xs
xsm
sm
md
lg

จังหวะชีวิตของ...หลอดไฟ–นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครูหลอดไฟ–นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์
 
เส้นทางบนฟลอร์เต้นรำของ หลอดไฟ-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ (วรรธนะโกวินท์) เริ่มต้นขึ้นเมื่ออายุประมาณ 5 ขวบ จนสามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักเต้นเมื่อคว้ารางวัล Aggregate Cup ซึ่งเป็นคนไทยคนแรก และเป็น 1 ใน 3 ของคนเอเชียที่ได้ พร้อมกับฉายา Dance for Tomorrow แต่ความสำเร็จเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยความทรหดอดทน ใครสนใจอยากจะเดินตามเส้นทางนี้ต้องติดตาม

 
หลอดไฟ-นวินดา เป็นลูกสาวของ วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบางกอกแดนซ์ แม้ว่าแม่เธอจะไม่เคยบังคับให้ต้องเรียนเต้น แต่ด้วยความที่ได้เห็นคนเต้นอยู่เรื่อยๆ ทำให้เธอหลงใหลศาสตร์การเต้นอย่างมาก จึงตัดสินใจเรียนเต้นอย่างจริงจังเมื่ออายุได้เพียง 5 ขวบ

สาวน้อยหน้าคมอารมณ์ดีคนนี้บอกว่า หลังจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ ที่เมืองไทยแล้ว เธอก็บินไปเรียนสถาบันสอนเต้นโดยเฉพาะ ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะมาจบบัลเลต์ขั้นสูงสุดจากสถาบัน The Royal Academy of Dance (RAD) แห่งสหราชอาณาจักร และด้วยความสามารถที่โดดเด่นและจริงจัง เธอถูกเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปประกวดเต้นหลายรายการ และได้รับทุนไปเรียนต่อใน DANCE WEB โดยนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ทุนนี้ และได้เข้าร่วมเทศกาล Impulstanz หรือ Vienna International Dance Festival

 
“หลอดไฟโชคดีที่มีโอกาสไปเรียนในโรงเรียนสอนเต้นโดยเฉพาะ ตรงนั้นทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ได้รู้จักเพื่อนหลายชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขา ซึ่งเราก็เก็บเป็นประสบการณ์ แล้วเอามาประยุกต์ใช้ ตอนนั้นบ้าเต้นมากว่างเป็นต้องฝึกเต้นตลอด ตรงนี้เลยทำให้ได้ลงแข่งขันหลายรายการ แต่ที่ดีใจและภูมิใจมากเป็นการแข่งขัน Asia Pacific Dance Cmpetition ครั้งที่ 11 ที่ฟิลิปปินส์ ตอนนั้นมีโอกาสออกแบบท่าเต้นเอง และก็ได้รางวัล Aggregate Cup (คะแนนรวมบุคคลสูงสุด) บนเวทีเขาเรียกหลอดไฟเป็น “Dance for Tomorrow” เป็นคนไทยคนแรกและเป็น 1 ใน 3 ของคนเอเชียที่ได้ ตรงนั้นหลอดไฟก็คิดต่อไปว่าอยากกลับมาพัฒนาวงการเต้นของไทย” สาวหน้าสวยคนนี้พูดพร้อมลุกขึ้นโชว์ลีลาการเต้นให้เราดู

ยามที่นักเต้นสาวขยับร่างกายให้เราดู สีหน้า ท่าทาง และแววตาของเธอ ตอนอยู่บนเวที ทำให้เรารู้สึกว่าเธอคือศิลปินที่กำลังสร้างงานศิลปะ เธอบอกว่าสามารถเต้นได้ทุกอย่าง แต่ยังแอบถ่อมตัวว่า ไม่ได้เก่งสุดทุกอย่าง

“ที่มั่นใจมากๆ คือ เต้นบัลเลต์คลาสสิก บัลเลต์ร่วมสมัย เต้นแจ๊ซบรอดเวย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมองว่าการเต้นแบบคลาสสิกอย่างบัลเลต์นั้นน่าเบื่อ แต่มันคือศิลปะที่ยากและทรหดมาก ทุกคนจะต้องผ่านจุดที่ท้อมากจนอาจจะไปต่อไม่ไหว อย่างหลอดไฟท้อมากในช่วงที่บาดเจ็บบ่อยๆ จนคิดว่าทำไมต้องมาทำอะไรที่เจ็บตัวด้วย บางคนอาจเต้นมากถึงขั้นเล็บหลุดเลือดออกก็มีค่ะ คนดูอาจมองแค่ความสวยงาม แต่หากมองให้ลึก หรือลองมาสัมผัส เรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็จะเข้าใจถึงความยากลำบากมากๆ กว่าจะเดินไปถึงจุดๆ นั้น”

 
หลอดไฟยังพูดถึงนักเต้นที่ดีว่า จะต้องสื่อความรู้สึกภายในถ่ายทอดผ่านการแสดง “จังหวะ” ก็ต้องแม่น ทุกรายละเอียดการเต้นต้องใส่ใจ และต้องบอกตัวเองเสมอว่า ยังต้องพัฒนาและมีเรื่องที่ต้องแก้ไขอีกเยอะ เพราะวันไหนหากคิดว่าตัวเองเก่ง เรียนรู้หมดแล้วก็ไม่มีความหมาย “หากนักเต้นหยุดเต้น หยุดซ้อม จะดิ่งลงเร็วมาก จึงจำเป็นต้องฝึกฝนตลอดเวลา กล้ามเนื้อต้องบริหารอยู่ตลอด หลอดไฟเองทุกวันนี้ก็ย้ำกับตัวเองตลอด ทุกปียังต้องบินไปชาร์ตแบตต่างประเทศ ไปดูเทคนิคการเต้นใหม่ๆ”

สำหรับไอดอลในการเต้นของเธอนั้น เธอบอกว่า ไม่ยึดเป็นบุคคล แต่จะยึดเอาจุดเด่นของนักเต้นจากทั่วโลกแต่ละคน มาเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงตัวเอง แต่ถ้าชื่นชอบและศรัทธา ก็คือ วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ “คุณแม่เป็นนักบัลเลต์รุ่นแรกๆ ของเมืองไทย เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป หลอดไฟเองก็อยากเป็นแบบนั้น อยากประสบความสำเร็จเหมือนอย่างคุณแม่ค่ะ”

 
หลอดไฟในวัย 25 ปี แม้จะห่างเหินเวทีการแข่งขัน แต่เธอก็ไม่ห่างหายไปจากวงการการเต้นรำ ปัจจุบันเธอกำลังเดินตามฝันของเธอ ที่อยากจะพัฒนาวงการเต้นของไทยให้เป็นที่ยอมรับและทัดเทียมสากล ด้วยการสวมบทบาทเป็นครูหลอดไฟ นำประสบการณ์การเต้นรำทั้งหมดที่ได้ มาสอนเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจศาสตร์การเต้น อยู่ที่โรงเรียนบางกอกแดนซ์

คุณครูหลอดไฟ ยังพูดถึงการเต้นของเด็กไทยในยุคนี้ว่า เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เวทีที่จะให้พวกเขาได้แสดงออกนั้นมีน้อย เพราะไม่ค่อยได้รับแรงสนับสนุนเท่าที่ควร “อาจเป็นเพราะสังคมไทยยังติดกับดักคำเปรียบเปรยว่า “นักเต้น” เป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ประโยคนี้หลอดไฟเจอมานานกว่า 20 ปี แต่เราอดทนทำให้เห็นว่ามันเป็นศาสตร์ เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง จึงอยากขอร้องให้คุณพ่อคุณแม่เปิดใจให้มากขึ้น”

 
ก่อนจากกัน ครูหลอดไฟคนสวยยังอยากบอกถึงคนที่คิดจะเริ่มเต้นว่า ไม่มีอะไรช้าเกินไป เพียงต้องใช้ความพยายาม ความตั้งใจ แค่มาลองดูก็จะรู้ว่า ศิลปะไม่ใช่แค่เปลือกนอก แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้และใช้เวลาให้มีค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น