xs
xsm
sm
md
lg

ความรักของแม่ : แอชลีย์ วินเซนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
Tender Moments
หนึ่งในหลายแห่งที่ผมชอบไปวนเวียนเยี่ยมชมเสมอในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว คือบริเวณเกาะชะนี ผมชอบไปซุ่มสังเกตการณ์ และคอยเก็บภาพเวลาที่พวกชะนีตัวโตหยอกล้อเล่นหัวกับพวกตัวเล็ก

ที่บริเวณนั้นแบ่งพื้นที่ออกเป็นเกาะเล็ก ๆ ใกล้ ๆ กันอยู่สี่เกาะ แต่ละเกาะมีชะนีต่างสายพันธุ์อาศัยอยู่สี่ชนิด แบ่งเป็น ชะนีมงกุฎ(Hylobates pileatus) ชะนีมือขาว (Hylobabates lar) ชะนีแก้มขาว (Nomascus siki) และชะนีเซียมัง(Symphalangus syndactylus) ซึ่งผมได้เลือกภาพถ่ายของพวกมันมาแบ่งปันกับคุณในอาทิตย์นี้
Mamas Hammock
Watching Mamas Back
ชะนีเป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวเล็กที่สุดในสัตว์ตระกูลเอป "เอป" ก็คือ "สัตว์ที่คล้ายลิงแต่ไม่มีหาง" ไงล่ะครับ เอปที่คุณอาจจะรู้จัก และคุ้นเคยดี ก็คือพวก กอลิล่า ชิมแปนชี และ อุรังอุตัง

ลักษณะพิเศษที่แบ่งแยกชะนีออกจากเอปกลุ่มอื่น คือแขนที่ยาวมากเป็นพิเศษของพวกมันครับ ที่จริงแล้ว พวกชะนีมีลำแขนยาวที่สุดในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดด้วย พวกมันใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ แขนยาว ๆ ของมันมีไว้เพื่อการโยนตัวเคลื่อนไหวไปมาตามกิ่งไม้ ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของพวกมันบนต้นไม้ในป่าฝน

สิ่งที่ต่างจากเอปกลุ่มอื่นอีกอย่างคือ พวกชะนีจะนั่งหลับอยู่ตามกิ่งไม้ทั่วไป ในขณะที่พวกเอปที่มีขนาดตัวใหญ่กว่ากลุ่มอื่น จะมีการสร้างรังด้วยใบไม้และกิ่งไม้เพื่อใช้เป็นที่หลับนอน

"ชะนีเซียมัง" มีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในกลุ่มชะนี และยังมีอีกสองคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้มันต่างจากชะนีทั่วไป คือ เซียมังจะมีผังพืดยาวระหว่างนิ้วเท้าที่สองและที่สาม ความยืดหยุ่นตรงนิ้วเท้านี้ทำให้พวกมันสามารถควบคุมการหยิบจับหรือถือสิ่งของด้วยเท้าได้ดีกว่าชะนีชนิดอื่น

ลักษณะพิเศษอีกอย่างที่สังเกตเห็นได้ง่าย คือผิวหนังที่ห้อยยาวจากใต้แก้มของมันมาจนถึงสุดลำคอ ถุงหนังตรงคอนี้เรียกว่า กูล่าร์ (Gular) หรือ ถุงคอ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกอย่างเดียวที่ผมรู้ว่ามีถุงคอเหมือนกันคือพวก อุรังอุตัง แต่อุรังอุตังเพศผู้เท่านั้นที่จะมีถุงคอ ในขณะที่เซียมังจะมีถุงคอกันทั้งสองเพศ
Hey Mum, Over Here!!!
ยังมีสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ ด้วยนะครับที่มีถุงคอเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น นกหลายชนิด (เช่น นกกระทุง) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางอย่าง (เช่น กบ) สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด (เช่น กิ้งก่า) และสัตว์ทะเลบางอย่าง (เช่น สิงโตทะเล)

ถุงคอที่ว่านี้ สามารถยืดขยายและพองตัวออกได้เมื่อสัตว์สูดลมเข้าไป พวกสัตว์ใช้ประโยชน์จากถุงคอนี้ต่างกันออกไป เช่นพวกนกกระทุงใช้เป็นที่เก็บสะสมปลาที่มันจับได้ แต่เป้าหมายหลักในการมีถุงคอของพวกสัตว์ มีไว้เพื่อการสื่อสารครับ เมื่อถุงคอถูกทำให้พองโตเต็มที่ อาจจะหมายถึงการข่มขวัญศัตรู การประกาศอาณาเขต หรือการขับไล่ผู้บุกรุก และในบางกรณี อาจจะเป็นการแสดงความรัก หรือการสร้างเสน่ห์ของตัวผู้ยามที่ต้องการจะจับคู่

สำหรับชะนีเซียมัง การทำให้ถุงคอพองโตเต็มที่ช่วยให้พวกมันสามารถส่งเสียงกู่ร้องได้อย่างกว้างไกลด้วย เสียงของมันอาจจะได้ยินไปไกลเกือบสองไมล์ (3.2 กิโลเมตร)รูปแบบการกู่ร้องของเซียมังแสดงออกเพื่อประกาศให้สัตว์อื่นรับรู้อาณาเขตของมัน

ชะนีเซียมังจะจับคู่เพียงครั้งเดียวในชีวิต ผมสังเกตเห็นว่า ตัวเมียจะไม่ค่อยกู่ร้องโหยหวนเพื่อประกาศอาณาเขตของมันสักเท่าไหร่หรอกครับ เสียงของตัวเมียจะดังประมาณว่าร้องเรียกหาคู่ของมันมากกว่า เพราะพอตัวเมียส่งเสียงและสอดส่องสายตาออกไปยามใด อีกสักพัก คู่ของมันก็จะรีบส่งเสียงกลับมาเหมือนรีบรายงานตัวไม่มีผิด

เสียงร้องของเหล่าชะนี ฟังดูคล้ายกันมากครับ แต่ละตัวก็มีเสียงสูงต่ำเด่นด้อยต่างกันออกไป ประสบการณ์ดี ๆ หลายครั้งของผมที่เกิดในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว คือยามที่ผมเฝ้ามองพฤติกรรมของพวกชะนี และบ่อยครั้งที่ชะนีตัวหนึ่งตัวใดจะเริ่มส่งเสียง ตามด้วยเสียงของคู่มัน และการประกาศบอกอาณาเขต หรือการสื่อสารของแต่ละกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียง มันเหมือนกับคณะประสานเสียงดั้งเดิมของธรรมชาติเริ่มทำการบรรเลง สำหรับผมแล้ว นี่คือเสียงดนตรีจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่า ชะนีจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ แต่พวกมันก็จะลงพื้นเพื่อหาอาหารและเพื่อดื่มน้ำด้วยนะครับ เมื่ออยู่บนพื้น พวกมันจะเดินตัวตรงและจะยกมือกางออกด้านข้างหรือยกขึ้นเหนือหัวเพื่อการทรงตัว แต่มองดูแล้ว ผมว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่ มันอาจจะอยากแน่ใจด้วยว่า แขนยาว ๆ ของมันจะไม่ไปพันเข้ากับขาสั้น ๆ ของมันซะก่อน 555

อาหารของพวกชะนี คือ ใบไม้ ยอดไม้ ผลไม้ ดอกไม้ หน่ออ่อน และแมลงบางชนิดก็เป็นอาหารที่น่ารับประทานสำหรับพวกมันเหมือนกัน

ยังพอมีชะนีเหลืออยู่และใช้ชีวิตอยู่เองตามธรรมชาติบ้าง ในเขตร้อนชื้น และตามป่าร้อนชื้นในป่าฝน ไล่มาจากทางทิศเหนือถึงทิศใต้ของจีน จากอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือถึงอินโดนีเชีย รวมไปถึงเกาะชวา เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

ชะนีหลายสายพันธุ์ ถูกระบุจากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ให้เป็น สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ (CN) หรือ สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) เนื่องจากปัญหาการบุกรุกทำลายป่า และจากการถูกล่าอย่างผิดกฎหมาย

ผมจึงขออนุญาตเน้นให้ทุกท่าน เห็นความสำคัญต่องานที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์อื่น ๆ ที่ทำงานภายใต้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง เพื่ออนุรักษ์คุ้มครองสัตว์ป่าให้มีสุขภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีขึ้น จนพวกมันสามารถดำรงอยู่และเพิ่มประชากรกันได้อย่างต่อเนื่อง

ผมเป็นคนรักสัตว์ครับ และผมมีความหวังว่า ตัวหนังสือบางคำหรือบางประโยคที่คุณได้อ่านจากบทความของผมที่เขียนเกี่ยวกับสัตว์ป่าติดต่อกันมาหลายอาทิตย์ อาจจะช่วยสะกิดให้คุณรู้สึกเอ็นดูพวกสัตว์บ้าง อาจจะเริ่มจากพวกชะนีนี่ก็ได้นะครับ

ขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยมชมคอลัมน์นี้ ผมขอให้ทุกท่านมีรอยยิ้มกว้าง ๆ ตลอดทั้งอาทิตย์นะครับ พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

รู้จัก...แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”

ติดตามอ่าน ...Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
กำลังโหลดความคิดเห็น