ART EYE VIEW---หนึ่งในบรรดาของสะสมสำหรับคนที่โหยหาอดีต หลงใหลในความคลาสสิกคือ “แผ่นเสียง”
เพื่อแลกกับการได้แผ่นเสียงบางแผ่นมาครอบครอง หลายคนยอมจ่ายเงินในราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น
ไม่เฉพาะแต่เสียงเพลงจากแผ่นไวนีล ผลิตในระบบอนาล็อค ที่(บางคนบอกว่า)มีความเป็นธรรมชาติและนุ่มนวลกว่า และ หลายเพลงหาฟังไม่ได้ในระบบดิจิตอล
คุณค่าทางใจจากการได้เสพความงามของภาพวาด ภาพถ่ายเก่าๆ ตลอดจนงานออกแบบกราฟิกในยุคที่ต้องอาศัยมือตัดแปะ ก็มีส่วนไม่น้อย
ศิษยเก่าช่างศิลป หลงใหลแผ่นเสียงเพลงไทย
“คนที่เริ่มเล่นแผ่นเสียง แรกๆก็เพราะรู้สึกว่า มันคลาสสิกดี ขนาดมันใหญ่ดี ปกมันสวยดี แต่พอเล่นไปสักระยะก็อยากจะได้คุณสมบัติที่มากไปกว่านั้น รวมถึงคุณภาพของเสียง ขณะที่บางคนแค่ได้เห็นว่าภาพวาดภาพถ่ายบนปกมันสวยดี ยังไม่ทันรู้ว่าเพลงอะไรหรือของใครก็ชอบแล้ว”
คือคำบอกเล่าของ ป็อก - ธำรง จั่นเพ็ชร์ หนึ่งในนักสะสมแผ่นเสียง และเจ้าของ Rider Records ร้านขายแผ่นเสียงเพลงไทย บนถนนราชพฤกษ์ ที่เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ในช่วงที่แผ่นเสียงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
ป็อก ยอมรับว่า เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสุขกับการได้เสพความงามบนปกแผ่นเสียง
จากจุดเริ่มต้นที่ได้มีโอกาสเห็นและฟังเพลงจากแผ่นเสียงครั้งแรกที่บ้าน ซึ่งเป็นของพ่อ กระทั่งพัฒนามาสู่การเป็นนักสะสมและเปิดร้านขายแผ่นเสียงในที่สุด
“สมัยเด็กๆก็ไม่ได้คิดอะไร แค่ฟังเพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พอโตขึ้น ฟังเพลงมาเรื่อยๆ และเรียนศิลปะมาด้วย(ศิษย์เก่าวิทยาลัยช่างศิลป) ซึ่งเพลงก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน ยิ่งบนปกของแผ่นเสียงมีทั้งภาพวาดภาพถ่ายก็เลยยิ่งชอบ และทำให้เราสนใจสังเกตรายละเอียดบนปกแผ่นเสียงมากขึ้น
ผมมาเริ่มต้นสะสมแผ่นเสียงจริงจังเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนจะมาฟังเพลงไทยจากแผ่นเสียง ผมฟังสากลมาก่อน พอมาได้เห็นร้านแผ่นเสียง ทำให้นึกถึงว่าสมัยก่อนเราก็เคยเล่นแผ่นเสียงของพ่อที่บ้าน และทีแรกที่เริ่มซื้อเพราะเพลงนั้นเพลงนี้ ที่บ้านเรายังไม่มี เลยอยากลองซื้อมาเล่นดู ยิ่งพอมารู้ว่าอาจารย์ของเราที่เคยสอนเราตอนเรียนช่างศิลป ก็เล่นด้วย จึงเริ่มเก็บแผ่นเสียงเพลงไทยทีละแผ่นๆ แล้วพอเริ่มจริงจัง ก็เลิกฟังเพลงสากลจากซีดีไปเลย”
ปกแผ่นเสียงจากภาพวาดและภาพถ่ายหายาก ราคาสูง
ป็อกเล่าว่า พัฒนาการของภาพบนปกแผ่นเสียงไวนีล ในระบบอนาล็อค โดยเฉพาะแผ่นเสียงเพลงไทย เริ่มต้นด้วยการใช้ “ภาพถ่ายขาวดำ” มาทำเป็นปก จนมาสู่ยุคที่ใช้ “ภาพวาด”
พนม สุวรรณบุณย์,เปี๊ยก โปสเตอร์,ปยุต เงากระจ่าง และอีกหลายท่านที่อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เหล่านี้คือตัวอย่างนักวาดผู้โด่งดังในอดีต ที่เคยฝากผลงานไว้บนปกแผ่นเสียงเพลงไทย
และกลับมานิยมใช้ภาพถ่ายอีกครั้ง ในยุคที่เมืองไทยเริ่มมี “ภาพถ่ายสี” รวมไปถึงภาพปกแผ่นเสียงที่ใช้ “งานออกแบบกราฟิก” ในยุคที่ต้องอาศัยมือตัดแปะระหว่างภาพวาดและภาพถ่าย
อย่างไรก็ตามในตลาดของคนเล่นแผ่นเสียงเพลงไทย ป็อกให้ข้อมูลว่า ปกที่เป็นภาพถ่ายเก่าๆหายากและภาพวาด ล้วนแต่มีราคาสูงด้วยกันทั้งคู่ แต่ในตลาดทั่วไป ปกที่เป็นภาพวาด ยังมีราคาที่สูงกว่า
ระหว่างที่สนทนากัน ป็อกหยิบปกแผ่นเสียง 4 ปก ได้แก่ เรือนแพ,ลาวดำเนินทราย,เงิน เงิน เงิน และรักเธอเสมอ ที่เขาสะสมไว้ส่วนตัวมาให้ชม ซึ่งล้วนแต่เป็นปกหายาก มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของนักสะสมแผ่นเสียงเพลงไทย ผลิตขึ้นเมื่อต้นปี 2500 ช่วงเวลาบ้านเรายังผลิตแผ่นเสียงเองไม่ได้ ต้องส่งไปจ้างบริษัทในต่างประเทศช่วยผลิต ได้แก่ ญี่ปุ่นและอินเดีย
คนเขียนรูปชื่นชอบการฟังเพลง
ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปที่ผนังร้านก็จะพบว่า มีภาพเขียนสีน้ำมันหลายภาพติดให้ชมอยู่ด้วย ซึ่งภาพเขียนเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ร้านมีบรรยากาศกึ่งร้านขายแผ่นเสียงกึ่งแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ ยังทำให้เราหวนนึกถึงภาพบนปกแผ่นเสียงเพลงไทยหลายๆแผ่น
เจ้าของผลงานคืออาจารย์ของเจ้าของร้านนั่นเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชิต ตั้งเจริญ อดีตอาจารย์สอนศิลปะรั้วช่างศิลปและคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ซึ่งปัจจุบันเออร์ลี่รีไทร์จากอาชีพประจำ มาทำงานศิลปะอยู่ที่บ้านย่านพุทธมณฑลสาย 4
ผศ.พิชิต เล่าย้อนความหลังไปเมื่อ 30 ปี ก่อนว่า การเปิดเพลงฟัง ขณะที่ทำงานศิลปะไปด้วย เป็นสิ่งที่ชอบทำมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีเพลงจากแผ่นซีดีให้ฟัง สื่อที่ใช้ในการฟังเพลงมีเพียงสองอย่างคือ แผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ท แต่เนื่องจากแผ่นเสียงมีราคาแพง โอกาสที่จะซื้อหามาฟังจึงมีไม่มาก
บ่อยครั้งที่ไปเดินดูร้านแผ่นเสียงละแวกวังบูรพา ทำให้รู้จักและอยากฟังเพลงบางเพลงที่ไม่มีบันทึกเป็นเทปคาสเซ็ท ทางเลือกแก้ขัดในตอนนั้นสำหรับคนเบี้ยน้อยจึงมีเพียงการไปยืนฟังเพลงจากแผ่นเสียงที่ร้าน “รามาพาณิชย์” หน้าโรงแรมโอเรียลเต็ล ซึ่งเป็นร้านนำเข้าแผ่นเสียง มีให้ทดลองเปิดฟังก่อนตัดสินซื้อ และมีบริการรับถ่ายเพลงจากแผ่นเสียงลงเทปคาสเซ็ท
เสพศิลป์บน “แผ่นเสียงเพลงฝรั่ง” สู่ “แผ่นเสียงเพลงไทย”
กระทั่งในช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์ที่รั้วช่างศิลปมีโอกาสเดินทางไปอังกฤษเพื่อเขียนภาพที่วัดไทยพุทธประทีป เมื่อพบว่าแผ่นเสียงที่นั่นมีราคาถูกพอๆกับเทปคาสเซ็ท ครั้นเมื่อเดินทางกลับเมืองไทย จึงหอบหิ้วเอาแผ่นเสียงกลับมาเป็นจำนวนมาก และเป็นจุดเริ่มต้นให้คิดสะสมแผ่นเสียงอย่างจริงจังมานับแต่นั้น
“กลับมาก็โอ้โห ซื้อแผ่นเสียงมาเยอะมาก ส่งมาทางเรือเป็นลัง รวมถึงเครื่องเสียงสองลัง(หัวเราะ) เป็นเพลงสากลล้วนๆ เมื่อก่อนยังไม่ได้ฟังเพลงไทย
โดยเรื่องของเพลงเป็นตัวนำสำคัญที่ทำให้สะสมแผ่นเสียง แต่ด้วยความเป็นคนศิลปะก็ทำให้มองเรื่องความงามของปกแผ่นเสียงนับตั้งแต่ตอนนั้นด้วย โดยเฉพาะงานออกแบบปกแผ่นเสียงของฝรั่ง มีออกแบบที่ดี ทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจ ในการออกแบบแผ่นเสียงให้มีความงาม ต้องยอมรับว่าเค้ามีตรงนี้มานาน ตลอดจนมีการออกแบบให้เข้ากับแนวเพลงของดนตรี”
โดยเฉพาะความงามของแผ่นเสียงจาก Blue Note Records ค่ายเพลง ที่ผลิตเพลงแนว Jazz ที่ ผศ.พิชิต บอกว่าชื่นชอบมากเป็นพิเศษ
“เขาจะมีการออกแบบโดยใช้ภาพของนักร้องหรือนักดนตรีเจ้าของอัลบั้มเพลงนั้นๆมาออกแบบร่วมกับฟอนต์ตัวอักษรของชื่ออัลบั้ม ภายใต้องค์ประกอบและโครงสีที่ไม่ซับซ้อน มีแค่ 2-3 สีเท่านั้นเอง
เป็นจุดเริ่มต้นให้มีความชอบในเรื่องการออกแบบปกแผ่นเสียงอย่างจริง เวลาไปดูแผ่นเสียงต้องหาดูของ Blue Note ในส่วนตัวอาจจะเพราะเป็นค่ายเพลงที่เก่าแก่มีเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางดนตรีที่เดินทางมาด้วย Jazz สถานเดียว และมีเอกลักษณ์เรื่องการออกแบบปกแผ่นเสียงที่เด่นชัดมาก ซึ่งเพื่อนรุ่นน้อง(ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี) ที่ก็เล่นแผ่นเสียงและฟังดนตรี Jazz ด้วยกันมา และสะสมแผ่นเสียงของ Blue Note เยอะมาก ก็ยังเห็นพ้องเลยว่าโลกของ Jazz มีความละม้ายคล้ายกับทัศนศิลป์ และชอบการออกแบบปกแผ่นเสียงของค่ายนี้เหมือนผม และตัวเขาเองก็เคยออกแบบปกให้แผ่นเสียงเพลงไทย”
ในเวลาต่อมาเมื่อมีโอกาสคลุกคลีกับนักสะสมแผ่นเสียงเพลงไทยและมีรายได้พอที่จะเจียดมาซื้อแผ่นเสียงเพลงไทย ผนวกกับมีพี่ชายที่ชอบประดิษฐ์เครื่องเสียงง่ายๆใช้เอง เปิดแผ่นเสียงให้ได้ยินเข้าหูอยู่เรื่อยๆ และรสนิยมส่วนตัวที่ทำให้หันเหมาซึมซับกับวิถีและคุณค่าความเป็นไทยในอดีตมากขึ้น
“หลายอย่างของความเป็นไทย ได้เข้ามาอยู่ในความพึงพอใจและหันหน้าเข้าไปหาสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น รวมถึงเรื่องราว และสุนทรียภาพในศิลปะการออกแบบปกแผ่นเสียงของเพลงไทยด้วย”
อีกทั้งหนึ่งในบรรดานักวาดปกแผ่นเสียงอย่าง เปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ด้วย ยังเป็นผู้ที่เคยเป็นแรงบันดาลใจทำให้อยากเรียนศิลปะมาก่อน
จาก “หนาวลมที่เรณู” ถึง “เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย”
กระทั่งเมื่อปี 2554 แรงบันดาลใจที่ได้รับจากแผ่นเสียงเพลงไทยก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของ ผศ.พิชิต เป็นครั้งแรก
“ความคิดทางศิลปะของผมในช่วงเวลานั้น มีความสนใจในสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับความเป็นไทย โดยเฉพาะเรื่องในอดีตที่มีคุณค่า ได้หยิบจับมาทำหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง เช่น ภาพในความทรงจำ ส.ค.ส.สมัยเก่า ที่เป็นพวกภาพนกบิน กระท่อมปลายนา ที่เป็นภาพง่ายๆเชยๆ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือปกแผ่นเสียงเพลงไทย
ผมไปถูกใจกับภาพปกแผ่นเสียง เสียงขลุ่ยบ้านนา หนาวลมที่เรณู ของ ศรคีรี ศรีประจวบ เลยหยิบจับมานำเสนอผ่านงานศิลปะเมื่อปี 54 ซึ่งเรื่องราวในภาพคล้ายจะเลือนหาย ขอบภาพมีสีสด เพราะผมเจตนา ให้คนมองเกิดการเปรียบเทียบ มีการนำเอาลักษณะของอาร์ตเวิร์คของสื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อนมาสร้างองค์ประกอบของภาพ”
ขณะที่ภาพเขียนสีน้ำมันที่กำลังติดแสดงภายในร้าน Rider Records ที่แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากปกเสียงเพลงไทยเช่นกัน แต่ ผศ.พิชิต ให้ชื่อผลงานชุดนี้ เรื่องราวจากแผ่นเสียงเพลงไทย ด้วยเหตุที่ว่า
“เพราะผมไม่ได้ทำงานชุดนี้เพราะได้รับแรงบันดาลใจมากจากแค่ปกแผ่นเสียง แต่เป็นแรงบันดาลใจทั้งหมดเกี่ยวกับแผ่นเสียง ทั้งในเรื่องของดนตรี ความสวยงามของภาษาในเพลง สุนทรียภาพบนปกแผ่นเสียงภาพ และของคนในยุคนั้น
เป็นช่วงเวลาที่ผมเออร์ลี่รีไทร์ตัวเองออกมาเพื่อทำงานศิลปะโดยตรง ใช้เวลาที่เหลือขลุกอยู่กับศิลปะและเพลง เพราะรักสองสิ่งนี้มาก ระหว่างที่แสวงหาสิ่งที่จะมาทำงานศิลปะ ก่อนหน้านี้ เคยมีภาพนางรำภาพหนึ่งมาติดที่ร้าน ลูกศิษย์ถามว่า อาจารย์ไม่ลองเขียนภาพพอร์เทรตบ้างหรือ
ก็เลยรับปากเขาว่าจะลองทำดู ถือมันเป็นช่วงเวลาที่เรานึกถึงคุณค่าของความเป็นดนตรีไทย มากขึ้นกว่าสมัยก่อน ทั้งเอกลักษณ์ของดนตรีไทย ทั้งนักร้องที่มีเสน่ห์ มีความสามารถ ภาษาที่สวยงาม มีเรื่องของดนตรีไทยให้อยากทำเยอะ”
ยกย่องคนดนตรีไทย
ผศ.พิชิต สร้างผลงานชุดนี้ขึ้นเพื่อยกย่องบุคคลทางดนตรีไทย ด้วยการนำเรื่องราวของแผ่นเสียง ดนตรี ศิลปะ มาตีความใหม่ ให้เป็นเรื่องราวของความรู้สึกนึกคิดของตัวเองในปัจจุบัน ในการที่จะพูดถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น ให้ได้มากที่สุด และขณะเดียวกันได้นึกไปถึงระบบสิ่งพิมพ์ไทยและภาพจิตรกรรมไทยสมัยก่อนที่ใช้สีไม่มาก
“ โดยอันดับหนึ่งผมทำเพื่อจะยกย่องบุคคลทางดนตรี ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยเขียนภาพคน แต่จะเขียนภาพสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่มันโยงไปกับชีวิตมากกว่า
มีปกแผ่นเสียงอันหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจ คือปกแผ่นเสียงของ ผุสชา โทณะวณิก ที่ผลิตขึ้นในช่วงที่ระบบแผ่นเสียงใกล้ๆจะเลิกผลิต
เริ่มมีการทำแผ่นเสียงต้นทุนต่ำ ผลิตด้วยสีเพียงสีเดียว แต่สีเดียว ผมกลับมองว่า ถ้าทำดีๆมันสวยจังเลย
ผมจึงนำความคิดง่ายๆซื่อๆ ไม่สลับซับซ้อนแบบนั้น มาเรียบเรียง จัดให้เกิดความพอเหมาะพอดีในภาพ
เพื่อจะสะท้อนถึงคุณค่าความเป็นไทย ดนตรีในยุคนี้ ทั้งตัวดนตรี ความสวยงามของภาษาเพลง และศิลปะในช่วงเวลานั้น ที่มันมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มาก”
พระบรมสาทิสลักษณ์ 'ในหลวง' ภาพแรกในชีวิต
ตัวอย่างภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดนตรี นอกจากจะเป็นภาพเขียนภาพแรกในชีวิตที่ ผศ.พิชิต อยากจะลองเขียนภาพพระองค์ท่าน ยังเป็นตัวอย่างที่ทำให้ทราบถึงแนวทางในการนำเสนอภาพเขียนชิ้นอื่นๆในชุดเดียวกันนี้ด้วย
“เปิดนิตยสารเก่า (ไท-ทรรศน์) เห็นภาพพระฉายาลักษณ์ขณะทรงดนตรีที่เป็นต้นแบบในการนำมาเขียนภาพนี้ นอกจากจะชอบมาก ยังทำให้นึกถึงสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ และนึกไปถึงพระปรีชาญาณทางดนตรีของพระองค์ท่าน รวมถึงเพลงพระราชนิพนธ์ที่ชอบอยู่สองเพลงคือ ชะตาชีวิต'และ แสงเทียน แล้วมันมีแผ่นเสียงแผ่นหนึ่งชื่อ แสงเทียน ซึ่งเป็นอัลบั้มเพลงของ สุนทราภรณ์ เดิมที อาจารย์พนม สุวรรณบุณย์ เป็นผู้วาด เป็นภาพเขียนผู้หญิงใส่ชุดไทย มีภาพเทียนเป็นองค์ประกอบเป็นสัญลักษณ์ในภาพ ผมจึงนำเอาแรงบันดาลใจคร่าวๆที่ได้รับจากแผ่นเสียงแผ่นนั้น รวมถึงฟอนต์ตัวอักษร เข้ามาจัดสรรใหม่ ประกายบนภาพ คล้ายในงานแผ่นเสียงบางชุดของ สมยศ ทัศนพันธุ์ ที่เป็นพระอาทิตย์ฉายแสง”
ด้วยเหตุนี้เรื่องราวจากแผ่นเสียงเพลงไทยของ ผศ.พิชิต จึงไม่ใช่เรื่องราวจากแผ่นเสียงแผ่นใดแผ่นหนึ่ง แต่เป็นหลายๆเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคแผ่นเสียงเพลงไทย ที่ถูกนำมาจัดองค์ประกอบไว้ในภาพแต่ละภาพ
วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2558 เวลา 12.00 - 24.00 น. เชิญร่วมงานเปิดตัวภาพเขียนชุด “เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย” โดย ผศ.พิชิต ตั้งเจริญ และร่วมพบปะพูดคุย พร้อมประมูลแผ่นเสียงมือสอง ณ ร้าน Rider Records ถ.ราชพฤกษ์ โทร.081-854-0231 และ 086-095-2241
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews