>>เมื่อเอ่ยถึงธุรกิจที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ สังคมไทยอาจนึกภาพการเปลี่ยนบุคลิกคนคนหนึ่งให้กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็น “ความเข้าใจผิด” โดยสิ้นเชิง Celeb Online จึงขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักศาสตร์แห่งการพัฒนาภาพลักษณ์แบบรู้จริง ผ่านการถ่ายทอดของชายหนุ่มมาดเนี้ยบ “อาร์ท-นิธิศ ชัยจรูญรัตน์” ผู้ก่อตั้ง เอ พลัส อิมเมจ (A+ Image) บริษัทให้บริการที่ปรึกษาในการปรับภาพลักษณ์และบุคลิกภาพส่วนบุคคลหรือ Personal Image Consultant
“อาร์ท-นิธิศ ชัยจรูญรัตน์” เป็นหนุ่มมาดเนี้ยบ จบปริญญาตรีด้านการบริหารจาก The University of Nottingham เป็นทายาทคนกลางของ “สมชัย ชัยจรูญรัตน์” เจ้าของอาณาจักรจรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง ผู้นำแห่งวงการผลิตระบบเคลือบสีอุตสาหกรรม และเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมจรูญรัตน์ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 500 ไร่ รวมถึงธุรกิจในเครืออีกมากมาย แม้พื้นฐานของหนุ่มอาร์ทจะเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจที่มีกิจการมากมาย แต่เขากลับเลือกริเริ่มงานที่เขารักและสนใจมากกว่ากับธุรกิจให้คำปรึกษาด้านภาพลักษณ์ ช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะยังไม่เข้าใจลักษณะของธุรกิจเท่าไรนัก แต่เมื่อหนุ่มอาร์ทได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าธุรกิจนี้มีความสำคัญอย่างไร จึงปล่อยให้ลูกชายเลือกทำในสิ่งที่ปรารถนา
“หลังจากที่ผมจบปริญญาตรีกลับมาทำงานเมืองไทยใหม่ๆ ผมมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงหลายท่าน ผมเล็งเห็นว่าแต่ละท่านมีความรู้ ความสามารถ แต่บางทีพวกเขาไม่สามารถพรีเซนต์ตัวเองออกมาได้เหมือนที่เราได้สัมผัสหรือบางครั้งพูดอธิบายเหมือนให้ตัวเองเข้าใจอยู่คนเดียว ผมจึงมีความรู้สึกอยากช่วยหลายๆ คนให้สามารถดึงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งของตัวเองออกมานำเสนอได้ดีกว่านี้” นิธิศเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้เขาเริ่มหันมาสนใจงานด้านภาพลักษณ์ ก่อนจะฉายให้เห็นถึง ‘หัวใจ’ ของศาสตร์ด้านนี้ว่า
“ธุรกิจภาพลักษณ์จริงๆ มีมานานแล้ว เพียงแต่คนไทยเพิ่งมาให้ความสำคัญเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะแต่ก่อนคนไทยจะคิดว่าการมีภาพลักษณ์ที่ดี คือการสร้างภาพ แต่ผมบอกเลยว่า ‘ไม่ใช่’ การมีภาพลักษณ์ที่ดีคุณต้องรู้สึกมีความสุขกับตัวเองที่เป็นแบบนั้น มองเข้าไปในกระจกแล้วรู้สึกว่านี่คือฉันที่มีความสุข เห็นเราที่อยากเป็น เห็นถึงความสามารถของตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง แต่การสร้างภาพคือการแสดงให้คนอื่นเห็นแต่เราไม่มีความสุข เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราแสดงไม่ใช่ตัวเอง”
วิสัยทัศน์ของการทำงานในศาสตร์นี้ ไม่ได้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นได้เอง หากแต่มาจากการตกผลึกของนิธิศ ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ทั้งจากการทำงานสมัยอยู่ที่ Be Your Best บริษัทที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์มืออาชีพ องค์กรที่ทำให้นิธิศรู้จักศาสตร์นี้เป็นครั้งแรก ก่อนจะมาบุกเบิกธุรกิจของตัวเอง ซึ่งกว่าจะมาเป็น เอ พลัส อิมเมจ นิธิศใช้เวลาในการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญ จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง โดยบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาด้าน Professionally Certified As Image Consultant จาก 2 สถาบันชื่อดังของอังกฤษ ได้แก่ London Image Institute และ English Manner รวมถึงผ่านการรับรองจาก Myer Briggs Type Indicator practitioner
“ตอนศึกษาเพิ่มที่อังกฤษ ผมมีโอกาสเรียนกับเทรนเนอร์ที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี ส่วนที่ London Image Institute จะเปิดอบรมเฉพาะเทรนเนอร์เท่านั้น ไม่ได้รับเทรนลูกค้าปกติทั่วไป เป็นคอร์ส Intensive มาก เรียนกันข้ามวันข้ามคืน มีโปรเจกต์ทุกอย่างเหมือนกลับไปนั่งเรียนหนังสืออีกครั้งเลย คือในต่างประเทศอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีมานานแล้ว เป็นอาชีพที่น่าสนใจ นักการเมืองทุกคนต่างมีที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ทั้งนั้น เพียงแต่อาจไม่ได้เรียกว่าที่ปรึกษาภาพลักษณ์ก็ได้ ยกตัวอย่างบารัก โอบามา จะใส่เนกไทอยู่ 2 สี คือ ฟ้าและแดง ถ้าสังเกตวันไหนที่เขาต้องการสื่อสารว่าเป็นมิตร สบายๆ เขาจะใส่สีฟ้า ถ้าวันไหนต้องการแสดงพลังจะใส่สีแดง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคนแนะนำเขาทั้งนั้น” นิธิศแชร์ถึงความรู้ที่เก็บเกี่ยวมา
จากความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมดนิธิศได้นำมาผสมผสานและกลั่นกรองออกมาเป็นแนวคิดการปรับภาพลักษณ์และบุคลิกภาพที่ดีในแบบฉบับของ เอ พลัส อิมเมจ ภายใต้คอนเซ็ปต์ชื่อว่า PAM Model (P=Personality คืออุปลักษณะ นิสัยใจคอ ทัศนคติ และไลฟ์สไตล์ / A=Appearance คือการแต่งองค์ทรงเครื่อง / M=Message คือการสื่อสารทางคำพูด และภาษากาย รวมถึงมารยาทต่างๆ) ซึ่งลูกค้าทุกคนที่เข้ามารับคำปรึกษาไม่ว่าเขาจะเป็นใคร นิธิศจะเข้ามาพูดคุยและลงรายละเอียดด้วยตัวเอง
“ทุกคนมีความแตกต่างกัน พี่น้องยังไม่เหมือนกันเลย เราจึงต้องดูดีในแบบฉบับของเราเอง ผมเคยปฏิเสธลูกค้า เพราะเขาจะให้เราช่วยเปลี่ยนเขาเป็นเหมือนคนนั้นคนนี้ ทุกคนมีแนวทางการพัฒนาไม่เหมือนกัน เราจึงต้องมาพูดคุยถึงแนวทางที่จะดูดีขึ้นอย่างไรในแต่ละคน ยกตัวอย่างดูดีของศิลปินกับดูดีของอาจารย์ไม่เหมือนกัน เพราะดูดีของอาจารย์คือสร้างความเชื่อมั่น สร้างความนับถือ แต่ดูดีของศิลปินคือความโดดเด่น สร้างความจดจำ แต่ทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกันคือดูดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบอาชีพธุรกิจภาพลักษณ์ เราเป็นเหมือนกระจกสะท้อนที่พูดได้ ผมเชื่อว่าคนทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้องการอะไร แต่บางทีอาจจะไม่มีคนมาบอกเขา หรือให้แนวทางที่นำไปพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”
ในยุคแห่งการสื่อสารไร้ขีดจำกัดนี้ นิธิศมองว่าการปรับภาพลักษณ์และพัฒนาบุคลิกภาพส่วนบุคคลเปรียบเสมือนเป็น ‘การลงทุน’ จึงมีลูกค้าหลากหลายรูปแบบเข้ามาขอคำปรึกษา ตั้งแต่ผู้บริหาร ศิลปิน อาจารย์ ไปจนถึงนักศึกษาจบใหม่ที่เข้ามารับการปรึกษาเพื่อนำไปสมัครงานเพราะมีผลวิจัยออกมาแล้วว่า 7 วินาทีแรกคือช่วงเวลาสำคัญที่จะสร้างความประทับใจแรก (First Impression) มากถึง 55% อีก 35% จะอยู่ที่ 30 วินาทีต่อมา ซึ่งเป็นการเลือกใช้คำพูด ดังนั้นภาพลักษณ์ที่สื่อออกมาภายนอกจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การแต่งกาย เสื้อผ้า หน้าผม เท่านั้น ยังรวมไปถึง กิริยา มารยาท คำพูดคำจาในการเข้าสังคมอีกด้วย
“เคสของนักศึกษา ความคาดหวังของเขาคือ Getting My First Job อย่างที่เราพอจะได้ยินว่างานแรกเป็นงานที่สำคัญ ผมจึงพูดได้ว่าการพัฒนาบุคลิกภาพคือการลงทุนเพื่อตัวเราเอง บางคนอาจจะบอกว่าทำภาพลักษณ์เพื่อใคร ผมบอกเลยว่า เพื่อให้ตัวเราเองมีความสุขในสิ่งที่เราเป็น เมื่อเรามีความสุขในสิ่งที่เราเป็นคนอื่นก็จะสามารถรับรู้ได้”
มากกว่าสองปี เอ พลัส อิมเมจ ภายใต้การกุมบังเหียนของนิธิศ ผ่านการให้คำปรึกษาด้านภาพลักษณ์มามากมายหลายเคส สิ่งที่ท้าทายที่สุดของวิชาชีพนี้ คือ การต่อสู้กับความ ‘คาดหวัง’ ‘ทัศนคติ’ และ ‘ความเคยชิน’ ของลูกค้า เพราะแม้ลูกค้าจะเชื่อในแนวคิดแต่ก็ไม่สามารถนำไปปรับใช้อย่างยั่งยืนเพราะความเคยชิน แม้ เอ พลัสอิมเมจ จะมีขั้นตอนการติดตามผลให้ลูกค้าทุกคน แต่ท้ายสุดแล้วก็ต้องอาศัยการเปิดใจและความตั้งใจของลูกค้าแต่ละคนที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงๆ ด้วย
“หลายคนยังเห็นเรื่องนี้เป็นสิ่งไม่จำเป็น อาจจะไปอ่านในอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือก็ได้ ผมก็ว่าไม่ผิดแต่จะมีกี่คนที่อ่านแล้วนำไปปรับสู่การเป็น New You แบบยั่งยืน เพราะแนวทางในหนังสือเป็นสไตล์กลางๆ แต่เขาไม่ได้คำนึงถึงไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคล ไม่ได้คำนึงถึงรูปลักษณ์นิสัยส่วนตัวของเรา และไม่มีใครคอยมาผลักดันคุณ”
ด้วยบุคลิกของความเป็นคนกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ และชอบศึกษาแนวทางใหม่อยู่เสมอ ชีวิตส่วนตัวของหนุ่มมาดเนี้ยบคนนี้นอกจากจะชื่นชอบการแต่งบ้าน เล่นกับสุนัขตัวโปรด ท่องเที่ยว ดูภาพยนตร์ และใช้เวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่แล้ว จึงไม่แปลกใจเมื่อเขาบอกว่าอีกกิจกรรมยามว่างส่วนใหญ่จะใช้เวลาหมดไปกับการอ่านหนังสือ จนพูดได้ว่ามีหนังสืออยู่ล้นตู้เลยก็ว่าได้
“ผมชอบอ่านแนวพัฒนาตนเอง (Self Improvement) อาจเพราะสามารถนำมาผนวกกับธุรกิจของผมได้ด้วย บางทีผมทำไปอย่างนี้ จะไม่รู้ว่าที่เราทำนั้นถูกหรือเปล่า การที่เราอ่านหนังสือก็เหมือนเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เราทำมานั้นถูกต้องแล้ว หรือว่าผิดไปจากแนวทางหรือเปล่า คือผมเป็นคนค่อนข้างละเอียดกับการใช้ชีวิตมาก อาจจะมองเหมือนเป็นการกดดันตัวเอง แต่ถ้าผมไม่เป็นแบบนี้ผมจะยิ่งไม่มีความสุข เพราะความสุขของผม คือเห็นงานออกมาเป๊ะและโอเค ไม่ได้แปลว่าผมไม่ใช่เป็นคนยืดหยุ่นนะ เพียงแต่ทุกอย่างที่ตัดสินใจแล้วจะต้องทำให้ดีที่สุด”
ในจำนวนกองหนังสือแนวพัฒนาตนเองที่อ่านอยู่มากมาย ผลงานของ Marshall Goldsmith ดูจะเป็นงานเขียนที่นิธิศชื่นชอบเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเล่มล่าสุดที่เขาอ่านในชื่อว่า “Triggers” หนังสือที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีมาตลอดชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากหา ‘ชนวน’ ในชีวิตเจอ
“คุณโกลด์สมิธเป็นโค้ชด้านการพัฒนาศักยภาพด้วย เขาจึงไม่ผลักดันให้คนเหล่านั้นต้องเปลี่ยน เพราะทุกคนจะเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง หนังสือเล่มนี้คุณโกลด์สมิธส่งเสริมให้คนหาชนวนในชีวิต ทุกคนมีชนวนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะต้องเจอเรื่องที่เกิดกับตัวเองก่อน แต่คุณโกลด์สมิธบอกว่าอย่ารอให้เกิดกับตัวเอง อย่าให้ถึงจุดที่สายไปแล้วชวนให้ทุกคนนั่งหาชนวนจริงๆ และยังบอกด้วยว่าการจะเปลี่ยนอะไรไม่ใช่แค่คุณคนเดียว แต่ต้องอาศัยคนรอบข้างช่วยคุณ อย่างเช่น ผู้หญิงจะลดน้ำหนักเขาก็ต้องบอกคนรอบข้างว่าเขากำลังลดน้ำหนักเพื่อให้ทุกคนช่วยเขา” นิธิศเล่าถึงแง่คิดที่ได้จากนักเขียนคนโปรด
ความเป็นหนุ่มหนอนหนังสือนี่เอง ทำให้อดถามไม่ได้ว่า รู้สึกอย่างไรที่ยุคนี้ทุกคนอ่านทุกอย่างผ่านดิจิตอลมีเดียมากขึ้น แต่กลับยังมีผลสำรวจออกมาว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละแค่ 8 บรรทัดเท่านั้น ซึ่งนิธิศให้มุมมองอย่างคนเดินสายกลางว่า ดิจิตอลมีเดียเป็นสิ่งที่ดีทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ได้รับข่าวสารเร็ว ประหยัดทรัพยากรในการใช้กระดาษ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการบาลานซ์ชีวิตให้ได้
“คนสมัยนี้ส่วนใหญ่สมาธิค่อนข้างสั้น เพราะมัวแต่เล่นโซเชียลมีเดีย เมื่อก่อนผมก็ติด IG แต่ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนใหม่คือทุกครั้งที่ทำงานผมไม่เล่นโซเชียลมีเดียเลย ผมว่าทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียในตัวของตัวเองอยู่ที่เราจัดสรรเวลาให้เหมาะสม อย่างเช่นถ้าผมไปกินข้าวกับครอบครัวผมจะไม่เช็กข่าวเลย การกินข้าวกับครอบครัวใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงเอง แต่เล่นไลน์จะเล่นอีกกี่ชั่วโมงก็ได้หลังจากนั้น คือเราต้องจัดสรรเวลาให้ถูกต้อง” :: Text by FLASH
Smart Person
ในมุมมองของผม การเป็น Smart Person นั้นนอกจากมีการแต่งตัวที่เหมาะสมกับตัวเอง ถูกกาลเทศะ วางตัวที่ดี และฉลาดในการทำงานแล้ว จะต้องมีความคิดและจิตใจดี ต้องเป็นคนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตา มีการให้อภัยด้วย นอกเหนือจากนั้นคือต้องมีสไตล์การดำเนินชีวิตเป็นของตัวเอง รู้จักรักษาคุณค่าของตัวเอง
::ของสะสม
ผมไม่มีของสะสมเป็นชิ้นเป็นอัน ผมซื้อสิ่งของหรือของชิ้นใดชิ้นหนึ่งจากความชื่นชอบส่วนตัว เช่น นาฬิกา ปากกาดีๆ รองเท้าดีๆ เครื่องหนังต่างๆ แต่ถ้าเป็นสายข้อมือ ผมซื้อได้แทบทุกยี่ห้อถ้าชอบ
:: ไอดอลในการทำงาน
คุณพ่อ (สมชัย ชัยจรูญรัตน์) เป็นยิ่งกว่าไอดอล ถือว่าเป็นทุกอย่างทั้งกับครอบครัวและผม ถ้าไม่มีท่านผมไม่รู้เลยว่าผมจะมีได้ครึ่งหนึ่งเท่าที่ผมมีอยู่ไหม สิ่งที่ได้เรียนรู้จากท่านมากที่สุด คือ การบริหารคน พนักงานภายใต้การดูแลของคุณพ่อมีมากกว่า 1,000 คน ในจำนวนนั้นมีพนักงานที่อยู่กับคุณพ่อมาเกิน 20 ปี มากกว่า 100 คน นั่นคือเกือบ 10% ของทั้งหมด ถือว่าเยอะมาก แสดงให้เห็นว่าคุณพ่อบริหารคนเก่ง อีกทั้งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากที่สุด
Special Thanks : โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2656-0444 เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ