xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตกับความเร็วของ อาร์โต้-สุทธิพงศ์ สมิตชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาร์โต้-สุทธิพงศ์ สมิตชาติ ประธานบริษัท TRD (Thailand) และผู้ควบคุมทีม TOYOTA Team Thailand
ดูเหมือนภาพนักแข่งรถอาชีพ ที่ฝากชีวิตไว้หลังพวงมาลัยและความเร็วของเข็มไมล์ ที่ไม่ให้ต่ำกว่า 340 กม./ชม. อาจจะเป็นที่หวาดกลัวของคนรอบข้าง แต่สำหรับ อาร์โต้-สุทธิพงศ์ สมิตชาติ นักแข่งไทยที่คร่ำหวอดอยู่ในสนามแข่งขันฟูจิของประเทศญี่ปุ่นมานานหลายปี เคยนำธงชาติไทยไปประกาศศักดา คว้าชัยชนะบนสนามแข่งขันรถยนต์บนผืนแผ่นดินต่างประเทศหลายครั้งนั้น กลับเห็นเป็นเรื่องท้าทายความสามารถ ที่ลุ่มหลงและมีความสุขในการเหยียบคันเร่ง ทำความเร็วรถในสนามแข่งอย่างไม่รู้เบื่อ

 
ในวันที่ลมเย็นโชยมา ส่งสัญญาณเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว อาร์โต้-สุทธิพงศ์ สมิตชาติ ประธานบริษัท TRD (Thailand) และผู้ควบคุมทีม TOYOTA Team Thailand เปิดสำนักงาน บอกเล่าเรื่องราวและความตื่นเต้นของชีวิตการเป็นนักแข่งรถทีมไทยอย่างอารมณ์ดีว่า หลังจบมัธยมปลายจากเมืองไทย ก็บินไปเรียนต่อสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ Nihon University ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความที่เป็นคนชอบรถยนต์ เมื่อไปญี่ปุ่นได้เพียง 2 วัน ได้เห็นรถยนต์ที่ชื่นชอบ มีราคาถูก จึงนำเงินเก็บและเงินที่พ่อและแม่ให้ไปเพื่อเช่าบ้าน ไปซื้อรถยนต์คันโปรดทันที

“ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าจะขับไปไหน ถนนในญี่ปุ่นเป็นอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าชอบ อยากได้ก็ซื้อเลย พอได้รถมา ตกกลางคืนก็เอารถออกวิ่งไปดูถนนในญี่ปุ่นทุกคืน กว่าจะกลับก็รุ่งเช้าทุกวัน” อาร์โต้ เล่าย้อนถึงรถยนต์คู่ใจคันแรกในญี่ปุ่นให้ฟัง

ระหว่างที่ศึกษาที่ Nihon University “อาร์โต้” ก็มีโอกาสเข้าชมรมรถแข่งและร่วมทำกิจกรรมรถแข่งที่มหาวิทยาลัย และได้มีโอกาสแข่งรถแต่ก็เป็นรายการเล็กๆ ที่แจก voucher เป็นรางวัลเพื่อนำไปแลกซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถ “ผมได้รางวัลทุกเดือนจนสนิทกับเจ้าของร้าน ผมเลยบอกกับเจ้าของร้านไปว่า ถ้าทางร้านทำทีมรถแข่ง ให้ผมลงแข่งนะ พอดีเขากำลังทำทีมก็เลยให้ผมไปลองขับ และก็ได้ลงแข่งในนามของร้านนั้นเรื่อยมา”

แม้จะเรียนจบและทำงานเป็นนักออกแบบและสถาปนิก แต่ทุกวันหลังเลิกงานก็จะใช้เวลาขลุกอยู่กับทีมแข่งรถยนต์ โดยเป็นนักแข่งให้กับทีมของญี่ปุ่น แต่ก็มีหลายครั้งที่อาร์โต้เดินทางกลับไทยเพื่อลงแข่งขันหลายรายการ อาทิ เชลส์ไทยแลนด์กรังปรีซ์ ที่สนามแข่งขันบนสนามบินจังหวัดลพบุรี

 
จนกระทั่งปี 2529 ประเทศไทยมีสนามแข่งพีระฯ เซอร์กิต พัทยา ซึ่งเป็นสนามแข่งมาตรฐาน ถือเป็นจุดพลิกผันที่อาร์โต้ได้รับการทาบทาม จากทีมยักษ์ใหญ่โตโยต้า ให้มาแข่งขันในรายการ "ไทยแลนด์กรังปรีซ์" โดยลงแข่งขันในนามของ Toyota Team Thailand และครั้งนั้นอาร์โต้ก็ไม่ทำให้โตโยต้าผิดหวัง เพราะเขาสามารถนำทีมไปคว้าชัยชนะมาได้
จากนั้นเป็นต้นมาทั้งโตโยต้าและอาร์โต้ ก็ไม่เคยแยกทางจากสนามแข่งรถอีกเลย !

จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่บนสนามแข่งมากว่า 30 ปี อาร์โต้ฝากข้อคิดไปถึงนักแข่งรุ่นใหม่ว่า นักแข่งที่ดีจะต้องมีวินัย มีทักษะ และสามารถปิดเกมส์นำรถเข้าเส้นชัยให้ได้ หากขับเร็วแต่ทำรถพัง ไม่สามารถขับประคองจนจบเกมส์ได้ ก็ถือว่าไม่มีชัยชนะ

นักแข่งรถหนุ่มใหญ่ ยังเล่าถึงปัญหาที่เจอในสนามแข่งว่า การแข่งที่ต้องเจอกับรถแข่งยุโรป ที่ได้ชื่อว่าเป็นรถที่มีสมรรถนะดีกว่า แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกครั้งที่แข่งขัน อาร์โต้ดีไซน์รถให้สมบูรณ์ทัดเทียมกับรถยุโรปทุกครั้ง

 
นานเกือบ 30 ปี ที่ใช้ชีวิตในสนามแข่ง อาร์โต้ยอมรับว่าตัวเขาเองก็เคยเจออุบัติเหตุเช่นกัน ที่หนักที่สุดในเมืองไทยคือ สปอยเลอร์หลังหลุด ทำให้รถลอยและตกลง 3-4 ตลบ เครื่องหลุดไปทาง ล้อไปทาง พอรถหยุดนิ่งก็พยายามออกจากรถให้เร็วที่สุด เพราะกลัวไฟไหม้เครื่อง “ตอนนั้นพยายามจะลุกออกจากรถแต่ลุกไม่ได้ นึกว่าขาหักปรากฏว่าออกไม่ได้เพราะไม่ได้ถอดเบลท์ และพอได้สติถอดเบลท์วิ่งออกมาได้นิดนึง ก็หมดแรงฟุบลงข้างรถ เพราะช็อก”

อีกครั้งที่ต้องจดจำและนำมาเป็นอุทาหรณ์บอกนักแข่งรุ่นหลังคือ การแข่งรถกรุ๊ปบี รถที่นำไปแข่งมีการเปลี่ยนมิเตอร์ในรถใหม่หมด พอลงสนามได้ไม่นาน ปรากฏว่าน้ำมันรั่ว เขาจึงรีบนำรถเข้าจอดข้างทางปิดสวิตช์ทั้งหมด แต่ไม่ทันรถถูกไฟไหม้ทั้งคัน ขณะที่ตัวเขาเองก็ต้องรีบตั้งสติออกมาจากตัวรถ และแม้จะสวมชุดทนไฟแต่ก็ยังถูกไฟลวกที่ไหล่ “เป็นอุบัติเหตุรุนแรงที่สุดที่ผมเจอมา ยังเป็นแผลเป็นอยู่เลยครับ อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ผมรู้เลย อุปกรณ์ช่วยเซฟชีวิตได้ ผมต้องบอกลูกทีมทุกคน ไม่ว่าแข่งจริงหรือซ้อม อุปกรณ์ต้องครบ”

 
อาร์โต้ยังพูดถึงสนามที่ทำให้เขารู้สึกท้าทายมากที่สุดว่า คือการแข่งที่สนามนูร์เบอร์กริง เยอรมนี เพราะเป็นการแข่งขัน 24 ชม. และเขาเองไม่มีประสบการณ์ในการแข่งกลางคืน ขณะที่นูร์เบอร์กริงเป็นสนามที่ไม่มีไฟ ต้องใช้ไฟจากรถยนต์เพียงอย่างเดียว “ระยะทาง 26 กม. ขึ้นเขาไปมืดมองไม่เห็นทาง ตอนนั้นไฟหน้ายังติดไม่ครบ สนามก็โค้งเยอะมาก ตอนเก็บตัวเขาให้ซ้อมและเดินดูสนามว่าโค้งเป็นอย่างไร ระหว่างเดินลูกทีมบอก “พี่ดูสิข้างล่างเป็นเหว เราอยู่บนต้นไม้” พอมองลงไป โอ้โห! ข้างล่างเป็นเหวลึก ตอนนั้นผมก็คิดนะ ทำไมเราต้องมาเสี่ยงอย่างนี้ด้วย”

สำหรับสนามนูร์เบอร์กริง หรือที่รู้จักในชื่อ “เดอะริง” เป็นสนามแข่งรถระดับตำนานของเยอรมนี ตั้งอยู่ในเมืองนูร์เบอร์ก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสนามที่ขับยาก ท้าทาย และอันตรายที่สุดสนามหนึ่งในโลก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาคดเคี้ยวทำให้เส้นทางที่พาดผ่านต้องลัดเลาะไปตามภูมิประเทศ บนระยะทางยาวกว่า 26 กม. บนทางราบสูง-ต่ำ ทั้งโค้งแคบ หักศอก และเป็นโค้งอันตรายถึง 73 โค้ง จนนักขับให้นิยามว่า เป็นสนาม Green Hell หรือ นรกสีเขียว

ถึงแม้ นูร์เบอร์กริง หรือ นรกสีเขียว จะยากลำบากและอันตรายมากขนาดไหน แต่สนามแห่งนี้ กลับมีมนต์ขลังและเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ที่นักแข่ง และคาร์เมกเกอร์จากทั่วโลก พร้อมใจจะฝ่าฟัน นูร์เบอร์กริง จึงเป็นรายการแข่งขัน 24 ชม. ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ที่คาร์เมกเกอร์จาก ทั่วทุกมุมโลกต่างต้องการส่งโปรดักชันคาร์เข้ามาแข่งขัน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและสมรรถนะ

 
ก่อนจากกัน อาร์โต้ยังพูดถึงอนาคตของกีฬามอเตอร์สปอร์ตในเมืองไทยว่า อยากเห็นวงการนี้ของบ้านเรามีศักยภาพ สามารถแข่งกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวนักแข่งหรือว่าผู้จัดการแข่งขัน สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อยากเห็นนักแข่งไทย นักแข่งต่างชาติมาแข่งที่เมืองไทย เป็นสนามแข่งที่มีนักแข่งเข้ามาแข่งอย่างมากมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น