xs
xsm
sm
md
lg

ณัฐวุฒิ & นริสสา อมรวิวัฒน์ ค้นพบความสุขเปี่ยมล้น หลังจูงมือพิชิต “มะเร็ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>คนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยเขาในบทบาทพิธีกรรายการเจาะใจที่วางมือไปนานแล้ว หากแท้จริงชีวิตหลังจอของ “ณัฐ-ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” คือบิสซิเนสแมนและไอทีกายมากฝีมือที่มีงานล้นมือ ที่รั้งบทบาทสามีแสนดีของ “แอ้ นริสสา” กับชีวิตแต่งงานที่เดินทางมานานถึง 18 ปี แม้จะมีวิกฤตชีวิตเมื่อภรรยาจะต้องเผชิญกับ “มะเร็ง” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยความรัก กำลังใจ และทัศนคติในการมองโลกในแง่บวก จึงพาให้ “เขา” และ “เธอ” จูงมือกันพิชิตโรคร้ายนี้มาได้ ซึ่ง Celeb Online ได้รับเกียรติมาถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดนี้ที่นี่!

มนุษย์ไอทีผู้รักความท้าทาย

ก่อนเข้าสู่ประสบการณ์เผชิญหน้ากับโรคร้าย Celeb Online ถือโอกาสอัปเดตชีวิตงานหลังจอของณัฐวุฒิ ด้วยดีกรีปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท 2 ใบจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการ และปริญญาโท MBA จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) จึงส่งให้หน้าที่การงานของณัฐวุฒิเดินมาบนเส้นทางไอที ไล่ไปตั้งแต่วางแผนกลยุทธ์ให้กับหลายองค์กรชั้นนำ เป็นผู้บริหารของทรูและจีเอ็มของบริษัททรูอินเทอร์เน็ต เมื่อปี 2544 และการเป็นผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.

จนมาถึงปัจจุบันพ่วง 4 ตำแหน่งจาก 4 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับวิศวกรรมของครอบครัวในตำแหน่ง Director แห่ง Tesco ซึ่งรับผิดชอบงานออกแบบและควบคุมงานทั้งของรถไฟฟ้าสายต่างๆ เช่น สายสีน้ำเงิน ขณะที่อีก 2 บริษัทเป็นธุรกิจไอทีที่ณัฐวุฒิเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเอง ได้แก่ T2P บริษัท e-wallet รับชำระเงินให้กับธุรกิจและเกมผ่านระบบ Payment Gateway ให้ลูกค้าที่ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 5-6 แสนราย ส่วนอีกบริษัท Focal Intelligence ธุรกิจออกแบบแอปพลิเคชันและโซลูชันต่างๆ มีผลงานเด่นอย่างการออกแบบแอปพลิเคชันลักษณะ Indoor Navigator ให้กับเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงออกแบบแอปพลิเคชันท่องเที่ยว (Creative Journey) ให้กับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, อุทยานประวัติศาสตร์กําแพงเพชร และมิวเซียม สยาม อีกทั้งณัฐวุฒิยังพ่วงงานระดับชาติในตำแหน่งกรรมการของ บมจ.ทีโอที อีกด้วย เรียกว่าเป็นบิสซิเนสแมนงานชุกคนหนึ่งเลยทีเดียว

“ยิ่งได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ถึงเหนื่อยก็สนุก เพราะเราได้คิดนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ จริงๆ ผมเป็นคนที่อยู่ในวงการไอทีมาตลอดชีวิต ยิ่งยุคนี้ถือเป็นก้าวกระโดดของวงการไอที ส่วนหนึ่งมันเข้าไปอยู่ในมือของทุกคน ต้องยกเครดิตให้สมาร์ทโฟนที่ช่วยให้ไอทีเข้าไปสู่ชีวิตคนได้ง่ายและไว ผมว่าจากนี้ไปเราจะได้เห็นอะไรมากมาย ที่ระบบเทคโนโลยีไอทีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนมากจนผมไม่สามารถจินตนาการได้เลย” นักธุรกิจวัยขึ้นเลข 4 เกริ่นถึงภาพใหญ่ของงานที่เขาคลุกคลี

ปิ๊งไอเดียอาสาช่วยสังคมสไตล์ “ไมโครบุญ”

นอกจากงานประจำแล้ว ณัฐวุฒิยังใช้ทักษะไอทีที่คุ้นเคยช่วยสังคม ด้วยการริเริ่มออกแบบ “Read for the Blind” แอปพลิเคชันอ่านหนังสือให้คนตาบอด ซึ่งทุกคนที่มีแอปฯ สามารถอ่านหนังสือเสียงส่งเข้าระบบได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนผ่านสมาร์ทโฟน โดยสามารถเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบ หรือหนังสือแนะนำจากตัวแอปฯ รวมถึงยังเปิด FB Page ในชื่อ “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยการระดมอาสามาเป็นสมาชิกเพจทำหน้าที่แทนตาให้คนตาบอด ด้วยการพิมพ์อธิบายสิ่งที่คนตาบอดถ่ายรูปส่งเข้ามาในเพจ เช่น ช่วยอ่านฉลากยา หรือเอกสารต่างๆ

“จุดเริ่มต้นของแอปฯ Read for the Blind คือเราไปที่ร้านร้านหนึ่งที่มีบริการอ่านอักษรเสียง แต่ห้องเต็ม ประกอบกับแอ้ (ภรรยา) เพิ่งหายจากมะเร็งรอบแรก ก็มีความคิดอยากทำบุญ ทำให้เราจุดประกายว่าน่าจะเอาเทคโนโลยีไอทีเข้ามาช่วย เป็นโมบาย แอปฯ ที่สามารถอ่านอัดเสียง ง่ายๆ เสร็จก็อัปโหลด เราก็เลยลองทำ ประสานงานกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ตรงสามเหลี่ยมดินแดง โดยคนตาบอดสามารถฟังได้ผ่าน Call Center 1414 โดยได้ซัมซุงและกูเกิลเข้ามาร่วมกันพัฒนาโครงการ ถึงตอนนี้เรามีสมาชิกเป็นแสนเข้ามาช่วยกันอ่าน โปรเจกต์นี้เป็นอะไรที่ภูมิใจมาก”

“ส่วนเพจ ‘ช่วยอ่านหน่อยนะ’ จะคล้ายๆ Read for the Blind โดยคนตาบอดจะส่งรูปเข้ามาเพจเพื่อให้สมาชิกช่วยอ่านว่าในภาพนั้นคืออะไร ผ่านการพิมพ์ มันเป็น Quick and Fun Social Way ที่จะช่วยคนตาบอด ตอนนี้มีคนตาบอดเข้ามาให้ช่วยเป็นพันๆ มีสมาชิกอาสาประมาณ 3,000 กว่าคน สิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราใช้ดิจิตอลช่วยสังคมได้อย่างไรบ้าง คนตาบอดบางคนกำลังเตรียมสอบ ก็ส่งสไลด์ของอาจารย์เข้าเพจให้อาสาช่วยพิมพ์กลับไป (คนตาบอดจะมีโปรแกรมช่วยอ่านจากตัวอักษรเป็นไฟล์เสียง) พอเขาฟีดแบ็กกลับมาว่าสอบผ่านแล้ว อาสาที่ช่วยเขาก็มีความสุข”

เขาให้คำจำกัดความสั้นๆ ของการใช้ไอที มาทำให้เรามีโอกาสช่วยคนอื่นวันละนิด แต่ช่วยได้ทุกวันทุกเวลา ว่า “ไมโครบุญ”

รั้งตำแหน่งสามีแสนดี

แม้ว่าณัฐวุฒิจะมีตารางงานแน่นเอี้ยด แต่งานอันดับต้นๆ ของเขาคือการดูแลภรรยาสุดที่รักที่ครองชีวิตคู่กันมานานกว่า 18 ปี นับตั้งแต่คบหาดูใจกันเมื่อครั้งศึกษาอยู่ชั้นปี 3 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จวบจนวันนี้ความรักที่มีให้กันก็มิได้เสื่อมคลาย แม้จะผ่านวิกฤตหมาดๆ เมื่อภรรยาต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยที่ใครๆ มองว่าคือโรคร้ายอย่าง “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” แต่ทั้งหมดก็มิได้สั่นคลอนความรู้สึกที่มีต่อกัน หากแต่ยิ่งทวีพลังใจที่พร้อมจะอยู่เคียงกันขึ้นไปอีก

“แอ้ตรวจเจอเมื่อ 3 ปีก่อน คือแอ้เป็นคนแนะนำให้ผมและตัวเองตรวจสุขภาพชุดใหญ่ประจำปีอยู่แล้ว ณ ตอนนั้นผมให้อย่างเดียวคือ ความมั่นใจ พูดว่าแอ้ลุยเลย รักษาเลย แล้วก็ทำใจให้สบาย ตอนนั้นคุณหมอคุยกับเรา ทำให้เรารู้สึกสบายใจและมั่นใจมาก คุณหมอบอกว่าไม่มีเหตุผลที่จะไม่มั่นใจ ถ้าเราคิดว่าไม่มั่นใจแล้วมันได้อะไรกับเรา ถ้าเรามั่นใจ ทั้งความสบายใจ ทั้งภูมิคุ้มกันของเราก็จะเต็มที่ มันทำให้ผมไม่มีความคิดเลยว่าจะไม่หาย พอมีปัญหาเกิดขึ้นก็คือเราลุยแก้อย่างเดียวเลย” ณัฐวุฒิเล่าถึงแรงใจสำคัญที่ส่งต่อไปถึงภรรยาของเขา

สู้กับมะเร็ง

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงมะเร็ง ไม่ว่าใครก็ต้องผวา นริสสาเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน ยิ่งความเป็นคนใส่ใจดูแลตัวเองมาตลอด ทั้งอาหารการกิน ออกกำลังกาย อีกทั้งหมั่นตรวจสุขภาพมาเป็นอย่างดี จึงทำให้เธอไม่คาดคิดว่าต้องมาเจอกับโรคร้ายนี้

“ก็ตกใจนะ ตอนแรกตรวจเจอก้อนในม้าม เราก็ตัดม้ามเพื่อเอาก้อนเนื้อไปตรวจ ถึงพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งระบบต่อมน้ำเหลืองจะมีหลายอวัยวะที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ม้ามก็เป็นหนึ่งในนั้น พอตัดม้ามออกเราก็ต้องเช็กอัพว่าลามไปจุดอื่นไหม หลังจากนั้นก็ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแถวๆ ไหปลาร้า เราก็ผ่าออก จากจุดนั้นเราถึงเริ่มตรวจอย่างละเอียด ถึงพบว่ามันลามไปหลายจุดแล้ว”
ถึงจุดนั้นนริสสาตัดสินใจออกจากงาน เพื่อมารักษาตัวเองอย่างเต็มที่ โดยการเริ่มการรักษาตามขั้นตอนอีกครั้ง ทั้งการทำเคมีบำบัดในช่วงที่เป็นมะเร็งครั้งแรก จนในที่สุดมาถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งเป็นขั้นตอนการรักษาที่หนักหน่วงกว่าเดิม หลังจากพบว่ามะเร็งหวนกลับมาเป็นครั้งที่สอง

“การปลูกถ่ายไขกระดูก มันเหมือนการให้คีโมแบบแรงสุด มันจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งได้เยอะกว่าการทำคีโมปกติ ตอนนั้นภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเป็นศูนย์ จึงต้องมีการเก็บสเต็มเซลล์ออกจากร่างกายเราเอาไปแช่แข็ง เพื่อหลังจากนั้นจะเอาสเต็มเซลล์ที่แช่กลับมาฉีด เพื่อคืนภูมิคุ้มกันให้เรา ระหว่างนั้นเราก็อยู่ห้องปลอดเชื้อประมาณเดือนหนึ่ง ออกไปจากห้องไม่ได้เลย ทุกคนที่มาเยี่ยมต้องตรวจเช็กความสะอาด”

ขั้นตอนการรักษาด้วยเคมีบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูก ย่อมมีผลข้างเคียง นริสสายอมรับว่าการดำเนินชีวิตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยในช่วงการรับเคมีบำบัดแรกๆ ยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงเท่าไร แต่เมื่อมาถึงครั้งหลังๆ แย่สุดคือไม่มีแรง แม้แต่นั่งสระผมก็ยังล้มไปเฉยๆ จนมาถึงช่วงเปลี่ยนแปลงที่สุดคือรอบปลูกถ่ายไขกระดูก คือ ผมร่วง ทานอาหารไม่ได้ อาเจียน ท้องเสีย เจ็บคออย่างรุนแรง ลิ้นไม่รับรสอาหาร ถึงตอนนั้นคือต้องให้สารอาหารโดยตรงผ่านทางเลือด

ยึดพลังเชิงบวกฝ่าวิกฤต

จากเวิร์กกิ้งวูแมนกลายเป็นคนป่วยต้องนอนอยู่บนเตียงที่แม้แต่กลืนน้ำลายยังทรมาน แต่นริสสากลับเต็มไปด้วยพลังใจและวิธีมองโรคได้อย่างแตกต่าง จากการซึมซับและผสมผสานวิธีคิดทางสายธรรมของตะวันออกและสายจิตวิทยาของตะวันตก ที่ให้ยึดพลังของการจินตนาการเชิงบวก

“อย่าไปคิดว่ามันเป็นประสบการณ์เลวร้าย อย่าไปคิดว่าทำไมต้องเกิดขึ้นกับเรา เรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คงเพราะเราเคยทำกรรมไว้ คือเราเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่แล้ว ยังไงเราก็ต้องรับ แต่เรามาคิดว่าจะรับยังไงให้มีความสุขดีกว่า ถ้าเราไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนคงไม่มีทางคิดแบบนี้ได้ คือร่างกายเราต้องเสื่อม ต้องเจ็บอยู่แล้ว เพราะมันเป็นธรรมดาของชีวิต เพียงแต่เราแยกกายกับใจออกจากกัน กายจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ กายอยู่ส่วนกาย ใจอยู่ส่วนใจ”

“เวลาเราอาเจียนแล้วเงยหน้าขึ้นมาเห็นพยาบาลคอยให้กำลังใจเราอยู่ เราก็คิดว่าเรายังโชคดีที่มีพยาบาลดีๆ มาดูแล คิดแค่นี้เราก็ยิ้มให้ใจเราเองได้ คิดว่าฉันมีเวลาว่างเยอะมาก ฉันไม่เคยมีโอกาสดูซีรีส์เกาหลีติดต่อกันอย่างมีความสุขเลย ถ้าฉันไม่ได้อยู่ในห้องปลอดเชื้อ อาจจะโดนคนอื่นด่าแน่เลยว่าขี้เกียจไม่ทำงาน ไม่คิดว่าพรุ่งนี้จะเจ็บกว่านี้ไหม คือเรามาสนใจแต่เรื่องที่ทำแล้วมีความสุข”

ถึงจุดนี้ถามว่ามีช่วงเวลาท้อไหม? ณัฐวุฒิผู้เป็นสามีถึงกับเสริมว่า “ไม่มีเลย แอ้เป็นคนใจสู้มาก การทำเคมีบำบัดอาจจะมีผลข้างเคียงอย่าง ผมร่วง น้ำหนักตัวลด หรือเนื้อเยื่อในปากเริ่มเบิร์น แต่ตัวแอ้เองสู้มาก ความตั้งใจเกินร้อย”

อยู่เพื่อ “เรา”

เรียกว่าสิ่งที่พาให้นริสสาผ่านประสบการณ์ครั้งนี้ไปได้ นอกจากทัศนคติในการมองโรคของตัวเองแล้ว คู่ชีวิตอย่างณัฐวุฒิ คือกำลังใจสำคัญที่ไม่เพียงจะอยู่เคียงข้างทุกเวลานาที แต่ยังช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้เกิดขึ้นแม้ในยามป่วยไข้ จนกลายเป็นแรงใจและแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอต่อสู้ เพื่อมีชีวิตอยู่ดูแลคนที่รัก

“เรามีแรงสู้ เพราะเราอยากมีชีวิตอยู่กับเขา เรายังทำสิ่งดีๆ ให้เขาได้ไม่เยอะเลย สิ่งดีๆ ที่ทำให้พ่อแม่ของเราก็ยังน้อย เราถึงคิดว่ายังแพ้ไม่ได้ เราต้องเอาแรงผลักดันตัวเองมาเพื่ออยู่กับคนที่เรารัก เราอยากมีชีวิตอยู่เพื่อดูแลคนที่เรารัก สามีของเราเป็นคนดูแลเรามาตลอดเกือบ 20 ปีที่อยู่ด้วยกัน ในขณะที่เราดูแลเขาน้อยมาก ทำให้คิดว่าเราต้องมีอย่างน้อยอีก 20 ปีที่จะทำให้เขา”

“ณัฐเป็นคนร่าเริงตามธรรมชาติ คือเขาเป็นคนคิดบวก อย่างเรื่องที่เราป่วย เขาไม่เคยแสดงออกให้เห็นเลยว่ากังวลหรือทุกข์ใจ เขาเป็นหลักให้เราได้ ตอนอยู่ในห้องปลอดเชื้อ เขาจะหาเอนเตอร์เทนเมนต์ต่างๆ มาให้เรา หาหนังดีๆ หาลำโพงดีๆ มาเปิดเพลงให้ฟัง เอาจักรยานมาให้ลองปั่น มาทำท่าตลกๆ ให้ดู ทำให้เราได้หัวเราะ มันยิ่งทำให้รู้สึกว่าเขารักเรา ไม่ว่าเราจะโทรมแค่ไหน เขาก็ทนได้”

นอกเหนือจากกำลังใจจากณัฐวุฒิผู้เป็นสามีแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ ทั้งณัฐวุฒิและนริสสายกเครดิตให้ทีมแพทย์และพยาบาลผู้รักษาโดยเฉพาะ ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล (ผอ.อาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ รพ.วัฒโนสถ) ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการรักษาคนไข้ และมอบทัศนคติในการต่อสู้กับโรคนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

“คุณหมอน่ารักและเก่งมาก ตอนพบคุณหมอครั้งแรกรู้สึกเป็นคนสบายๆ ประโยคแรกที่คุณหมอพูดคือ ไม่ต้องไปกลัวมัน คิดอย่างเดียวว่าหายแน่นอน ลองคิดสิไม่ใช่ทุกคนจะได้มีโอกาสแบบคุณ ที่ป่วยเป็นมะเร็งแล้วจะมาให้คีโมแบบคุณ เราจะมีเวลาว่างเยอะมาก ให้ลองคิดว่าจะทำอะไรที่มีประโยชน์กับเวลาที่คุณมี คุณจะหาประโยชน์อะไรจากการเป็นโรคนี้ นั่นทำให้เรารู้สึกว่าคุณหมอคนนี้ ใช่เลย เรามาถูกทางแล้วและตัดสินใจรับการรักษา คือความศรัทธามันมาแล้ว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 2-3 ปีที่เรารักษา”

สร้างสุขในใจเพื่อส่งต่อให้ผู้อื่น

ด้วยตระหนักในแนวคิดที่ว่า “จะทำอะไรที่มีประโยชน์กับเวลาที่มี” ระหว่างอยู่ในห้องปลอดเชื้อที่มีเวลาเหลือเฟือ นริสสาไม่เพียงจะเลือกหัดปั่นจักรยาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดทำมาก่อน และยังถือโอกาสนี้นำคำสอนของศาสนาพุทธและการเดินสายกลางมาปฏิบัติจริง จากที่ก่อนหน้านี้รู้แต่เพียงทฤษฏีเท่านั้น รวมถึงยังใช้เวลากับสามีในการส่งต่อความสุขทางใจ ด้วยการอ่านหนังสือให้คนตาบอดผ่านการอัดเสียงลงในสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Read for the Blind และช่วยกันสร้างเฟซบุ๊กเพจชื่อ “ช่วยอ่านหน่อยนะ” เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนตาบอดเท่าที่เธอจะทำได้

“ระหว่างอยู่ในห้องปลอดเชื้อ เราก็มาช่วยกันใช้ Read for The Blind อ่านคลิปเสียงจากหนังสือธรรมะให้คนตาบอด และก็ช่วยสร้างเพจ “ช่วยอ่านหน่อยนะ” ทดสอบระบบ ถ่ายรูปตัวอย่างของคนตาบอดที่อยากจะให้อ่านให้ฟัง เราเคยได้ยินว่ามีคนป่วยคนหนึ่งเขาป่วยมากและใช้เวลา 29 วัน ทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น ปรากฏว่าผ่านไป 29 วันอาการดีขึ้น เราเลยคิดว่าการให้น่าจะทำให้มีความสุข ซึ่งมันก็มีความสุขจริงๆ”

“ทุกวันนี้ก่อนนอนจะขอบคุณในใจทุกวัน ตอนนี้เรารู้สึกมีความสุขมากกว่าก่อนป่วยอีกนะ เชื่อว่าหลายๆ คนที่ผ่านโรคร้ายมาคงจะเป็นเหมือนกัน เริ่มจัดความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิตใหม่ได้ว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิตจริงๆ”

บทเรียนชีวิตจากมะเร็ง

หลังการรักษาครั้งสุดท้ายผ่านไปหนึ่งปีแล้ว นริสสาหายจากโรคร้ายนี้มาได้ ส่วนหนึ่งเพราะหันมาดูแลตัวเองตามหลักสายกลาง หลังจากเรียนรู้จากประสบการณ์ป่วยครั้งแรกที่กังวลกับการดูแลตัวเองมากเกินไป เกิดเป็นความวิตก กลัวจะติดเชื้อโรค ขนาดไม่กล้าเดินในสวนบ้านตัวเอง ไม่กล้ากระทั่งกลืนข้าวเพราะกลัวติดคอ ท้ายสุดเธอตระหนักได้ว่านี่ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง จึงตัดสินใจพบจิตแพทย์เพื่อหาทางออกให้กับความเครียดของตัวเอง

“รอบแรกที่เราป่วยคือดูแลตัวเองแบบโอเวอร์ เป็นแบบนั้นอยู่ 7-8 เดือน จนที่สุดรู้สึกว่าเราอ่อนแอมาก ก็คิดว่าไม่ได้แล้วเลยไปพบจิตแพทย์เราก็เริ่มดีขึ้น พอป่วยรอบสองก็คิดว่าต้องเปลี่ยนใหม่มาใช้ชีวิตสายกลางให้เหมือนคนปกติมากที่สุดในแบบของเราเอง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรกินไขมันและน้ำตาลเยอะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่กินเลย เราเชื่อว่าถ้าได้กินของโปรดเล็กๆ น้อยๆ ก็สร้างความสุขได้ นานๆ ทีก็กินเค้กช็อกโกแลตบ้าง ทำให้ตัวเองมีความสุข อย่างป่วยรอบแรกไม่แต่งหน้าเลย ผมก็ไม่ทำ เพราะกลัวเคมี แต่ตอนนี้มีความสุขกับการเปลี่ยนวิกทุกวัน คือถ้าคิดว่าตัวเองอ่อนแอเราก็จะอ่อนแอ ฉะนั้นคิดว่าตัวเองแข็งแรงดีกว่า”

การเลือกที่จะสู้กับมะเร็งไปพร้อมกับใช้ชีวิตอย่างมีความสุขบนทางสายกลาง ทำให้นริสสาพบว่า นอกจากจะทำให้ตัวเองมีความสุขกับอะไรง่ายๆ แล้ว ยังทำให้คนรอบข้างของเธอเบิกบานอีกด้วย เมื่อเห็นเธอมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายนี้ ยังส่งผลต่อมุมมองในการใช้ชีวิตชนิดที่ว่าพลิกผัน

“เรารู้สึกว่าแม้ป่วยเป็นโรคนี้แต่ก็คุ้มนะ เพราะทัศนคติการใช้ชีวิตเราเปลี่ยนไปมาก เราเชื่อว่าการที่รอบแรกหายแล้วกลับมาป่วยอีกครั้ง เพราะเครียดเกินไป ฉะนั้นจะทำแบบเดิมไม่ได้ ตั้งแต่เด็กจนโต ความสุขไม่เคยเป็นอันดับหนึ่งในการใช้ชีวิต เราใช้ชีวิตเพื่อจะประสบความสำเร็จ ทั้งหน้าที่การงาน การเรียน แต่ตอนนี้คือความสุข ฉะนั้นอะไรที่ทำแล้วสุขทำเลยภายใต้ข้อจำกัดที่เรามี ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็กลับมาดูแลตนเองและดูแลคุณณัฐให้เยอะขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ทำทุกวันให้เขามีความสุข หลังป่วยเป็นมะเร็งเรารู้สึกว่าเป็นภรรยาที่เอาใจสามีมากขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าเขารู้สึกหรือเปล่า”

คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้ดีเท่ากับณัฐวุฒิ ซึ่งยืนยันว่า ชีวิตยามนี้แตกต่างจากเดิมและมีความสุขมาก

เป้าหมายอนาคตร่วมกัน

เมื่อทัศนคติในการมองชีวิตเปลี่ยนไป สิ่งที่นริสสามองไปที่อนาคต คือ การหาโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับสามีผู้น่ารัก หนึ่งในนั้นคือการปั่นจักรยาน ซึ่งแต่เดิมเป็นกิจกรรมสุดโปรดของณัฐวุฒิ แต่ตอนนี้กลายเป็นกิจกรรมของ ‘เขา’ และ ‘เธอ’ และไม่ใช่ปั่นระยะสั้นอย่างที่ใครเข้าใจกัน หากแต่เป็นการปั่นระยะไกลขนาดเกือบ 50 กิโลเมตร การก้าวข้ามขอบเขตความสามารถของร่ายกายนี้ นริสสามีเคล็ดลับ
“ตอนนี้ตั้งเป้าต่อไปคือ 60 กิโลเมตร คือเราแปลกกว่าคนอื่น ตรงที่ปั่นจักรยานสองตอน เป็นการปั่นคู่กันสองคน ซึ่งคุณณัฐเป็นคนไปสรรหามาให้ จริงๆ เราขี่จักรยานไม่แข็งนะ แต่เพราะปั่นกันสองคนด้วย ทำให้รู้สึกสนุก คือถ้าเราไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้ เราอาจจะไม่ได้มีกำลังใจมาทำสิ่งนี้ เหมือนเมื่อก่อนเราจัดความสำคัญของชีวิตไม่ได้ แต่ตอนนี้เราจัดอันดับใหม่เป็นความสุข สุขภาพ ทำอะไรให้คนที่เรารัก ทำประโยชน์ให้คนอื่น ทำบุญ ส่วนความสำเร็จกับงานต้องทำอย่างสมดุล”

“ต้องขอบคุณที่เราอยู่ในสถานะที่ทำได้ ขอบคุณทุกวันที่มีสามีที่สามารถหาเลี้ยงเราได้ เพราะไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะมาใช้วิถีชีวิตแบบเราได้ ยังมีอีกหลายคนที่ป่วยแล้วยังต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ต้องเลี้ยงลูกไปด้วย ฉะนั้นถือว่าเป็นโชคดีของเรา” นริสสาถ่ายทอดถึงความรู้สึกที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการปิดท้าย และหวังอยู่ในใจเล็กๆ ว่าเรื่องราวของเธอจะเป็นข้อคิดให้ผู้อื่นได้บ้างไม่มากก็น้อย :: Text by FLASH

แต่งหน้า ::: ณภัทร ศรีกะชา Make up artist จากเครื่องสำอางลังโคม (LANCOME) โทรศัพท์ 0-2684-3000
สถานที่ ::: L’ APPART Restaurant & Lounge โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท โทรศัพท์ 0-2126-9999
ประสานงาน ::: พรรณพิมล แดงรัศมีโสภณ
ช่างภาพ ::: กมลภัทร พงศ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น