ART EYE VIEW---ไม่ว่าจะตื่นตัวตาม หรือไม่เลย แต่เราทุกคนต่างอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการถูกกระตุ้นด้วยคำว่า เรากำลังจะเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” อยู่เป็นระยะๆ
และที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีหลายหน่วยยงาน หลายองค์กร จัดกิจกรรมอันมีเหตุผลและที่มาจากการจะรวมตัวกันของ 10 ประเทศ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ศิลปะและศาสนา” อัตลักษณ์ของอาเซียน
ดังเช่นที่ล่าสุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมบรรยาย อาเซียนในมิติวัฒนธรรม ชุด “ศิลปะ: อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในอาเซียน”
ด้วยเหตุผลที่ว่า “การจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจสังคม - วัฒนธรรม ของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคม”
โดยการบรรยายได้จัดให้มีขึ้น 3 ครั้ง ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ ศิลป์/สิปป์: รากเหง้าและแนวคิด,ทวยเทพ: ศรัทธาและพลังสร้างสรรค์ และปรัชญา: พุทธสิปป์กับความงาม
อาจจะเป็นหัวข้อที่ชวนให้เครียดและเป็นวิชาการสำหรับหลายคน ทว่าได้ดึงคนให้สนใจไปร่วมฟังจำนวนไม่น้อย
การบรรยายครั้งนี้มีประโยชน์สำหรับคนไทยที่สนใจมาฟังอย่างไร ? ดร. สุธา ลีนะวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ทำหน้าที่วิทยากรให้กับการบรรยายทั้ง 3 ครั้ง ให้คำตอบว่า
เพราะอยากให้ทุกคนได้มองเห็นถึงภาพรวมที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีร่วมกัน ซึ่งสิ่งนั้นคือ ศิลปะ และศาสนา
“ใน Southeast Asia เราจะเอาเรื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นจุดขาย ไม่ใครมาดูเราหรอก ผลงานศิลปกรรมคือจุดเด่นของ Southeast Asia เราต้องเอาศิลปะเป็นตัวตั้ง เอาศาสนาเป็นตัวรับ
อยากให้เข้าใจว่าพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดอะไรใน Southeast Asia บ้าง รวมถึงศาสนาฮินดู หรือเทพ ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหล่ะ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นภาพรวมของ Southeast Asia
เขมรก็นับถือเทพอีกอย่าง เราก็นับถือเทพอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันหรอก แต่เรามีความคิดเรื่องเทพเป็นจุดร่วมกันอยู่
เทพจะเกี่ยวข้องกับปรัชญาแบบสุขนิยม เพราะเวลาเราเจอเทพ เราจะขอ
ขอให้ถูกลอตเตอรี่ ขอให้สอบเข้าได้ ขอให้นั่นให้นี่ เราจะให้เทพประทานในสิ่งที่เราอยากสมหวัง เป็นอีกสิ่ง Southeast Asia มีร่วมกัน อยากมีความสุขสมหวังจึงขอจากเทพ”
ศิลปะรากตะวันตก
โดยเฉพาะเรื่องของ “ศิลปะ” ที่ซึ่งถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นหัวข้อแรก ของการบรรยาย
ดร. สุธา ได้ให้ความรู้ว่า ในอดีต คำว่า “ศิลปะ” ในเอเชีย จัดเป็นเรื่องของ “ความชำนาญ” และถูกให้ความสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้
“เราให้ความสำคัญกับศิลปะแค่ไหน ไม่มีเลย เราไม่นับว่ามันเป็นสิ่งที่เลิศเลอเพอเฟ็กต์ในสังคมเรา แล้วปัจจุบันเราจะยกให้ศิลปะวัตถุเป็นของสำคัญประจำชาติได้ไง ในเมื่อมันไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเรา”
และคำว่า “ศิลปะ” ที่เรามักพูดถึงและรับรู้ร่วมกันในปัจจุบัน ก็ไม่เคยมีอยู่ใน “มหาสิปปะ 12 ประการ” (ในพระไตรปิฎก) แต่เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตก
“ในปัจจุบัน ในด้านการศึกษา เราใช้มาตรฐานของทางตะวันตก เพราะมาตฐานการศึกษาของเอเชีย ไม่เป็นที่ยอมรับ
เนื่องจากในอดีตสิ่งสูงสุดที่เรานับถือคือ ความรู้อันประเสริฐ เช่น เราไม่เคยบอกว่าพระพุทธเจ้าพูดผิด ใครพูดว่าพระพุทธเจ้าพูดผิด อาจจะตกนรก พระอาจจะโกรธเราตายได้ เราก็หยุดกันตรงนี้
เพราะฉนั้นการศึกษาทั้งหมดในปัจจุบัน เราได้จากตะวันตกทั้งหมดเป็นสิ่งปูพื้น เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี รวมทั้งศิลปะด้วย เราก็รับเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว
อันเนื่องมาจากท้ายสนธิสัญญา ที่ระบุว่าเราต้องใช้บุคคลากรทางตะวันตกมาเป็นต้นแบบของระบบการศึกษา ระบบวัฒนธรรม หรือกฎหมายของเรา เมื่อเรามีคนเหล่านี้เข้ามา มันก็เป็นรากตะวันตก และเราก็ใช้รากตะวันตกมาจนถึงทุกวันนี้”
รวมถึงช่วงเวลาที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้ามาในประเทศไทย และการเขียนรูปที่เริ่มเดินตามทฤษฎีแบบตะวันตก
“เช่นหลัก Perspective เวลาเขียนรูปก็จะไปชนกันที่จุดรวมสายตา ภาพคนก็มีขนาดไม่เท่ากัน เพราะเกิดจากระยะใกล้ ไกล
เมื่อใช้มุมมองแบบตะวันตกมาจับ ก็หัวเราะจิตรกรรมไทยโบราณว่ามันไม่ค่อยดีเลย ทำไมคนตัวเท่ากันหมด เขียนตรงไหนก็ตัวเท่ากัน ประหลาด
ในบันทึกสาส์นสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ท่านบันทึกเอาไว้ว่า ได้ยินคนที่จบจากเมืองนอกมาพูดว่า รูปเขียนเก่าๆ โดยเฉพาะภาพเขียนขรัวอินโข่ง ไม่น่าเอาไว้เลย ลบทิ้งดีกว่า ได้ยินคนนี้พูดแทบตกใจ เสียสติ ไม่ได้เข้าใจความเป็นครูของโลกโบราณเลย คือบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นเพราะมุมตะวันตกมันครอบงำเรา จนลืมคิดถึงว่าสิ่งที่ทำในอดีต ไม่ว่าจะดีเลว ยังไงก็ตาม มันเป็นคุณค่าในยุคนั้น
มุมตะวันตกที่ครอบงำเรา ทำให้เกิดแนวคิดที่ตกทอดถึงปัจจุบัน กลายเป็นวิชาการเขียนภาพแบบนั้นแบบนี้”
เข้าใจซึ่งกันและกันจะดีกว่า
ดร.สุธา หวังว่า เมื่อความคิดที่เป็นเอเชียผ่านการบรรยายของตนถูกเผยแพร่ออกไป อย่างน้อยๆน่าจะช่วยให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นและกลับมาฉุกคิดว่าสิ่งที่กำลังจะดำเนินต่อไป เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
“โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน อยากให้รู้ว่าเรามีอะไรที่ร่วมกัน ผ่านศิลปะวัตถุ โบราณสถาน ก่อน แล้วมันอยู่อย่างไร ในแต่ละวัฒนธรรม ไม่ใช่มาศึกษาว่านครวัดดีอย่างไร อย่างนั้นไม่ใช่ อาจจะนครวัดมีค่ายังไง และค่าเหล่านั้นอยู่ที่ไหน หรือว่า วัดพระแก้ว เป็นต้น
เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ความงาม คุณค่า ในรูปแบบที่ใกล้กัน และร่วมกัน แต่ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน มันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าศึกษาแต่ละชิ้นว่านครวัดงามยังไง วัดพระแก้วงามยังไง อย่างนั้นใครๆก็พูด
แต่อยากพูดว่า มันมีอะไรที่ร่วมๆกันและต่างกันเพราะอะไร ทำไมจึงต่างกัน”
ขณะเดียวกัน ดร.สุธา ได้แสดงทัศนะถึงคำว่า “ศิลปะ” ที่ทุกคนคุ้นเคยร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศของการเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า ศิลปะตามความหมายที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกยังเป็นกระแสที่แรง
“ในมุมของผม ผมคิดว่ากระแสของตะวันตกมันแรง ความหมายของศิลปะที่หมายถึงการกระทำของมนุษย์ ทำแล้วเกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น มันเป็นสิ่งที่แรง มุมตะวันตกก็จะครอบงำเราตลอดไป ไปอีกระยะหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อน เขาก็ใช้กระแสนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรานั่นแหล่ะ ยังมีกระแสแปลกๆ เพราะฉนั้นกระแสพวกนี้จะแรง แล้วเราก็คงจะใช้ความหมายของศิลปะในเชิงตะวันตก กันต่อไป แล้วเราก็จะมีศิลปินและไม่ค่อยรู้จักคำว่าช่าง คำว่าช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของเราก็จะหายไป”
ด้วยเหตุนี้ ดร.สุธา จึงเห็นว่า ในขณะที่แวดวงศิลปะในบ้านเราอาจจะเป็นห่วงว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะมีกิจกรรมด้านศิลปะร่วมกันอย่างไร หรือในแง่เศรษฐกิจจะมีผลต่อตลาดศิลปะของไทยอย่างไร
สิ่งที่สำคัญมากว่านั้น น่าจะอยู่ที่ แต่ละประเทศในประชาคม เรารู้จัก หรือเข้าใจกันและกันแค่ไหน เพื่อที่เราจะหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“อยากให้เข้าใจซึ่งกันและกันจะดีกว่า มันจะพัฒนาหรือไม่ ไม่รู้ แต่เราน่าจะเข้าใจกัน อยู่ร่วมกันก่อน โดยมีพื้นฐานตรงกลางร่วมกัน”
อดีตนักศึกษาศิลปะตะวันออก ในโลกตะวันตก
ดร. สุธา ปัจจุบัน นอกจากเป็นอาจารย์สอนทางด้านวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยสอนนักศึกษาทั้งในระดับปริญาตรี โท และเอก
ก่อนหน้านี้ยังเป็นอาจารย์พิเศษของ Southeast Asian Studies Program (โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เพิ่งสอนเทอมนี้เป็นเทอมสุดท้าย หลังจากสอนมากว่า 10 กว่าปี
แต่เริ่มไปเป็นอาจารย์สอนที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ ปี 2530 แล้ว รวมทั้งหมด 27 ปี”
และยังทำงานให้กับมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ช่วยงานมูลนิธิฯในแง่ เป็นผู้นำชมโบราณสถาน รวมถึงรับเชิญไปบรรยายตามที่ต่างๆ
“ก่อนหน้านี้ก็เคยสอนที่จุฬาฯ ม.กรุงเทพ ม.รังสิต สอนหลายที่ แต่ตอนนี้งดหมดแล้ว เพราะแก่แล้ว”
ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ดร.สุธา ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะตะวันออก และเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก เหตุใดจึงเรียนจบทางด้านนี้จากประเทศตะวันตก โดยเรียนจบจาก Sorbonne University กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดร. สุธา ให้คำตอบว่า
“เพราะสมัยล่าอาณานิคม เราเสียเปรียบเขา ในสัญญาที่เราแลกประเทศ เราส่งลาวส่งเขมรให้เขาไปแล้ว ในท้ายสัญญาฝรั่งเศสจะบังคับเราว่าศาสตร์ทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และกฎหมาย ขอให้อาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางฝรั่งเศส เป็นผู้มาวางรากฐานให้กับเรา
เพราะฉนั้นนักวิชาการในรุ่นรัชกาลที่ 4,5,6,7 จะเป็นชาวฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ พวกนี้จะเขียนตำรารวบรวมความคิด แต่อย่าลืม ข้อเสียคือ บางทีมันเป็นข้อมูลเก่า นำมาใช้อธิบายในบริบถปัจจุบันมันไม่ได้
แต่ถ้าเราไปเรียนที่จะเข้าใจว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรในการศึกษาของอดีตมาแล้ว ถ้าเราไปศึกษาจากประเทศโดยเฉพาะอั งกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันฯลฯ เราจะได้มุมของ Southeast Asia ชัดขึ้น
เพราะต่อมาเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครอง Southeast Asia แล้วเนี่ย เขาก็ศึกษาศิลปะเอเชีย อย่างเช่นศิลปะเขมร มีการแบ่งเป็นยุคสมัยอย่างชัดเจน ลาวเขาก็ศึกษา ส่วนพม่า ทางอังกฤษก็ศึกษา
ดังนั้นข้อมูลโบราณจะอยู่ที่ประเทศเหล่านี้เยอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพม่าปิดประเทศ หรือเขมรเกิดสงคราม ข้อมูลมันก็เปลี่ยนไป ข้อมูลที่ศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ให้เราได้ศึกษาต่อ และต่อมาตอนนี้ เมื่อเขาเป็นอิสรภาพกันมากขึ้น รูปแบบก็อาจจะเปลี่ยนไป เราอาจจะเป็นเจ้าของการศึกษาแทนก็ได้
นี่เป็นเหตุว่าทำไมผมถึงไปเรียนที่นั่น เพราะตำราเก่าๆ ครูที่ดี มีความรอบรู้ ตั้งแต่อดีตอยู่ทางนู้น และผมก็สนใจเอเชียโลกโบราณในอดีต การไปเรียนทางนั้นจึงดีครับ”
กิจกรรมการบรรยาย “อาเซียนในมิติวัฒนธรรม” ในชุด “ศิลปะ: อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในอาเซียน” โดย อาจารย์ ดร. สุธา ลีนะวัติ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจากการบรรยายในหัวข้อแรก “ศิลป์/สิปป์: รากเหง้าและแนวคิด” ได้ผ่านไปแล้ว ยังเหลือการบรรยายอีกสองหัวข้อให้ผู้สนใจเข้าฟัง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2558 ทวยเทพ: ศรัทธาและพลังสร้างสรรค์
วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2558 ปรัชญา: พุทธสิปป์กับความงาม
ระหว่างเวลา 14.00 - 16.00 น. ณ ห้อง 407 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2880-9429,0-2880- 9429 ต่อ 3810
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews