xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ช่างภาพข่าว” สู่ “ช่างภาพการกุศล” สมคิด ชัยจิตวนิช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ART EYE VIEW---6 ปีที่แล้ว ช่างภาพหญิงคนหนึ่งของวงการข่าว ตัดสินใจลาออกจากอาชีพที่ทำมาร่วม 20 ปี ทิ้งเงินเดือนสูงเกือบจะชนเพดาน มาทำงานเป็นช่างภาพให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองศ์กรทางด้านศาสนา ซึ่งได้รับค่าตอบแทนเทียบไม่ได้กับรายได้เดิม

สมคิด ชัยจิตวนิช อดีตช่างภาพหญิงคนแรกของเครือเนชั่นและบางกอกโพสต์ บอกถึงเหตุผลของการตัดสินใจเมื่อหลายปีก่อนว่า

“มันเหมือนว่าเราถึงจุดอิ่มตัว เราค้นหาตัวเองเจอแล้ว ค้นพบว่าเราต้องการถ่ายรูป เราต้องการเดินทาง ไม่ใช่การเดินทางแค่ข้างนอก มันเป็นการเดินทางข้างในของตัวเองด้วย

พอถึงจุดที่เราไม่ต้องการแข่งขันแล้ว เพราะโดยสายอาชีพ เวลาที่เราทำอยู่ในวงการข่าว มันเป็นธรรมชาติว่ามันต้องมีการแข่งขัน มันต้องมีการแก่งแย่ง หลายๆอย่าง ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของงานทางโลก

เราต้องแข่งขันทั้งกับสื่อด้วยกันเอง และแข่งขันกับคนภายในองค์กรเดียวกัน กรณีการแข่งขันข้างนอก อย่างตอนนี้มีสื่อเยอะมาก หนังสือพิมพ์ ทีวี เคบิลสารพัด การที่เราจะไปถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพที่ดีมา มันต้องมีการกระแทก ต้องชิงกัน

ส่วนภายใน ช่างภาพทุกคนต้องแข่งกัน เพราะมันเป็นการรักษาระดับฝีมือ มันจริงที่เขาบอกว่าการสร้างชื่อเสียงไม่ยากหรอก แต่การรักษาชื่อเสียงยากกว่าอีก ดิฉันมาถึงในระดับที่คนมองว่าเราโปรเฟสชั่นนอลแล้ว และทุกครั้งที่ถ่ายภาพเราเริ่มกดดัน เพราะเราคาดหวังว่าเราโปรฯ ถ้าเผื่อถ่ายภาพออกไปแล้วไม่สวย เราจะทำไง มันเป็นความกดดันนะ ยิ่งมันเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ แล้วมีการใส่ชื่อช่างภาพด้วย มันเป็นการกดดันช่างภาพว่าต้องรักษาฝีมือของตัวเอง จะถ่ายมั่วๆก็ไม่ได้ ต้องรักษาชื่อเสียงของตัวเอง

พอถึงจุดหนึ่งเราก็เริ่มรู้สึกว่า ไม่เอาแล้ว ไม่ชอบชีวิตอย่างนี้ เราไปเลือกชีวิตของเราดีกว่า เราต้องการเป็นศิลปินอิสระ ต้องการกลับไปตามความฝันเดิมที่เราเรียนมาทางศิลปะ(ภาพถ่าย) เราต้องการเป็นอาร์ตติสต์ โดยการที่เราอาจจะใช้การเขียนภาพด้วยแสงไง เราไม่ได้ใช้มือ

แล้วจังหวะตอนนั้น ท่านแม่ชีศันสนีย์( เสถียรสุต ) ชวนทำหนังสือ (กรุณาแห่งหัวใจ) วาระ 20 ปี ของ เสถียรธรรมสถาน ก็เลยลาออกทำหนังสือเล่มนั้น ระยะเวลา 1 ปี นอกจากอยู่เสถียรธรรมฯ ก็ได้เดินทางตามท่านไปในประเทศต่างๆเวลาที่ท่านได้รับเชิญให้ไปประชุมและบรรยายธรรม”



>>>บวชชี 9 วัน

ก่อนที่เริ่มต้นทำงานถ่ายภาพให้กับหนังสือเล่มนี้ สมคิดได้ตัดสินใจบวชชีถึง 9 วัน เพื่อเรียนรู้ชีวิตที่แท้จริงของแม่ชี แต่ระยะเวลาเพียงสั้นๆนั้นก็ไม่สามารถทำให้เธอสลัดวิญญาณช่างภาพออกจากตัวไปได้

“เราเป็นคนที่ทำอะไรแล้วต้องเรียนรู้ให้มันจริงจัง ว่ามันคืออะไร และด้วยความที่อยากจะบวชอยู่แล้วด้วย หลังจากที่เคยฟังสัมภาษณ์ของแหล่งข่าว เวลาได้รับมอบหมายให้ไปถ่ายภาพบุคคลต่างๆ อยากลองดู เพราะเราจะได้เข้าถึงวิถีชีวิตของแม่ชี ว่าเป็นอย่างไร จะได้อินกับสิ่งที่เราทำ บวชวันแรกๆไม่ได้จับกล้องเลย แต่วันหลังๆก็อดไม่ได้

ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีนะ เป็นประสบการณ์ แล้วพอหลังจากทำงานภาพถ่ายให้หนังสือเล่มนี้เสร็จ ก็ยังทำงานเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ทั่วไป แต่งานส่วนใหญ่ยังเป็นงานการกุศล ทำหลายที่ รวมทั้งที่ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสายของ คุณแม่สิริ กรินชัย วนเวียนอยู่ในวงการศาสนานี่แหล่ะ”


>>>เปลี่ยนโรงพยาบาล เป็นแกลเลอรี่

ทว่า การทำงานในฐานะช่างภาพการกุศล ที่ทำให้สมคิดเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ การเป็นผู้ริเริ่มโครงการ กรุณาแห่งรัก (Art Care) ซึ่งเป็นการนำภาพถ่ายไปติดแสดงให้ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ตลอดจนบุคคลากรในโรงพยาบาลได้ชมเพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจ

หลังจากที่เคยมีสื่อฉบับหนึ่งเคยไปสัมภาษณ์เธอ และถามถึงความฝันที่เธออยากจะทำ เธอได้ตอบว่าอยากเห็นภาพถ่ายของตัวเองไปติดแสดงในโรงพยาบาล

กระทั่งมีนางพยาบาลรายหนึ่งที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของเธอ ติดต่อมา ในที่สุดจึงมีภาพถ่ายของเธอไปติดแสดงครั้งแรกที่ หอผู้ป่วยไอ.ซี.ยู.ศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ต่อเนื่องไปอีกหลายโรงพยาบาล รวมถึงกิจกรรมที่อบรมถ่ายภาพให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล

และเมื่อปีที่ผ่านมาเธอได้มีโอกาสเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดา ซึ่งก็มีจิตแพทย์ของโรงพยาบาลที่นั่นสนใจที่จะร่วมงานกับเธอด้วย



“ตอนเราเป็นช่างภาพข่าว เวลาไปต่างจังหวัด ไปอะไร เราก็จะถ่ายภาพธรรมชาติเก็บไว้ด้วย ไม่ได้ถ่ายเฉพาะงานที่เราได้รับมอบหมาย ไปต่างจังหวัด เห็นหยดน้ำ เราก็ถ่ายเก็บๆเอาไว้ และส่วนตัวคิดว่า เป็นความฝันของช่างภาพทุกคนที่อยากเห็นผลงานของตัวเองจัดแสดงในอาร์ตแกลเลอรี่ เคยคุยกับเพื่อนว่า อยากเอารูปที่ตัวเองถ่ายไปติดในโรงพยาบาล เพราะสงสัยว่าทำไมเราไม่มีรูปถ่ายสวยๆ ติดโรงพยาบาลบ้าง

อีกทั้งระยะหลัง พ่อแม่ของเราก็เริ่มแก่ตัวลง เริ่มเจ็บป่วย ต้องพาไปโรงพยาบาล หรือบางทีเราก็ไปเยี่ยมญาติ เยี่ยมเพื่อน เราเห็นความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลของรัฐบาล เพราะเวลาเราไปโรงพยาบาลเอกชน เราก็เห็นว่ามีงานศิลปะอยู่เยอะแยะ แต่เวลาเราไปโรงพยาบาลรัฐบาล มันมีแต่ผนังที่ว่างเปล่า มีแต่โปสเตอร์ป้องกันยุงลาย รณรงค์ให้ฉีดวัคซีน มีแค่นั่นแหล่ะ

เราก็เลยรู้สึกว่า โดยธรรมชาติ โรงพยาบาลรัฐบาล คนต้องมานั่งรอนานมาก ต้องรอยา รอเวลา แล้วเรารู้สึกว่า ถ้ามีรูปสวยๆ มีงานศิลปะดูน่าจะดี ก็เลยมีความฝันว่าอยากเอารูปของตัวเองไปติดในโรงพยาบาล ถือเป็นแกลเลอรี่อย่างหนึ่งของช่างภาพ แต่เป็นแกลเลอรี่ที่มีประโยชน์ กับผู้ชมมหาศาลเลย

ไม่เหมือนแกลเลอรี่ทั่วๆไป ที่คนมีความสุขเท่านั้นที่จะดูรูป แต่ที่โรงพยาบาล คนที่ดูส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความทุกข์ เพราะเค้ามีความเจ็บป่วย”

>>>ถ่ายคนดูเป็นธรรมชาติ ถ่ายธรรมชาติดูมีชีวิต

หลายปีของการทำงานเป็นช่างภาพข่าวและช่างภาพการกุศล นอกจากงานภาพถ่ายเพื่อการอื่น เธอยังมีผลงานหนังสือภาพที่ทำร่วมกับมืออาชีพทั้งต่างชาติและไทยหลายเล่ม

ตอนที่ทำงานเป็นช่างภาพข่าว สมคิดได้รับคำชื่นชมว่าถ่ายคนได้ดูเป็นธรรมชาติ มาถึงวันนี้ วันที่แบบที่เธอถ่ายคือธรรมชาติมากกว่าคน เธอก็ได้รับคำชื่นชมว่า ถ่ายธรรมชาติได้ดูมีชีวิต

“ตอนที่ทำงาน ดิฉันจะมีจุดเด่นในเรื่องการถ่ายพอร์เทรต ทุกวันนี้พอลาออกแล้ว ตั้งข้อสังเกตกับตัวเองว่า งานดิฉันเปลี่ยนไป จากที่ช่วงแรกๆเนี่ย ตอนที่เป็นช่างภาพข่าวอยู่เนี่ย ถ่ายสิ่งมีชีวิตให้มันดูเป็นธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้ถ่ายธรรมชาติให้มันดูมีชีวิต มันกลับกัน เพราะงานส่วนใหญ่ ตอนหลังๆเนี่ย ดิฉันจะถ่ายพวกหยดน้ำ ต้นไม้ ใบไม้ มากกว่า

งานจะคล้ายๆกราฟฟิกหน่อย เป็นธรรมชาติก็จริง แต่มันจะออกกราฟฟิกๆ ถ้าคนที่ตามงานดิฉันจริงๆ จะรู้ว่างานเปลี่ยนไป สไตล์เปลี่ยนไป

และลักษณะมันจะเกลี้ยงๆสะอาดๆ หลังๆ ถ้าเป็นภาพธรรมชาติ จะเป็นภาพที่สะอาดๆ สงบๆ ดูนิ่งๆนะ แต่ดูมีพลัง จะเป็นแนวนั้น”


>>>ช่างภาพเป็นเช่นไร ภาพถ่ายเป็นเช่นนั้น

ภาพถ่าย คือสิ่งที่สะท้อนอารมณ์ของช่างภาพ ดังนั้นทุกวันนี้สมคิดจะไม่ตัดสินใจลั่นชัตเตอร์เพื่อสร้างภาพที่สงบไปให้คนเสพ ขณะที่จิตใจภายในของเธอยังร้อนรน

“สิ่งหนึ่งที่ดิฉันค้นพบในการถ่ายภาพในระยะหลังของตัวเองคือ เราจะต้องมีความสุขก่อน ดิฉันไม่เชื่อว่าภาพถ่ายที่สงบ มันจะออกมาจากช่างภาพที่ร้อนรน คนถ่ายต้องนิ่งเหมือนกัน เราถึงจะถ่ายภาพที่มันนิ่งได้ เราต้องมีความสุขก่อน รูปมันถึงจะมีความสุขด้วย และส่วนหนึ่งมันคือการฝึกสมาธิ

และทุกวันนี้การถ่ายภาพของดิฉันเปลี่ยนไปแล้ว สมัยก่อนเราถ่ายภาพ ความสุขมันเกิดขึ้นหลังจากที่ภาพตีพิมพ์แล้วมีคนชม แต่ระยะหลังๆดิฉันสังเกตตัวเองว่า มีความสุขในขณะที่มองเห็นสิ่งที่เป็นแบบ แล้วตัดสินใจถ่ายมันเก็บไว้ บางทีถ่ายมาเป็นเดือนแล้วยังไม่ได้โหลดเลยนะ มันเหมือนความสุขเราเปลี่ยนไปแล้วไง เราไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ว่าจะเอามาโหลด ความสุขเราเกิดขึ้น ณ ขณะที่เราเดินไป แล้วเราเห็นมัน มันสวยจังเลย แล้วเราก็ถ่ายมัน ความสุขมันอยู่ที่ตรงนั้นแล้ว

พอจะใช้รูป หรือคนจะซื้อรูป ก็ค่อยไปหาดูอีกทีว่าถ่ายเก็บไว้ที่ไหน อย่างรูปที่ถ่ายมาจากแคนาดา ยังไม่ได้ทำเลย ทั้งที่กลับมาจากเป็นปีแล้วนะ จากนั้นไปอินเดียต่อ คือเวลาทำรูปมันใช้เวลามากนะ มากกว่าตอนถ่ายอีก สังเกตกับตัวเองนะ 1 ใน 3 ด้วย พอถ่ายเราใช้เวลาวันเดียว แต่เราใช้เวลาทำรูป 3 วัน มันใช้เวลานานมากในการทำรูป ขยับไปทีก็ถ่ายที ตอนหลังเราต้องตั้งสติเยอะขึ้น ต้องอย่ากดเยอะมาก ต้องตั้งสติให้ดีๆ”


>>>โปรฯ นะ แต่ไม่แสดงออก

สมคิด บอกถึงเคล็ดลับในการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายสวยๆติดกล้องกลับมา โดยเฉพาะเวลาที่ไปถ่ายภาพคนว่า ช่างภาพต้องทำตัวเป็นโปรเฟสชั่นแนลอย่างไม่แสดงออก

“สมัยก่อนตอนที่ถ่ายภาพใหม่ๆ เราต้องทำตัวเราให้ดูโปรเฟสชั่นแนล ต้องใส่เสื้อกั๊ก ต้องถือกล้องใหญ่ๆ แต่หลังๆ เรามีความรู้สึกว่า ต้องทำยังไงให้ตัวเองดูไม่โปรเฟสชั่นแนล เหมือนเด็กฝึกงาน เหมือนนักท่องเที่ยว เวลาที่เราไปถ่ายชาวบ้าน ถ้าเราใช้กล้องที่ดูธรรมดาๆ ชาวบ้านเขาจะไม่เกร็ง ถ้าเราใช้กล้องที่มันใหญ่มากๆ เขาจะเกร็ง ถ่ายไปทำอะไรวะ และเมื่อแบบเกร็ง มันจะแสดงออกที่ตา

อย่างที่สอง ช่างภาพต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ ต้องขี้เล่น เพราะพอเรามีปฎิสัมพันธ์กับชาวบ้านเค้าก็จะรีแลกซ์ ถ้าเราไปถึง เราควักกล้องออกมาเต็มยศเลย บางทีคนมันตกใจนะ บางทีเข้าไปถ่ายภาพในหมู่บ้าน ดิฉันไม่ยกกล้องหรอกตอนแรก เก็บไว้ก่อน ดูไปเรื่อยๆก่อน พอดูไปดูมา พอเริ่มคุ้นกันแล้ว ค่อยขอถ่ายรูปหน่อยนะคะ ค่อยๆควักกล้องออกมาทีละนิด ทีละนิด

เทคนิคก็คือ ต้องเอาตัวที่เล็กที่สุดออกมาก่อน แล้วค่อยเอาใหญ่ๆออกมาทีหลังสุด ให้แบบเริ่มคุ้นเคย ถ้าเป็นสมัยก่อน เราจะทำยังไงให้เค้ารู้ว่าเราโปรเฟสชั่นแนล ต้องใส่เสื้อกั๊ก มาจากบางกอกโพสต์ค่ะ ต้องพยายามอวด ตอนหลังเค้าถามว่ามาทำอะไร เราก็บอกเป็นนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ ไม่ต้องไปบอกว่าทำอะไร โอ้ย สมัยก่อนต้องกร่าง แต่ตอนนี้เราต้องเข้าถึง แบบเค้าจะได้ไม่กลัวว่า อุ้ย ถ่ายเอาไปทำอะไร”

แล้วเวลาที่เลือกภาพเพื่อมาตีพิมพ์ ภาพใบหน้าของคนที่เราถ่ายต้องดูดีที่สุด ถ้ามันเป็นภาพที่ไม่ได้โชว์ฝีมือช่างภาพเลยก็ต้องยอมเพราะบางคน ทั้งชีวิตได้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์แค่ครั้งเดียวเอง แล้วรูปนั้นต้องถูกนำไปใส่กรอบไปติดอยู่ที่บ้านตลอดชีวิต ไม่ใช่เค้าอ้วนมากแล้วไปถ่ายแยง ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา นึกถึงว่าถ้าเราเป็นเค้า จะรู้สึกยังไง

ด้วยระบบที่ต้องมีการแข่งขัน ดิฉันเข้าใจว่ามีคนต้องการเกิด ต้องการโชว์บางอย่าง โดยที่อาจจะลืมไปว่า บางครั้งแหล่งข่าวเป็นเหยื่อของเรา”

>>>แสวงหารายได้ที่มั่นคง เพื่อทำการกุศลให้เต็มที่

“ดิฉันตระหนักแล้วว่า รูปถ่ายมันเป็นสื่อที่มีพลังบางอย่าง ถ้าเรารู้จักใช้มันให้เป็น อย่างตอนนี้วารสารทางศาสนาหลายที่ ก็ใช้รูปดิฉัน ดังนั้น ถ้าเราสามารถเอาความสามารถของเราไปเป็นประโยชน์กับคน มันจะทำให้หนังสือ วารสารเกี่ยวกับธรรมะมันน่าดู น่าจับมากขึ้น เพราะรูปมันสวย มันไม่เชยเหมือนสมัยก่อนที่มันจะมีแต่ Text ใช่ไม๊ องค์กรศาสนาหลายที่ตอนนี้ มันจำเป็นที่จะต้องมีสื่อ บางองค์กรเค้าทำงานเยอะมากเลยนะ แต่เมื่อไม่มีสื่อ คนก็ไม่รู้ว่าเค้าทำอะไร

มีสถานที่ปฏิบัติธรรมหลายๆที่ ที่คนไม่รู้จัก ตอนหลัง จากการที่เดินทางไปกับท่านแม่ชีนี่แหล่ะ ยิ่งรอบนี้ไปภาคเหนือ ไปตามวัดตามอะไร เราก็ปวารณาตัวกับพระอาจารย์อยู่หลายรูปว่า จะกลับมาถ่ายรูปให้ ท่านจะได้เอาไปทำโบว์ชัวร์ เพราะบางวัดไม่มีรูปเลย ไม่มีโบว์ชัวร์เลย ไม่มีอะไรทั้งนั้น ก็เลยบอกท่านว่า เดี๋ยวหนูเสร็จโปรเจ็ตก์ ที่ทำค้างอยู่ จะกลับมาถ่ายรูปให้ท่านเอง

ภาวะตอนนี้เราไม่มีข้อสงสัยอะไร เราชัดเจน เรามีเป้าหมาย ในสิ่งที่ทำ แต่ตอนนี้มันมีจุดที่ว่าเราจะทำอะไรที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยที่เราไม่ต้องลำบากใจ เพราะว่าอย่างน้อย เรายังมีพ่อแม่เราเนาะ ถ้าเราตัวคนเดียว เราไปทำตรงนี้ให้สุดทาง โอเค ไม่ต้องกินต้องใช้เท่าไหร่หรอก แต่ด้วยความที่เรามีครอบครัว มีอะไร บางครั้งเราไปทำตรงนั้นมากๆเราก็รู้สึกผิดไง ว่าทำไมพระในบ้านของเรา เราไม่ดูแล

พ่อแม่เราจะรู้สึกยังไง ทุกเดือนไม่เคยให้ตังส์ ขณะที่สมัยก่อน เราทำงานเรามีเงินเดือน เราให้ตังส์พ่อแม่ เป็นหมื่น แต่ทุกวันนี้เราทำงานการกุศล เราไม่ได้ให้เลยซักบาท เพราะเราไม่มีเงินเหลือขนาดนั้นแล้วไง มันขัดแย้งกับตัวเองว่า ฉันทำงานทางศาสนาไปแล้วมันถูกทางหรือเปล่า เดี๋ยวคนมาประณามได้ว่า ทำไมเราถึงทิ้งครอบครัวเราเอง มันมีการต่อสู้กับข้างในเราเองด้วยตอนนี้ เรามีความรู้สึกว่า โอเค เราคงต้องทำอะไรซักอย่างหนึ่งที่เราจะต้องขายงานเราได้ เลี้ยงตัวเอง ใช้ความสามารถของเราเอง

แต่ปีนี้เสถียรฯ ยังมีแห่พระองค์ดำไปทั่วประเทศ ก็เลยคิดว่าไปทำปีนี้ก่อน แพลนเลยเปลี่ยนหมด ตอนแรกแพลนไว้ว่าปีนี้ เป็นปีที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง เราจะต้องทำแกลเลอรี่ ทำทัวร์ถ่ายภาพ กำไรนิดนึงแต่ก็ได้เดินทาง ได้สอนคนก็โอเค แต่มันติดว่าเราต้องเดินทางกับเสถียรฯทั้งปี แพลนมันก็เลยต้องเลื่อนไป ปีหน้าค่อยทำก็ได้ ปีนี้เดินทางไปก่อน”

>>>ไม่อยากเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จ แต่สุขภาพล้มเหลว

“สมัยก่อนตอนที่เราเป็นช่างภาพบางกอกโพสต์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากในอาชีพ เป็นช่างภาพที่เงินเดือนสูงมาก จนกระทั่ง บก.บอกว่า เงินเดือนคุณชนเพดานแล้วนะ ต้องรู้แล้วนะว่าเงินเดือนมันขึ้นไม่ได้ เพราะมันสูงมากแล้ว เงินเดือนแทบจะสูงกว่านักข่าวอยู่แล้ว

ตอนนั้นเราอายุ 30 กว่าเราก็นั่งถามตัวเอง ฉันอายุแค่นี้เอง แล้วบอกเงินเดือนฉันชนเพดาน ฉันจะอยู่ไปทำไมวะ ตอนนั้นประสบความสำเร็จมาก หลายอย่างโอเคมาก แต่เราสังเกตตัวเองว่า ทำไมเรากินยาแก้ไมเกรนเยอะมาก ซึ่งไม่รู้ตัวเลยนะ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ย้ายบ้าน เริ่มเก็บโน่นเก็บนี่ ไปเปิดตู้ยา เราสังเกตได้ว่าเราเบิกยาจากบางกอกโพสต์มาเยอะมาก

แต่หลังจากที่เราลาออกมา แปลกไม๊ เงินก็กระท่อนกระแท่น เราไม่ต้องกินยาแก้ไมเกรนแล้ว แสดงว่าเรามีความสุขของเราไง ในขณะที่ในวันที่เราคิดว่าเราประสบความสำเร็จมากๆ เรื่องชื่อเสียง เรื่องเงิน ทุกอย่างเราโอเคหมด แต่เรากลับเครียด มันมีความเครียดข้างในลึกๆ แล้วเราก็ต้องกินยา

ช่วงปีนี้ มันไม่ใช่ความทุกข์หรอก มันเป็นความรู้สึกผิดว่าเราทิ้งพ่อแม่เรา แล้วเราก็เริ่มบอกตัวเอง ว่าเราต้องกลับมาทำมาหากินบ้างแล้ว แต่ถามว่าจริงๆมันเป็นความทุกข์ไม๊ มันไม่ใช่ความทุกข์ มันแค่เป็นความรู้สึกผิด แล้วเราก็ต้องหาทางออกให้ชีวิตตัวเองบ้าง เพื่อวางแผนอนาคต ถ้าพูดถึงสายงานตอนนี้แล้ว เราแฮปปี้ ได้ทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราใช้ความสามารถออกไป แล้วมันเป็นประโยชน์จริงๆ

เราชัดแล้วว่าเรามีเป้าหมายอะไร เราสามารถทำตัวเองให้มีประโยชน์กับหลายๆที่ เป้าหมายทุกอย่างมันชัดหมดแล้ว แต่เราจะจัดการยังไงกับตัวเอง กับครอบครัวของเราเพื่อให้เราไปสู่สิ่งนั้นได้เต็มที่ ไม่งั้นมันก็จะกลับไปกลับมา ไม่ได้ๆ กลับไปทำมาหากินก่อน แต่ถ้าเราเกิดมาเป็นลูกเศรษฐีร้อยล้าน เราคงไม่ต้องคิดแล้ว เราจะทำของเราเต็มที่ แต่เราเป็นคนธรรมดา เป็นชนชั้นกลาง”

Text by ฮักก้า photo by วารี น้อยใหญ่



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com, และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น