ART EYE VIEW---หากว่าภาพถ่ายป่าและสัตว์ป่าเหล่านี้ พอจะเป็นประโยชน์กับเราซึ่งเป็นผู้ชม ในแง่ใดก็ตาม
ขอให้ยกความดีความชอบทั้งหมดให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในระดับปฏิบัติการทุกๆคน
ชาญชัย พินทุเสน ศิลปินและประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ วัยกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมช่างภาพที่ร่วมบันทึกภาพเหล่านี้ ร่วมกับ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หรือ หม่อมเชน ช่างภาพสัตว์ป่าชื่อดังของเมืองไทย รวมไปถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีกหลายชีวิต บอกกับเราในทำนองนี้
ด้วยเหตุที่ว่า หากที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะการเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในระดับปฏิบัติการ ที่ต้องทำงานท่ามกลางความยากลำบากและเสี่ยงชีวิต เพื่อรักษาผืนป่าและสัตว์ป่า อาจจะไม่มีภาพเหล่านี้หลงเหลือมาให้เราเห็นก็เป็นได้
เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว ที่ทีมช่างภาพทั้งหมดได้ลงพื้นที่เก็บภาพป่าและสัตว์ป่า ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งรับการลงทะเบียนจากยูเนสโก ให้เป็นแหล่งมรดกโลก ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยได้รับการสนับสนุนหลักจากผู้ที่ไม่ประสงค์จะออกนาม
“ผม ,คุณเชน และผู้สนับสนุน เราคุยกันว่า ต้องการที่สื่อให้เห็นว่านี่คือผลงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในระดับปฏิบัติการ
ภาพถ่ายที่ได้มา ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่า ใครเป็นคนถ่าย ความหมายก็คือช่างภาพไม่ได้ต้องการเป็นที่รู้จัก หรือมีชื่อเสียงจากภาพถ่ายชุดนี้
เพราะสาระสำคัญคือความเหนื่อยยากและเสี่ยงชีวิตของเจ้าหน้าที่ และภาพถ่ายเหล่านี้คือผลจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่
และช่างภาพผู้ถ่ายภาพบางภาพก็เป็นเด็กในมูลนิธิฯ เคยมีชีวิตอยู่ในป่า เป็นเด็กกระเหรี่ยง โดยมีคุณเชนกับผม เป็นคนคอยให้แรงบันดาลใจบ้าง ให้คำแนะนำบ้าง กว่าจะได้ภาพถ่ายแต่ละภาพมา มีหลายคนที่ช่วยกัน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในทุ่งใหญ่ฯ
ส่วนเรื่องคอนเซ็ปต์หรือแนวคิดในการนำเสนอภาพถ่าย ก็เพื่อที่จะทำให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้เป็นที่รู้จักว่า เป็นพื้นที่ๆสงวนไว้เพื่อให้สัตว์ป่าได้อยู่อาศัย ซึ่งก็ไม่เป็นไอเดียแปลกใหม่อะไรหรอก
แต่ว่าผู้ที่สนับสนุนหลัก ต้องการที่จะทำให้ภาพถ่ายในโครงการนี้ออกมามีคุณภาพหน่อย ทั้งในด้านการผลิต และมีความสวยงามในแง่ศิลปะด้วย”
แม้โครงการบันทึกภาพป่าและสัตว์ป่า ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จะดำเนินมาหลายปีแล้ว แต่ชาญชัยบอกว่า ขณะนี้โครงการยังไม่มีกำหนด สิ้นสุด อย่างไรก็ตามในอนาคต ภาพถ่ายทั้งหมดจะถูกรวบรวมเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือและถูกนำไปจัดนิทรรศการ ให้ประชาชนได้ชม
“เพราะทุนในการทำงานไม่เยอะ และสัตว์ป่าเป็นดาราหน้ากล้องที่เรากำกับไม่ได้ จะมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำให้เราต้องคอยเฝ้าแต่ต้องไม่ให้การทำงานของเราไปรบกวนสัตว์ป่าหรือทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย และตัวเราเองก็ต้องปลอดภัยด้วย
ถ้าจะให้ดีต้องมีอุปกรณ์มูลค่าสูงไปดักถ่าย แต่เราก็ไม่สามารถกำหนดมุมมองได้ เช่นเราคิดว่ามุมมองนี้ถ้าสัตว์ป่าเดินผ่านเข้ามา มันจะสวย เราก็ไปดักรอ แต่สัตว์ป่าก็ไม่ผ่านมา จนต้องหาเทคนิคอื่นๆเข้ามาช่วย ต้องใช้เวลา แก้ปัญหา”
นอกจากจะเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆคน ที่ช่างภาพไม่กี่คนจะคาดหวังชื่อเสียงส่วนตัวไม่ได้เลย มิหนำซ้ำ การลงพื้นที่เพื่อบันทึกภาพในแต่ละครั้ง ช่างภาพยังต้องกลายไปเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่
“เราไปเป็นภาระเขาด้วยซ้ำไป เพราะนอกจากเราจะต้องอาศัยเขา เพราะเขาจะรู้จักพื้นที่ดีกว่าเรา ต้องอาศัยเขาช่วยแนะนำ ว่าเราควรหรือไม่ควรทำอะไรได้เแค่ไหน
ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ต้องป้องกันรักษาป่าและสัตว์ป่า เขาก็ต้องตามไปดูพฤติกรรมของเราด้วย ทั้งรักษาความปลอดภัยให้แก่เรา และรักษาความปลอดภัยให้ป่าและสัตว์ป่าไปด้วย”
ล่าสุดภาพถ่ายส่วนหนึ่ง ในโครงการฯ จะถูกนำมาจัดแสดงใน นิทรรศการภาพถ่าย “ผืนป่าและสัตว์ป่า เรื่องเล่าจากทุ่งใหญ่นเรศวร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานงาน “รําลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร” ระหว่างวันที่ 4 - 6 กันยายน พ.ศ.2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“คุณเชน เป็นคนที่อยากจะนำภาพถ่ายมาจัดแสดงในงานรำลึกถึงคุณสืบด้วย โดยประสงค์ที่จะสื่อกับผู้ชมที่ไปร่วมงานดังที่ผมบอกไปแล้วว่า สิ่งที่เราเห็นในภาพถ่าย คือผลจากการดูแลรักษาป่าและสัตว์ป่า ของเจ้าหน้าพิทักษ์ป่าในระดับปฏิบัติการ ไม่เช่นนั้นภาพถ่ายที่เห็นอยู่นี้ เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็น
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นบุคคลที่อยู่หลังฉาก แต่ที่ผ่านมาผลงานก็มักไปตกอยู่ที่ช่างภาพ
และสอดคล้องกับเจตนาของคุณสืบ ที่ต้องการจะรักษาป่าและสัตว์ป่าเอาไว้ ภาพถ่ายไม่ได้ต้องการจะสื่อว่า ปัจจุบันสัตว์ป่าเหล่านี้สูญพันธุ์ไปแล้วหรือยัง แต่ให้เห็นว่ามันยังมีอยู่จริงที่ประเทศไทย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ดูแลและเก็บรักษาไว้โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในระดับปฏิบัติการ ที่ต้องเหนื่อยยากลำบาก และเสี่ยงชีวิต”
อย่างไรก็ตาม ชาญชัยได้แสดงความเห็นว่า หนทางที่พวกเราทุกคนจะช่วยรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าของประเทศไทยอย่างยั่งยืนก็คือ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ ไปจนถึงโครงการต่างๆ ต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับประชาชน อย่างแท้จริง
ในส่วนของประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมด้วยการช่วยสนับสนุนในส่วนที่สามารถสนับสนุนได้
ช่วยเป็นหูเป็นตาก่อนที่ความเสี่ยงจะไปสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
ช่วยรณรงค์ไม่ให้มีการซื้อ, ขาย ,และบริโภคเนื้อของสัตว์ป่า ไม่ส่งเสียง ไม่ทำกิจกรรมใดๆที่จะเป็นการรบกวนพื้นที่ป่าและสัตว์ป่า
ตลอดจนไม่สนับสนุนค่านิยมใดๆ ที่นำไปสู่การทำลายป่าและชีวิตสัตว์ป่า
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ของฝากจาก “สวนผึ้ง” ลุงอ๋อย - ชาญชัย พินทุเสน
“ศิลป์” เพื่อ “สืบ” สืบอุดมการณ์ “สืบ นาคะเสถียร”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews