เครื่องแต่งกายฮอนบิลล์ โดยไอซีซี ร่วมกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก จัดกิจกรรม “Hornbill Exclusive Trip with Hornbill Sweetheart” ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อส่งสาส์นสำคัญที่จะบอกย้ำว่า “อะไรบ้างสำคัญต่อธรรมชาติ ป่าไม้, ทำไมถึงต้องให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาป่า” โดยที่ “นกเงือก” เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าได้อย่างดี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ รักษาการประธานมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ในฐานะเป็นนักวิจัยระดับโลกที่ได้ชื่อว่า “มารดาแห่งนกเงือก” กล่าวว่า นกเงือกเป็นกลไกที่สำคัญในการทำให้ป่าไม้มีความสมบูรณ์ เกิดความหลากหลายของพันธุ์ไม้ในผืนป่าจึงช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาของป่า จนได้ฉายาว่า Farmer of the forest
วิถีชีวิตของนกเงือกนั้นทำหน้าที่กระจายเมล็ดพรรณไม้ สามารถช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยพฤติกรรมในการบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงทำให้นำพาเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่างๆ และเกิดเป็นต้นกล้าได้ทั่วทั้งป่า
ศ.เกียรติคุณ ดร.พิไล บอกว่า นกเงือกนับเป็นวิถีทางธรรมชาติเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงการรักษาป่าไม้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันพบอัตราการทำลายป่าไม้ร้อยละ 0.7 ต่อปี โดยที่สภาพป่าไม้ที่ลดลงนั้นเราได้เห็นแล้วว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างมากมายบนโลกใบนี้รวมถึงประเทศไทย ซึ่งในการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้เราก็ทราบกันดีด้วยว่าไม่คุ้มค่า
วิถีการดำรงชีวิตของนกเงือกที่พบในประเทศไทยอยู่ตามป่าดิบ และป่าไม้เบญจพรรณขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งในปัจจุบัน มีนกเงือกอาศัยอยู่ในป่าดิบของประเทศไทย ด้วยกัน 13 สายพันธุ์ ได้แก่ 1)นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง 2)นกเงือกหัวแรด 3)นกเงือกหัวหงอก 4)นกชนหิน 5)นกแก๊ก หรือ นกแกง 6)นกเงือกดำ 7)นกเงือกคอแดง 8)นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว 9)นกเงือกสีน้ำตาล 10)นกเงือกปากดำ 11)นกเงือกปากย่น 12)นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ 13)นกเงือกกรามช้างปากเรียบ รวมแล้วประมาณ 3,000 ตัว
เฉพาะในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา พบว่ามี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง และนกแก๊ก
“มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก และไอซีซี ได้มองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่ส่งผลเชื่อมโยงต่อการรักษาป่าไม้ อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของนกเงือกที่มีคุณค่าต่อป่าไม้ และยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงชีวิตคู่ของคน เพราะนกเงือกใช้ชีวิตคู่แบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” จนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน โดยที่นกเงือกตัวผู้ยังมีลักษณะของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารและคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลทำรัง (มกราคม-พฤษภาคม) ที่จะได้เห็นนกเงือกตัวผู้คอยป้อนอาหารตลอดทั้งวัน เฉลี่ย 1 ครั้ง /ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น"
Hornbill สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2544
ทุกๆ ปี ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย Hornbill โดยบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดกิจกรรมหารายได้สมทบทุน “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก”
สมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ ฮอนบิลล์ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ซึ่งอยู่กับแบรนด์ กับอยู่กับโพรดักส์ กับสื่อสารพัด ถ้าเราสามารถเข้าถึงใจเขาได้ พร้อมกับสาส์นที่จะบอกเขาว่า...อะไรสำคัญกับธรรมชาติ กับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าแบรนด์สามารถนำสาส์นสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติ หรือสิ่งที่ต้องดูแลรักษาไว้ ให้ไปถึงผู้คนเหล่านั้น ถือเป็นภารกิจหนึ่งของแบรนด์ แบรนด์ไม่ได้มีหน้าที่เพียงขยายมาร์เก็ตแชร์ สร้างยอดขาย ทำกำไร ซึ่งก็ถือเป็นภารกิจหลักในการทำธุรกิจ ภารกิจสำคัญของแบรนด์อย่างหนึ่งจึงคือ ทำให้เขาสัมผัสเรื่องสำคัญที่เขาอาจมองข้ามไป
ฮอนบิลล์ เป็นแบรนด์ที่ต้องการบอกว่า “นกเงือก” สำคัญ ฮอนบิลล์ เป็นจะที่รู้จักมากหรือน้อยอยู่ที่การทำงานของเรา เมื่อเราเคลื่อนไหวก็อยากให้คนนึกถึง “นกเงือก” เช่นเราเป็นคนริเริ่ม วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็น “วันรักนกเงือก” จากนี้ไปคนจะรู้จัก วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็น “วันรักนกเงือก” ทำให้รู้ว่า วิถีชีวิต “นกเงือก” ละเอียดอ่อน ไม่ใช่ CSR ไม่ใช่การคืนกำไรสู่สังคม แต่ทำให้ตัวเองเป็นสื่อกลางให้คนในสังคมระลึกว่า...มีเรื่องที่ต้องดูแล