ดอกไม้ต่อให้งดงามและมีกลิ่นหอมสักเพียงใด ก็ยังมีวันโรยลา แต่เกียรติคุณความดีงามของคนเราต่างหาก ที่จะมีกลิ่นหอมคงทนอยู่กับเราไปตลอดกาล เช่นเดียวกับชีวิตของ “หมิง-สุวรา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ที่มุ่งมั่นทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก โดยหวังไว้ว่า งานที่อบอวลไปด้วยความรักของเธอนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่สูงสุดแก่สังคม และทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติอย่างที่ตั้งใจไว้
หมิง-สุวรา ลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องทั้งหมดสามคน ของ พล.ต.อ.อิสระพันธ์-ม.ล.อรจิตรา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ชื่นชอบน้ำหอมเป็นชีวิตจิตใจ นับตั้งแต่เล็กจนโต ทุกครั้งที่ได้ไปห้างสรรพสินค้า หมิงจะใช้เวลาอยู่กับเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง-น้ำหอมนานเป็นพิเศษ เพื่ออัปเดตกลิ่นใหม่ๆ
“ช่วงเด็กก็แค่ชอบน้ำหอม ชอบดมกลิ่นดอกไม้ ไม่เคยคิดว่าการดมกลิ่น แล้วสามารถบอกได้ว่า ส่วนผสมของกลิ่นนั้นๆ ประกอบด้วยอะไรบ้าง จะเป็นเรื่องยาก และมีประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน จนได้ดูหนังเรื่อง เดอะ เพอร์ฟูม ถึงได้รู้ว่ายากจริงๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนการแยกกลิ่น และอยากเป็นนักปรุงน้ำหอม หมิงว่าตรงนี้เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง”
ดังนั้น เมื่อจบปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมิงจึงวางแผนศึกษาต่อเรื่องการทำน้ำหอมให้ลึกซึ้ง โดยทำเรื่องสมัครเรียนต่อปริญญาโท ด้าน ISIPCA European Fragrance and Cosmetic master ที่ University of Versailles ประเทศฝรั่งเศส
สำหรับเส้นทางการเป็นนักปรุงน้ำหอม ไม่ใช่ว่ามีเงินเพียงอย่างเดียวก็เรียนได้ เพราะมหาวิทยาลัยที่สมัครไปนั้น มีมาตรฐานในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาค่อนข้างสูง คือพิจารณาคัดเลือกเฉพาะเด็กที่จบปริญญาตรี มีพื้นฐานเคมี ภาษาอังกฤษดี และที่สำคัญคือ รับเพียงปีละ 20 คนเท่านั้น ขณะที่ มีผู้ยื่นใบสมัครทั่วโลกกว่าพันคน ซึ่งหมิงต้องใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าจะ.ทำความฝันของเธอให้เป็นจริง
“ยื่นใบสมัครไปปีแรก สอบไม่ติด อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็บอกว่า ปีหน้าให้ลองมาใหม่ เพราะอ่านประวัติ “หมิง” แล้วบอกว่าเรียนได้ เพียงแต่ปีนั้นสมัครช้าและอาจเป็นปีที่มีเด็กเก่งกว่า พอไม่ติดก็เลยบอกคุณแม่ขอเวลาอีก 1 ปี ถ้ายังสอบไม่ติดก็จะไปเรียนใหม่ คุณพ่อ-คุณแม่ก็ไม่ว่าอะไร ช่วงที่ว่างปีนั้นหมิงก็ไปช่วยงานคุณแม่ ที่โครงการพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน พระที่นั่งอนันตสมาคม” หมุงหมิงกล่าว
การไปช่วยงานคุณแม่ครั้งนั้น นับเป็นโชคของหมิงที่มีโอกาสได้นำความรู้พื้นฐานที่ร่ำเรียนมาบวกกับความชอบในเรื่องกลิ่นน้ำหอมที่มีอยู่ มาพัฒนาในการทำงาน เพราะเป็นช่วงร้านศิลปาชีพ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กำลังปรังปรุงใหม่ ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต อยากได้สินค้าอะไรใหม่ๆ จึงให้โอกาสเธอคิดโปรดักต์ใหม่ให้ทางร้าน หมิงจึงคิดนำเศษผ้าไหมที่เหลือใช้จากศูนย์ศิลปาชีพ มาดัดแปลงทำเป็น “เครื่องหอมรูปดอกบัวและกุหลาบ” ใช้ตกแต่งสถานที่พร้อมๆ กับคิดค้นกลิ่นหอมในสูตรที่เธอคิดค้นเอง โดยให้ชื่อ “ควีนส์ ออฟ โรส” ที่นำเกสรกุหลาบสดๆ มาผสมผสานกันหลายๆ พันธุ์ จนเกิดเป็นกลิ่นหอมของกุหลาบที่มีกลิ่นลักชัวรี และ “โรยัล โลตัส” ที่ให้ความรู้สึกหอมแบบเย็นๆ เหมือนนั่งอยู่ริมสระน้ำ ซึ่งผลงานชิ้นนั้นเป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้เธอ ก่อนการสมัครสอบ ISIPCA รอบ 2 ที่ผ่านสมความตั้งใจ
หมิงเล่าประสบการณ์การเรียนเป็นนักปรุงน้ำหอมที่ ISIPCA ว่า ต้องศึกษากลิ่นของส่วนประกอบต่างๆ ที่นำมาใช้ปรุงน้ำหอม ที่เป็นทั้งธรรมชาติและเคมี เพื่อให้สามารถจำแนกกลิ่นของสาร และส่วนประกอบได้อย่างแม่นยำ การฝึกระยะแรกนั้นใช้เวลาถึง 1 ปีกว่า หลังจากนี้เป็นการเรียนด้านการบริหารและการตลาดอีก 1 ปี
“ตอนนี้จบหลักสูตรการปรุง การแยกกลิ่นแล้วค่ะ หลังจากนี้ต้องกลับไปเรียนหลักการบริหาร การสร้างแบรนด์ต่ออีก 1 ปี จบแล้วก็ยังไม่สามารถมาปรุงกลิ่นได้เลย หมิงคงต้องฝึกงานบริษัทน้ำหอม หาประสบการณ์เรื่องส่วนผสมต่างๆ จากนักปรุงกลิ่นมืออาชีพ เพราะแต่ละท่านจะมีเทคนิค และสูตรแตกต่างกันค่ะ”
หมิงบอกอีกว่า การเป็นนักปรุงน้ำหอมที่ดีต้องสั่งสมประสบการณ์ และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา “การทำน้ำหอมเป็นงานวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับงานศิลปะ นักปรุงน้ำหอมต้องใช้จมูกในการดมกลิ่น ดังนั้น จมูกต้องมีประสาทสัมผัสที่ดี”
ในอนาคตหากเรียนจบแล้วเธอบอกว่า อยากทำน้ำหอมกลิ่นเฉพาะที่เหมาะกับคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งกลิ่นที่เธอคิดไว้นั้นมีมากมาย โดยอิงตัวเองเป็นหลัก “หมิงใช้น้ำหอมตามอารมณ์ ไม่จำกัดว่าจะชอบกลิ่นหอมดอกไม้ในแบบผู้หญิง หรือต้องเป็นกลิ่นสปอร์ตแบบผู้ชาย เพราะในแต่ละวันที่ตื่นขึ้นมา จะมีอารมณ์และความรู้สึกไม่เหมือนกัน ดังนั้น น้ำหอมของหมิงคงจะมีหลากหลายกลิ่นค่ะ” เภสัชกรสาวสวย สุวรา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อนาคตนักปรุงน้ำหอมของไทย กล่าวทิ้งท้ายด้วยตาเป็นประกาย