ้นเพียงชั่งขณะ ดังนั้นเราต้องคิดให้ทัน ต้องถ่ายให้ทัน ต้องเซ็ทกล้องให้ทัน 3.ดวง ก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่ทำให้เราต้องมาเจอเหตุการณ์ที่ทำอยากจะถ่ายภาพในแต่ละครั้ง”


เวลานี้การถ่ายภาพสำหรับอ๋อมพัฒนามาถึงจุดที่ว่า ให้ความสุขและสนุกไม่แตกต่างจากการได้ไปท่องเที่ยว ดูภาพยนตร์ เดินห้างสรรพสินค้า และกิจกรรมอื่นๆที่คนทั่วไปทำแล้วมีความสุขในวันหยุดพักผ่อน

“แต่ของเราเลือกออกไปถ่ายภาพ เพียงแค่หนึ่งวันที่เราออกไปถ่ายภาพแล้วได้ภาพที่เราพอใจกลับมาหนึ่งภาพเพื่อเก็บเข้าแฟ้มภาพ วันนั้นเราก็จะพอใจมาก มีความสุขมากแล้ว

กรณีของผมซึ่งถ่ายภาพแนวสตรีท อันดับแรกเราได้พาตัวเองออกไปข้างนอก ได้ไปเจออะไรใหม่ๆ ได้ไปเที่ยว และยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีมากครับ เพราะบางวันผมต้องเดิน 5-6 กิโล(เมตร) น่าจะสนุกและใช้แรงมากพอๆกับเล่นเกมโปเกม่อน และการถ่ายภาพแนวสตรีทมันทำให้เราสนุก ตื่นเต้น พบกับความท้าทายว่าวันนี้เราจะได้เจออะไร เราจะได้ภาพกลับมาไม๊ บางวันอาจจะไม่ได้เลย แต่ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ การได้ออกไปถ่ายภาพ ได้เที่ยว มันก็คือความสุขที่เราพึงพอใจที่จะทำ”

นอกจากนี้การถ่ายภาพและการเป็นช่างภาพยังเป็นสิ่งที่อ๋อมตั้งใจอยากทำและเป็นไปตลอดชีวิต

“เป็นช่างภาพเป็นได้ตลอดชีวิต” ไม่ใช่คำที่กล่าวขึ้นเพียงลอยๆ อ๋อมบอกว่าค่อนข้างจริงกับคำกล่าวนี้ของตัวเอง

“คนที่เขาชอบอะไรบางอย่าง พอถึงช่วงเวลาหนึ่งต้องหยุดทำ ทำต่อไม่ได้ อาจจะด้วยวัยด้วยสังขารที่เป็นอุปสรรค แต่การเป็นช่างภาพผมรู้สึกว่า แค่เราถือกล้องหรือมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือ เราก็ถ่ายได้แล้ว ไม่มีเกษียณ เรามีความสุขที่ได้ถ่ายภาพ

และอยากบอกคนอื่นๆต่อๆกันไปด้วยว่าอยากให้ทุกคนถ่ายภาพ และมีความสุขกับการถ่ายภาพ มันให้ความสุขกับเราได้ทั้งชีวิต คุณอาจจะไม่ถ่ายภาพแนวสตรีทเหมือนผมก็ได้ อาจจะถ่ายภาพคนในครอบครัว หรือคนที่คุณรัก

ไปไหนก็มีความสุขกับการถ่ายภาพได้ เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปเที่ยวไกลๆ ถึงจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ เราเดินออกมาปากซอยเราก็สามารถถ่ายภาพได้แล้ว หรือแม้แต่เวลาไปทำงาน ภาพถ่ายของผมหลายๆภาพ ได้มาในช่วงที่เดินทางไปทำงาน หรือสิ่งรอบๆตัวเรา ถ้าเราพยายามมองหา มันอาจจะทำให้เราอยากถ่ายภาพ”


(นัย)ความจริง หรือ UN(REAL) คือชื่อนิทรรศการแสดงเดี่ยวภาพถ่ายครั้งแรกในชีวิตของอ๋อม กำลังจัดแสดงให้ชมระหว่างวันนี้ - 28 สิงหาคม พ.ศ.2559 ณ People's Gallery ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นอกจากสื่อว่าภาพถ่ายชุดนี้มี ความจริง(REAL)ในแง่ที่เป็นภาพถ่ายแนวสตรีท ช่างภาพจับภาพจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นบนท้องถนน สถานที่ต่างๆ หรือในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ได้มีการจัดฉาก ยังมี ความไม่จริง(UN REAL)ซ้อนทับอยู่ในภาพถ่ายแต่ละภาพด้วย

“ความหมายที่มันเกิดมาในภาพ ที่มันซ่อนอยู่ ผู้ชม ชมแล้วเกิดจินตนาการหรือเกิดความหมายอื่นขึ้นมามากกว่าภาพที่เห็น มากกว่าเหตุการณ์จริง ในความจริง มีความไม่จริง เหมือนชื่อภาษาไทยของนิทรรศการครั้งนี้ ในความจริงมันมีนัยซ่อนอยู่"

ตัวอย่างเช่นภาพถ่ายผู้ชายต่างวัยสองคน กำลังนั่งก้มหน้าอยู่กับสมุดที่ใช้ขีดเขียนและโทรศัพท์มือถือ บนเก้าอี้ยาวคนละตัวใกล้ๆกันบริเวณแอร์พอร์ตลิงค์รามคำแหง เจ้าของผลงานรู้สึกว่ามันคือการมาพบกันของคนสองยุค

“ภาพนี้มีความบังเอิญหลายอย่าง ตอนแรกที่คิดจะถ่ายมองภาพรวมเรารู้สึกว่าองค์ประกอบมันสวยดี พอสักพักเราสังเกตเห็นว่าผู้ชายซ้ายมือกำลังนั่งเขียนอะไรบางอย่าง ซึ่งทุกวันนี้เป็นภาพที่หาพบได้น้อยมาก คนที่มานั่งเขียนหนังสือตามที่สาธารณะ ขณะที่ผู้ชายคนอายุน้อยกว่า กำลังเล่นโทรศัพท์ มันคือตัวแทนของคนยุคปัจจุบันที่คนก้มหน้าจิ้มมือถือ มันเลยเหมือนว่า คนยุคอนาล็อกกับยุคดิจิตอลมาพบกัน แถมเก้าอี้ที่พวกเขานั่ง ตัวหนึ่งก็เก่าคร่ำคร่า อีกตัวยังมีสภาพใหม่เอี่ยม คนหนึ่งผมหงอก อีกคนหนึ่งผมดำ ผมมีความรู้สึกว่าภาพนี้สมบูรณ์มากในความรู้สึกเรา และมีคนชอบภาพนี้หลายคนมาก”

และตัวอย่างภาพถ่ายชายและหญิงใส่เสื้อสีเดียวกัน แต่ไม่ได้มาด้วยกัน กำลังใช้บันไดเลื่อนที่กำลังเลื่อนไหลสวนทางกันบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ

“ภาพนี้มันเกิดจากความรู้สึกที่เราชอบเรื่องเส้นเรื่องสีที่มันเกิดขึ้นในภาพ เส้นสีเหลืองๆบนพื้นสีเทาของบันไดเลื่อนเรารู้สึกว่ามันเป็นกราฟิกที่เราชอบ เราก็จินตนาการว่า ถ้าได้ภาพคนมาเพิ่มเนื้อหาเข้าไป มันน่าจะทำให้ภาพน่าสนใจขึ้น แตกต่างขึ้น ดังนั้นก่อนจะเก็บภาพ เราก็รอจังหวะให้มีคนเดินขึ้นบันไดเลื่อนมา บังเอิญว่ามีคนใส่เสื้อเหลืองสองคนใช้บันไดเลื่อนพร้อมกัน พอเขาเลื่อนผ่านกัน แถมมีหน้าตาเฉยเมย มันทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่สามารถคิดต่อไปได้ รวมถึงคิดไปถึงชีวิตของคนที่อยู่บนสายพาน”

รวมถึงภาพถ่ายที่ถูกใช้เป็นภาพประชาสัมพันธ์นิทรรศการ ขณะที่อ๋อมยกกล้องเพื่อถ่ายภาพนี้เพราะภาพเหตุการณ์ที่เห็นอยู่ตรงหน้าในเวลานั้น ชวนให้นึกไปถึงผลงานภาพถ่ายบางภาพของ Henri Cartier-Bresson ช่างภาพชาวฝรั่งเศส หนึ่งในสองช่างภาพแนวสตรีทยุคก่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้กับอ๋อมในการถ่ายภาพ นอกเหนือจาก Vivian Maier ช่างภาพสตรีทในร่างพี่เลี้ยงเด็ก ที่เมื่อปลายปี 2557 ชาวไทยหลายคนมีโอกาสชมสารคดีชีวิตของเธอผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Finding Vivian Maier : คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์”

“Henri Cartier-Bresson หรือ HCB เป็นช่างภาพสตรีทยุคเก่า ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผมในเรื่องมุมมอง เรื่องการจับจังหวะคน ภาพที่ผมใช้โปรโมทนิทรรศการ มีบางส่วนที่ผมจินตนาการไปถึงงานของเขาเหมือนกัน

ส่วน Vivian Maier นอกจากผมจะชอบผลงาน เห็นว่าผลงานน่าสนใจ ผมยังชอบวิถีชีวิตของเขาด้วย มันคล้ายๆกันกับเรา ตรงที่เขาถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน เขาเลี้ยงเด็กไปด้วย ถ่ายภาพไปด้วย เหมือนกับผมที่ทำงานออกแบบไปด้วย ถ่ายภาพไปด้วย”

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ








ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น