xs
xsm
sm
md
lg

[เซเลบแฝด] ธันยทิพย์ - ทิพย์ธันยา วัลยะเสวี เราถูกสร้างมาเพื่อกันและกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>45 วินาที อาจเป็นเสี้ยววินาทีสั้นๆ ที่ไม่มีความหมายสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับ “แพรว-ธันยทิพย์” และ “พราว-ทิพย์ธันยา วัลยะเสวี” นี่คือเสี้ยววินาทีที่แสนมีค่าของทั้งคู่ เพราะคือช่วงเวลาที่สองสาวลืมตาดูโลกห่างกันเท่านั้น

ในความเป็นพี่น้องฝาแฝด แม้เธอทั้งสองจะเป็นแฝดที่หน้าตาไม่เหมือนกันเลย แต่ความรักความผูกพันที่ทั้งคู่มีต่อกันกลับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าฝาแฝดคู่อื่น เวลาร่วม 20 ปีที่ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกัน หลอมหลวมให้พี่น้องที่อายุต่างกันเพียงเสี้ยววินาที กลายเป็นทั้งเพื่อน ทั้งพี่น้อง และเงาของกันและกันอย่างไม่รู้ตัว ชนิดที่คิดภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าวันนั้นเธอต้องออกจากท้องแม่ แล้วลืมตาดูโลกเพียงลำพัง โลกในวันนี้ของเธอจะเป็นอย่างไร จากนี้คือ เรื่องราวสุดมันส์ตามประสาพี่น้องฝาแฝดที่เล่าไม่รู้จบของทั้งคู่

แพรว-ธันยทิพย์ แฝดผู้พี่พาย้อนวันวานไปในอดีตว่า เนื่องจากคุณแม่ตั้งท้องยาก หลังจากมีลูกชายคนโตแล้ว ท่านจึงตัดสินใจทำกิฟต์โดยเลือกเพศว่าอยากได้ลูกสาว แต่ท่านไม่ได้เจาะจงว่าจะให้เป็นลูกแฝด สุดท้ายปรากฏว่า ตอนทำกิฟต์ไข่ติดมา 2 ฟอง ทุกวันนี้เราเลยมีพี่น้อง 4 คน พี่ชาย 1 คน น้องสาวอีก 1 คน

“ตอนคลอดคุณแม่ใช้วิธีผ่าคลอด เราเกิดห่างกัน 45 วินาที พราวเลยยกให้แพรวเป็นพี่แต่เราก็ไม่ได้เรียกกันว่าเป็นพี่หรือน้องนะ เราโตมาเหมือนเป็นเพื่อนกันมากกว่า” พราว แฝดผู้น้องเล่าเสริมแฝดผู้พี่อย่างออกรส

แพรวบอกว่า ตั้งแต่เด็ก โลกของเธอทั้งคู่ก็มีแต่กันและกันมาตลอด ตั้งแต่เรียนโรงเรียนเดียวกัน นอนห้องเดียวกัน ไปไหนก็ไปด้วยกัน ตอนเด็กๆ คุณแม่จับแต่งตัวเหมือนกัน

“ถามว่าอยู่ด้วยกันตลอดมีงอนหรือทะเลาะกันบ้างมั้ย ด้วยความที่พราวจะดูลอยๆ เอื่อยเฉื่อยไป บางทีแพรวงอน พราวก็ไม่รู้ จนแพรวก็หายงอนไปเอง”

“จริงๆ เป็นเทคนิคนะ (หัวเราะ) บางทีพราวก็รู้ว่าเขางอนแต่บางทีก็ไม่รู้จริงๆ ค่ะ” พราวถือโอกาสเสริม

ด้วยความรักและผูกพันที่มีต่อกันมาตั้งแต่เยาว์วัยนี้เอง ทำให้แม้วันนี้ทั้งคู่จะออกเดินตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง มีบางเวลาไม่ได้อยู่ข้างกายเป็นเงากันเหมือนสมัยก่อน แต่ความห่วงใยที่มีให้กัน ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง

“มีช่วงนี้แหละค่ะที่เราห่างกันมากที่สุด เพราะว่าพราวเขาเรียนหมอต้องไปอยู่หอกลับบ้านแค่เสาร์-อาทิตย์ บางทีหลายสัปดาห์กว่าจะกลับ เรียกว่าเป็นครั้งแรกที่เรียกว่าเราทั้งคู่ห่างกัน แต่ก็ยังโทรศัพท์หากันตลอด เวลาใครมีปัญหาก็โทรศัพท์มาปรับทุกข์กัน” แพรวบอกพร้อมเสริมว่า “เราต่างเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของกันและกัน แค่มองหน้าก็รู้แล้วว่าอีกคนคิดอะไร สมมติเห็นเขาทำหน้าแบบนี้ก็รู้แล้วว่าเป็นอะไร แต่ไม่ได้มีเซนส์ถึงกันขนาดว่าคนหนึ่งป่วยอีกคนจะป่วยด้วย

เพื่อพิสูจน์ความซี้ปึ้กของทั้งคู่ พราวไม่น้อยหน้า ออกตัวว่า ทั้งคู่ไม่มีความลับต่อกันเลย อาจจะมีบางเรื่องที่คิดว่าไม่พูดก็ได้ อยากเก็บไว้คนเดียว แต่ทุกเรื่อง แฝดผู้พี่จะรู้เยอะสุด หรือถ้ามีบางเรื่องถ้าไม่พูดกับใคร คือจะเก็บไว้ไม่พูดเลย ไม่มีทางที่คนอื่นรู้แล้วแฝดอีกคนจะไม่รู้

อย่างที่เกริ่นไว้แล้วว่า สองสาวเป็นคู่แฝดที่หน้าตาไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นเรื่องบุคลิกของสองสาวที่แม้จะโตมาในหลังคาเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน ยังต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถึงขนาดแฝดผู้พี่อย่างแพรวยังยอมรับว่า เคยนั่งคิดเล่นๆ เหมือนกันว่า ทำไมทั้งคู่ถึงต่างกันได้ขนาดนี้

“ความจริง เราก็ต่างกันทั้งบ้านเลยนะ ไม่เฉพาะเรา แต่ก็ต้องยอมรับว่า เราเป็นแฝดที่ไม่เหมือนคู่ที่เป็นแฝดแท้ หน้าตาเหมือนกัน พราวมีเพื่อนที่เรียนหมอเป็นแฝดแท้นะ เขาเล่าให้ฟังว่า เขาจะรู้สึกถึงกันได้ เหมือนมีอะไรที่เขาสื่อกันอยู่ พราวเคยถามเค้าว่าเป็นยังไง เขาก็บอกว่าบทจะรักกันจะรู้เลยว่าอีกคนอยู่ที่ไหน ทำอะไร บทจะตีกัน ก็ตีกัน”

พราวพยายามไขปริศนาความต่างของทั้งคู่ พร้อมให้คำจำกัดความของตัวตนของอีกฝ่ายที่ไม่เหมือนกันเลยว่า “แพรวไม่ใช่ผู้หญิงหวานนะ ภายนอกอาจดูเป็นคนที่เข้มแข็ง แต่ข้างในจิตใจบอบบาง แตกต่างกับพราวที่จะดูลอยๆ คนภายนอกอาจจะดูว่าเราอ่อนแอ นิ่งๆ เรื่อยเปื่อย เป็นคนซอฟต์ๆ ไม่มีเรื่องกับใคร ไม่โกรธใคร แต่จริงๆ เวลามีอะไร เราจะเป็นฝ่ายที่เข้มแข็ง”

สอดคล้องกับความเห็นของแพรว ที่ยอมรับว่า พราวอ่านตัวตนของเธอออกอย่างทะลุปรุโปร่ง พร้อมสำทับว่า ถ้าอยู่เฉยๆ พราวอาจจะเหมือนเป็นคนที่อ่อน ยอมทุกคน แต่เวลาเรามีปัญหาหรือเวลาที่แพรวท้อมากๆ พราวจะกลายเป็นคนที่เข้มแข็ง

ถามให้คิดเล่นๆ ว่า ถ้าตอนนั้น ทั้งคู่เกิดมาเป็นฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกันจะเป็นอย่างไร ทำเอาสองพี่น้องกลั้นหัวเราะไว้ไม่อยู่ และพราวรีบออกตัวเลยว่า “เคยคิดนะ แต่อย่าเหมือนกันเลย เดี๋ยวผู้ชายสับสน แล้วต้องแย่งกัน (หัวเราะ)”

ขณะที่พราวเสริมว่า เท่าที่เป็นอยู่ยังมีคนทักชื่อผิดตลอด ทั้งที่เขารู้ว่าแพรวคือแพรว แต่จะเรียกว่าพราว

นอกจากบุคลิกภายนอกที่ต่างกันเลย ความชอบของทั้งคู่ ก็ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทั้งคู่มองว่าเป็นโชคดีที่ทำให้ไม่ต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกัน พราวบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เคยเอาเราสองคนไปเปรียบเทียบ ยิ่งพอเราขึ้น ม.ปลาย แพรวก็ย้ายไปเรียนสายศิลป์ พราวเรียนสายวิทย์ ยิ่งเปรียบเทียบไรกันไม่ได้

“ตอนเด็กๆ คุณแม่จะให้เรียนทุกอย่าง จนกว่าจะรู้ว่าเราชอบอะไร เรียนเปียโน เรียนวาดรูป แล้วพอรู้ว่าอันไหนไม่ชอบค่อยเลิกเรียนไป อย่างพราวเลิกเรียนวาดรูปไปก่อน เพราะเขาไม่ชอบ แต่แพรวกลับชอบวาดรูป” แพรวกล่าวเสริม

อีกอย่างที่สองสาวต่างกันเหลือเกินคือ สไตล์การแต่งตัว ขณะที่แพรวจะชอบแต่งตัวสไตล์เนี้ยบๆ แต่พราวจะชอบลุคเซอร์ๆ ถามว่ามียืมเสื้อผ้ากันใส่บ้างมั้ย แพรวบอกว่า มีบ้าง แต่เสื้อตัวเดียวกัน ทั้งคู่ก็เลือกหยิบมาใส่ในสไตล์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยความชอบที่ต่างกันนี้เอง ทำให้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต ทั้งคู่จึงแยกกันเดินไปตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง

เริ่มจากแพรว ตอนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอมีทางเลือกให้ตัวเอง 3 ทาง หนึ่ง คือ คณะเศรษฐศาสตร์แต่โจทย์ของเธอคือต้องไปเรียนต่างประเทศเท่านั้น เพราะเห็นว่าบัณฑิตที่จบเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทยมีเยอะแล้ว แต่ทางบ้านไม่เห็นด้วย ฝันนี้เลยพับไป ฝันต่อมาคืออยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะชอบถ่ายรูปเป็นทุนเดิม แต่สุดท้ายก็พบว่าอาชีพผู้กำกับต้องดูงานในภาพรวม ไม่ได้มองทุกอย่างพร้อมหน้ากล้องอย่างเดียว คำตอบสุดท้ายจึงมาอยู่ที่สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

“แพรวเลือกเรียนสถาปัตย์ เพราะชอบวาดรูปเป็นทุนเดิม และเป็นคณะที่ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ แต่แพรวเรียน 5 ปี เพราะตอนแรกเข้าไปเรียนด้านออกแบบภายในก่อน แล้วไม่ชอบ เลยย้ายมาเรียนสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่โอนหน่วยกิตแทบไม่ได้ เลยเหมือนต้องเริ่มใหม่ สุดท้ายพอจบมา แพรวก็ไม่ได้ทำงานตรงสาย เพราะรู้ตัวตั้งแต่เรียนแล้วว่า ไม่อยากทำงานในสายนี้ ประกอบกับช่วงที่ลองทำธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้าเด็กจากจีน มาขายออนไลน์ แพรวสนใจด้านตลาดออนไลน์ เลยมาทำงานเป็นดิจิตอล มาร์เกตติ้ง”

ส่วนพราวเลือกเรียนที่วิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะมุ่งมั่นอยากเป็นหมอ ทั้งที่สอบติดคณะสหเวชศาสตร์ของจุฬาๆ ก็ยังอยากตามความฝันของตัวเอง พราวเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่อยากเรียนหมอว่า เกิดจากตอนอยู่ ม.ปลาย ได้มีโอกาสไปดูงานนิทรรศการของศิริราช แล้วเห็นว่าน่าสนใจ ดูน่าสนุก หลังจากนั้นได้ไปคุยกับคุณลุงที่เป็นหมอโรคหัวใจเห็นว่าคนไข้รักคุณลุงมาก คุณลุงเป็นหมอที่ดี เลยประทับใจ และอยากเป็นคุณหมอที่ดีบ้าง

“ตอนที่พราวบอกว่าจะเรียนหมอ ทุกคนที่บ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะดีเหรอคุณลุงก็เตือนนะว่า เรียนหนักมาก แต่พราวก็ดื้อจะเรียน ทั้งที่ติดสหเวชศาสตร์ สาขาโภชนาการ แพรวก็เชียร์ให้เรียน เพราะเห็นว่าพราวชอบทำอาหาร ชอบชิม พราวก็ไม่เอา พอมาเรียนหมอก็หนักจริงๆ แต่ก็จะจบปีหน้าแล้วค่ะ”

ด้านแพรวเสริมว่า ตอนนั้นเราไม่ได้กลัวว่าเขาจะทำไม่ได้นะ เพราะเวลาพราวทำอะไร เขาจะเต็มที่ขยันมาก อ่านหนังสือถึงตี 3 ตี 4 จนกว่าจะเข้าใจทุกอย่าง แพรวกลัวว่าเขาจะเครียดมากกว่า เลยถามไปว่า จะดีหรือ?

ถามถึงความประทับใจต่อกันในฐานะคู่แฝด พราวบอกว่า เราเหมือนเป็นเงาของกันและกัน แต่ต่างคนต่างมีสเปซของตัวเอง ไม่ว่าเรื่องอะไรเราก็คุยกันได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสนิทกันมากกว่าการเป็นพี่น้องทั่วไป สำหรับคู่เราความเป็นพี่เป็นน้องอาจไม่ได้รุนแรงว่า แพรวเป็นพี่ต้องเสียสละให้พราว

“เขาเหมือนเพื่อนที่เรารู้ว่าเขาคงไม่เลิกคบเรา อย่างที่พราวว่า คู่เราไม่ได้จริงจังว่าใครเป็นพี่เป็นน้อง แต่พอโตขึ้นทำงานได้ พราวก็มีโมเมนต์อยากดูแลนะ พอทำงานแพรวจะถามพราวว่ามีเงินใช้พอป่าว เดือนนี้เราก็ให้เงินเขาใช้ เพราะเรามีรายได้แล้ว” พราวกล่าวทิ้งท้าย

Same Same But Different

ตอนไหนที่เราคิดว่าเราเหมือนกันที่สุด?

แพรว : ตอนนี้ค่ะ ตอนเด็กๆ เราไม่เหมือนเลย ตอนเกิดมาพราวไม่มีผมเลย ส่วนแพรวผมฟู แพรวจะเหมือนพ่อ ส่วนพราวจะเหมือนแม่
พราว : ตอนนี้ก็ไม่เหมือนนะ แต่ก็เหมือนที่สุดแล้วจริงๆ

เปรียบเทียบกันและกันเป็นของสักอย่างในชีวิต?
พราว : แพรวคือห้องน้ำ ที่สามารถปรับทุกข์ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ที่ให้ความสุขเราได้ เหมือนเวลาเราได้อาบน้ำก็สบายตัว
แพรว : พราวเหมือนเตียงนอน ช่วงกลางวันออกไปไหนมาไหน เราอาจไม่ได้เจอกัน แต่กลับมาบ้านเหนื่อยๆ ก็นอนพักได้ เป็นคอมฟอร์ตโซน รู้ว่าพูดอะไรเขาจะไม่ตัดสินเรา :: Text by FLASH
กำลังโหลดความคิดเห็น