xs
xsm
sm
md
lg

Missing Links : นิทรรศการงานภาพเคลื่อนไหวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน เปิดพื้นที่ให้กับงานศิลปะประเภท งานภาพเคลื่อนไหว หรือ Video Art โดยมีผลงานของศิลปินจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจัดแสดงให้ชมยาวนานกว่า 5 เดือน

กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯและภัณฑารักษ์ของนิทรรศการในครั้งนี้ กล่าวว่า Missing Links ชื่อของนิทรรศการ เปรียบเหมือนพื้นที่ในการสืบค้น และการย้อนกลับมามองอดีตอีกครั้งถึงเรื่องราว การรับรู้ของผู้คนในระหว่างช่วงการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง รวมถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณนี้

ศิลปินที่มีผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ มีความสนใจและทำงานเกี่ยวกับช่วงเวลาของการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ผ่านบริบทของตัวศิลปินทั้งที่เกิดจากแรงขับของการล่าอาณานิคม หรือจากตัวศิลปินเอง รวมถึงผลสืบเนื่องสู่ปัจจุบัน

นิทรรศการนี้ไม่ได้ต้องการที่จะแสดงให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ แต่มุ่งหวังที่จะหยิบยกบางประเด็นหลักที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ความเป็นสมัยใหม่ สภาพสังคมเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสังคมเมืองและสังคมชนบท การอพยพย้ายถิ่นฐาน การพลัดถิ่น และเศรษฐกิจข้ามภูมิภาค

กฤติยา กาวีวงศ์  ผู้อำนวยการหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน
นิทรรศการแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ภาค หรือ 2 ช่วงเวลา ด้วยกัน โดยแต่ละช่วงเวลา( ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน) จะประกอบไปด้วยผลงานภาพเคลื่อนไหวของ ศิลปิน 4- 5 ท่าน

ซึ่งการแบ่งนิทรรศการออกเป็นสองช่วงเวลานั้น เพื่อหวังให้ผู้ชมได้มีโอกาสกลับมาดูนิทรรศการอีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการพิจารณาใคร่ครวญถึงประเด็นต่างๆ

ภาคที่ 1 Modernization and Urban Conditions (ความเป็นสมัยใหม่และสภาวะความเป็นเมือง) ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม พ.ศ.2558

จัดแสดงผลงานภาพเคลื่อนไหวของ จอมเปท คุสวิดานันโต (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย), มาเรีย ทานิคูชิ (สาธารณรัฐฟิลิปปินส์), อูดัม ทราน เหงียน (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม/สหรัฐอเมริกา), เทะ หม่อ นาย (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า) และ สุริยะ ภูมิวงศ์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

ผลงานภาพเคลื่อนไหวชื่อ War of Java, Do you Remember?*2 ของ จอมเปท คุสวิดานันโต (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย)

เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะจัดวางที่พูดถึงประวัติศาสตร์และสถานะของหมู่เกาะชวาในช่วงระหว่างและหลังการตกเป็นอาณานิคม ผ่านภาพบุคคลที่ดูโดดเดี่ยว (BahrulUlum) แต่งกายในชุดชาวนา กำลังแสดงการร่ายรำในพื้นที่โรงงานฟอกน้ำตาลเก่า ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 ซึ่งพิธีกรรมที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง คือพิธีกรรมที่มีชื่อว่า Cembengan ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมกระบวนการทำงานด้วยเครื่องจักรในการเปลี่ยนอ้อยให้กลายเป็นน้ำตาลบริสุทธิ์ และทำให้แรงงานคนทำงานสอดประสานกับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
 
โดยมีเสียงบรรยายที่เล่าถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างชาวชวาและชาวยุโรปในการค้าขายแลกเปลี่ยนวัตถุดิบต่างๆ ประกอบกับเสียงเพลงประสานของบทสวดทางศาสนา ความรู้สึกครึ่งๆ กลางๆ ของการ เทียบเคียงกันของภาษาพื้นเมืองกับการทำการเกษตรแบบสมัยใหม่ คนกับเครื่องจักร ตะวันออกกับตะวันตก สะท้อนให้เราเห็นประวัติศาสตร์ของหมู่เกาะชวา และเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผลงานภาพเคลื่อนไหวชื่อ Untitled (Celestial Motors) ของ มาเรีย ทานิคูชิ (สาธารณรัฐฟิลิปปินส์)
 
ศิลปินหญิงผู้นี้ทำงานโดยใช้สื่อและวิธีการที่หลากหลาย สนใจศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม สำหรับผลงานชิ้นนี้ มาเรียมุ่งความสนใจไปที่ Jeepney ยานพาหนะที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งถือเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในย่านชุมชนเมืองของกรุงมะนิลา

ผลงานภาพเคลื่อนไหวชื่อ Waltz of the Machine Equestrians ของ อูดัม ทราน เหงียน (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม/สหรัฐอเมริกา)

อูดัมใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลา 13 ปี หลังจากกลับมาที่ประเทศเวียดนาม อูดัมได้เห็นเมือง การจราจร การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมเมืองซึ่งเปรียบได้กับการเคลื่อนตัวของเหล่ารถจักรยานยนต์ที่ซับซ้อนและงดงาม

สำหรับเมืองไซ่ง่อนแล้ว “จักรยานยนต์” ถือเป็นยานพาหนะหลักสำหรับคนไซ่ง่อนในการไปมาหาสู่และ เชื่อมพื้นที่เมืองกับชนบท

อูดัมจินตนาการถึงการขี่จักรยานยนต์ว่าเป็นเหมือนเครื่องจักรกลหรือม้าเหล็ก ซึ่งเหมือนกับการขี่ม้าแบบสมัยใหม่

ผลงานชิ้นนี้คือการเปรียบเปรยของศิลปินระหว่างจักรยานยนต์กับม้าเหล็ก และสัญลักษณ์แทนการพัฒนา และโลกาภิวัตน์ แสดงให้เราเห็นกลุ่มนักบิดจำนวน 28 คน ที่ถูกออกแบบท่าทางให้แสดงกับพื้นหลังที่เป็นเส้นขอบฟ้าของนครโฮจิมินห์ ประกอบกับเสียงดนตรี Waltz no.2 ที่อัดจากการแสดงสดของนักแต่งเพลงชาวรัสเซีย Dmitri Shostakovich งานภาพเคลื่อนไหวชิ้นนี้ถ่ายทำที่ย่านถูเถียม แถบแม่น้ำไซ่ง่อน ซึ่งกั้นแบ่งย่านพัฒนาเก่าและใหม่ กลุ่มนักบิดจักรยานยนต์ ต่างใส่เสื้อกันฝนสีสันสดใส ซึ่งเชื่อมแต่ละคนเข้าไว้ด้วยกันด้วยเชือกและเข็มกลัด

การเคลื่อนตัวที่น่าทึ่งของเหล่านักบิดเป็นเหมือนการปลดปล่อยชีวิตของชาวเวียดนาม เหล่าบรรดาจักรยานยนต์ที่เห็นก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงของสังคมเวียดนามที่ความดั้งเดิมกับความเป็นสมัยใหม่ การเกษตรกับอุตสาหกรรม และความเป็นเอกเทศกับความเป็นชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกซ้อนทับกันอยู่

ผลงานภาพเคลื่อนไหวชื่อ Again and Again ของ เทะ หม่อ นาย (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า)

เป็นงานที่เล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงจากบทกวี ถ่ายทำที่โรงงานแก้วแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ศิลปินพูดถึงงานชิ้นนี้ซึ่งมีที่มาจากบทกวีที่แต่งขึ้นเอง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับวัฏจักรของชีวิตมนุษย์ว่า

“ชีวิตดำเนินเป็นวงจร ครั้นเมื่อเราตาย ชีวิตก็กลับ เกิดขึ้นใหม่ บ้างเป็นมนุษย์ บ้างก็เป็นสัตว์ ชีวิตของเราไม่มีวันหยุดนิ่ง เปรียบเทียบได้กับการทำแก้วที่มีการหมุนเวียน และก่อร่างขึ้นใหม่อยู่เสมอ”

ผลงานภาพเคลื่อนไหวชื่อ Time Never Comes Back ของ สุริยะ ภูมิวงศ์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

สุริยะ ศิลปินชาวลาวรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาจาก School of Fine Arts peruses the city of Vientiane ที่กำลังครุ่นคิด เกี่ยวกับอนาคตของตัวเองข้างหน้า ผู้ที่ความไม่แน่นอนและความหวังถูกหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน

“เวลาไม่อาจหวนคืน” สัจธรรมความจริงของโลกนี้ คือแนวคิดเบื้องหลังสำหรับผลงานของสุริยะ สะท้อนให้เห็นถึงความคิดและจิตใจของผู้คนบางคนที่ไม่เคยคิดก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป และได้แต่เสียใจเมื่อต้องเผชิญกับผลที่ตามมา

บางคนอยากที่จะย้อนเวลากลับไปเพื่อแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดทั้งที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครที่สามารถย้อนเวลากลับไปเพื่อแก้ไขในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว


ต่อจากนั้นนิทรรศการ Missing Links ภาคที่ 2 Diaspora and Identity (การย้ายถิ่นฐานและอัตลักษณ์) จะจัดแสดง ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม พ.ศ.2558

จัดแสดงผลงานภาพเคลื่อนไหวของ คริส ชอง ชาน ฟุย (ประเทศมาเลเซีย/แคนาดา) ,นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ (ประเทศไทย), ไบรอัน โกถอง ทาน (สาธารณรัฐสิงคโปร์) ,อะนีดา โยเอ อาร์ลี และ แขมร์ อาร์ต & สตูดิโอ รีโวลต์ (ราชอาณาจักรกัมพูชา/ สหรัฐอเมริกา)

ซึ่งศิลปินแต่ละคนจะหยิบเรื่องราวใดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตัวเองสนใจมานำเสนอผ่านผลงานภาพเคลื่อนไหว โปรดติดตามในลำดับต่อไปจากนิทรรศการในภาคแรก

Missing Links : นิทรรศการงานภาพเคลื่อนไหวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้ - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 9.00 - 20.00 น. ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน ซ.เกษมสันต์ 2 กรุงเทพฯ (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ) ไม่เสียค่าเข้าชม


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น