>>สยาม วูดแลนด์ (Siam Woodland) ริเริ่มโครงการดีๆ ในการหยิบจับวัสดุเหลือใช้มาแต่งเติมไอเดียเพิ่มคุณค่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่ใครๆ ก็อยากจับจอง ในชื่อโครงการ “เอสดับบลิว อัพไซเคิล โปรเจกต์ 2015” (SW Upcycle Project 2015) ซึ่งรวมเอาสุดยอดดีไซเนอร์มาแรงแห่งยุคทั้ง 6 คน มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพื่อจัดแสดงใน “งานสถาปนิก 58” ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ที่บูทเลขที่ F509 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี
บริษัท สยาม วูดแลนด์ จำกัด หรือเอสดับบลิว ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุปิดผิวสำหรับงานตกแต่งภายใน อาทิ ไม้วีเนียร์, ลามิเนต, อะคริลิกไฮกลอส และหินสังเคราะห์ ซึ่งมีบทบาทแวดวงงานก่อสร้างและตกแต่งของเมืองไทยมาอย่างเนิ่นนาน และยึดมั่น 3S เป็นหัวใจในการทำธุรกิจ นั่นคือ
- Select The Best Quality คัดสรรแต่สิ่งที่ดีที่สุดมานำเสนอ
- Serve Authentic Design ดีไซน์ที่เน้นความเป็นธรรมชาติ
- Smart Service ที่ไม่ได้เป็นเพียง Supplier แต่ยังเป็น Idea partner ที่ช่วยเหลือนักออกแบบเพื่อช่วยพัฒนาเสริมสร้างจินตนการในการดีไซน์ให้กว้างไกลยิ่งขึ้น
ที่สำคัญเอสดับบลิวไม่เพียงแต่จะมองแค่ในเรื่องธุรกิจหรือผลกำไร แต่ยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้าง “แรงบันดาลใจ” และการเปิดโอกาสให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ได้เติบโตขึ้น อันเป็นที่มาของโครงการ “เอสดับบลิว อัพไซเคิล โปรเจกต์ 2015” ขึ้น เพื่อจะนำวัสดุเหลือจากการผลิตไม้วีเนียร์มา “อัพไซเคิล” ผ่านกระบวนการแต่งเติมไอเดีย จาก 7 ดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ อภิมุข สังข์วิชัย (มิว) อัญชนา ทองไพฑูรย์ดี (เน็ก) ศรัณย์ อยู่คงดี (เอก) นวธันย์ รุ่งดิลกโรจน์ (เมย์) เพ็ญภาวีร์ เจริญชัยนาม (ตูญ) และจุฑามาศ ภัคกิตติรัฐ (เซปท์)
แปลงร่างเศษไม้ให้กลายเป็นผลงานที่มีดีไซน์สวยเก๋ และคอนเซ็ปต์ที่น่าประทับใจ สร้างมูลค่าและเพิ่มแรงบันดาลใจ เนื่องจากเอสดับบลิวต้องการสื่อให้คนไทยได้รู้ว่า ไอเดียดีๆ อยู่รอบตัวเรา และมักจะเกิดขึ้นจากสิ่งเล็กๆ เสมอ
เซญา นักพิณพาทย์ ผู้จัดการการตลาดของเอสดับบลิว กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า “เกิดมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ การเห็นวัสดุเหลือจากการผลิตไม้วีเนียร์ ที่ไม่ได้นำไปทำอะไรนอกจากเก็บเป็นสินค้าตัวอย่าง การได้สัมผัสกับนักศึกษาด้านออกแบบมากมายที่ทางโรงงานเปิดโอกาสให้เขามาเยี่ยมชมและเรียนรู้งาน ก็ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนสาขานี้ค่อนข้างสูง และความตั้งใจในการมอบโอกาสที่ดีกลับคืนสู่สังคม ของคณะทีมบริหาร นำโดย คุณศิริ ศิริวงศ์วัฒนา กรรมการบริหาร ที่มักจะบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่างๆ อยู่เป็นประจำ
ทำให้เกิดไอเดียที่อยากจะหาเงินทุนช่วยสนับสนุนบุคลากรด้านการออกแบบของประเทศไทยด้วยการนำเอาวัสดุที่เหลือใช้เหล่านี้มาทำเพิ่มมูลค่า ด้วยการเชิญบรรดานักออกแบบที่มีความตั้งใจตรงกัน และกำลังมาแรงในหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็น Fashion Designer, Accessories Designer, Product Designer ฯลฯ มาร่วมออกไอเดียในการอัพไซเคิล เศษไม้วีเนียร์ กลับขึ้นมามีชีวิตในรูปแบบใหม่ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ดีไซน์อันเลอค่า ที่ทุกคนต้องการไว้ในครอบครองหรือสะสม”
โดยโครงการนี้นอกจากจะได้ผลลัพธ์ในเรื่องรายได้แล้ว ยังเน้นถึงการสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ไอเดียให้ก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดจินตนาการออกไป ได้อีกหลากหลายรูปแบบ
เหล่าดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมโครงการทุกคนล้วนแล้วแต่มีจิตใจมุ่งหวังเช่นเดียวกับโครงการ ทั้งในด้านการออกแบบที่ทุกชิ้นงานล้วนมีคอนเซ็ปต์ สร้างแรงบันดาลใจ และต้องการทำเพื่อตอบแทนสังคม และช่วยผลักดันวงการออกแบบของไทย ให้น้องๆ ได้มีโอกาสและการสนับสนุนอย่างเต็มที่
ดีไซเนอร์ทุกคนจะนำไฮไลต์ผลงานการออกแบบของตัวเองที่ผลิตจากวัสดุเหลือจากการผลิตไม้วีเนียร์ ซึ่งเป็นชิ้นงานที่เป็น “ชิ้นเอก” อันหมายถึงชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผลิตขึ้นชิ้นเดียวเท่านั้น มาจัดแสดงในวันเปิดโครงการที่ “งานสถาปนิก 58” เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้รับชม และจะนำออกประมูล และทางเอสดับบลิวจะนำเงินที่ได้ทั้งหมดบริจาคให้กับมูลนิธิการกุศล
นอกจากนี้ เหล่าดีไซเนอร์ยังจะนำเอาวัสดุเหลือจากการผลิตไม้วีเนียร์มาอัพไซเคิล เป็นผลิตภัณฑ์คอลเลกชันพิเศษออกวางจำหน่ายหารายได้เข้าโครงการ “เอสดับบลิว อัพไซเคิล โปรเจกต์ 2015” เพื่อจะนำไปทำเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
* * * * * * * * * * * * * * *คำบอกเล่าจากดีไซเนอร์
ศรัณย์ อยู่คงดี หรือ เอก เจ้าของแบรนด์ Sarran ที่กวาดรางวัลออกแบบระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย “ผมชอบแนวคิดโครงการนี้มาก เพราะมันตรงกับไอเดียในการทำงานที่ผมยึดมาโดยตลอด คือเวลาทำงานทุกโปรดักชันมันจะเหลือเศษวัสดุ ผมก็จะมีคอนเซ็ปต์ว่าต้องสามารถเอาวัสดุที่เหลือตรงนี้สร้างเป็นโปรดักต์ใหม่ที่มูลค่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์หลักที่ทำให้ได้
งานรีไซเคิลหลายคนจะมองว่าเป็นงานที่เหมือนกับเอาขยะมาเปลี่ยนแปลงหรือทำใหม่ แต่จริงๆ แล้วงานรีไซเคิลเป็นงานที่มีมูลค่าในตัวเอง ที่ไม่ได้หมายความว่าแค่ใช้เศษวัสดุทำออกมาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันคือการพลิกความคาดหมายของคนที่มองเห็นว่าขยะกลายเป็นทอง เป็นการอัพไซเคิลเขาให้กลับมาเป็นของใหม่ ที่ทุกคนต้องสงสัยและสอบถามว่ามันคืออะไร ทำมาจากอะไร ผมว่ามันท้าทายมากนะ แถมทำให้เราได้สร้างไอเดียและช่วยลดปริมาณของเหลือใช้ให้เหลือน้อยที่สุดได้ด้วย” :: Text by FLASH