xs
xsm
sm
md
lg

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ขี่ดูคาติลุยสวนสยาม สร้างครอบครัวและธุรกิจให้สมดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>ปัจจุบันหลายคนรู้จัก หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ในฐานะนักบริหารธุรกิจรถบิ๊กไบค์อย่าง “ดูคาติ” จนครองใจคนทุกกลุ่ม แต่ใครเลยจะรู้บ้างว่าอีกด้านหนึ่งเขาคือ Working Dad คุณพ่อคนเก่งของลูกสาววัย 7 ขวบ “กอหญ้า-กวินนา ดิศกุล ณ อยุธยา” ที่เกิดกับ “เก๋-จิราวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา” ทายาทสวนสยาม ที่ตอนนี้ทั้งคู่ต่างก็ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างและวางรากฐานอนาคตที่ดี ส่วนเรื่องราวของเขาจะน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน คงต้องไปติดตามกัน....

จากข้าราชการสู่บทบาทเจ้าของบริษัท

หลังจากรับราชการที่กระทรวงพาณิชย์นานถึง 9 ปี จนเดินทางไปดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาการพาณิชย์ อยู่ที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์กรการค้าโลก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล ก็ผันตัวออกมาเป็นผู้บริหารกิจการของตัวเองในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของมอเตอร์ไซค์ระดับพรีเมียมที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงอย่างแบรนด์ “ดูคาติ” (Ducati)

“หลังจากเรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ จากประเทศออสเตรเลียปุ๊บ ผมก็สมัครเข้ารับราชการทันที ตามรอยบรรพบุรุษของราชสกุล “ดิศกุล” ที่ได้รับใช้ชาติบ้านเมืองกันมาตลอด ซึ่งไม่ได้เป็นธรรมเนียมหรือเป็นการบังคับว่าเราต้องรับราชการเท่านั้น คือ ถ้าเราอยากทำธุรกิจ หรือทำอาชีพอื่นๆ เขาก็ให้อิสระในการตัดสินใจ แต่ท่านพ่ออยากให้ผมได้เข้าไปเรียนรู้ระบบการทำงานของราชการสัก 2-3 ปี เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วหลังจากนั้นค่อยตัดสินใจว่าจะไปทำอะไรต่อ

ผมก็เห็นด้วยนะ เพราะงานราชการสอนอะไรผมมากมาย ตั้งแต่วิธีการเขียนหนังสือราชการ ระเบียบปฏิบัติมากมาย การวางตัว ระบบความคิด มุมมองชีวิต มันหล่อหลอมเราได้หลายอย่างมาก สอนเราได้ดีกว่าบริษัททั่วไป เพราะมันคือองค์กรใหญ่ ที่มีคนมีประสบการณ์ ความสามารถมากมาย ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเยอะ จากตั้งใจไว้แค่ไม่กี่ปี แต่เพราะรู้สึกสนุกกับการทำงานผมเลยอยู่ยาวมา 9 ปี จนกระทั่งจังหวะชีวิตมันทำให้เราต้องผันตัวออกมาทำธุรกิจ

ตอนนั้นหลังจากผมย้ายไปรับราชการที่สวิสได้ราว 3 ปี ก็ต้องขอย้ายกลับเพราะคุณแม่ภรรยาผมป่วยหนัก คุณเก๋จึงอยากกลับมาดูแลท่าน และพอดีกับที่ดูคาติ ซึ่งทางพี่เขย (อภิชาติ ลีนุตพงษ์) ผู้นำเข้ากำลังบูมขึ้นมา และอยากได้ผมมาช่วยดูแล ผมก็เลยตัดสินใจลาออกมาทำงานที่ดูคาติอย่างเต็มตัว”

การย้ายจากการทำงานระบบราชการในฐานะลูกน้องมานานเกือบ 10 ปี ก้าวมาเป็นผู้บริหารองค์กรเอกชน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่หนุ่มก้องต้องปรับตัวหลายอย่าง “มันเหมือนคนละโลกเลยครับ ถึงแม้ว่าตอนรับราชการผมจะทำงานในกระทรวงพาณิชย์ดูแลเกี่ยวกับเรื่องค้าขายอยู่แล้ว

แต่ที่ต่างคือความรวดเร็วในการทำงาน ตอนรับราชการกว่าจะตัดสินใจลงมือทำอะไร มันมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่หาข้อมูล ร่างโครงการ เสนอผ่านฝ่าย ไปถึงอธิบดี ปลัด รัฐมนตรี เข้าวาระคณะรัฐมนตรี กว่าจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างใช้เวลาหลายเดือนหรือบางโครงการใช้เวลาพิจารณานานเป็นปีก็มี แต่การทำงานในบริษัทเอกชนใช้เวลาขนาดนั้นไม่ได้ ทุกวันนี้โลกเราหมุนเร็วมาก เราต้องก้าวให้ทันกระแสสังคม แผนงานต่างๆ เราต้องอัปเดตกันทุก 2 สัปดาห์ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนเสมอ ที่สำคัญแต่ก่อนเราอยู่ในฐานะลูกน้อง มีเจ้านายให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา ไม่ได้มีอำนาจอะไร แต่ทำงานที่นี่ต้องมีความรับผิดชอบและตัดสินใจเองทั้งหมด ถือเป็นภาระหน้าที่ที่ท้าทายมากเลยทีเดียว”

ความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของดูคาติ

แม้การเปลี่ยนสายงานครั้งนี้ดูจะเป็นงานหิน แต่หนุ่มก้องก็ทำได้เป็นอย่างดี โดยตลอดเวลา 3 ปีที่เขาเข้ามากุมบังเหียน ดูคาติ (ประเทศไทย) รายได้และยอดขายเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี

“ดูคาติ เข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 11 ปีที่แล้ว แรกๆ เราขายได้หลักสิบคันต่อปี จนมาเมื่อช่วง 3-5 ปีที่แล้ว กระแสบิ๊กไบค์เริ่มบูมในเมืองไทย ยอดขายกระโดดขึ้นมาที่หลักหลายร้อย ทำให้บริษัทโตขึ้นจนพี่นัทเริ่มดูแลเองไม่ไหว เลยให้ผมเข้ามาช่วยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งในปีแรกที่ผมเข้ามาร่วมงานยอดขายเราอยู่ที่ 1,500 คัน ปีถัดมาขยับขึ้นมาเป็น 2,400 คัน และเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 3,000 กว่าคัน...

ต้องถือว่าโชคดีที่ผมได้เข้ามาร่วมทีมตอนที่กระแสบิ๊กไบค์กำลังมาแรงพอดี คือจากมีผู้ขับขี่ไม่กี่ร้อยคนในอดีต มาเป็นหลักหมื่นคนในปัจจุบัน และดูคาติก็ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ โดยดูคาติ ไทยแลนด์ มียอดขายโตเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย ขายดีกว่าอังกฤษหรือญี่ปุ่นเสียอีก และกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสัดส่วนประชากรที่ขี่ดูคาติสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกคนตกใจ ประเทศอื่นๆ ก็จับตามองว่าเราทำได้ยังไง”

เคล็ดลับความสำเร็จของดูคาติ ไทยแลนด์ หนุ่มก้องบอกว่าต้องยกให้กับการเดินเกมการตลาดที่ตรงจุด “ผมว่าเราตีโจทย์แตก ที่มองว่าบิ๊กไบค์เป็นมากกว่าธุรกิจยานยนต์ เราจึงดำเนินการตลาดในแนวทาง Entertainment หรือมองเป็น Gadget อย่างหนึ่ง เพราะคนซื้อดูคาติไปประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ซื้อไปขับขี่เดินทาง แต่จะใช้ในวันว่าง ใช้เพื่อความบันเทิง หรือมองเป็นของสะสมมากกว่า

เมื่อเราจับได้ถูกจุด ทำให้เราวาง Position สินค้าได้เหมาะ การทำการตลาดของดูคาติจึงแตกต่างจากตลาดรถยนต์ ที่ใช้พวกแคมเปญแบบประหยัดน้ำมัน หรือเน้นเรื่องเครื่องยนต์กลไก แต่เราเน้นไปถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทำให้คนที่ใช้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ กลุ่มคนที่ใช้มีเหล่าศิลปินดาราคนดังทั้งหลาย ที่สำคัญคือการจัดกิจกรรมเน้นการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าสนุก มีการสอนขี่ วิธีการขี่ที่ถูกต้อง มีการรวมกลุ่มจัดทริปเดินทางไปด้วยกัน ทั้งได้สนุกกับการขับขี่และการเที่ยวกันแบบเป็นกลุ่ม ซึ่งการเป็นเจ้าของดูคาติคันหนึ่ง ไม่ใช่แค่การเป็นเจ้าของยานพาหนะ แต่มันคือใบเบิกทางเข้าสู่ประสบการณ์ เข้าสู่สังคม

เมื่อลูกค้าสนุกกับการขับขี่ดูคาติแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการบอกต่อในรูปแบบของ Social Media เพราะมอเตอร์ไซค์กับ Social Media เข้ากันมาก เพราะเวลารถเราสวยๆ เราก็อยากโชว์ หรือขับขี่ไปเที่ยวที่ไหน เราก็อยากถ่ายทอดประสบการณ์ อวดวิวสวยๆ ลูกค้าเองจึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ออกไปด้วย”

คุณแม่เวิร์กกิ้งมัม

คุยเรื่องการทำงานของคุณพ่อกันไปแล้ว สำหรับฝั่งคุณแม่ก็มีภาระหน้าที่หนักไม่น้อยหน้ากัน มีฐานะเป็นรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิตี้วอล์ก ดูสยามปาร์กซิตี้ หรือสวนสยามที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี

“เก๋กับสวนสยามนี่ผูกพันกันมาแต่เกิดก็ว่าได้ เด็กๆ เราก็เล่น คลุกคลีอยู่ที่สวนสยามตลอด พอเรียนจบปุ๊บกลับมา งานแรกที่เริ่มทำก็คือที่นี่แหละ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ทำอะไรมาก โดยเก๋ดูแลเรื่องการปรับปรุงห้องน้ำ โดยในสมัยนั้นคนไทยยังไม่ค่อยสนใจเรื่องความสะอาดและกลิ่นของห้องน้ำกันเท่าไร แม้กระทั่งตามห้างทั่วไปก็ยังไม่ได้หอมกรุ่นแบบทุกวันนี้

เก๋เข้าไปดูแลงานเองอย่างเต็มที่ ไปนั่งสังเกตพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำของลูกค้า และการทำงานของพนักงานเลย บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นงานที่ไม่สำคัญ แต่เก๋เองเป็นคนขออาสาดูแลเรื่องนี้เองเลย เพราะเก๋รู้สึกว่าเราเพิ่งเรียนจบกลับมา ถ้าไปทำแผนกใหญ่หรือเรื่องราวสำคัญๆ ที่คนสนใจ ประสบการณ์เรายังไม่มี ลูกน้องอาจไม่เชื่อถือ การตัดสินใจเราอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับ จะลงมือทำอะไรมากไม่ได้ ยากที่จะได้แสดงฝีมือ สู้เราลงมาดูในส่วนของรายละเอียดเล็กๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม ไม่ค่อยมีใครสนใจ เราจะสั่งการได้เต็มที่ ได้ลงมือทำมากกว่า”

แผนการปรับปรุงห้องน้ำของเธอก็สำเร็จอย่างงดงาม หลังจากนั้นคุณพ่อ (ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ) ก็เปิดโครงการหมู่บ้านจัดสรร คุณเก๋จึงห่างหายจากสวนสยาม ไปช่วยดูแลธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์แทน ก่อนจะแต่งงานและเดินทางไปอยู่สวิสพร้อมกับคุณก้อง และพอกลับมาเมืองไทยอีกครั้งเธอได้ย้อนกลับมาช่วยดูแลสวนสยาม ในฐานะรองประธานกรรมการบริหาร

“คราวนี้ได้รับผิดชอบในส่วนที่ใหญ่ขึ้น คือเรื่องการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายของที่ระลึก อาหาร การจัดการต่างๆ เป็นงานที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก การที่ต้องดูแลลูกค้าจากหลักพันหลักหมื่นในแต่ละวัน ถือเป็นโจทย์ยาก เพราะโจทย์ที่เราได้รับในแต่ละวันไม่เหมือนกัน ถ้าวันไหนที่ลูกค้าเข้ามาเยอะๆ เราต้องเตรียมของเท่าไร สต๊อกอาหารยังไง แจกแบบไหนถึงจะเร็ว ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ทัน

คือถ้าลูกค้าเข้ามากรุ๊ปใหญ่ๆ ในรูปของทัวร์ หรือทัศนศึกษา ถ้าจองล่วงหน้านี่ต่อให้มาหลายพันก็สบายค่ะ เพราะเราสามารถเตรียมงานได้ แต่บางครั้งมาเป็นกรุ๊ปใหญ่ รถทัวร์มาเป็นสิบคันแบบไม่รู้ล่วงหน้าก็มี เราต้องมีการเตรียมการที่ดี พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ หรือบางครั้งเป็นช่วง High Season คาดว่าคนจะเข้าเยอะ แต่ดันมีฝนตกลงมา ลูกค้าหายก็มี เราก็ต้องปรับตัวให้ได้ บางครั้งรู้สึกเหนื่อย และเครียดบ้าง แต่ก็สนุก เพราะต้องคิดทุกวัน วางแผนทุกวัน ทำงานกับเก๋ ขออย่างเดียวขอให้ทำงานแล้วสนุก ถ้าทำแล้วเครียดกดดัน ต้องไปหาจุดในการแก้ปัญหาให้ได้ เพราะถ้าทำงานแล้วเครียดมันอยู่กันได้ไม่นานหรอก ต้องรู้สึกสนุกกับงาน สนุกกับทีม ทำงานด้วยกันถึงจะไปรอด”

การทำงานของสองเจเนอเรชัน

ด้วยความที่เติบโตมาในยุคสมัยที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน ทำให้บางครั้งความคิดเห็นของคุณเก๋และคุณพ่อมีความขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อย การทำงานของคนต่างเจเนอเรชันคู่นี้ต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากันอยู่นานเป็นปีกว่าจะลงตัวอย่างทุกวันนี้

“แต่ก่อนมีเรื่องเข้าใจไม่ตรงกันบ่อยมากค่ะ (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้เรานั่งทำงานในห้องเดียวกันได้แล้วนะ คือ ด้วยความที่เราอยู่กันคนละยุค เจออะไรมาไม่เหมือนกัน ทำให้เห็นไม่ตรงกัน ก็มีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เก๋มองว่าเราทะเลาะเพราะต่างฝ่ายต่างรักกันมาก ต่างคนหวังดี อยากทำให้ดีที่สุด แต่คำว่าดีที่สุดของทั้งคู่ไม่เหมือนกัน มันเลยทำให้ทะเลาะกันได้ง่าย ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เห็นอะไรตรงกันไปหมดนะคะ แต่เราปรับให้เข้าใจในมุมของอีกฝั่ง และที่สำคัญคือ แยกงานกันรับผิดชอบ โดยต่างคนต่างทำในสิ่งที่เราถนัด คือ คุณพ่อเขาถนัดด้านคิดโปรเจกต์ วางแผนอะไรใหม่ๆ ส่วนเก๋จะถนัดในเรื่องรายละเอียด แล้วให้คุณพ่อเป็นสมองช่วยคิด ส่วนเราเป็นแขนขาช่วยปฏิบัติ

เราเอาส่วนดีของทั้งคู่มาประกอบกัน คุณพ่อเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ ผ่านอะไรมาเยอะ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างกว่า ส่วนเก๋เรียนรู้จากห้องเรียน พวกทฤษฎีต่างๆ มีหลักสูตร ระบบระเบียบแบบแผน ทำให้มันมีจุดดีต่างกัน อย่างแต่ก่อนเราขายของเราจะรู้แค่ภาพรวมว่ากำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่ทุกวันนี้เก๋ทำเป็นแผนชาร์ต Cash Flow มาให้เห็นเลย ว่าเราลงทุนมาแบบนี้ ใช้ทำอะไรบ้าง แยกรายละเอียดให้เห็น ว่าต้นทุนคืออะไรบ้าง ขายแต่ละอย่างเท่าไร ตัวไหนทำกำไร สิ่งไหนทำให้ขาดทุน

เพราะแต่ก่อนเราอาจจะเห็นว่า เรากำไร 50 เปอร์เซ็นต์ก็แฮปปี้แล้ว โดยที่ไม่รู้เลยว่า บางอย่างมันทำให้เรากำไร 80 เปอร์เซ็นต์ บางอย่างทำกำไรได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ และบางอย่างมันทำให้เราขาดทุน ยิ่งขายมากกลับยิ่งขาดทุน แต่เมื่อนำยอดไปรวมกับสิ่งอื่นๆ มันเลยออกมากำไร ซึ่งเราไม่เคยรู้เลยถ้าเราไม่ลงไปดูในรายละเอียด

พอทุกวันนี้เก๋เข้ามาจัดการให้เห็นถึงรายละเอียดพวกนี้ ก็ไม่ใช่ว่าสิ่งไหนที่ขาดทุนเราจะเลิกขาย คือถ้ามันขาดทุนก็ถือเป็นการคืนกำไรให้ลูกค้า อยากขายต่อและเป็นอัตราส่วนที่เรารับได้เราก็ยินดีทำ แต่ไม่ใช่ว่าทำไปโดยไม่รู้เลยว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เราขาดทุน เก๋แค่เข้ามาทำให้ข้อมูลพวกนี้มันแน่นขึ้น เพื่อจะทำให้เราวางแผนทำงานได้ดีขึ้น ธุรกิจมั่นคงขึ้น”

แม้จะเลยวัยเกษียณมาแล้ว แต่ทุกวันนี้คุณไชยวัฒน์ยังคงสนุกกับการทำงานอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย “ชีวิตของคุณพ่อคือการทำงาน นั่นคือความสุขของเขา ถือเป็นสิ่งที่ดีนะคะ เพราะทำให้เขาได้ใช้สมอง ไม่ต้องอยู่ว่างๆ ที่สำคัญการทำงานที่สวนสยาม มันเหมือนไม่ใช่การทำงาน แต่เป็นการพักผ่อน ที่นี่เหมือนเป็นรีสอร์ตของท่าน เขาเอาม้ามาลง มีเป็ด มีสารพัดสัตว์ มีเรือนเพาะชำ อากาศดี มีธรรมชาติรอบล้อม เดินดูงานก็เหมือนได้ออกกำลังกาย

คุณพ่อชอบคิดโครงการ สร้างสารพัดอย่าง ท่านสนุกของท่าน เราก็สนับสนุนเพราะท่านทำแล้วมันได้เผื่อแผ่คนอื่นด้วย อย่างทำเรือนเพาะชำ ถ้าเราปลูกต้นไม้ที่บ้านมันก็แค่คนในครอบครัวได้เชยชม แต่พอทำที่สวนสยามเอาสารพัดพันธุ์ไม้ไปลง คนอื่นก็ได้ชมธรรมชาติอันงดงามไปด้วย แถมเด็กๆ ก็ได้มาทัศนศึกษา เรียนรู้ได้อีก

ที่สวนสยามเราถือเป็น Edutainment ทุกอย่างเราจะสอดแทรกความรู้ไว้ ไม่ใช่แค่มาเล่นสนุกอย่างเดียว แต่ทุกคนสามารถได้รับความรู้กลับไปด้วย อย่างปลายปีนี้ก็จะมีงานใหญ่คือ งานมหกรรมโคมไฟนานาชาติ ที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับการเปิด AEC คือ ช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ ได้รับรู้ว่าใน AEC มีกี่ประเทศ ประเทศอะไรบ้าง แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี อย่างไรบ้าง โดยจะจัดนานถึง 3 เดือน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์เลยค่ะ”

สร้างวินัยด้วยการเลี้ยงดูแบบผู้ใหญ่

จากการพูดคุยกับก้องและเก๋ จะเห็นได้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายมีชีวิตที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ในขณะที่ครอบครัวหนุ่มก้องเป็นสไตล์ไทยแท้ รับราชการ ส่วนบ้านเก๋ก็จีนแท้ทำธุรกิจ และลักษณะนิสัยของทั้งคู่ก็มีความต่างกันอยู่ไม่น้อย แต่กลับมาลงเอยเป็นคู่ชีวิตกันได้อย่างลงตัว

“เราต่างกันสุดขั้วค่ะ ก้องเขาเป็นคนระเบียบเยอะ เป๊ะมาก มีตารางชีวิต ที่บ้านเขาก็มีความเป็นไทยมาก ส่วนบ้านเก๋จีนสุดๆ และเป็นคนสบายๆ ฟรีสไตล์ไม่ค่อยมีระเบียบเท่าไร(หัวเราะ) แต่กลายเป็นว่าพอเราต่างกันมองต่างมุมกัน มันมาช่วยประกอบกัน ทำให้เรามองมุมที่กว้างขึ้น ทำให้เราสมดุล ช่วยดึงกันและกันไว้ เขาตึงไป เราหย่อนไป ก็มาช่วยให้เราอยู่ในช่วงที่พอดี

เราทั้งคู่รู้จักกันได้เพราะเป็นเพื่อนของเพื่อน เพื่อนของเก๋เรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับก้อง เจอกันครั้งแรกต่างคนต่างถูกชะตา เก๋เชื่อเรื่องเนื้อคู่ เห็นก้องแล้วรู้สึกคุ้นหน้า คุ้นเคยเหมือนรู้จักกันมาก่อน อาจจะรู้สึกเวอร์แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วพอได้ทำความรู้จักกันสนิทขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่าเราเข้ากันได้ดี และต่างก็เข้ากับที่บ้านของแต่ละฝ่ายได้อย่างไม่มีปัญหาค่ะ”

เห็นทั้งคู่มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันแบบนี้ เลยแอบถามไม่ได้ว่า แล้วกอหญ้าลูกสาวล่ะ มีนิสัยเหมือนใครมากกว่ากัน “ผมว่าเหมือนผมนะ เขาจะมีระเบียบ และตรงเวลามาก แม้ว่าจะอายุแค่นี้แต่เขามีการจัดตาราง วางแผนชีวิตของตัวเอง แล้วถ้าอะไรไม่เป็นไปตามแผนจะรู้สึกหงุดหงิด แล้วก็ชอบอ่านหนังสือเหมือนผม ตอนนี้เขาอ่านหนังสือจบเป็นเล่มๆ ได้แล้วนะครับ”

“ไปทางพ่อหมดเลยค่ะ (หัวเราะ) กอหญ้าเขาจะนิสัยเป็นผู้ใหญ่มาก คือ พูดรู้เรื่อง ไม่มีเอาแต่ใจ ความงอแงก็พอมีบ้างเหมือนเด็กทั่วไป แต่จะไม่ดื้อรั้น เขาฟังเหตุผล ไม่มีมาร้องไห้โวยวาย กรีดร้อง เพราะเก๋สอนเขาแบบผู้ใหญ่มาตลอด ไม่เคยต้องดุ ต้องตีนะคะ พูดคุยกันดีๆ ให้พิจารณาเหตุและผลจากการกระทำ อย่างถ้าเห็นเขางอน อารมณ์ไม่ดี ก็จะถามว่าเป็นอะไร เขาจะอธิบายว่ามีปัญหาอะไร รู้สึกอย่างไร แล้วเราก็จะสอนให้เขาคิด ว่าควรทำตัวยังไง

เวลาเขาทำกิริยาไม่น่ารัก เราก็ต้องคุย ต้องบอก เพราะบางอย่างเป็นเพราะเขาไม่รู้ เขาทำแบบไม่ตั้งใจ เราต้องเข้าใจ ต้องอธิบาย พอเขารู้ตัวว่าผิดเขาจะขอโทษ แล้วไม่ทำแบบนั้นอีก แต่ถ้าเขาทำเพราะตั้งใจ เราก็ต้องมานั่งคุยกันว่าทำไปเพราะอะไร แล้วถ้าพูดแล้ว บอกแล้วไม่เชื่อ ยังดื้อทำอีก เก๋ก็จะบอกว่าหนูคิดเอาเองนะ แม่บอกแล้ว สอนแล้ว มันคือเรื่องของกอหญ้า แม่บังคับอะไรไม่ได้ แม่พูดในสิ่งที่คิดว่ามันดี แต่ถ้ากอหญ้าคิดว่าสิ่งที่แม่พูดมันไม่ดี ไม่เชื่อ ก็ไม่เป็นไร แม่บังคับไม่ได้ อยากทำก็ทำไป เพราะมันไม่ใช่ตัวแม่ มันคือตัวลูกเอง แม่ทำหน้าที่แม่ดีที่สุดแล้ว แต่ถ้าหนูไม่รับ ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เราก็ปล่อยให้เขาไปคิดทบทวน แล้วเขาก็จะไปตกผลึกคิดได้แล้วปรับปรุงตัว

เราสอนเขาเหมือนผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็กเลย ตอน 3 ขวบ ต้นไม้เขาตาย แล้วเขาเศร้ามาก ร้องไห้ใหญ่ เก๋บอกว่าทุกอย่างไม่เที่ยง มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เขาเข้าใจนะ อย่างบางทีส่วนใหญ่คนไทยจะแบบ อย่าพูดเรื่องตายกับเด็ก แต่เก๋ไม่รู้สึกอย่างนั้น เราอธิบายเขาทุกอย่าง เราก็บอกว่าไม่มีอะไรคงทน ทุกคนต้องมีวันตาย วันหนึ่งแม่ก็ต้องตาย ไม่มีอะไรอยู่กับกอหญ้าไปตลอดกาลนะ เขาเข้าใจยอมรับ แต่บอกว่า ไม่อยากให้แม่ตาย เก๋ก็บอกว่า ลูกอยาก หรือไม่อยากได้ แต่หนูห้ามไม่ได้นะ มันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ เด็กสมัยนี้รู้เรื่องเร็วนะคะ รู้อะไรมากกว่าที่ผู้ใหญ่คิดด้วย”

สาวน้อยนัก Observer

เพราะการสอนแบบผู้ใหญ่ ทำให้สาวน้อยกอหญ้ารู้จักคิด สังเกต และวางตัวอย่างระมัดระวัง เพราะรู้ว่าการกระทำอะไรไปทุกอย่างมีผลตอบรับกลับมา คุณครูของเธอได้กล่าวถึงความเป็นนักสังเกตการณ์ หรือ Observer เป็นคุณสมบัติเด่นของเธอ

“กอหญ้ากำลังจะขึ้น Year 1 หรือเทียบเท่าประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียน Singapore International school of Bangkok เป็นโรงเรียน 2 ภาษา คือ อังกฤษกับจีนค่ะ เก๋ให้เรียนที่นี่เพราะคิดว่าทั้ง 2 ภาษาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับอนาคตมากๆ และที่โรงเรียนนี้เขาเอาใจใส่นักเรียนดีมากค่ะ

คุณครูจะคอยสังเกตว่าเด็กแต่ละคนมีการเรียนรู้อย่างไร ขาดทักษะอะไรบ้าง ของกอหญ้าเป็น Observer คือ เขาจะไม่ใช่คนที่แสดงออกทันที เขาจะเงียบๆ ตอนแรกครูคิดว่าเขาขี้อายแต่ไม่ใช่ เพราะให้เขาทำอะไรก็ทำได้ แต่เขาจะรอดูสถานการณ์ก่อน สังเกตคนอื่น เก็บข้อมูลก่อนแล้วค่อยลงมือทำ ซึ่งพอทำแล้วก็จะทำได้ดีตลอด

อาจเป็นเพราะการที่เก๋ส่งให้เขาเรียนในระบบ Montessori ตอนอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แกเรียกว่าเรียนผ่านความเจ็บปวด (หัวเราะ) คืออย่างสอนให้เย็บผ้า เขาจะให้ใช้เข็มจริงเลย สอนให้ตั้งใจ รู้จักระวังเพราะถ้ามัวแต่เมาท์ หรือเหม่อลอย เข็มจิ้มมือก็เจ็บจริง สอนให้มีสติ และรู้จักรักษาตัวให้รอด อย่างการเสียบปลั๊กนี่ก็ให้เด็กเสียบตั้งแต่สองขวบนะ ห้ามแม่เสียบให้ ห้ามโวยวาย กรีดร้อง คือเขาจะสอนวิธีเสียบอย่างถูกวิธี ว่าต้องจับอย่างไร อธิบายว่าในนั้นมีกระแสไฟนะ ถ้าไม่ระวังโดนดูดจะบาดเจ็บได้ มันทำให้เขารู้ว่ามันอันตรายนะ น่ากลัวนะ ดังนั้น เวลาเสียบต้องระวัง ซึ่งเด็กก็จะรู้ แล้วเวลาเขาเห็นปลั๊กก็จะไม่มีทางเอานิ้วไปจิ้มเล่น

จากระบบการเรียนแบบนี้ เขาเลยโตมาเป็นเด็กค่อนข้างระวังตัว มีเหตุมีผล และมีระบบความคิดเหมือนผู้ใหญ่ เพราะอย่างเวลาเขาหกล้ม เขาจะรู้ว่าเพราะเขาไม่ระวังนะ ไม่ทันมองเลยสะดุดหรือวิ่งเร็วไปเลยล้ม เขาก็จะรู้ว่าอะไรคือสาเหตุ และระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก ไม่วิ่งซน”

ความลงตัวของพ่อ-แม่-ลูก

เห็นลูกสาวตัวน้อยแสนน่ารัก เลี้ยงง่ายไม่งอแงแบบนี้ แต่ทั้งคู่ก็ไม่คิดที่จะมีสมาชิกตัวน้อยอีกสักคนมาช่วยเพิ่มความสนุกสนานในครอบครัว ด้วยแนวความคิดการมีครอบครัวแบบพ่อแม่สมัยใหม่ ที่ไม่นิยมการมีลูกหลานมากมายเหมือนในอดีต

“ผมกับเก๋ตกลงกันแล้วว่า จะมีลูกแค่คนเดียว เพราะผมอยากทุ่มเทให้เขาเต็มที่มาก ตอนนี้ทุกอย่างมันลงตัวแล้ว ถ้ามีอีกคนเวลาที่จะแบ่งให้แต่ละคนก็คงไม่เต็มที่ ซึ่งที่บ้านก็ไม่ได้กดดันนะว่าให้มีหลานอีก โชคดีที่พี่ๆ น้องๆ ทั้งบ้านผมและบ้านเก๋ ต่างก็มีหลานกันหลายคนแล้ว”

“เก๋ว่าทุกวันนี้ชีวิตเรากำลังสมดุลนะคะ มีกัน 3 คนพ่อแม่ลูก กำลังพอดี ไปเที่ยวเดินทางอะไรก็ดูแลได้ง่าย ถ้าคนมากกว่านี้คงดูแลได้ไม่ดีเท่านี้ แล้วเก๋ไม่เคยมองว่าต้องมีอีกคนมาเป็นเพื่อนกัน ถ้าอยากสนุก อยากมีเพื่อนเล่น ก็มีลูกพี่ลูกน้องเต็มเลย หรือถ้าจะมีเพราะกลัวว่าเขาอยู่คนเดียว เก๋ก็สอนให้กอหญ้าเขาอยู่ด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องเกาะติดใคร เพราะถึงมีน้องอีกคนก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเขาจะอยู่ด้วยกันไปได้ตลอด เกิดมาแล้วเขาอาจจะเข้ากันไม่ได้ก็ได้ หรือน้องอาจไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไปก็ได้ ดังนั้น อย่าไปคิดว่าต้องมีอีกคนมาอยู่เป็นเพื่อนกัน อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น ต้องแข็งแกร่งพอจะอยู่ด้วยตนเองได้”

ผลจากการเลี้ยงดูให้สามารถอยู่ด้วยตนเองได้ กอหญ้าจึงเป็นลูกน้อยไม่ติดคุณแม่เหมือนลูกคนเดียวทั่วไป “เก๋ยกเวลาของเก๋ให้กอหญ้าเป็นอันดับหนึ่ง คือ งานเรามันยืดหยุ่นได้ และด้วยเทคโนโลยี โทรศัพท์ อีเมล ไลน์ ทำให้เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ดูแลสั่งการจากที่บ้าน บนรถก็ได้ เก๋เลยสามารถมีเวลาไปรับ-ไปส่งเขาเข้าเรียน พาไปทำกิจกรรมต่างๆ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เก๋กับก้องก็ยกให้เป็นวันครอบครัวให้เขาเต็มที่

แต่แม้เวลาส่วนใหญ่เราจะยกให้เขา แต่เขาก็ไม่ได้จะติดเก๋ตลอดเวลา อย่างถ้าวันไหนเรามีนัด อยากมีเวลาเป็นส่วนตัว ก็สามารถไปได้ เก๋ก็จะขออนุญาตเขา ว่าวันนี้แม่ขอไปออกกำลังกาย ไปชกมวย ไปชอปปิ้งหรือสังสรรค์กับเพื่อน เขาก็เข้าใจ ตัวเขาก็อยู่ทำการบ้าน วิ่งเล่น หรือออกกำลังกายกับพี่เลี้ยงที่บ้านได้

แต่ถ้าวันไหนเขางอแงไม่เอา อยากให้เราเล่นด้วย ไม่อยากให้เราไป เราก็จะอธิบายเขาว่า ถ้าไม่ให้ไปออกกำลังกาย แม่ก็จะไม่แข็งแรงนะ แม่จะป่วย จะไม่สบาย หนูชอบเหรอคะ หรือบางทีก็ต้องอธิบายว่าแม่ต้องมีเพื่อน ต้องมีสังคม อย่างกอหญ้าก็มีเพื่อนที่โรงเรียน มีสังคมของกอหญ้า ถ้าไม่ให้แม่ไปไหน แม่ก็จะไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อนนะ ชีวิตไม่มีใครคบ อยากให้แม่เป็นอย่างนั้นเหรอ เขาก็เข้าใจ แต่ถ้าเราไปบ่อย เขาก็จะเตือนเลยนะ ว่าเยอะเกินไปแล้วนะคะ”

นั่นคือสายสัมพันธ์ที่แสนน่ารักของเหล่าสมาชิกในครอบครัวเล็กๆ นี้ที่ พ่อ-แม่-ลูก นั้นผูกพันและอบอุ่นเป็นอย่างมาก :: Text by FLASH

Credit
นายแบบ & นางแบบ :: ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล, จิราวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา และกวินนา ดิศกุล ณ อยุธยา
แต่งหน้าและทำผม :: ณัฐวีนา เมธีธารา โทรศัพท์ 08-7755-8804 จากสถาบัน International Makeup Fashion Academy (IMFA)
ประสานงาน :: สิริลักษณ์ เขตร์กุฎี
ช่างภาพ :: กมลภัทร พงศ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น