xs
xsm
sm
md
lg

ดร.เกษมสันต์ วีระกุล คุณพ่อ AEC ผู้ปลุกกระแสอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


>>ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมาคนไทยเริ่มตื่นตัวกับการเตรียมตัวก้าวเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” หรือที่เราคุ้นหูกับคำว่า “AEC” กันมากขึ้น โดยหนึ่งในผู้ที่ปลุกกระแสให้ทุกคนตื่นตัวไปกับคำว่า AEC นั้นก็คือ “ดร.เกษมสันต์ วีระกุล” นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง AEC จนได้รับสมญานามว่า “มิสเตอร์ AEC” ซึ่งนอกจากบทบาทเด่นเรื่อง AEC แล้ว ยังมีอีกบทบาทนั่นคือการเป็นคุณพ่อที่มอบความรักและความใส่ใจกับลูกสาว 100%

ชีวิตพาร์ตแรกของมิสเตอร์ AEC ที่เราได้รับเกียรติจาก ดร.เกษมสันต์ วีระกุล มานั่งพูดคุยกับเราในครั้งนี้คือบทบาทของนักวิชาการที่คอยให้ความรู้ในเรื่องของ AEC ไม่ว่าจะเป็นรายการวิทยุ โทรทัศน์ คอลัมน์หนังสือพิมพ์ ทุกอย่างล้วนมีแกนกลางคือเรื่องของ AEC

“ตอนนี้ทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทางช่อง 3 เป็นรายการสดออกอากาศทุกวันจันทร์-อาทิตย์ แล้วก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของ AEC ในส่วนที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ โดยแรงบันดาลใจที่มาทำเรื่องเกี่ยวกับ AEC เพราะช่วงชีวิตหนึ่งเคยไปคลุกคลีอยู่กับเรื่องการเมืองก็เลยได้เห็นว่าเมืองไทยไม่มีการวางยุทธศาสตร์ ไม่มีการเตรียมตัวเรื่องประชาคมอาเซียนอย่างจริงจัง จึงเป็นคนแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาทำ มาพูดเรื่องนี้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว และก็ปรากฏว่าวันนี้เป็นวันที่ทุกคนตื่นตัวเกี่ยวกับ AEC มาก ซึ่งความหมายจริงๆ ของ AEC คือ Asian Economic Community เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ที่เราพยายามช่วยเหลือภาครัฐ เพราะบางสิ่งเราอาจได้ทำการค้นคว้ามาแล้วก็นำมาเสริมกับการทำงานของหน่วยงานองค์กร กระทรวงต่างๆ ได้ จนตอนนี้ภาพของ AEC กลายเป็นภาพที่ติดมากับตัวผมแล้ว”

นอกจากการหาความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของ AEC งานบรรยายก็ยังเรียกได้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตงานของ ดร.เกษมสันต์ เพราะเขาเป็นอาจารย์ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้และมีวิสัยทัศน์ที่เป็นที่ยอมรับ

“เวลาผมไปประเทศเพื่อนบ้าน ผมมักจะชอบเรียนรู้เรื่องสังคมวัฒนธรรมของเขาด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบ หลายครั้งที่มีคนมาเชิญไปบรรยาย หรือปาฐกถาพิเศษ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่จะได้เล่าเรื่องที่ผมไปพบไปเจอมา แต่ด้วยภารกิจหลายๆ อย่างทำให้รับงานการบรรยายได้น้อยลง ทุกวันนี้นอนเที่ยงคืน ตื่นตี 2 ทุกวัน คือเรานอนวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเป็นอย่างนี้มา 2 ปีแล้ว เพราะมีสิ่งที่เราต้องสะสางมากมาย

ขอพูดในเรื่องเทรนด์ AEC ที่กำลังจะเข้ามาในบ้านเรา ลองมาวิเคราะห์กันทีละด้าน หากเปรียบประเทศไทยเป็นร่างกาย วันนี้เมืองไทยเราแย่นะ “สมอง” ไม่ค่อยดี เราใช้เงินกับเรื่องการศึกษาเยอะเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่สมองเด็กไทยวันนี้แพ้สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี “ตา” เราก็ไม่ดีเพราะเราไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะวางแผนระยะยาว “แขน-ขา” ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน 5 ตัว ที่ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ถนนหนทาง รางรถไฟ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา สาธารณสุข ก็ยังกระท่อนกระแท่น “หลัง” เราก็ไม่ดีเพราะเรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ “มือ” เราก็ไม่สะอาดเพราะยังมีการคอร์รัปชัน ถ้าเป็นคนก็เรียกได้ว่าอ่อนแอ แต่จังหวะที่จะเป็นประชาคมอาเซียนนี้ เป็นจังหวะที่เราจะปรับตัว แก้ไขสิ่งมาดี ฉวยจังหวะนี้ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองเรา เกาะเกี่ยวตรงนี้เพื่อให้เราฟื้นได้เร็ว ผมมองว่า AEC เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ปฏิรูป ปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด กำหนดยุทธศาสตร์ เดินหน้ากันเต็มที่”

จากการที่ได้เดินทางเยอะ ทำให้ ดร.เกษมสันต์มีความเข้าใจวัฒนธรรมและเข้าใจวิธีคิดของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบตัวเรามากขึ้น จึงนำมาประยุกต์กับการใช้ชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นกำไรที่ได้จากการเดินทาง

“ตอนนี้คนชอบเรียกผมว่าเป็น มิสเตอร์ AEC เวลาผมเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ผมมักจะเอาของดีของเขามาเล่าให้คนไทยฟัง คนไทยจะได้รู้จักเพื่อนบ้านมากขึ้น อะไรที่เราต่อยอดจากตรงนี้ได้ เช่น ถ้าพาธุรกิจไทยไปบุกตลาดอาเซียนได้ผมก็อยากทำ ถ้าเอาของดีๆ ขึ้นมาวางยุทธศาสตร์แล้วปรับก็น่าจะทำ”

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการที่คนคนหนึ่งที่มีความรับผิดชอบในหลายๆ ด้านจนเหลือเวลานอนเพียง 2 ชั่วโมงต่อวันจะยังคงมีความจำและสมองที่ปราดเปรื่องอยู่ได้ตลอดทั้งวันที่ลืมตา แต่นั่นมาจากการสะสมฝึกฝนมาตั้งแต่สมัยเด็กจนเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ติดตัวเขามา

“ผมถูกฝึกให้นั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่เคร่งธรรมะมาก ตอนเด็กๆ สมัย ป.3-4 เป็นตัวแทนที่ไปนั่งสมาธิให้พระดู เพราะเราเป็นคนที่นั่งได้นาน จนถูกเอาไปเป็นตัวอย่างให้พระใหม่ๆ ดูว่า ถ้าเด็กน้อยคนนี้นั่งได้ พระท่านก็ต้องนั่งได้ ฉะนั้นสิ่งที่ผมได้จากการนั่งสมาธิก็คือ ผมเป็นคนที่มีสมาธิดีมากคนหนึ่ง ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ หรือคุยกับใครผมจำได้หมด ถือเป็นกำไรชีวิตที่อ่านหนังสือได้เร็วและอ่านแล้วจำได้ดี

และเมื่อมีสมาธิเราก็รู้จักวางเป็น อยู่กับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ดังนั้นจึงเป็นคนที่หลับได้สนิท ต่อให้มีปัญหาหนักแค่ไหนก็ตาม ทำให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพ หลับลึก สามารถนอน 2 ชั่วโมงได้ทุกวัน เพราะผมรู้จักวางปัญหา แต่ถ้าวันว่างๆ จริงๆ ก็สามารถนอนดูหนังอยู่บ้านแล้วก็สามารถนอนหลับได้เหมือนกัน เป็นอย่างนี้มานานแล้ว นั่นคือชีวิตผม แต่เป็นคนมีความสุขกับชีวิตแบบนี้

ผมว่าการมีสมาธิเป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้เราสามารถมุ่งมั่นกับงานแต่ละชิ้นได้ ทุกวันนี้สมาธิเกิดขึ้นจากทุกการกระทำของเรา รู้ตัวอยู่ทุกขณะจิต แต่ถ้ามีสมาธิแล้ววางไม่เป็น ชีวิตหนักอยู่นะ ผมโชคดีที่วางเป็น เลยไม่ค่อยทุกข์ร้อนเท่าไหร่”

และอีกหนึ่งเคล็ดลับหน้าเด็กที่ ดร.เกษมสันต์ บอกกับเราแบบไม่กั๊กก็คือเรื่องของการออกกำลังกาย เพราะในช่วงหนุ่มๆ เขาเองก็เป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย ทั้งเคยเป็นนายกสมาคมสควอชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จากการออกกำลังกายนั้นจึงส่งผลมาจนถึงปัจจุบันให้ดูหน้าอ่อนกว่าวัย

จะว่าไปแล้วชีวิตของ ดร.เกษมสันต์ เท่าที่เรารู้จักเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ชีวิตผ่านอะไรมาเยอะ แต่เขากลับบอกกับเราว่า “รู้สึกว่าเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก” แม้ว่าช่วงที่มีปัญหาเรื่องครอบครัวหนักๆ แต่ก็ยังบอกทุกคนว่า “ผมมีความสุขที่สุดในโลก”

“ผมว่าความสุขมันอยู่ที่ใจ อยู่ที่วิธีคิด เราลองคิดในสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขตลอดเวลา ก็เลยทำให้ผมดูหน้าอ่อนมั้ง (หัวเราะ) ถามว่าดุมั้ย..ดุ เครียดมั้ย..เครียด แต่ผมมีความสุขในทุกอย่างที่ตัวเองทำ”

และในพาร์ตสำคัญที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือ บทบาทหน้าที่ของการเป็นพ่อของน้องต้นข้าว-ศิริมานี วีระกุล ซึ่งแม้ว่าทุกวันนี้อาจจะไม่ได้เจอลูกสาวทุกวัน แต่เขาก็เป็นคนปูพื้นฐานสำคัญให้กับลูกสาว ราวกับเป็นการเตรียมปั้น “เกษมสันต์” คนที่ 2 เอาไว้

“ตอนนี้ลูกสาวอายุ 16 แล้ว ผมแต่งงานมา 7 ปี หย่ามา 9 ปีแล้ว ก่อนหน้าจะหย่าผมเลี้ยงลูกเอง 24 ชั่วโมง ลูกนอนกับผม ตื่นมาอาบน้ำให้ลูก ป้อนข้าวลูก ไปรับส่งลูกไปโรงเรียน นอนกับลูกทุกคืน เล่านิทานให้ลูกฟัง นิทานก็เป็นนิทานแต่งเอง เพราะว่าผมอ่านหนังสือเยอะก็จะมีเรื่องเล่าให้ลูกฟัง เป็น 7 ปีที่เราสามารถให้กับลูกได้เต็มๆ เพราะช่วงนั้นเราทำธุรกิจส่วนตัว ฉะนั้นเรื่องเวลาก็ไม่ใช่อุปสรรค อย่างที่ทราบว่า 7 ปีแรกของเด็ก เป็นปีที่เราต้องวางพื้นฐานให้กับลูก ฉะนั้นผมจะคอนเนกต์กับลูก 100%

ตอนหย่ากันใหม่ๆ ภาพดูเหมือนจะวุ่นวายแต่ผมก็ยังรับส่งลูกทุกวัน สังคมจะคิดอย่างไรผมไม่สน ผมเอาลูกผมเป็นหลัก กระทั่งหลังๆ ได้เจอลูกแค่อาทิตย์ละวัน ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ผมก็จะไปรับลูกที่เรียนพิเศษ แล้วก็ไปทำกิจกรรมที่เขาอยากทำ เช่น ไปดูหนัง กินขนมอร่อยๆ กัน บางอาทิตย์เขาต้องแข่งกีฬา ผมก็ไปเชียร์ที่สนามกีฬา ตอนนี้เริ่มเป็นสาวก็จะมุ่งไปที่การเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย”

วิธีในการเลี้ยงลูกนั้นมีหลายวิธี แต่สำหรับคุณพ่อ AEC คนนี้ มักจะมีเรื่องราวน่ารักๆ มาสอดแทรกให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของลูก กระทั่งสั่งสมให้น้องต้นข้าว ลูกสาวคนเดียวเป็นเด็กที่มีความเข้มแข็ง

“ผมมีวิธีของผมเช่น เวลาเล่านิทานตอนเด็ก ผมจะมีตัวละครสมมติชื่อ “ต้นแข่ว” เป็นอีกมิติของต้นข้าว “ต้นข้าว” จะเป็นเด็กดี “ต้นแข่ว” จะเป็นเด็กดื้อ พอเล่าๆ ไปสุดท้ายต้นแข่วก็จะจบไม่ค่อยสวยตลอด ฉะนั้นเขาจะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แล้วเขาควรจะเลือกเป็นตัวไหนดีกว่ากัน

นอกจากนั้นผมเลี้ยงลูกให้รู้ว่าความมีวินัยและขอบเขตอยู่ที่ไหน ลูกผมไม่เคยไปกรีดร้องจะเอาของ เขาอยากเรียนรู้ก็ปล่อยเขาซึ่งผมจะท้าทายเขาตลอดเวลา การเลี้ยงลูกเราต้องรู้อารมณ์ รู้จังหวะเขา รู้ว่าเราต้องคุยกับเขาอย่างไร มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาไม่สบายเป็นผื่น หมอต้องเจาะเลือด ซึ่งเรารู้ว่าเขาเจ็บ ผมนั่งกอดลูก แล้วก็อธิบายว่าเพราะหนูไม่สบายต้องเจาะเลือดให้หมอไปตรวจ เจ็บหน่อยนะ ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราก็ไม่หาย อยากร้องไห้ร้องเลย พ่ออยู่นี่ แต่ถ้าหนูทนได้ก็ไม่ต้องร้อง สุดท้ายตอนเจาะเขาก็ไม่ร้องแค่น้ำตาคลอๆ”

จากความสนิทสนมและเอาใจใส่ลูกอย่าง 100% นี่เองทำให้ลูกสาวยกย่องให้คุณพ่อเกษมสันต์เป็นฮีโร่ของลูกสาว จนคุณพ่อเองยิ้มแก้มปริเมื่อได้รู้ความรู้สึกของลูกสาวที่มีต่อเขา

“ผมเป็นคุณพ่อที่เชื่อใจลูก เชื่อในความคิดของลูกสาวให้เขามีความเป็นตัวของตัวเอง โดยผมจะให้ข้อมูล แล้วให้ลูกตัดสินใจเอง อยากเรียนอะไรก็แล้วแต่ ไม่เคยคิดว่าลูกต้องเรียนเก่ง ผมแค่อยากให้เขามีความสุขในชีวิต แต่มีอะไรเขาจะปรึกษาตลอด มีเรื่องที่เขาแอบทำเพราะอยากให้เราภูมิใจ เช่นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วครูให้เขียนบทความเรื่อง “ฮีโร่” เขาก็เขียนเรื่องพ่อ ในมุมที่ผมเองก็ไม่คิดว่าเขาจะรู้สึกอย่างนี้ เขาดีใจมากที่แม้ว่าผมจะงานยุ่งแต่ผมก็ยังสามารถให้เวลากับเขาได้ทุกครั้งที่เขาต้องการ

ฉะนั้นเวลาที่เราอยู่ด้วยกันเป็นเวลาคุณภาพ เราเจอกันอาทิตย์ละวันแต่เราก็จะคอยแทรกเรื่องการใช้ชีวิตและแนวคิดเข้าไป เช่น เราสอนให้ลูกรู้คุณค่าของเงิน แล้วก็ฝึกให้ลองตั้งงบประมาณในการใช้ชีวิต เช่นเวลาจะไปซื้อของกัน ผมก็จะบอกว่ามี budget เท่าไหร่ ผมไม่ได้สปอยล์ลูก แต่เราสอนให้เขาเข้าใจคุณค่าของของสิ่งนั้น เช่น นาฬิกา ถ้าคุณค่าของมันคือบอกเวลาตรง จะเรือนละ 2,000 หรือเรือนละ 2 ล้าน ค่าเท่ากัน ถ้ามีเงินเยอะใส่ 2 ล้านก็ไม่เป็นไรก็คงจะน่ารักดี แต่ถ้ามี 2,000 ใส่เรือนละ 2,000 ก็ไม่ควรจะอายที่ตัวเองใส่เรือนละ 2,000 เพราะยังไงก็บอกเวลาตรงเหมือนกัน”

แม้ว่าในวันนี้ทั้งสองพ่อลูกจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน เจอกันเพียงอาทิตย์ละครั้ง แต่ในเรื่องของความรู้สึกทั้งคู่คอนเนกต์กัน 100% ราวกับอยู่ด้วยกัน ส่วนเรื่องของความห่วงใยตามประสาพ่อลูกนั้น คุณพ่อเกษมสันต์บอกว่าอนาคตคือชีวิตของเขา แต่สิ่งที่พ่อตั้งใจและทำมาตลอดคือให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณพ่อเกษมสันต์ก็จะคอยเป็นแบ็กอัพให้ลูกสาวตลอดไป :: Text by FLASH

กำลังโหลดความคิดเห็น