xs
xsm
sm
md
lg

ดอยธิเบศร์ ดัชนี “สูญเสีย แต่ไม่เสียศูนย์''

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์ ดัชนี
 
ถูกวงสังคมจับตามองไม่น้อย กับภาระอันยิ่งใหญ่ ที่ ม่องต้อย-ดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทคนเดียวที่ต้องสืบทอดเจตนารมณ์ดูแลรักษา พิพิธภัณฑ์บ้านดำ สถานที่รวบรวมจิตรกรรม-ปฏิมากรรม ของอัครศิลปินชื่อดังระดับตำนาน อ.ถวัลย์ ดัชนี ผู้เป็นพ่อ ทิ้งไว้ให้เป็นมรดก แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ก็พอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขาคนนี้มีน้ำยาพอที่จะดูแลสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ ไม่ให้กลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำ หรือตำนานประวัติศาสตร์ศิลปะที่สืบทอดไปสู่ชั่วลูกชั่วหลาน

 
สัมผัสแรกภายในบ้านหลังเล็กย่านชานเมืองนนทบุรี ของ ดอยธิเบศร์ ดัชนี อันเป็นสถานที่นัดหมาย เพื่อพูดคุยเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับชีวิตของเขาในช่วงปีที่ผ่านมา ล้วนอัดแน่นไปด้วยความเก๋ไก๋ ข้าวของทุกชิ้นที่ถูกนำมาตกแต่ง ทำให้เราได้เสพกลิ่นอายศิลปะ รวมถึงพอจะจินตนาการอารมณ์ความลุ่มลึกของเขาได้เป็นอย่างดี
ชายหนุ่มยิ้มเล็กน้อยก่อนเชื้อเชิญให้เรานั่ง แล้วเขาก็เริ่มต้นออกตัวก่อนว่าเป็นคนที่ค่อนข้างมีหลายพาร์ตในตัวเอง ตอนนี้ก็ทำงานหลายอย่าง ส่วนหนึ่งเป็นศิลปินอิสระและเป็นอาจารย์พิเศษ อีกส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอก และยังต้องดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านดำ รวมถึงงานของบริษัท L’Artisan (ลาร์ติซอง) ที่รับผลิตงานทุกอย่างเกี่ยวกับ "ศิลปะ"

“ผมทำแบบนี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แบ่งเวลาได้หมด เรียน ทำงาน สอนหนังสือ และงานศิลปะ ตอนพ่อจากไปอาจจะหนักหน่อย ตรงที่เรามีภาระต้องดูแลบ้านดำให้สืบทอดต่อไป”

 
ดอยธิเบศร์ยอมรับว่า หลังสูญเสียพ่อไป ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก แรงปะทะทั้งจากงานประจำ งานด้านการเรียน รวมถึงงานศิลปะของพ่อ ถาโถมเข้ามาจนเขาเริ่มรู้สึกท้อใจ เพราะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักประคับประคองตัวเองไม่ให้ “เสียศูนย์” ได้ โดยเริ่มค้นหาตัวเองด้วยการไปปฏิบัติธรรมเพื่อไปพักจิต ก่อนกลับมาสู้ใหม่ พร้อมกลับมายึดคำสอนพ่อ “ให้เปลี่ยนพลังความทุกข์ให้เป็นงาน

“ผมเชื่อว่าถ้าเราคิดเป็นมีทัศนคติบวกสิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้ หลายคนห่วงว่าผมจะจัดการกับสิ่งที่พ่อสร้างไว้ต่อไปอย่างไร ผมรู้สึกว่าหลายคนยังไม่รู้จักผม เพราะจริงๆ แล้วผมกับพ่อจะรู้กันดีว่าเราคิดอะไร แล้วเราจะทำอะไร เราไม่ใช่ว่าปุบปับผมไปสานงานต่อจากพ่อหลังจากที่พ่อจากไปแล้ว แต่ผมทำมาก่อน ทำมาตลอดชีวิตและรู้ว่าควรจะทำอะไร นี่คือสาเหตุที่ผมต้องไปเรียนหลักสูตรพิพิธภัณฑ์มาโดยตรง ต้องมาริเริ่มสร้างสรรค์หรือต้องมาทำบ้านดำแกลอรี่ ผมต้องมาทำเว็บไซต์ ต้องทำของทำโน่นนี่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราจะต้องทำอะไร แล้วเราจะทำอย่างไรให้บ้านดำอยู่ได้”

 
เพราะบ้านดำเป็นเสมือนลมหายใจของ “พ่อ” ที่ยังคงเหลืออยู่ให้เขาดูแล ดอยธิเบศร์จึงนำความรู้ที่มีทั้งหมด เพื่อใช้บริหารจัดการบ้านดำในแบบของตัวเอง “จริงๆ บ้านดำมีมา 40 ปีแล้ว แต่ไม่ได้สร้างรายได้หรือไม่มีอะไรสักอย่าง ฉะนั้น มีแต่รายจ่าย ซึ่งในอนาคตผมก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อย่างไร”

“แกลอรี่” ที่ดอยธิเบศร์สร้างขึ้น จึงเป็นส่วนที่เขาหวังสร้างรายได้เพื่อนำมาหล่อเลี้ยงและต่อลมหายใจของบ้านดำ โดยบ้านดำจะมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ กับส่วนที่เป็นแกลอรี่ที่เขาสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นที่แสดงรูปและขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงเจ้าหน้าที่และคนงาน ทั้งนี้ เพราะพิพิธภัณฑ์บ้านดำไม่เก็บค่าเข้า

ชายหนุ่มเล่าอีกว่า การสร้างเป็นสิ่งที่ยากแต่การรักษาเป็นสิ่งที่ยากกว่า เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร จุดประสงค์ลึกๆ ของเขาคือ อยากให้พิพิธภัณฑ์บ้านดำเป็นชุมชนศิลปะครบวงจร ไม่ใช่นักท่องเที่ยวไปแค่ถ่ายรูปแล้วก็จากไป สมัยก่อนคนที่มาเที่ยวบ้านดำ ก็ไม่สามารถเข้าไปในบ้านเพื่อดูรูป ซึ่งเป็นผลงานของถวัลย์ได้

“ผมที่ซื้อที่ดินเปล่ามาสร้างแกลอรี่ ตอนนั้นก็ติดลบ ไม่มีเงินก็กู้ สร้างแกลอรี่ขึ้นมา ก็ได้แกลอรี่เปล่ามาไม่มีของขาย ต้องขอภาพเขียนของพ่อมารูปหนึ่งติดไว้ให้คนได้ดู วัตถุประสงค์คือ อยากให้คนมาแล้วได้เห็นรูป ที่มาแล้วไม่ได้เข้าไปดูรูป เนื่องจากเราไม่สามารถเปิดบ้านทุกหลังได้ เพราะไม่มีคนดูแล ก็เลยนำรูปออกมาจัดแสดง ตอนนี้เรามีอยู่ 4 หลัง คือ 3 หลังใส่รูปทำเป็นอาร์ตสเปซ ซึ่งประกอบด้วย อาร์ติสต์เรสซิเดนซ์ อาร์ตไลบรารี่ ร้านกาแฟ แล้วก็สิ่งต่างๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับงานศิลปะทั้งหมด มันจะเป็น one stop service ของศิลปะ ส่วนอีกหนึ่งหลังเป็น Shop ให้คนได้ซื้อของกลับบ้าน”

 
ทายาทคนเดียวของอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ยังคาดหวังอีกว่า เขาจะทำบ้านดำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติ ทั้งในเรื่องของภาพ การจัดเก็บ ระบบการรักษาความปลอดภัย “อันนี้เป็นความตั้งใจที่จะทำมาตั้งแต่พ่อยังอยู่ เราพยายามทำในส่วนของเราให้มากที่สุด ถึงตอนนี้ก็ทำต่อไป”

ภาระที่ดูจะหนักอึ้ง ทำให้เราอดถามถึงแรงกดดัน ในฐานะลูกชายของศิลปินแห่งชาติ ที่สร้างเรื่องราวมากมายในวงการศิลปะมากน้อยเพียงใด ดอยธิเบอศร์ ยอมรับว่า มากมายจนเขาไม่สามารถบอกได้ว่า มันมีแรงกดมหาศาลขนาดไหน

“ผมเคยมีความรู้สึกว่า ตัวเองเหมือนเต่าที่แบกกระดองไว้ มันหนักสาหัสเหลือเกิน แต่ไม่สามารถที่จะเลือกได้ เพราะติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ปมคิดแบบนี้หมดไป เพราะวันหนึ่งผมเปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยมองว่า กระดองเต่าอันนี้เป็นสิ่งที่ปกป้องคุ้มครองผม มันไม่ได้เป็นภาระ ถ้าเราไม่ได้คิดว่าเป็นภาระมันก็ไม่เป็น ทุกอย่างอยู่ที่เราคิด” ดอยธิเบศร์กล่าวทิ้งท้าย

เรื่อง  เดียว 
ภาพ   เอ
 
กำลังโหลดความคิดเห็น