เชียงราย - ช่างแกะสลักไม้ชื่อดังเชียงราย ผู้ผลิต “กระบวยไม้แกะสลักมีชีวิต” ส่งขายทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ยก “บ้านตัวเอง” ให้ อปท.-กระทรวงท่องเที่ยวฯเปิด “ศูนย์อนุรักษ์ฯ” โชว์ศิลปะไม้แกะสลักมีชีวิตหนึ่งเดียวในโลก พร้อมเร่งมือแกะลวดลาย “วัดร่องขุ่นจำลอง” ให้เคลื่อนไหวประกอบเสียง “อ.เฉลิมชัย” ตั้งโชว์ด้วย
วันนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกวัน “สล่าคำจันทร์ - นายคำจันทร์ ยาโน” วัย 56 ปี สล่าดังอีกคนหนึ่งของเชียงราย ที่มีชื่อเสียงและฝีมือด้านแกะสลักไม้มีชีวิต จะนั่งลงมือแกะสลัก “วัดร่องขุ่นจำลอง” ณ “ศูนย์อนุรักษ์แกะสลักไม้พื้นบ้าน บ้านถ้ำผาตอ หมู่ 6 ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย อย่างขะมักเขม้น ซึ่งที่นี่เคยเป็นบ้านของเขาเองด้วย
โดยจำลองวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายให้เป็นผลงานไม้แกะสลักมีชีวิต ด้วยการนำไม้มาแกะสลักเป็นอุโบสถขาวที่มีลวดลายและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมพร้อมสรรพ
สล่าคำจันทร์ระบุว่า กำลังเตรียมจะใส่กลไกเพื่อให้วัดร่องขุ่นจำลองมีการเคลื่อนไหวประกอบเสียงอาจารย์เฉลิมชัยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะด้วย
นอกจากนี้ ภายในศูนย์ฯยังมีผลงานทางศิลปะไม้แกะสลักและอื่นๆ อีกมากมาย หลายชิ้นมีผู้สั่งจองเอาไว้แล้วและหลายชิ้นสล่าคำจันทร์ ยืนยันจะเก็บเอาไว้เพื่อจัดแสดงสำหรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามอุดมการณ์เดิมต่อไป
ทั้งนี้ นายคำจันทร์ ยาโน วัย 56 ปี หรือสล่าคำจันทร์ ได้ปักหลักผลิตชิ้นงานศิลปะอยู่ที่บ้านของตัวเองที่บ้านถ้ำผาตอง ม.6 ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย ซึ่งนอกจากจะพัฒนาผลงานการแกะสลักไม้มีชีวิตดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดตั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์แกะสลักไม้พื้นบ้านแล้วได้บริจาคพื้นที่ให้กับเทศบาล ต.ท่าสุด และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อการพัฒนาศูนย์ โดยที่ “สล่าคำจันทร์” เองก็ย้ายจากบ้านไปนอนพักอยู่ภายในศูนย์ด้วย ซึ่งคนที่เคยเดินทางแวะชมจะได้เห็นผลงานต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นกระบวยมีชีวิต ยุทธหัตถี ฯลฯ ซึ่งแต่ละชิ้นงานมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ แกะสลักอย่างปราณีตและรวมชิ้นมาตกแต่งบนฐานไม้หนา 50 ซม.สูง 80 ซม. และยาว 120 ซม.เมื่อกดปุ่มผลงานชิ้นต่างๆ ก็จะเคลื่อนไหวประกอบเสียงเป็นเรื่องราวตามที่ศิลปินต้องการนำเสนอ จนเป็นที่น่าสนใจสมกับที่ได้รับการยกย่องว่าไม้สลักมีชีวิต
สล่าคำจันทร์กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นเริ่มต้นสร้างชิ้นงานไม้กระสลักมีชีวิต เริ่มจากกระบวยมีชีวิต ซึ่ง “ปู่แสง ลือสุวรรณ” ผู้เป็นตา เคยเป็นช่างหรือสล่า ทำกระบวยขาย ต่อมาได้พบกับอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติชื่อดังชาวเชียงรายอีกคนหนึ่งจึงได้รับคำแนะนำให้ทำเป็นกระบวยที่มีลูกเลื่อนให้ขยับได้ แล้วอาจารย์ถวัลย์จะรับซื้อเอง ทำให้ “ปู่แสง” เริ่มผลิตชิ้นงานและถ่ายทอดฝีมือมาสู่ตน
ขณะเดียวกัน ตนเองมีชีวิตอยู่ในชนบทมาตั้งแต่เด็กจึงอยากเห็นวิถีชีวิตที่ตนสัมผัสสามารถถ่ายทอดออกมาผ่านงานแกะสลักไม้ได้อย่างมีชีวิต จึงได้คิดค้นเป็นกลไกขับเคลื่อนจนกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาก็ได้ทำผลงานมากมายและจำหน่ายทั้งภายใน-ต่างประเทศ กระทั่งปัจจุบันเห็นว่าสถานที่ที่ตนเคยตั้งอุดมการณ์เอาไว้ว่าจะสร้างเป็นศูนย์อนุรักษ์แกะสลักไม้พื้นบ้าน น่าจะดำเนินการได้แล้ว จึงได้บริจาคบ้านที่อาศัยให้เป็นศูนย์ฯ โดยมีข้อตกลงในการบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ภายในศูนย์ก็จะมีการจัดแสดงผลงานการแกะสลักไม้พื้นบ้านต่างๆ แล้วยังมีการผลิตชิ้นงานในลักษณะสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านที่ต้องการฝึกฝน หรือมีความชำนาญแล้วอยากมีรายได้ โดยที่ผ่านมาตนก็ปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด โดยแบ่งงานให้แก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งเคยมีคนมาร่วมเรียนรู้กันมาก เมื่อชำนาญแล้วก็แยกย้ายกันออกไปรับงานเป็นของตัวเอง กระทั่งปัจจุบันเหลือคนที่ทำงานด้วยกันประมาณ 3-4 คนแล้วแต่โอกาส
“ศูนย์ฯ นี้เดิมผมตั้งใจจะทำเป็นรูปทรงหม้อน้ำใบใหญ่ตั้งไว้บนเนินเขานี้ แต่เมื่อมอบให้แก่เทศบาลฯ และมีการของบประมาณไปยังกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งได้รับแจ้งจะได้รับงบประมาณเบื้องต้นในปี 2559 ประมาณ 5 ล้านบาทแล้ว ก็จำเป็นต้องปรับแบบเป็นรูปทรงเหลี่ยม แต่ก็คงใกล้เคียงกับหม้อน้ำอยู่ ภายในมีการจัดแสดงดังกล่าว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีและตั้งใจจะให้เป็นสถานที่สืบสานเล่าเรื่องราวของไม้แกะสลักพื้นบ้านต่อไป” สล่าคำจันทร์กล่าว