11th Anniversary Celeb Online Magazine
ในโอกาสครบรอบ 11 ปี พบกับสัมภาษณ์พิเศษเซเลบริตี้คู่แฝดที่ประสบความสำเร็จ 11 คู่ ตลอดเดือนตุลาคมนี้
>>“พร้าว-พงศ์ศิษฎ์” และ “ไผ่-พงศ์วรุฒน์ ปังศรีวงศ์” หนุ่มน้อยวัย 22 ปี ทายาทของเครือเกษมกิจ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง อย่างโรงแรมในเครือเคปและแคนทารี่ เป็นฝาแฝดที่แม้ภายนอกดูแตกต่างจนไม่เหมือนแฝด แต่เมื่อได้พูดคุยกับทั้งคู่แล้ว คุณจะพบว่าทั้งสองมีอะไรเหมือนกันมาก ชนิดที่อีกฝ่ายสามารถต่อประโยคให้กับอีกคนได้อย่างต่อเนื่องราวกับเป็นคำพูดของคนคนเดียวกัน
“เราสนิทกันสุดๆ และต่างรู้ความลับของกันและกันทุกเรื่อง ไม่มีอะไรปกปิดกัน ผมคิดหรือรู้สึกอะไร เขาจะรู้หมด และมักจะคิดอะไรตรงกัน ซึ่งบางทีก็รู้สึกแปลกเหมือนกัน เวลามองดูเขาเหมือนกับเห็นเราอีกร่างหนึ่งเลย” ทั้งคู่เอ่ยให้เรารับรู้ถึงความใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวของความเป็นแฝดให้ฟัง แต่กว่าที่ทั้งสองจะรู้ซึ้งถึงความผูกพันและคุณค่าแห่งความสัมพันธ์นี้ก็ต้องใช้ความห่างของระยะทางเข้ามาเป็นตัวช่วย
โดยเป็นระยะเวลากว่า 18 ปี ที่เขาเติบโตมาอย่างที่แทบจะเรียกได้ว่าตัวติดกันตลอดเวลา โดยพร้าวและไผ่เรียนที่โรงเรียนจิตรลดาจนอายุ 8 ขวบ แล้วจึงย้ายไปประเทศอังกฤษ โดยช่วงแรกอยู่โรงเรียนประจำ Cothill House เมือง Oxfordshire จนอายุ 13 ปีก็สอบเข้าอีตัน โรงเรียนชายล้วนชั้นนำของโลก ก่อนแยกย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยคนละทวีปกัน
ไผ่ที่ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปเรียนต่อที่พรินซ์ตัน (Princeton) มหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีกของสหรัฐอเมริกาเล่าให้ฟังว่า “ผมอยากหาอะไรใหม่ๆ อยากออกจาก Comfort Zone เปลี่ยนบรรยากาศไปเรียนรู้สังคมอื่นบ้าง ก็เลยมองไปที่สหรัฐอเมริกา โดยเลือกเรียนทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แนวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
ส่วนพร้าวเรียนต่อมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ทางด้านปรัชญาศาสนาและต่อปริญญาโทด้านภาษาสันสกฤตและประวัติศาสตร์เอเชียใต้ “ขณะที่คนรุ่นใหม่หลายคนมองข้ามเรื่องศาสนาหรือคิดว่าไม่น่าสนใจ แต่ความเป็นจริงแล้ว ประชากรโลก 7 พันล้านคน มีกว่า 5 พันล้านที่ยังนับถือศาสนาอยู่ เฉพาะฮินดูก็มีเป็นพันล้านแล้ว พุทธเองก็หลายร้อยล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดความเชื่อและวัฒนธรรมผ่านทางศาสนาทั้งนั้น
และเราจะเข้าใจศาสนาอย่างลึกซึ้งไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจแนวคิดที่แท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกแปลกันมาหลายต่อหลายทอดจนผิดเพี้ยนไปมาก ดังนั้น ผมถึงอยากเรียนภาษาสันสกฤตซึ่งจะทำให้เราศึกษาเรื่องศาสนาและประวัติศาสตร์นี้ได้จากแก่นแท้ด้วยตัวเอง ไม่ได้อยากรับสารมือสอง มือสามที่แปลมา แถมภาษาสันสกฤตถือเป็นรากฐานของอารยธรรมเอเชียใต้ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย”
เห็นเรียนวิชาแปลกขนาดนี้ เลยแอบสงสัยไม่ได้ว่ามีเพื่อนร่วมชั้นสักกี่คน (พอได้ยินคำถามปุ๊บ น้องไผ่ก็อมยิ้มขึ้นมาทันที) “ตอนปริญญาตรีในคณะมีประมาณ 70 คน ส่วนปริญญาโทมีพร้าวเรียนคนเดียว (หัวเราะ) วิชานี้หลายคนอาจจะคิดว่าเรียนไปทำไม ทำอาชีพอะไรได้ แต่สำหรับผมแล้วเลือกในสิ่งที่เราอยากรู้ สิ่งที่น่าสนใจ ไม่ได้มองว่าต้องเรียนเพื่อหางาน เพราะคุณพ่อคุณแม่สอนเสมอว่า ไม่ว่าจะเรียนอะไร ถ้าคุณรู้จริง เก่งจริง ยังไงก็มีงานทำ ซึ่งผมเห็นด้วยนะ จุดหมายมันไม่ใช่แค่เนื้อหา เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อมาทำงานทุกอย่างคือการใช้ประสบการณ์ มันเรียนรู้กันได้ แต่สิ่งที่เราจะได้จากมหาวิทยาลัยคือระบบวิธีคิดมากกว่า”
ทางแฝดน้องกล่าวเสริมว่า “ผมเองก็เลือกจากความชอบ โดยเรียนด้านการเมือง เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ สนใจในเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ผมพูดฝรั่งเศสและสเปนได้ ทำให้อ่านหนังสือพวกศิลปะ และวรรณกรรมได้สนุกมากเลย ตอนนี้ก็อยู่ปี 4 ใกล้จบแล้วครับ ช้ากว่าพร้าวหน่อยเพราะระบบการเรียนของสหรัฐอเมริกาต้องเรียนนานกว่า”
ความแตกต่างของสองประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องระยะเวลาการศึกษา แต่ทั้งวัฒนธรรม สภาพสังคมล้วนต่างกันมาก “ช่วงแรกก็ต้องปรับตัวเยอะมาก คนอังกฤษมีความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ค่อยยุ่งเรื่องคนอื่นแต่ถ้ารู้จักดีแล้วจะเป็นเพื่อนกันยาวนาน แต่คนอเมริกันจะ Friendly กว่า แต่กลับไม่ได้ผูกพันอะไรกันมาก ยิ่งในเรื่องทัศนคติด้านการศึกษาต่างกัน ที่อังกฤษไม่ว่าจะหลักสูตร วิธีคิด เน้นรู้ลึกรู้จริง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะออกแนวกว้าง รู้เยอะไม่เน้นลงลึกเท่า
หรืออย่างสไตล์ของมหาวิทยาลัยก็ต่างกัน ที่พรินซ์ตันทุกคนจะมี Stereotype มีกฎธรรมเนียมมากมาย พยายามสร้างตัวตนที่แบบมองปุ๊บแล้วต้องรู้ว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยนี้นะ มีอีโก้ ภาคภูมิในสถาบันสูงและก็แสดงออกมาก ซึ่งเราไม่ชอบอะไรแบบนี้เลย ไม่ชอบคนทำตัวเป็นไฮไซ แบบชั้นเหนือกว่า เก่งกว่า เพราะผมว่าคนมีดีจริงไม่ต้องแสดงออกเยอะหรอก”
“จริงครับ...พร้าวเห็นคนไปเรียนใส่สูท ผูกเนกไท แต่งตัวเนี้ยบมาก ขนาดเวลามีงานเลี้ยงบาร์บีคิวเล็กๆ แต่ละคนก็ยังแต่งกันเต็มจนผมตกใจว่าทำไมต้องขนาดนั้น ยิ่งพอมามองทางเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่า 700 ปี แต่ทุกคนทำตัวแบบตามสบายมาก ไม่มีใครให้ความสนใจกับอะไรพวกนี้ บางทีเจอคนแต่งตัวแบบรุงรังไปเรียนก็มี ถึงขนาดที่ว่าเคยมีอาจารย์คนหนึ่งของแผนกสันสกฤต คนเห็นแล้วเข้าใจผิดว่าเป็นคนจรจัดแอบเข้ามาในมหาวิทยาลัย แล้วโทรศัพท์แจ้งตำรวจจับก็มีมาแล้ว (หัวเราะ)”
แม้จะผ่านมา 4 ปีแล้วที่ทั้งคู่ต้องอยู่ห่างกันคนละทวีป แต่ความผูกพันของฝาแฝดคู่นี้กลับยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น โดยพร้าวเล่าให้ฟังว่า “แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันทำให้เราติดต่อกันได้ง่ายขึ้น พูดคุยกันได้ตลอดเวลาแต่มันก็ไม่เหมือนเวลามีเขาอยู่ข้างๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้อาจจะด้วยความที่เราโตมาด้วยกันตลอด มันเลยทำให้เราไม่รู้สึกถึงความสำคัญของเขา แต่พอห่างกันมันรู้สึกเลยว่าเหมือนอะไรมันหายไป มันไม่ใช่ความรู้สึกคิดถึงนะ มันเป็นอะไรที่แปลกกว่านั้น”
“ใช่เลย อย่างช่วงแรกๆ ที่ห่างกัน ตอนผมเดินออกจากห้องพัก แล้วมันจะรู้สึกเหมือนลืมอะไรสักอย่าง พยายามเช็กดูแล้ว กระเป๋าตังค์ก็ไม่ใช่ โทรศัพท์มือถือก็อยู่ครบ อะไรที่มันขาดไป คือเขานั่นเอง รู้สึกไม่ปกติเหมือนขาดเราไป หรือขาดแขนซ้ายไป” ไผ่กล่าวเสริม
พร้าวกล่าวต่อว่า “ผมว่าการเป็นแฝดมันเป็นอะไรที่พิเศษมากนะ เพราะมันไม่ใช่แค่ความเป็นพี่น้อง แต่มันมีความเป็นเพื่อนด้วย เพราะเราอายุเท่ากัน เรียนรุ่นเดียวกัน พึ่งกันได้ตลอดเวลา อยู่ด้วยกันตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกนะ จะมีแต่ทะเลาะกันมากกว่า พวกผมทะเลาะกันได้ทุกเรื่อง มีถึงขั้นลงไม้ลงมือกันก็มี เพราะมันไม่มีความเกรงใจกันไง ไม่ใช่แบบพี่น้องที่ต้องเคารพอาวุโสกัน แล้วก็ไม่ใช่เพื่อน ที่กลัวว่าเดี๋ยวเขาโกรธแล้วจะเลิกคบเรา แต่แฝดกันยังไงมันก็ต้องอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว และแม้จะทะเลาะกันขนาดไหน พอผ่านไปแค่ไม่กี่นาที ก็กลับมาพูดกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
จากสายวิชาที่ร่ำเรียนมาดูเหมือนว่าหนุ่มไผ่น่าจะได้ดำเนินรอยตามบรรพบุรุษทางฝั่งมารดาในตระกูลสารสิน การทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่กลายเป็นว่าแฝดผู้พี่อย่างพร้าวกลับเป็นคนที่ก้าวเข้าไปเป็นน้องใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศแทน “พร้าวเพิ่งสอบผ่านเข้าไปทำงานในตำแหน่งนักการทูต โดยที่เลือกสอบเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่น่าสนใจ และยังได้ทำงานเพื่อชาติ และเป็นโอกาสที่จะได้ใช้ความรู้ ทักษะที่เรามีเข้าไปช่วยเหลืองานสำคัญของประเทศ”
“ไผ่ก็เคยอยากทำงานกระทรวงการต่างประเทศนะ แต่พอลองไปฝึกงานแล้วนั่งพิจารณาตัวเองก็คิดว่าเราคงไม่เหมาะ เคยมองว่ามันเป็นอาชีพที่น่าสนใจ ได้เดินทางไปหลายประเทศ เรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ก็คิดได้ว่าไปท่องเที่ยวก็ได้นิ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นอาชีพ ไผ่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนติดบ้าน รักประเทศไทย อยากกลับมาอยู่ที่นี่ รู้สึกว่าเราอยู่ต่างประเทศมานานเกินไปแล้ว
ที่สำคัญคือตอนนี้พร้าวจะเข้าไปทำงานที่กระทรวงแล้ว ถ้าผมไปทำอีกคนใครจะช่วยเหลือธุรกิจที่บ้าน ทุกวันนี้คุณพ่อกับพี่แววลุยกันอยู่สองคน ทั้งบริษัทยาและอสังหาริมทรัพย์ ผมจึงอยากจะกลับมาช่วยงานของครอบครัวมากกว่าครับ”
เรียกได้ว่าเป็นการวางแผนอนาคตที่จัดไว้ได้อย่างสวยงามและสมดุล สมกับเป็นฝาแฝดสมองดีที่มีดีกรีเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำจากสองซีกโลกอย่างแท้จริง
Same Same but Difference
::สิ่งที่เหมือนกัน
พร้าว : มีความสนใจ ค่านิยม ทัศนคติเหมือนกันมากครับ ทั้งเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้ทั้งคู่ ชอบอ่านหนังสือพวกปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ชอบเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ดูอาร์ตแกลเลอรี แล้วก็มักจะมีความคิดเห็นในประเด็นปัญหาต่างๆ เหมือนกันครับ
:: สิ่งที่ต่างกัน
ไผ่ : นอกจากรูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนกันเลยแล้ว น่าจะเป็นเรื่องนิสัย และบุคลิกนะครับ เขาจะใจร้อนแล้วก็คิดเยอะ เป็นคนซีเรียส เวลามีปัญหาจะพารานอยด์ง่าย แต่ผมจะเป็นพวกสบายๆ ไม่ค่อยเครียด แล้วก็กล้าเสี่ยงกว่า ลุยกว่าเยอะ :: Text by FLASH