xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ชายหัวใจน่ากราบ... “คงศักดิ์ โชคสุริยา” นายแบงก์อาสากู้ภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทำดีไม่มีคำว่ารอ
หรือต้องพอ ต้องรวยก่อน ถึงค่อยทำ
ทุกเวลานาทีมีค่าได้เสมอ
เฉกเช่นหนุ่มใหญ่พนักงานธนาคารกสิกรไทย “บุ้ง-คงศักดิ์ โชคสุริยา” ที่ใช้เวลายามว่างเว้นจากการงาน อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เป็นความสูญเสียในอดีต ก่อเกิดเป็นประกายความตั้งใจอันแน่วแน่ นับแต่วันที่สูญเสียเสาหลักของครอบครัว คงศักดิ์ก็ตั้งปณิธานไว้ว่า วันเวลาที่เหลือ ไม่ว่าตนจะทำงานอันใดก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปด้วย คือการเป็น “อาสากู้ชีพ”

ดังนั้นแล้ว แม้จะดำรงตำแหน่งหนุ่มแบงก์ตั้งแต่เรียนจบ จวบจนปัจจุบัน อีกสถานะหนึ่งซึ่ง บุ้ง คงศักดิ์ ปักหลักทำมาไม่ขาด ก็คือการเป็นเจ้าของรหัสบางรัก 01 หรือนคร 265...

“วินาที” ตัดสินชีวิต

"ร่างพ่อผมไถลกลิ้งไปไกลกับพื้น หัวฟาดลงบนถนน ผมก็ค่อยๆ คลานลากขามาอุ้มพ่อไว้ที่ตักแล้วโบกขอความช่วยจากคนที่ผ่านไปผ่านมา แต่เขาก็แค่มอง... แค่มองแล้วก็ไป ไม่มีใครคิดจะช่วยเหลือ" หัวหน้าจุด สน.บางรัก รหัสบางรัก 01 หรือนคร 265 ในวัย 49 ปี เล่าย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อ 41 ปีที่แล้ว ที่อุบัติเหตุพัดพาเอาลมหายใจของผู้เป็นพ่อปลิวจากเขาไปต่อหน้าต่อตา

“ตอนนั้นผมแค่ 8 ขวบเอง แต่คือพอเห็นภาพนั้นแล้วมันรู้สึกเหมือนว่าตัวเองเหมือนหมาตัวหนึ่งเลยนะ มีแต่คนผ่านมาผ่านไป ไม่มีจริงๆ เลยสักคนที่จะลงมาช่วย” อาสาสมัครหนุ่มใหญ่ เผยความรู้สึกที่อยากจะลืมเลือนแต่ก็มิอาจทำได้
แต่ก็เป็นเพราะภาพนั้นนั่นเองที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ นำพาเขาย่างเข้าสู่เส้นทาง “อาสาสมัครกู้ชีพ”

"คือตอนนั้นผมก็คิดว่าถ้าสมมติวันนั้นมีคนลงมาช่วย มีคนที่มีจิตใจเป็นกุศล โอกาสรอดน่าจะเกิดขึ้นกับพ่อผมก็ได้ พอผมคิดอย่างนี้ หลังจากเหตุการณ์วันนั้นมันเลยฝังใจผม กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมีวันนี้ ก็คิดอย่างนั้นเรื่อยมาแล้วก็เริ่มทำตั้งแต่สมัยประถม-มัธยม

"จนพอเราโตขึ้น เรามีศักยภาพ พอเรามีงานทำ เราก็คิดที่จะทำให้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นลูกเสือ เป็นกองร้อยพิเศษคอยโบกรถช่วยเหลือคนข้ามถนนในรั้วโรงเรียน ไม่ใช่แค่นั้น เราอยากช่วยสังคมให้มากกว่านี้ อยากช่วยเรื่องตรงนี้

“เพราะถ้าเหมือนกับเคสของผม คุณพ่อเป็นหัวหน้าเป็นเสาหลักครอบครัว การได้ช่วยชีวิตเขาให้รอด มันไม่ใช่แค่เราช่วยชีวิตหนึ่งชีวิตเท่านั้น คือหากเขามีภรรยา มีลูกมีเต้าที่ต้องดูแลข้างหลัง มันเท่ากับว่าเราช่วยชีวิตที่เหลือให้รอดไปด้วย”

ความรู้สึกนี้คงไม่มีใครเข้าใจ หากไม่ได้สูญเสียเสาเอกของชีวิตไปอย่างเช่นครอบครัว “โชคสุริยา” เพราะนับตั้งแต่วินาทีนั้นที่หัวหน้าครอบครัวจากไป ชีวิตความเป็นอยู่ก็พลิกล็อกจากหน้ามือเป็นหลังมือ “ผู้หญิง” คนหนึ่งกับลูกเล็กๆ อีก 7 คน ต้องใช้ชีวิตอย่างข้นแค้น อาชีพขายก๋วยเตี๋ยวก็เพียงแค่พอประทังแก้ไขอาการหิวไส้กิ่วท้องไปวันต่อวันเท่านั้น

"ผมถึงได้บอกว่ามันฝังไง มันฝังทั้งเรื่องพ่อและเรื่องแม่ จึงทำให้เราอยากช่วยเหลือคน ดังนั้น พอเรามีกำลังจะช่วยเหลือ เราก็อยากจะช่วยเหลือคนอื่นต่อ เพราะหลังจากคุณพ่อเสีย คุณแม่ก็ขึ้นเป็นเสาหลักเลี้ยงพี่น้องทั้ง 7 คนของผมที่กำลังเรียนกันอยู่ ก็เข็นก๋วยเตี๋ยวขาย รายได้ก็ไม่แน่นอน เงินนี่แทบไม่มีติดตัว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องข้าว คือข้าวยังจะไม่มีกินด้วยซ้ำ"

"แต่คุณแม่ก็สามารถเลี้ยงดูพวกเราจนโต จนผมจบ ม.3 ก่อนที่จะออกจากบ้านไปใช้ชีวิต ผมเห็นอย่างนี้ ผมก็บอกกับตัวเองว่าผมก็ต้องทำให้ได้ แล้วผมก็ทำได้" คงศักดิ์กล่าวแซมยิ้มให้เรื่องราวหนหลัง ที่ต่อให้ชีวิตจะอดมื้อกินมื้อ แต่ก็ไม่ทำให้เติบโตมาเป็นคนไร้ซึ่งน้ำใจช่วยเหลือ แม้ว่ามันจะไม่สวยงามตามแบบฉบับที่ควรจะเป็น แต่ทว่าบาดแผลที่ได้รับก็นับเป็นบทเรียนและคติเตือนใจที่นำพามาสู่ชีวิตในวันนี้...วันที่ “ความสุข” เปี่ยมล้น...วันที่เมฆฝนจางหายในชีวิต...วันที่การช่วยเหลือไม่ใช่เพียงแค่มองผ่าน

"ผมไม่คิดเลยว่าชีวิตจะมาได้ถึงขนาดนี้ คือมันเกินคาด อาจจะเป็นเพราะผลบุญที่เราทำก็อาจจะเป็นได้ เพราะหลังจากมาทำตรงนี้ ชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ คือที่แน่ๆ เลยคือได้ความสุขใจของเรา

"ใครๆ อาจจะคิดว่าผมอาจโลกสวยก็ได้กับการที่มีอุดมคติคือการช่วยคน แต่ก็อย่างว่า ตรงนี้มันเป็นที่ยึดเหนี่ยวใจเรา ทีนี้พอยิ่งทำ เราก็ยิ่งชอบ ยิ่งทำเรื่องตรงนี้ ก็ยิ่งรู้ว่าเวลาช่วยให้ใครคนหนึ่งรอดปลอดภัยแล้วมันมีความสุข นอนยิ้มได้ทั้งวัน แม้เขาจะไม่ได้ขอบคุณหรือรู้ว่าเราเป็นคนทำ แต่การเห็นเขารอดปลอดภัยทำให้ภาพเราเหมือนหมาข้างถนนที่ผมเคยคิดเปลี่ยนไป

"คือเราลองคิดดูก็ได้ว่า ถ้าเป็นเรา ณ ตรงนั้น เกิดอุบัติเหตุ การที่มีคนยื่นมือเข้าช่วยเหลือเรา กับการไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเรา เราจะรู้สึกอย่างไร"

แน่นอนว่า คำตอบของใครหลายคนคงจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “ดี” และนั่นคงเป็นความรู้สึกที่ทำให้อาสาสมัครหนุ่มใหญ่นายธนาคารวางหมุดหมายชีวิตอีกด้านหลังสูทเนกไท อยู่กับชุดสีเขียวขี้ม้าและเสียงไซเรนมากว่าครึ่งชีวิต

"เพราะเราอยากจะช่วย เราอยากจะทำ เราอยากเห็นสังคมดีขึ้น เพราะเราก็เหมือนฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ต้องต่อไปหลายๆ ตัว เครื่องจักรถึงจะขับเคลื่อนได้ ดังนั้น ถ้าประเทศไทยมีเครื่องจักรหลายๆ ตัว มีฟันเฟืองหลายๆ ตัว การขับเคลื่อนในการช่วยเหลือสังคมให้สังคมดีขึ้นมันก็จะมีมาก ฉะนั้น ผมจะไม่คิดว่าคนอื่นจะทำหรือไม่ทำ ผมมีโอกาสผมทำเลย"

เพราะ “ความดี” ไม่เคยรีรอ

"ก็ค่อยๆ ทำ เริ่มทำแต่น้อยสิ" อาสาหนุ่มใหญ่ทอดเสียงอุทานอย่างง่ายดาย เมื่อเราถามถึงสาเหตุการเจียดความสบายส่วนตัวเข้าให้ความช่วยเหลือในวัยหนุ่ม ทั้งๆ ที่ชีวิตรันทดคดแค้น ไม่ได้ร่ำรวย

"ก็ค่อยๆ ทำ ทำตามที่เรามี ผมก็เริ่มจากอย่างนั้น เพราะตอนจบใหม่ๆ เงินเดือนยังไม่มาก ไหนเราจะต้องดูแม่ดูครอบครัวเราอีก เราก็ต้องอาศัยเก็บหอมรอมริบ อาจจะเพราะด้วยความที่ผมโชคดีคือเบื่อเที่ยวเบื่อเรื่องอะไรแล้วด้วยตอนนั้น มันก็เลยทำให้ผมมีเงินเก็บบ้าง พอเก็บได้สักระยะหนึ่งจนสามารถซื้อมอเตอร์ไซค์ได้ เราก็ไปเอามาวิ่ง ก็เริ่มจากตรงนั้น วิ่งไปจุดเกิดเหตุเพื่อประสานงานช่วยเหลือให้คนที่มีรถใหญ่มาช่วย มันก็ค่าใช้จ่ายไม่เยอะ แค่ค่าน้ำมันนิดๆ หน่อยๆ กับแรงกายเท่านั้นเอง"

"แต่ที่สำคัญแรงใจเรามีหรือเปล่า" อาสาหนุ่มใหญ่ย้อนถาม "คือถ้าถามอย่างที่หลายๆ คนสงสัยว่าทำไมไม่รอให้รวยก่อนค่อยช่วยเหลือ ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำแล้ว เพราะคนเราจะมีโอกาสรวยกันสักกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นถ้าคิดอย่างนั้นก็จบ เพราะกว่าเราจะรวย มันยาก จากคนที่ไม่มีอะไร กินมั่งไม่กินมั่ง แล้วอยู่ๆ จะขึ้นมารวย โอ้ว (ลากเสียงยาว) ผมจึงไม่รอไง ผมคิดปุ๊บ รู้ว่าตัวเองอยากทำผมทำเลย"

"ก็แค่ทำตามศักยภาพที่เรามี" อาสาหนุ่มใหญ่กล่าวสรุปด้วยรอยยิ้มถึงเรื่องราวตัวเองที่ใครหลายคนอาจจะคิดติดใจสงสัยสาเหตุที่เขาเลือกทิ้งความสุขชั่วประเดี๋ยวของวัยรุ่นมาทำทั้งๆ ที่ยังหนุ่มยังแน่น หรือมาทั้งๆ ที่ “ศักยภาพ” ที่กล่าวข้างต้นหลังเลี้ยงชีพตัวเอง จนเรียนจบมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จฯ ยังไม่ค่อยจะเพียงพอปากท้องตัวเองด้วยซ้ำ แต่กระนั้นก็ไม่มีสักเศษเสี้ยวความคิดที่จะหยุดให้ความช่วยเหลือในฐานะอาสากู้ชีพ

"คือเมื่อคิดว่าจะไม่ทำตรงนี้ชีวิตมันก็ไม่มีความสุขขึ้นมาเลย มันก็จริงที่ถ้าผมไม่ทำตรงนี้ ผมอาจจะสบายไปนานแล้วก็ได้ ผมอาจจะรวย แต่มันก็ไม่มีความสุข เพราะอย่างที่บอกไป ใจเรารักไปแล้ว พอยิ่งทำมันก็ยิ่งชอบ และตั้งแต่มาทำตรงนี้ ใจเรานิ่งขึ้นเยอะ ใจเราเหมือนมันสูงขึ้น สูงในที่นี้คือสามารถมองข้ามอะไรๆ ที่มันไม่ดีไปได้"

“มันเลยทำให้ผมอยู่ตรงนี้ได้นานมั้ง” อาสาหนุ่มใหญ่กล่าวเสริม "แต่เรื่องนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับที่ผมภูมิใจที่ได้ทำความดีตรงนี้ ได้ช่วยเหลือคนตรงนี้"

"ก็จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรง ไม่มีศักยภาพที่จะทำต่อ เราก็จะสอนน้องๆ ลูกๆ เพราะชีวิตคนช้าไม่ได้ ถ้ารอดคือรอด ไม่รอดคือไม่รอด ทุกวินาทีที่ผมวิ่งไป ผมจึงคิดเสมอว่าเขาต้องรอด"

ความในใจ “อาสา” กู้ภัย

หลังจากลัดเลาะชีวิตและความคิดจนรับรู้ถึงตัวตนความดีของอาสากู้ภัยนายธนาคารหนุ่มใหญ่ผู้นี้กระจ่างชัดแล้ว แน่นอนว่าประเด็นอีกแง่มุมหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้คือเรื่องแรงกระทบจากแง่คิด เขาคนนี้รู้สึกอย่างไรที่ทำความดีแล้วบางครั้งไม่ได้ดีตอบแทนคืน

"ก็แล้วแต่ใครจะคิดนะ ผมบริสุทธิ์ใจ พิสูจน์ได้ คือถ้าเขาคิดก็เป็นเรื่องปกติ ไอ้ที่เขาว่าคือเขาคิดลบไง และที่เขาคิดลบ เพราะว่าเขาไม่ได้มาทำตรงนี้ เขาไม่รู้ว่าสังคมกู้ภัยเป็นอย่างไร

"คือถ้าถามผมว่าโอเค เพราะทุกคนที่เข้ามาส่วนใหญ่ คิดดี ทำดี ทั้งนั้น พวกเขามาด้วยใจล้วนๆ อย่างที่รู้ๆ ว่าทำงานอาสา เรื่องเงิน เรื่องทอง ไม่ต้องพูดถึง มันไม่มี จะมีก็แต่ส่วนน้อยที่เข้ามาแอบแฝง"

"แล้วอย่างกรณีที่เกิดเหตุแล้วทรัพย์สินผู้ได้รับบาดเจ็บสูญหาย ส่วนมากก็ไม่ใช่อาสากู้ภัย เพราะคนที่ไปถึงคนแรก คนที่เห็นเหตุการณ์คือประชาชนไทยมุง ไปดูแล้วก็ไปเอาของเขา พอกู้ภัยไปช่วยทรัพย์สินก็ไม่อยู่แล้ว แต่เรากลายเป็นแพะ เพราะตั้งหน้าตั้งตาช่วยอย่างเดียวจนลืมระวังเรื่องพวกนี้"

ถามว่าน้อยใจไหมที่ทำดีแล้วบางครั้งกลายเป็นความผิด เขาหัวเราะก่อนตอบอย่างรวดเร็วว่า “ไม่”

"ไม่...เพราะผมบริสุทธิ์ใจ ผมพร้อมจะพิสูจน์ ถามคุณสงสัยในตัวผมก็พิสูจน์ได้ ประวัติ หน้าที่การงานผมระดับนี้ ผมเฉยๆ ไม่สนใจ แต่ไม่ได้โกรธนะ คุณมีสิทธิ์ที่จะคิดได้ เพราะถ้าเป็นเราเราก็อาจจะคิดอย่างนั้น

"แต่ผมตั้งใจจริงๆ เพราะสำหรับผมแค่คิดจะทุจริตคดโกงต่อหน้าที่ แค่คิดก็ล้มแล้ว หรือถ้าผมทำอย่างนั้นจริงๆ ชีวิตผมไม่ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนมีบ้าน มีเงินผ่อนรถตู้คันละล้านกว่าบาทเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือคนเจ็บหรอก

"คือทั้งๆ ที่ตอนนั้นผมใช้รถกระบะแล้วคนเจ็บบ่นว่าไม่มีรถตู้หรือ ผมยังฉุกคิดเลยว่าจริงของเขา เพราะแน่นอนล่ะใครๆ ไม่ว่าจะยากดีมีจน เขาก็ต้องการได้รับบริการที่ดี ผมจึงออกรถตู้มา

"ใจเขาใจเรา ก็อยากให้คิดถึงตรงนี้" อาสาหนุ่มใหญ่เผยความรู้สึกด้วยสีหน้ามุ่งมั่น "ผมก็อยากให้ทุกคนคิดบวกไว้ก่อน เพราะการคิดบวกกับคิดลบมันต่างกันเยอะ คือถ้าคุณคิดบวก นอกจากจะมีความสุข ความเจริญก็จะตามมา ไม่ว่าจะตัวเองและบ้านเมือง

"จริงๆ ไอ้ที่เรามีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเราคิดลบ ไม่ค่อยจะคิดบวกกัน ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอย่างไร อะไรๆ ก็ไปโทษไปคิดลบคนอื่นไว้ก่อน"

"ผมจึงทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ เพื่อสังคมบ้าง ตัวเราบ้าง คนรอบข้างบ้าง แค่นี้ผมก็โอเคแล้ว แต่ถ้าเขาจะคิดไม่ดีมันก็อยู่ที่ความคิดเขา คิดแค่นั้นมันก็มีความสุข และถ้าเรามีความสุขทุกอย่างก็โอเคแล้วแค่นั้น"

สิ้นประโยค เสียงวอวิทยุแจ้งเตือนอุบัติภัยดังขึ้น ภาระการสนทนาตรงหน้าต้องยุติลง ลูกทีมรุ่นน้องวางช้อนพลาสติกกับกล่องข้าวไว้เบื้องหลังพร้อมกับโจนทะยานขึ้นเบาะหน้ารถ ไม่ทันกล่าวถามสิ่งที่ได้รับในวันนี้ ว่าอะไรที่ทำให้คนเหล่า “อาสากู้ชีพ” ผู้นี้หรือกระทั่งผู้อื่นจากประสบการณ์กว่าเกือบ 30 ปี ยังคงเร็วรี่ในการช่วยเหลือคนอื่นมากกว่าตัวเอง

แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าภาพที่เห็นและสิ่งที่กระทำ อย่างที่ใครๆ ต่อใครหากผ่านมาทางถนนติวานนท์ หรือหน้าวัดหัวลำโพง จังหวัดนนทบุรี ย่อมประจักษ์ชัดในงานอาสาทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ว่าเขาเหล่านี้ทำเพื่อสิ่งใด...


เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น